พรรคการเมืองชี้ชัดไรเดอร์คือลูกจ้าง สนับสนุนรวมตัวจัดตั้งสหภาพและการเปิดเผยอัลกอริทึมของบริษัทแพลตฟอร์ม
เป็นครั้งแรกที่ตัวแทนพรรคการเมืองถึง 9 พรรคที่จะลงเลือกตั้ง 2566 มาโชว์วิสัยทัศน์และตอบคำถามถึงนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยของไรเดอร์ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน ในเวที‘สิ่งที่เห็น’ กับ ‘สิ่งที่เป็น’ ไรเดอร์ 2023 : ออกแบบอนาคตสวัสดิภาพและปลอดภัยของแรงงานแพลตฟอร์ม ที่จัดขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โดยสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute; JELI)
กิจกรรมครั้งนี้ มีทั้งไรเดอร์และผู้บริโภคที่ทำงานด้านต่างๆ ของสังคมมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์อาชีพไรเดอร์ซึ่งต่างสะท้อนออกมาถึงความเสี่ยงอันตราย ไร้สวัสดิการ ภายใต้การทำงานบนแพลตฟอร์ม
และมีการตั้งคำถามถึงนโยบายของแต่ละพรรคที่จะทำอย่างเร่งด่วนหากได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองต่างระบุว่า ไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง ควรต้องเร่งดำเนินการให้เกิดการคุ้มครองโดยมีรัฐเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ หลายพรรคสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวต่อรองเป็นสหภาพแรงงานและเสนอให้บริษัทแพลตฟอร์มเปิดเผยอัลกอริทึมอย่างโปร่งใสเพราะเป็นต้นตอของการเกิดอุบัติเหตุ
พรรคประชาธิปัตย์ โดยดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและประธานนโยบาย
“ยืนยันว่าไรเดอร์คือลูกจ้าง เป็นพาร์ตเนอร์ตามสัญญาก็จริง แต่เป็นการเลี่ยงบาลี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะไปยื่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตีความว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้างซึ่งจะตอบโจทย์การคุ้มครองไรเดอร์”
พรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค
“เรื่องไรเดอร์ ต้องเจรจา 3 ฝ่าย ดึงไรเดอร์มาคุย แพลตฟอร์มมาคุย ภาครัฐต้องเป็นตัวแทนที่ปกป้องผลประโยชน์ทั้งไรเดอร์และประชาชนด้วย มีตัวอย่างต่างประเทศ อังกฤษ เยอรมันตัดสินไปแล้วว่าไรเดอร์คือพนักงาน และประเทศไทยไม่มีเหตุอะไรที่จะตีความว่าไรเดอร์ไม่ใช่พนักงาน”
พรรคไทยสร้างไทยโดยน.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกและ ผอ.ศูนย์นโยบาย
“มี 3 อย่างที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือค่าจ้าง สวัสดิการ ความเท่าเทียม โดยต้องนำ 5 หน่วยงานมาคุยกันคือ กระทรวงแรงงาน เจ้าของแพลตฟอร์ม ILO ไรเดอร์ และนักวิชาการ เพื่อให้ได้ Solution ที่ดีที่สุด ค่าจ้างต้องเป็นธรรมและอยู่ในจุดที่ธุรกิจไปด้วยได้ สวัสดิการต้องครอบคลุมทั้งหมด ต้องมีความเท่าเทียม ไม่มีการดูถูกซึ่งกันและกัน รวมถึงเรื่องเพศ”
พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
“ไรเดอร์คือลูกจ้าง เพราะมีการเปิดออนไลน์เพื่อรับงาน ขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ซึ่งตอนนี้ ร่างผ่านวาระ 2 ของกฤษฎีกาไปแล้ว โดยในร่างนี้ ไรเดอร์จะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้ง สิทธิของการรวมตัวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามอาชีพ และ 15 คนขึ้นไปเป็นองค์กรเหมือนสหภาพแรงงานที่สามารถต่อรองได้”
พรรคชาติไทยพัฒนา โดยนายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์
“มีการเสนอกรรมาธิการเรื่องการแก้ปัญหารถรับจ้างสาธารณะ ซึ่งข้อเสนอรัฐบาลในข้อ 6.5ให้กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมคุ้มครองกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้คนขับรถแท็กซี่ รถรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือแพลตฟอร์มเป็นอาชีพประจำ ได้รับสิทธิสวัสดิการด้านแรงงาน มีสิทธิประโยชน์ตามกฏหมายอย่างถูกต้อง สภาฯ รับไปแล้ว ส่งไปที่รัฐบาลแล้ว รัฐบาล 1 ปียังไม่ทำ ต้องไปรุกต่อตรงนี้”
พรรคก้าวไกล โดยดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต
“เราจะออกพ.ร.บ.การทำงานบนแพลตฟอร์ม สิ่งที่จะเกิดขึ้นลำดับแรกคือสัญญามาตรฐานควรจะเป็นอย่างไร เกณฑ์การทำงาน ผลตอบแทนขึ้นต่ำ รวมถึงสามารถกำหนดกลไกพิจารณาข้อพิพาท การอุทธรณ์ และการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ก็สามารถที่จะเขียนไว้ในพ.ร.บ.แพลตฟอร์มได้
ส่วนประกันอุบัติเหตุที่จะจ่ายไรเดอร์ได้ทันทีนั้น รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลทำประกันอุบัติเหตุกลุ่ม สำหรับไรเดอร์ทุกคน จะขับวันแรก หรือวันที่เท่าไหร่ก็คุ้มครองทันที ส่วนรัฐบาลก็ไปเก็บจากแพลตฟอร์มต่างๆ อัตราที่พรรคเคยคิดเบื้องต้นคือ 100 บาท สมทบมา 1 บาทจากทุกคำสั่งซื้อ นั่นแปลว่าไรเดอร์จะได้รับการคุ้มครองจากทุกแพลตฟอร์ม จากทุกคำสั่งซื้อ”
พรรคเพื่อไทย โดยดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคและผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย
“ถ้าเราจับแรงงานแพลตฟอร์มใส่เข้าไปในระบบ เราตอบคำถามเรื่องค่าจ้างไม่ได้ เพราะค่าจ้างแรงงานในระบบมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง เราตอบคำถามเรื่องความโปร่งใสของอัลกอริทึมไม่ได้ เพราะแรงงานในระบบไม่มีสิ่งนี้บัญญัติอยู่ เพราะฉะนั้น ผมเสนอทางเลือกที่สามซึ่งอาจจะคล้ายกันกับก้าวไกล คือเราควรจะมีกฎหมายที่กำกับดูแลและปกป้องสิทธิของแรงงานนอกระบบจำเพาะ
เรื่องค่าจ้าง เราควรมีเกณฑ์ที่กำหนดให้ค่าจ้างของแรงงานแพลตฟอร์มให้ไม่น้อยไปกว่าแรงงานในระบบ หากทำงานเทียบเท่าแรงงานในระบบ
และความโปร่งใสของอัลกอริทึมก็สำคัญ การดูแลเรื่องอุบัติเหตุปลายทางอาจไม่ใช่คำตอบ ต้นทางของอุบัติเหตุเกิดจากอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มบีบคั้นให้แรงงานทำงานหนักเกินไปในช่วงที่จำกัดเกินไป อย่างในช่วง peak hour ช่วงเที่ยง ที่ต้องวิ่งรอบกันนั่นคือสาเหตุที่เกิดอุบัติเเหตุ”
พรรคสามัญชน โดยนายปณิธ ปวรางกูร กรรมการบริหาร
“เราต้องการให้ไรเดอร์มีสถานะที่ชัดเจน อย่างน้อยไรเดอร์จะได้มีความคุ้มครอง และเราต้องการให้รัฐบาลคุ้มครองการรวมกลุ่มของไรเดอร์ ตั้งแต่ยังไม่เป็นสหภาพ รัฐบาลควรเข้าไปควบคุมดูแลแพลตฟอร์ม อัลกอริทีมต้องโปร่งใส ไม่รบกวนแรงงานเกินไป เพราะจากที่สอบถามกลุ่มไรเดอร์เชียงใหม่ค่อนข้างโหดร้าย เขาพูดเลยว่าเขาทำงานไม่ต่ำกว่า 12 – 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งควรลดลง”
พรรคเพื่อชาติ โดยนายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ รองเลขาธิการพรรค
“เห็นด้วยกับพ.ร.บ.แรงงานแพลตฟอร์มเป็นทางเลือกที่สาม เรามี 10 ข้อเสนอที่ทำให้แรงงานแพลตฟอร์ม ร้านค้า เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด จะผลักดันให้ทุกคนมีสวัสดิการ มีประกันสังคม ประกันอุบัติเหตุ และขั้นต่อไป คือการเปิดเผยอัลกอริทึมซึ่งในสเปนมี riders’ law พูดถึงการเปิดเผยข้อมูลอัลกอริทึมและการคำนวณ ส่วนประกันจะทำงาน 1 วัน 2 วัน กี่วันก็ต้องมีประกัน พ.ร.บ.แพลตฟอร์มก็ต้องมีระบุในนั้นด้วย”
นายวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ หนึ่งในผู้ตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองในกิจกรรมนี้ระบุว่า ไรเดอร์เป็นลูกจ้างที่ถูกทำให้ไม่เป็นลูกจ้าง ดังนั้น สิ่งที่นักการเมืองพูดในครั้งนี้ เป็นสัญญาทางวาจา ซึ่งเป็นสัญญาณที่เห็นทิศทางของประเทศไทยว่าไรเดอร์ควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงาน
ถือเป็นหมุดหมายสำคัญครั้งแรกที่พรรคการเมืองรับปากดำเนินนโยบายคุ้มครองไรเดอร์ทั้ง 9 พรรค
ขณะที่ จ๋า – สุภาพร พันธ์ประสิทธิ์ หนึ่งในไรเดอร์ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานของไรเดอร์และเป็นหนึ่งในผู้ถามคำถามนักการเมืองบอกว่า ชอบนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายแบบทำได้ทันทีโดยเฉพาะเรื่องประกันคุ้มครองอุบัติเหตุ และรู้สึกดีที่พรรคการเมืองจะเข้าไปช่วยผลักดันกฎหมายคุ้มครองไรเดอร์โดยขอให้พรรคการเมืองอยู่ข้างประชาชน ไม่อยู่ข้างนายทุน