คนงานผลิตชุดชั้นใน1,338 คนเคว้ง นายจ้างปิดกิจการไม่จ่ายค่าชดเชย

FBแรงงานสุเทพ

นายจ้างชาวฮ่องกงผลิตชุดชั้นในดังประกาศปิดกิจการ อ้างผลกระทบจากโควิด-19 ลอยแพคนงานไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้าง และสวัสดิการค้างจ่าย 

วันที่ 13 มีนาคม 2564 นางสาววาสนา คงหินตั้ง รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย อดีตลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ผู้ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นในสตรี จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า เมื่อวันที่12 มีนาคม 2564 นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้ประสานงานเพื่อให้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ เร่งรัดติดตามค่าชดเชย สวัสดิการสิทธิประโยชน์ให้คนงานคนงาน 1,338 คนโดยเร็ว ซึ่งทาง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า  ได้นำเรียนกรณีปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว และนายกได้ฝากความห่วงใยและให้กำลังใจมายังพี่น้องแรงงานทุกคน และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้เร็วที่สุด ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นจะให้พี่น้องผู้แรงงานได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคมก่อน ส่วนกองทุนเงินสงเคราะห์ลูกจ้างได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้พิจารณาถึงขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานในยุคนี้เป็นที่พึ่งพิงของพี่น้องผู้ใช้แรงงานจะพยายามช่วยพี่น้องแรงงานให้ได้มากที่สุดเหมือนคนในครอบครัว

โดยเจ้าหน้าที่สวัสดิการจังกวัดฯกับทางสหภาพแรงงานฯได้กำหนดว่า จะมีการเดินทางไปยื่นเพื่ออายัดทรัพย์สินนายจ้างในวันจันทร์ที่ 15 มีนาคมนี้

นางสาววาสนา ยังกล่าวอีกว่า ทางนายจ้างได้ประกาศปิดกิจการเลิกจ้างคนงานทั้งหมด 1,338 คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงทำงานอายุงานสูงสุด 32 ปี และมีคนงานอายุ 55 ปีราว 40 คน ซึ่งปีนี้ก็ครบกำหนดเกษียณอายุแล้ว ถามว่า มีสัญญาณบ่งชี้หรือไม่ในการปิดกิจการของนายจ้างนั้นก็มีกระแสตั้งแต่เริ่มมีการขอเลื่อนจ่ายสวัสดิการโบนัสให้กับคนงานของปี 2563 มาเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ขาดทุน แต่คนงานทุกคนก็ทราบดีว่านายจ้างสั่งให้ทำงานล่วงเวลา (OT) มาตลอด และในเดือนมกราคม 2564 มีการจ่ายค่าจ้างให้เต็ม แต่พอมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นายจ้างขอลดค่าจ้างขอจ่ายเพียงร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ขอค้างค่าจ้างไว้ก่อน ร้อยละ 25 แต่ก็ยังทำงานปกติ และมีทำงานOTด้วย

เรื่องการจ้างงานที่บริษัทจะมีการจ้างงานแบบรายวันกับรายเดือน ซึ่งรายวันจะมีค่าใช้จ่ายตกเดือนละ 13 ล้านบาท ส่วนคนงานรายวันตกเดือนละ 18 ล้านบาท ซึ่งการเลิกจ้างครั้งนี้นายจ้างยังค้างจ่ายเงินเดือนของคนงานรายเดือนอยู่ในกลุ่ม 2.5 หมื่นบาทที่ค้างจ่ายอยู่ร้อยละ 30 ในขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง และสวัสดิการเท่าไรกันแน่

สาเหตุที่นายจ้างปิดกิจการนั้น นายจ้างอ้างปัญหาการระบาดของโควิด-19 และจากการประชุมร่วมกันนายจ้างกล่าวถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มีปัญหาทำให้ไม่กล้าลงทุน และสุดท้ายจึงขอยกเลิกออเดอร์ทั้งหมดที่ส่งมาให้โรงงานในประเทศไทยที่ผลิตอยู่ โดยแจ้งว่าจะส่งออเดอร์ไปผลิตที่ประเทศเวียดนาม เฮติ และอินโดนีเซีย พร้อมประกาศปิดกิจการในประเทศไทย โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างและสวัสดิการค้างจ่าย จริงๆนายจ้างก็มีการประชุมร่วมกับคนงานอยู่มีการขอต่อรองเรื่องลดค่าจ้าง จากวันละราว 500 บาท ให้เหลือเพียง 360 บาทต่อวัน และค่าอาหาร 50 บาทต่อวัน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อคนงานที่ทำงานมานาน 7-32 ปี กับค่าจ้างวันละ 500 บาท และหากมาดูราคาสินค้าที่ผลิตนั้น ค่าจ้าง 1 วันยังไม่สามารถซื้อเสื้อชั้นในที่ตนเองผลิตได้เลย และการที่นายจ้างปิดกิจการก็ควรรับผิดชอบทำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่ทอดทิ้งลอยแพกันแบบนี้

 

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า บริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัดเป็นนักลงทุนชาวฮองกง  ซื้อกิจการต่อจากบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนตุลาคม 2562 พร้อมรับโอนย้ายคนงานทั้งหมดจากบริษัทบอดี้ แฟชั่นฯ แต่ว่ายังมีคนงานราว 350 คนที่ไม่ยินยอมในการโอนย้ายมายังบริษัทบริลเลียนท์ฯ ซึ่งต้องตกงานและมีการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัท บอดี้ แฟชั่นฯ อยู่ด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 6.30 น. ที่หน้า บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ซอย 7 นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ได้ติดประกาศปิดกิจการไว้บริเวณหน้าโรงงาน และส่งเข้าไลน์กลุ่มคนงาน  โดยเนื้อหาหนังสือมีดังนี้

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยตลอดปี 2562 ที่ผ่นมามีการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก อีกทั้งปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์โรคระบาดโคโรน่า2019 (COVID-19)เป็นจำนวนมาก และมากขึ้นทุกวันตามลำดับทั้งในประเทศและต่างประเทศดังที่ปรากฎทั่วไปตามสื่อต่างๆ มีผลทำให้ธุรกิจทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

จากภาวะเศรษฐกิจซบเซาชะลอตัวและโรคระบาดดังกล่าว เป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทฯเนื่องจากลูกค้าระงับคำสั่งการผลิต และไม่สามารถส่งสินค้านออกไปจำหน่ายได้ ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ประสบภาวะขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสถานการณือยู่ในภาวะวิกฤต ขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ

กรรมการผู้มีอำนาจลงนามได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นต้องปิดกิจการของบริษัทตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ บริษัทฯไม่อนุญาตให้บุคคลใดเข้ามาบริเวณบริษัทโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้บริหาร

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน