8 มีนาวันสตรีสากล สสรท. และสรส.ยื่นข้อเรียกร้องแก้ปัญหาแรงงาน 11 ข้อ

วันสตรีสากล องค์กรแรงงานเสนอทวง 8 ข้อเรียกร้องเดิม เติมข้อเรียกร้องใหม่อีก 3 ข้อเร่งด่วน ย้ำรัฐบาลแก้ปัญหาแรงงานหญิง

วันที่ 8 มีนาคม 2567 วันสตรีสากล สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ร่วมกันเดินขบวนรณรงค์เพื่อรำลึกถึงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ.2400) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงนายจ้างเพื่อขอเพิ่มค่าแรง และเรียกร้องสิทธิของพวกเขาแต่แล้วเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ ที่มีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานในขณะที่พวกเธอนั่งชุมนุม เหตุการณ์ในครั้งนั้น เกิดกระแสสร้างความไม่พึงพอใจให้กับผู้หญิงทั่วโลก “คลารา เซทคิน (Clara Zetkin)” นักการเมืองสตรีชาวเยอรมันตัดสินใจชักชวนเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงาน ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือ วันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ.2453) ความพยายามอันต่อเนื่องและยาวนานของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ใน “ระบบสามแปด” คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก8 ชั่วโมง เป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพสตรีและแรงงานเด็ก อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่างและให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ.2518) นั้นถือว่าเป็นก้าวสำคัญ เมื่อสหประชาชาติ เริ่มเห็นความสำคัญของวันนี้และมีการจัดงานอย่างเป็นทางการโดยสหประชาชาติประกาศให้เป็น 8 มีนาคม “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) ด้านหนึ่งเป็นวันที่เฉลิมฉลอง เพื่อให้สตรีมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในภาคสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เท่าเทียม ที่ยังดำรงอยู่

ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก พัฒนาสังคมประเทศ และมีผู้หญิงในหลายประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ สำหรับประเทศไทยจากการเคลื่อนไหว ของเครือข่ายขบวนการแรงงานและเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเพศสภาพ และสาขาอาชีพต่างๆ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เรื่องสิทธิ เสรีภาพ มากยิ่งขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพของผู้หญิงมากขึ้น อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ผู้หญิงยังคงถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกมากมายหลายมิติ   วันสตรีสากลในปีนี้ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้หญิง ต้องการให้รัฐบาลบูรณาการแก้ไข ดำเนินการทางนโยบาย กฎหมาย  เพื่อปกป้องคุ้มครอง และเยียวยาสิทธิของผู้หญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตามหลักการองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการทำธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จากสถานการณ์วิกฤติโควิด ที่ส่งผลกระทบให้แรงงานหญิง ต้องเผชิญการถูกเลิกจ้าง ลอยแพ และการถูกละเมิดสิทธิทางเพศ  ถูกเอารัดเอาเปรียบที่รุนแรงเพิ่มเป็นทวีคูณ ความล่าช้า ความยากลำบากในการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ทั้งช่องว่างของกฎหมายทำให้สูญเสียสิทธิและขาดโอกาสในการทำงานที่มั่นคง ยั่งยืน ไร้หลักประกัน  ไร้ความเป็นธรรมส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตทั้งตนเองครอบครัวอย่างรุนแรง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ดังนั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยมที่รัฐบาลทุกยุคสมัยได้ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการประเทศพิสูจน์ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่าเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนอย่างไร ภาวะรวยกระจุก จนกระจาย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงเป็นลำดับต้นของโลกหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 90 ของประเทศ ความยากจนและหนี้สินที่พอกพูนส่งผลต่อการมีบุตร เห็นได้จากสถิติในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาอัตราการเกิดน้อยกว่าการตาย คือสัญญาณอันตรายและนั่นหมายถึงส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนวันสตรีสากลในปี 2567(2024) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงชูคำขวัญในการรณรงค์ว่า “ต่อต้านทุนนิยมเสรีกดขี่แรงงานหญิง” เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาดังกล่าว และข้อเรียกร้องในวันสตรีสากล ให้เกิดขึ้น สสรท. และ สรส. จึงขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2567 ดังนี้

ข้อเรียกร้องวันสตรีสากล ประจำปี 2566 (ข้อติดตาม)

1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับต่าง ๆ ดังนี้

ฉบับที่ 177         ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน

ฉบับที่ 183         ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา

ฉบับที่ 189         ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน

ฉบับที่ 190         ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

ฉบับที่ 87          ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว

ฉบับที่ 98          ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม

2. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100% และให้เร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วันตามมติ ครม. ที่เห็นชอบ ให้ครบถ้วน

3. รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงหามาตรการ ปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักการการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน

4. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปีเดือนละ 3,000 บาท

5. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนหญิง ชาย และเพศสภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

6. รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี

7. รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

8. รัฐต้องให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

ข้อเรียกร้องวันสตรีสากล ประจำปี 2567

1. รัฐต้องรับร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. .…

2. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524)

3. ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำเอกสารขึ้นทะเบียนรอบใหม่ และให้มีการคุ้มครองกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง พร้อมให้มีการทบทวนการเรียกเก็บภาษีกับแรงงานข้ามชาติ

ข้อเรียกร้องนี้ ได้เสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานานหลายปี เพื่อตอกย้ำให้รัฐบาลทุกรัฐบาลได้มีจิตสำนึกและตระหนักถึงหน้าที่ในการดูแลประชาชน คนงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานหญิงซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกเอาเปรียบ รังแก ข่มเหง ดังนั้น สสรท. และ สรส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่าน นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐาทวีสิน และรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสิทธิและบทบาทของคนงานหญิง ด้วยการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันสตรีสากล เพื่อแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาลในการยกระดับสิทธิและสวัสดิภาพของคนงานหญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมต่อไป

การเดินรณรงค์ครั้งนี้ทางองค์กรแรงงานได้ประสานที่จะเดินไปยังประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐได้จัดกำลังตำรวจนำรถมาปิดกั้นขบวนแรงงานไว้ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และได้ส่งให้นายสมคิด เชื้อคง เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มารับหนังสือแทน

นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลมีความพยายามในการดูแลแรงงาน กรณีสิทธิการลาคลอดตอนนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ทั้งร่างของรัฐบาล และร่างของฝ่ายค้านที่กำหนดเรื่องสิทธิลาคลอดไว้แล้วเหมือนกัน ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของผุ้ใช้แรงงาน และในส่วนของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท จากนี้ไปจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปีจนได้ครบ 600 บาทแน่นอน

ด้านนางสาวเรืองรุ่ง วิเชียรพงศ์ รองประธานสมาพันธ์สมานฉัน์แรงงานไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียกร้องเรื่องสิทธิลาคลอด 180 วัน และเงินอุดหนุนเดก็เล็กเป็นสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี พร้อมกับเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สอดคล้องกับคนทำงาน และเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิความเป็นมารดา ซึ่งวันนี้ก็ถือเป็นโอกาสในการที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนลงนาม ด้วยรัฐบาลก็สนับสนุนเรื่องการมีบุตรเพื่อเพิ่มประชากรในประเทศอีกด้วย ข้อเรียกร้องจึงถือว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลนี้ด้วย

จากนั้นกลุ่มแรงงานที่มาชุมนุมก็มีการร้องเพลง สตรีสากล ร่วมกันก่อนปิดการชุมนุม

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน