“8 มีนา” ผู้หญิงแนะ! การเมืองดี รัฐธรรมนูญดี ต้องมีผู้หญิงร่วมร่าง

“8 มีนา” ผู้หญิงแนะ! การเมืองดี รัฐธรรมนูญดี ต้องมีผู้หญิงร่วมร่าง

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(We Move) คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ร่วมกับ คณะกรรมการสตรี เยาวชนและครอบครัวศึกษา ศูนย์ประชาธิปไตยและพลเมือง สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ได้จัดเสวนา “8 มีนา การเมืองดี รัฐธรรมนูญดี ต้องมีผู้หญิงร่วมร่าง” วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2564 เวลา 12.00-16.00 น. ห้องประชุมวรรณไวทยากร ตึกโดม ชั้น 1  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กทม.

อาจารย์สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า กล่าวว่า ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในความเป็นประชาธิปไตย บทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ แม้มีการเขียนกำหนดเรื่อง สิทธิเสรีภาพว่า คือพื้นฐานที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการจัดการตนเอง ทั้งในมิติสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจ แต่ตนมองว่า ประชาชนไม่เคยได้สิทธิมาจริง ๆ ฉะนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้การเมืองภาคประชาชนและสิทธิชุมชนเข้มแข็งให้ได้

ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2540 แม้เขียนไว้ดีมาก แต่มีติ่งที่ว่า “ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” จึงเป็นข้ออ่อน เรื่องสิทธิและเสรีภาพมีถึง 40 มาตรา ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีเพียง 20 กว่ามาตรา บางส่วนย้ายไปอยู่ในแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งเป็นเพียงแนวทางจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ตอนนี้ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญ ก็หวังไม่ได้ หากเสียงของประชาชนและกลุ่มต่าง ๆไม่ลุกขึ้นมาเกาะติด อย่าจบเพียงว่า สสร.จะมีหน้าตาแบบไหนแต่ประชาชนต้องเกาะติดเนื้อหา อยากให้การเมืองภาคประชาชนแสดงพลังมากกว่านี้ อย่าปล่อยให้เป็นบทบาท สสร.เท่านั้น

“รัฐธรรมนูญปี 2560 ประชาชนไม่มีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญที่ได้มาจึงมีปัญหามากที่สุดด้านการละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชน สิทธิชุมชน และฐานทรัพยากร ซึ่งกระทบปากท้อง ที่อยู่อาศัย กระทบกับผู้หญิงและเด็ก” การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมผู้หญิงจะมีมุมมองด้านเด็ก ด้านสวัสดิการสังคม และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของคนทุกคนที่พึงมีพึงได้ มุมมองผู้หญิงจะทำให้รัฐธรรมนูญสมบูรณ์  ฉะนั้น ต้องเปิดโอกาให้ผู้หญิงร่วมในทุกขั้นตอน โดยกำหนดสัดส่วนที่เป็นธรรมเพื่อเข้าไปมีบทบาท รวมถึงเรื่องการเลือกตั้งก็ควรเลือกผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย”  อาจารย์สุนี ไชยรส กล่าว

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญถือเป็นหลักในการปกครองประเทศ “ปัญหาผู้หญิงจึงต้องมีตัวแทนผู้หญิงเข้าไปพูด” ถ้าเชื่อว่า “คนเท่ากัน” พี่น้องบนดอย ชาติพันธุ์ พี่น้องชายขอบ ชนชั้นแรงงาน สมควรเข้าถึงทรัพยากร รัฐต้องกระจายอำนาจและกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม ดังนั้น รัฐธรรมนูญต้องมีเพื่อทุกคน มิใช่เอื้ออำนาจและผลประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

นางสาวธนพร กล่าวอีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดนโยบาย กฎหมาย และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับคนทุกกลุ่ม ตัวอย่างที่แย่คือรัฐธรรมนูญปี 2560 เรียกได้ว่า “ไม่เห็นหัวผู้หญิงเลย” ถึงแม้ว่า จะมีผู้หญิงเป็นสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ก็จริง แต่ก็ยังอยู่ใต้โครงสร้างชายเป็นใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ ทำไมเราจึงไม่ได้พูดเพื่อตัวเราเอง ดังนั้น ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า การบริหารประเทศแบบชายเป็นใหญ่นั้นไม่ได้ผล ถ้าไม่ยอมจำนน อาจเห็นผู้หญิงมีโอกาสทำงานให้กับสังคมมากขึ้น มีสวัสดิการสังคมที่ดีพอ ผู้หญิงจะได้พัฒนาตัวเองและจะมีโอกาสในการพัฒนาประเทศ ผู้หญิงนั้นมีความสามารถเพียงแต่ไม่มีโอกาส แม้ปัจจุบันสถานการณ์ของความเท่าเทียมทางเพศจะดีขึ้น แต่ในทางกฎหมายก็ไม่มีกลไกชัดเจนที่จะให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมได้มากกว่านี้

นอกจากนี้ การเสวนายังมีการเปิดให้แลกเปลี่ยนสถานการณ์และทางออกจากผู้แทนเครือข่ายผู้หญิงกลุ่มต่าง ๆ เช่น เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายสตรีพิการ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เครือข่ายผู้หญิงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มอนุรักษ์บ้านดงมะไฟ จ.หนองบัวลภู มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนงานจ้างรายชิ้น (gig worker) หญิงบนแพลตฟอร์ม กลุ่มหลากหลายทางเพศ และผู้หญิงภาคบริการ เป็นต้น

จากนั้นได้มีการประกาศเจตนารมณ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เนื่องในวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม 2564

พี่น้องหญิงชายและทุกเพศสภาพอันเป็นที่รัก และเคารพทั้งหลาย….. “วันสตรีสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ขบวนผู้หญิงทั่วโลกได้ร่วมรำลึกเฉลิมฉลองวันที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน สำหรับปี 2564 นี้ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับองค์กรเครือข่ายหลากหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันมีพลังสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานหญิง และเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ในยุคสมัยปัจจุบันไปสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศและคุณภาพชีวิตสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันสตรีสากล ก่อกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนงานหญิงในโรงงานสิ่งทอที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากสภาพการทำงานที่เลวร้าย จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง ให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และปรับปรุงสภาพการทำงาน รวมทั้งลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง หรือระบบสามแปด (8-8-8) การประท้วงหลายครั้ง จบลงด้วยการใช้ความรุนแรงต่อคนงานหญิง
อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องได้ขยายตัวและได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก ในเวทีการประชุมสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ “คลารา เซทคิน” ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้และผู้นำคนหนึ่งของสมัชชาฯ จึงได้เสนอให้ วันที่ 8 มีนาคม เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งต่อมาองค์การสหประชาชาติได้รับรองวันสตรีสากลนี้ ผู้หญิงแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างใช้วันสตรีสากลเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการต่อสู้ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคที่ยังมีอยู่ในประเทศไทย การต่อสู้ได้ขยายตัวเป็นพลังของขบวนหญิง-ชาย และทุกเพศสภาพ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นคน พลังอันกว้างขวางได้เพิ่มจากแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ไปสู่คนทำงานหญิงหลากหลายสาขา อาชีพชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร และ การเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของหญิงชาย สิทธิมนุษยชน และคุณภาพชีวิตของทุกคน

วันนี้ เรามารวมพลังกันเพื่อส่งเสียงของความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของพี่น้องผู้หญิงทุกภาคส่วนที่ถูกกระทำถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติ และละเมิดสิทธิ เพื่อย้ำเตือนถึงพลังแห่งความต้องการการเปลี่ยนแปลง เสียงของผู้หญิงจะไปถึงพี่น้องของเรา ถึงประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทย และไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง นั่นคือ รัฐบาล

เสียงของผู้หญิงทุกกลุ่ม ทุกภาค ทุกสาขาอาชีพ จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตคนทำงานหญิง ที่ต้องมีความยั่งยืนและมีความเสมอภาคระหว่างเพศ ปัจจุบันประเทศไทย มีประชากรหญิงมากกว่าประชากรชายกว่า 1 ล้านคนเศษ ผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับผู้ชาย เช่น ความยากจน การไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรจากนโยบายของรัฐ การถูกลิดรอนสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมและอำนาจในการจัดการและการตัดสินใจ การเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรงในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ ที่มีสาเหตุจากอคติทางเพศ และการปิดกั้นโอกาสที่เท่าเทียม บนหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ

การออกแบบการปฏิรูปประเทศ ระบอบการเมือง การปกครอง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกมิติ ถ้าการเมืองดี ย่อมส่งผลต่อประชากรหญิงและผู้เกี่ยวข้องไม่เฉพาะแต่ตัวผู้หญิงเท่านั้น รัฐจักต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและการปฏิบัติได้จริง ในการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกระดับ ในทางการเมือง การปกครอง การกำหนดนโยบาย และบทบาทอันสำคัญในการกำหนดเนื้อหาการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญ
เนื่องในวันสตรีสากล เราต้องการให้สังคมตระหนักว่า ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้แรงงานในระบบ นอกระบบ ทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ น้ำ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ยังมีผู้หญิงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม มีคนอันเป็นที่รักของครอบครัวถูกอุ้มหายจากการต่อสู้ ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้หญิงชนเผ่า ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องเสี่ยงภัยความรุนแรง ผู้หญิงชาวไร่ ชาวนา ผู้หญิงคนจนเมือง คนสลัม เยาวชนหญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงปัญหาของเด็กเล็ก ลูกหลานในครอบครัวของเรามีการนำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยหาได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเราไม่ แต่เราไม่เคยท้อถอย ที่จะยืนยันให้..รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ต้องฟังเสียงผู้หญิงและคนในทุกเพศสภาพ พวกเราเชื่อมั่นว่า การเน้นหลักการ เพื่อการมีคุณภาพชีวิต จะนำไปสู่การมีความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงทำงาน และการมีความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นความชอบธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทุกคนและต่อการพัฒนาประเทศ

พี่น้องหญิงชายและทุกเพศสภาพ ผู้ที่เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นลูก ผู้เป็นคนรักและเป็นพี่น้องของเราทุกคน เราจะไม่ยอมจำนนต่อการกระทำของกลุ่มที่มุ่งผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กลุ่มนักการเมือง กลุ่มข้าราชการที่บริหารบ้านเมือง หรือผู้มีอำนาจพิเศษใด ๆ ก็ตาม เราจะปกป้องสิทธิความชอบธรรมในการที่ผู้หญิงตะกำหนดอนาคตของตนเอง และขอทวงถามเป็นข้อเรียกร้อง เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลปี 2564 ดังต่อไปนี้

1. รัฐต้องคุ้มครองประชาชนให้เข้าถึงสิทธิและอำนาจตัดสินใจในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การออกแบบและร่างรัฐธรรมนูญต้องมีสัดส่วนของหญิง ชาย และคนในทุกเพศสภาพ อย่างเป็นธรรมอยู่ในสภา เพื่อร่วมร่างรัฐธรรมนูญ
2. รัฐต้องให้สิทธิเรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า อายุ 0-6 ปี
3. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วย การคุ้มครองความเป็นมารดา
4. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิง มีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100% และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100%


5 รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วย การขจัดความรุนแรง และการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
6. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วย งานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านและ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน ได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
7. รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนเวลาปิด-เปิด ให้สอดคล้องกับวิถีการทำงาน
8. รัฐต้องมีมาตรการ การแก้ไขละเมิดสิทธิแรงงาน สร้างความมั่นใจในการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
9.รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงและทุกเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติในทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3


10. รัฐต้องกำหนดให้คนพิการเข้าถึงสิทธิการบริการที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป
11. รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในที่สาธารณะ
12. รัฐต้องเคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนและคุ้มครองนักต่อสู้ผู้หญิงด้านสิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน และเกี่ยวกับสิทธิฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
13 รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี

ทั้งนี้ เราต่างตระหนักดีว่า ข้อเรียกร้องทุกอย่างไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่ล้วนได้มาจากการต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนด การรวมพลังและใช้ความกล้าหาญในการลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อให้ผู้ที่กดขี่ ขูดรีดเอารัดเปรียบได้รับรู้ว่า เราต่างเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน จึงมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเรียกร้อง และต้องการได้รับความเป็นธรรมในทุก ๆ ด้าน เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

“ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง”

ด้วยความเชื่อมั่นพลังการต่อสู้
วันที่ 8 มีนาคม 2564

รายชื่อองค์กรเครือข่าย

1 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
2 กลุ่มอนุรักษ์บ้านดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู
3 กลุ่มคนงานจ้างรายชิ้น (gig worker) หญิงบนแพลตฟอร์ม
4 ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(We Move)
5 คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า
6 คณะกรรมการสตรี เยาวชนและครอบครัวศึกษา
7 เครือข่ายสลัมสี่ภาค
8 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
9 เครือข่ายผู้หญิงจากสามจังหวัดชายแดนใต้
10 เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
11 เครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ
12 เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ
13 เครือข่ายผู้หญิงภาคบริการ
14 มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ฯ
15 มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
16 มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (เอ็มพาวเวอร์)
17 ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ
18 ศูนย์ประชาธิปไตยและพลเมือง สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย
19 สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)
20 สมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ