วันสตรีสากลเชียงใหม่คึกคัก จัดเดินรณรงค์ทั้งแรงงานหญิงไทย-ข้ามชาติสนุกสนานแสดงพลังเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม การยอมรับจากสังคม
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 เครือข่ายร่วมจัดงานวันสตรีสากล 2557 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 21 องค์กร ได้มีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2557 เชียงใหม่ “มองใหม่ให้บวก+จริง” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยแรงงานข้ามชาติ พม่า ไทยใหญ่ ลาหู่ กระเหรี่ยง ฯลฯ โดยมีการจัดเวทีเสวนา ที่พูดถึงบทบาทผู้หญิง การต่อสู้ของ คลาร่า เซ็ทกิ้น (Clara Zetkin) ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวเยอรมัน เมื่อปี 2453
คลาร่า เซ็ทกิ้น ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าและเหล่ากรรมกรสตรี ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา พากันลุกขึ้นสู้ ด้วยการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ.2450) โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน อีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ. 2453) ข้อเรียนร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จเมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของคลาร่า เซ็ทกิ้น ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล
นางกาญจนา ดีอุต ผู้ประสานการจัดงาน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อที่จะให้ผู้หญิงกลุ่มต่างๆได้แสดงพลังร่วมกัน และต้องการให้สังคมยอมรับผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ในฐานะผู้ร่วมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน หยุดเอาเปรียบ ขูดรีด ด้วยเพราะความเป็นแรงงานข้ามชาติ
ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติทั้งพม่า ลาว กัมพูชากว่า 4 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง เข้าทำหน้างานในบ้าน เลียงลูก ทำงานในโรงงาน ฯลฯ ในฐานะของผู้ใช้แรงงาน แต่กลับไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน แม้ว่าจะมาอย่างถูกกฎหมาย และวันนี้การทำ MOU ระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลเมียนม่าก็ยังไม่เป็นจริง การจัดทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ไม่ต้องผ่านนายหน้า พราะปัจจุบันต้องจ่ายแพงมาก ด้วยการเดินทางของแรงงานข้ามชาตินั้นไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ฤดูกาลเดียว หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เขาเคลื่อนย้ายเข้ามาตลอดเวลา การที่เปิดให้ขึ้นทะเบียนเพียงระยะเวลาเดียวนั้นจึงทำให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์มากขึ้น พร้อมทั้งปัญหาหลอกลวงแรงงานเพิ่มขึ้น
นางสาวอิอิชอ เล่าว่าได้เดินทางมาจากจังหวัดพังงากับเพื่อเกือบ 40 คน เพื่อร่วมงานวันสตรีสากลที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง 1 ปีจะมีครั่งหนึ่งที่แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้หญิงจะมีโอกาสมารวมกันทำกิจกรรม เพื่อแสดงพลัง ที่แต่ก่อนไม่สามารถทำได้
“วันนี้รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมงานวันสตรีสากลที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาเคยมาร่วมงานวันสตรีสากลครั่งหนึ่ง กลุ่มผู้สตรีน้อยกว่านี้ครั้งนี้รู้สึกว่าเยอะมากๆ ดีใจว่ามีผู้หญิงเยอะแยะมากมายที่อยากทำงานร่วมกันกับพวกเราและอยากจะร่วมและอยากจะเผยแพร่สิทธิของเรา และอยากให้ทั่วโลกได้รู้ว่าผุ้หญิงมีสิทธิอะไรบ้าง และเขาต้องการอะไรบ้าง ” อิอิชอ กล่าว
นางสาววาซูมิ มาเยอะ จากเอ็มพาเวอร์ กล่าวว่า ในช่วงเวลา 15.00 น.ทั่วโลกในวันที่ 8 มีนานี้จะออกมารณรงค์พร้อมกัน “เราใช้ร่มแดงเป็นสัญลักษณ์ของพนักงานบริการ การทำแฟ็ตม็อบเป็นการรณรงค์เรียกรองสิทธิของพนักงานบริการ ให้มีพื้นที่ยืนของคนทำงานอาชีพบริการและไม่ได้ทำแค่ในประเทศไทย ทั่วโลกเหมือนกัน วันนี้บ่ายสามโมงทุกที่มีเป็นพนักงานบริการ ทั่วโลกที่มีพนักงานบริการเราทำแฟ็ตม็อบเหมือนกัน เพื่อร้องสิทธิความเป็นแรงงานของพนักงานบริการ เป็นอาชีพหนึ่ง ให้สังคมเปลี่ยนมุมมอง หยุดตรีตรา และเลือกปฏิบัติกับพนักงานบริการ เราเป็นผู้นำครอบครัว ไม่ใช่เหยื่อ ไม่ใช่อาชญากร”
การจัดงานครั้งนี้ได้มีการแสดงทางวัฒนธรรม ของแรงงานหญิงข้ามชาติกว่า 10 ชุด รวมทั้งมี วงดนตรีภราดรมาร่วมบรรเลงบทเพลงแห่งศักดิ์ศรีแรงงาน สลับกับการแสดง และร่วม เต้น One Billion Rising พร้อมร่วมกันอ่าน แถลงการณ์ วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2557 เชียงใหม่ “มองใหม่ให้บวก+จริง” เป็น 3 ภาษา โดยมีเนื่อหาดังนี้
วันนี้ 8 มีนาคม 2557 เป็นวันสตรีสากล พวกเราเหล่าผู้หญิงมารวมกันเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล, นายจ้าง, ครอบครัว และ ชุมชนของเรา ให้ทบทวนและพิจารณาว่าเราเป็นใคร ให้มองสิ่งที่เรากระทำ และให้รับฟังสิ่งที่เราเรียกร้อง โปรดมองเราในฐานะผู้หญิงที่มารวมตัวกันแสดงพลังความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ มุมมองของสังคมที่มีต่อผู้หญิง ว่าเป็นผู้ที่สามารถก้าวเป็นผู้นำ เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและเป็นเจ้าของสิทธิอันชอบธรรม เราขอเชิญชวนทุกคนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ตามสโลแกนของเราคือ“มองใหม่ให้บวกจริง”
บ่อยครั้งที่ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นประชากรชนชั้นสอง สังคมลดทอนคุณค่าตัวตนของเรา เอาเปรียบเราและจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ งานที่เราทำถูกหาว่าไม่สลักสำคัญ เพราะความไม่เท่าเทียมที่ดำรงอยู่บนโลกใบนี้ เห็นได้จากคนรวย 85 คน มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าคนจน3.5พันล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง มีผู้หญิงจำนวนมากที่ได้รับค่าแรงไม่เป็นธรรมจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานแต่ถูกเอาเปรียบเป็นอย่างมาก เราผู้หญิงมักถูกบังคับให้ต้องอพยพหรือยอมทำงานที่ถูกขูดรีดเพราะเราต้องหาเลี้ยงครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่รับจ้างทำงานบ้านที่ได้ค่าแรงน้อยมาก และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน หรือผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานทอผ้าที่ได้ค่าตอบแทนในปีหนึ่งรวมกันแล้วยังน้อยกว่ารายได้ของคนที่รวยที่สุดได้รับในหนึ่งวินาที หรือผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศถูกกล่าวหาเป็นอาชญากร อีกทั้งสังคมใช้กฎหมายล้าหลังที่ไม่ยอมรับว่างานบริการคืออาชีพ อีกทั้งปฏิเสธว่า ผู้ทำงานเป็นพนักงานบริการก็สามารถเป็นผู้นำและดูแลความเป็นอยู่ของครอบครัวได้ เกือบทุกสังคมยังมองว่างานที่ผู้หญิงดูแลความเป็นอยู่ภายในบ้านและเกื้อกูลครอบครัว เป็นงานที่ไม่สร้างรายได้ หรือจะกล่าวให้เจ็บช้ำว่า เป็นงานที่ไร้คุณค่า
หลายครั้งที่สังคมยังมองผู้หญิงเป็นเหยื่อและเมินเฉยต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ความมืดบอดนี้นำไปสู่การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กกลายเป็นสิ่งปกติในทุกสังคมและชุมชน ผู้หญิงและเด็กต้องเผชิญความรุนแรงทั้งในบ้านและบนท้องถนน ผู้ที่ใช้ความรุนแรงเป็นได้ทั้งสมาชิกในครอบครัว ผู้นำชุมชน ตำรวจหรือแม้แต่โดยทางการทหาร โดยผู้เสียหายของความรุนแรงนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองหรือความยุติธรรม อีกทั้งรัฐบาลมีความบกพร่องในหน้าที่การสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบหรือ CEDAW ที่ในทางปฏิบัติต้องคุ้มครองและสร้างจิตสำนึกในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อความผาสุก ความมั่นคงในชีวิต โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ
หลายคราที่สังคมยังมีอคติว่า ผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง และมองข้ามสิทธิพลเมือง สิทธิทางการรักษา และการศึกษาของผู้หญิง ผู้หญิงชนเผ่าจำนวนมากในเอเชียยังถูกสังคมปฏิเสธสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน รวมทั้งถูกปฏิเสธสิทธิในที่ดินและทรัพยากร ถูกปฏิเสธสิทธิในการเป็นประชาชนของผู้หญิงชนเผ่าและลูกๆของพวกเธออีกด้วย ผู้หญิงชนเผ่า ผู้หญิงข้ามชาติ และผู้หญิงพนักงานบริการต่างถูกเลือกปฏิบัติโดยนายจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ สถานศึกษาและ สถานพยาบาล เราผู้หญิงและลูกของเราถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงการศึกษา หรือแม้แต่การรักษาพยาบาลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIV
หลายหน ที่สิทธิของผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ โดยเฉพาะสิทธิระดับสากล ผู้หญิงชนเผ่า ผู้หญิงชนบท ผู้หญิงยากจนต้องเผชิญกับวิกฤตด้านกฎหมายและการอ้างสิทธิร่วมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองหรือ UNDRIP และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบหรือ CEDAW ผู้หญิงชนเผ่าต้องเผชิญกับการกดดันให้อพยพออกจากพื้นที่พักอาศัยเพื่อทางการจะได้สร้างเขื่อน เริ่มโครงการอนุรักษ์ หรือโครงการว่าด้วยการร่วมมือพัฒนาและธุรกิจการเกษตร ก็เท่ากับว่าผู้หญิงเราถูกกีดกันการเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และต้องเผชิญกับปัญหาการบุกรุกพื้นที่ของทางการที่มาพร้อมกับวาทกรรมการพัฒนา
จนจะกลายเป็นเรื่องปกติที่สังคมไม่เห็นหัว ไม่ฟังเสียงของผู้หญิง อีกทั้งพื้นที่ทางสังคมสำหรับผู้หญิงยังมีน้อย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางการเมือง กฎหมาย ทหาร หน่วยงานรัฐ สถาบันกฎหมายและธุรกิจ หรือแม้แต่ในเวทีผู้นำระดับชุมชน เราผู้หญิงถูกกีดกันและเบียดขับจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่จะกำหนดสันติภาพ ความมั่นคงปลอดภัย และสถานภาพในการดำรงชีวิต ความคิดและความต้องการเหล่านี้ของเราไม่ได้รับการใส่ใจจากสังคมเลย
ปีนี้ เรามาเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง! เพราะถึงเวลาแล้วที่การกระทำของผู้หญิงจะได้รับการมองเห็นและเสียงของผู้หญิงจะได้รับการรับฟัง! มันเป็นเวลาที่จะ “มองใหม่ให้บวก+จริง”
เราต้องการเปลี่ยนมุมมองต่อกระบวนทัศน์ของโลกสมัยใหม่ ที่มิใช่เพียงรับอิทธิพลจากชนชั้นนำชั้นสูงที่มีอยู่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ในสังคม แต่ยังเอื้อต่อการคงอยู่อย่างไม่มีวันสิ้นสุดของความไม่เท่าเทียมในทรัพย์สิน การเข้าถึงทรัพยากร อำนาจระหว่างรัฐ ระหว่างคนจนกับคนรวย และระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย
เราต้องการเปลี่ยนทัศนคติเรื่องความยุติธรรมสำหรับผู้หญิง สังคมต้องต่อต้านการกระทำอันอยุติธรรมต่อผู้หญิง แต่ต้องสนับสนุนประชาชนและขบวนการผู้หญิงที่จะส่งเสียง รวมตัว และเรียกร้องหาความยุติธรรม ผู้หญิงสามารถเป็นเจ้าของในทรัพย์สินและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร สังคมต้องให้การรับประกัน “งานที่มีคุณค่า” และค่าตอบแทนในการดำรงชีวิต ซึ่งสามารถให้ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยไม่ว่าจะต่อครอบครัวหรือชุมชนของเรา และที่สำคัญ การให้ความเคารพต่อการตัดสินใจ ต่อสิทธิเหนือตัวร่างกาย เพศวิถี และการดำรงชีวิตของเรา
เราต้องการขจัดอคติของสังคมที่มีต่อพนักงานบริการ สังคมต้องเปิดตาและเปิดใจที่จะยอมรับเส้นทางดำรงชีวิตใหม่นี้ พร้อมทั้งตั้งใจฟังเสียงของเราจริงๆ และให้การยอมรับว่าพนักงานบริการก็คืออาชีพหนึ่ง โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ
เราต้องการเปลี่ยนความคิดของสังคมที่มีต่อผู้หญิงข้ามชาติ โดยผู้หญิงเหล่านี้ต้องได้รับการเคารพ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือเหยียดหยาม แรงงานทำงานบ้านและแรงงานนอกระบบอื่นๆต้องได้รับการยอมรับว่าคืองานภายใต้กฎหมายแรงงานเพื่อแรงงานหญิงทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครอง
เราต้องการให้การกดขี่ทางเพศจบสิ้นลง ให้การเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงและเด็กหญิงชนเผ่าหมดสิ้นไปทั้งในด้านกฎหมาย ด้านการปฏิบัติ ด้านความเชื่อรวมทั้งในสังคม
พวกเราต้องการการเข้าถึงสิทธิด้านการบริการสุขภาพของผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับHIVรวมถึงการสร้างทางเลือกด้านสุขภาพ และการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงด้านการจัดการสุขภาพของตนเองให้มากขึ้นและ การจัดบริการของรัฐที่เอื้อต่อความต้องการด้านสุขภาวะทางเพศของผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับHIVอย่างครอบคลุมรอบด้าน
เราต้องการเห็นรัฐบาลของเราให้ความสำคัญและปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายต่างๆทั้งระดับชาติและระดับสากล ที่ยกระดับสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิง อีกทั้งส่งเสริมความความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน
เพราะว่าวันนี้เป็นวันของผู้หญิง – เรา ผู้หญิง มาจากหลากหลายที่ หลากหลายสถานะ หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายความเชื่อและประสบการณ์ แต่จุดยืนของเราในการเปลี่ยนความคิด ปรับมุมมอง นี้เองที่ทำให้เรา เหล่าผู้หญิงมีความเข้มแข็ง เราเรียกร้องกับสังคมเสมอมา ไม่ว่าจะให้สังคมให้ความสำคัญกับเรา หรือแม้แต่เรียกร้องให้เข้าร่วมกับเรา เพื่อรับรู้ความแข็งแกร่ง ยอมรับความหลากหลาย เคารพความแตกต่าง และรับฟังเสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่มาจากใจของพวกเรา
รายนามองค์กรเครือข่ายร่วมจัดงานวันสตรีสากล 2557 จังหวัดเชียงใหม่
1. มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์(MAP)
2. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์(EMPOWER)
3. มูลนิธิเพื่อประสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองแห่งเอเชีย (AIPP)
4. สมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก(APWLD)
5. เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย(IWNT)
6. เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN)
7. เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN)
8. สันนิบาตสตรีพม่า (WLB)
9. Burmese Women Union(BWU)
10. We women Foundation
11. มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก (FOCUS)
12. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)
13. ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (WSC/FORWARD)
14. มูลนิธิเอ็มพลัส (MPlus)
15. Kachin Women’s Association in Thailand (KWAT)
16. โครงการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน (Sangsan)
17. มูลนิธิรักษ์ไทย
18. เครือข่ายผู้หญิงอยู่ร่วมกับเอชไอวี (TPWN)
19. มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่(NLCF)
20. V-Day Community
21. กลุ่มแรงงานสามัคคี(WSA) และ สหพันธ์คนงานข้ามชาติ(MWF)
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน