8 มีนาเดือด! ขว้างข้อเรียกร้องเข้าทำเนียบเสนอนายก “ปู”

 

 
เครือข่ายองค์กรผู้หญิงเดินรณรงค์วันสตรีสากล  ยื่น 5 ข้อเสนอถึงนายกฯช่วยลูกจ้างน้ำท่วมโดยขยายสิทธิประกันสังคมว่างงานเป็น 10 เดือน และลดเงื่อนไขกู้เงินประกันสังคม  เสนอกองทุนพัฒนาสตรีต้องบริหารอย่างโปร่งใสให้แรงงานหญิงทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้  ด้านสำนักเลขาธิการนายกฯแจ้งส่งนลินีรับหนังสือแต่กลับลำไม่มา  กลุ่มสตรีแถลงโต้ประณามนายกฯไม่ใส่ใจปัญหาคนจนและแรงงานหญิงแต่มีเวลาไปฟื้นฟูเยียวยานายทุนต่างชาติ  มีมติส่งข้อเสนอของกลุ่มผู้หญิงให้นายกฯด้วยการขว้างปาเข้าไปในทำเนียบ
 
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และเครือข่ายองค์กรผู้หญิง ประมาณ 1,500 คน ประกอบด้วย ผู้ใช้แรงงานหญิงจากภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มแรงงานทำงานบ้าน  องค์กรสิทธิด้านเอดส์ เครือข่ายผู้หญิงลุ่มน้ำป่าสัก เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดิน เครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นต้น  ได้ร่วมกันเดินขบวนรณรงค์เนื่องในโอกาส วันสตรีสากล  8 มีนาคม 2555 เพื่อรำลึกถึงการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของสตรีทั่วโลก 
     
ในปีนี้เครือข่ายองค์กรผู้หญิงได้ทำคำประกาศเจตนารมณ์ “ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตทียั่งยืนของทุกคน” แถลงต่อ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงมีบทบาทสร้างสรรค์สังคมให้พัฒนาก้าวหน้า  แต่ชีวิตจริงของผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ทุกอาชีพยังไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในระบบสามแปด เพราะค่าตอบแทนการทำงานที่ไม่เป็นธรรม สวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอ ขาดโอกาสในการร่วมตัดสินใจกำหนดนโยบายทุกระดับ  
     
และยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล 5 ข้อ ประกอบด้วย รัฐบาลต้องมีนโยบายช่วยแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆจากวิกฤตน้ำท่วม  ให้ขยายสิทธิประกันสังคมกรณีว่างงานเป็น 10 เดือน และลดเงื่อนไขให้ลูกจ้างกู้ยืมเงินกองทุนประกันสังคมได้ง่ายขึ้น   กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติต้องบริหารแบบกระจายอำนาจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทุกกลุ่มเข้าถึงกองทุนได้ และต้องมีตัวแทนจากองค์กรแรงงานหญิงเข้าร่วม  รัฐบาลต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆให้เพียงพอ   รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ไอ แอล โอ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการปกป้องสิทธิการเป็นมารดา   รัฐบาลต้องยกเลิกนบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพราะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานแรงงานหญิงในองค์กร  และ เรียกร้องให้มีการกำหนดสัดส่วนหญิงชายในคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงาน มีการบูรณาการปัญหาและความต้องการที่แตกต่างของหญิงชายในการกำหนดนโยบาย       
 
ทั้งนี้  ทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือแจ้งล่วงหน้ามาว่าจะมอบหมายให้ นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  และเป็นประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ เป็นผู้มารับหนังสือ  แต่ในที่สุดก็ไม่มีผู้ใดที่ฝ่ายเครือข่ายองค์กรผู้หญิงยอมรับออกมารับหนังสือ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเครือข่ายองค์กรผู้หญิงเป็นอย่างมาก  และได้มีการแถลงโดยตัวแทนของกลุ่มสตรีที่มาร่วมชุมนุม ประณามนายกรัฐมนตรีหญิงว่าไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของแรงงานหญิงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนจน  แต่กลับมีเวลามากมายในการเดินสายเพื่อนโยบายฟื้นฟูและเยียวฝ่ายนายทุนผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ  ในที่สุดจึงมีมติให้ผู้หญิงที่มาร่วมชุมนุมและมีป้ายเรียกร้องทุกคน  โยนและขว้างปาป้ายข้อเรียกร้องเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บไปส่งให้นายกฯพิจารณา และจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามการแก้ปัญหาให้กับผู้หญิงที่ประสบความเดือดร้อนในกรณีต่างๆต่อไป
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน