7ต.ค.นี้ มาแน่แรงงานตะวันออก รัฐไม่รับรองไม่กลับ

Untitled-15

กรรมกรกลุ่มบ่อวินเตรียมความพร้อมก่อนเคลื่อนพลเข้ากรุงผลักดันอนุสัญญาILO 87,98

เมื่อวันที่28-29 กันยายน2556ทางคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนและรณรงค์ในระดับพื้นที่ ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่87และฉบับที่98 โดยหวังสร้างความเข้าใจในเนื้อหาอนุสัญญาทั้งสองฉบับก่อนจะมีการขับเคลื่อนใหญ่ในที่7ตุลาคมนี้ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของกรรมกรอีกหนึ่งวันคือ “วันงานที่มีคุณค่า(Decentwork)”

เวลาประมาณ10.00น. วันที่28กันยายน2556 นายคมกฤช ชินชัยสงค์ ประธานคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ได้กล่าวเปิดงานโดยขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนตั้งใจเรียนรู้และช่วยกันนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่กับสมาชิกสหภาพแรงงานและคนงานทั่วไปเพื่อการรณรงค์ในวันที่7ตุลาคมจะได้เข้าใจในประเด็นที่รณรงค์ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เราร่วมกิจกรรมนี้มาแล้วหลายปีแต่ครั้งนี้เราหวังผลในการกดดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาฉบับที่87และ98โดยเราจะต้องอยู่ค้างคืนจนกว่ารัฐบาลจะให้คำตอบที่เราพอใจ

Untitled-13Untitled-12

จากนั้นเวลาประมาณ10.15น.มีการบรรยายสรุปประมวลสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในขบวนการแรงงานไทย โดยนายยงยุทธ แม่นตะเภา เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เริ่มจากรูปแบบโครงสร้างของการจ้างงานที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมขนาดใหญ่น้อยลงในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กเพิ่มขึ้นมาก มีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติมากขึ้นในขณะที่แรงงานสูงอายุมากขึ้นมีการจ้างงานแบบเหมาช่วงและเหมาค่าแรงมากขึ้น มีการใช้แรงงานแบบเข้มข้นแข่งขันกันรุนแรง ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือปกป้องรักษาผลกำไรโดยการลดอำนาจต่อรองของลูกจ้าง ในขณะที่มี4ปัจจัยหลักที่ทำให้ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอ ได้แก่ 1.รัฐไทยยังพยายามที่จะจำกัดอำนาจการต่อรองของแรงงาน ทั้งโดยกฎหมายและนโยบายรวมถึงการที่รัฐบาลไทยยังเกี่ยงไม่ยอมรับอนุสัญญาฉบับที่87และ98ทั้งที่เป็นหนึ่งใน45ประเทศผู้เริ่มก่อตั้งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศซึ่งเกือบร้อยปีแล้ว เรื่องของเสรีภาพในการรวมตัวและการเจราต่อรองถือเป็นเรื่องที่จะทำให้ขบวนการแรงงานไทยเกิดความเข้มแข็งขึ้นและจะต้องปรับแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับปัจจุบันให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับ 2.ทัศนคติและค่านิยมของสังคมไทยยังไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสิทธิของแรงงาน ยังคงติดวัฒนธรรมแบบ “นาย”กับ “บ่าว” 3.ข้อจำกัดในขบวนการแรงงานเอง เช่นการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส การผูกขาดอำนาจ การประสานงานทั้งภายในองค์กรและภายนอก ทำให้เกิดความแตกแยก 4.ความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอก ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดเพราะต้องทำตามนโยบายของทุนจากภายนอกทำให้บางครั้งไม่ได้ใส่ใจภายในองค์กรจนเกิดความอ่อนแอ

Untitled-14Untitled-20

จากนั้นเวลาประมาณ13.00 น.เป็นการบรรยายและช่วยกันระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “รู้จัก-เข้าใจความสำคัญของอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่87แล98 เริ่มที่การทำความรู้จักองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ซึ่งในเป็นหนึ่งใน45ประเทศที่ร่วมก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2462มีสมาชิกปัจจุบันทั้งหมด183ประเทศ มีสถานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ  ความหมายของอนุสัญญาและรายละเอียดของอนุสัญญาฉบับที่87และ98จากนั้นก็เป็นการระดมความคิดเห็นในเรื่องข้อดีของการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับและเราจะมีส่วนร่วมอย่างไรที่จะผลักดันให้รัฐรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับโดยแบ่งเป็น5กลุ่ม กลุ่มละประมาณ27-28คนซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า140จากนั้นทั้ง5กลุ่มได้ออกมานำเสนอผลงานที่ได้ระดมความคิดเห็นกันมาต่อด้วยกิจกรรมสันทนาการโดยทีมกิจกรรมของกลุ่มบ่อวินสัมพันธ์ เสร็จสิ้นกิจกรรมเวลาประมาณ18.00น.

Untitled-16Untitled-21

วันที่29เป็นเรื่องการบรรยาย “ขั้นตอนและวิธีการจัดทำข้อเรียกร้อง” โดยนายวิสุทธิ เรืองฤทธิ์ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยและในช่วงบ่ายเป็นการบรรยายและฝึกปฏิบัติในหัวข้อ “วิธีการใช้กลยุทธ์และเทคนิคการเจรจาต่อรอง”สลับกับการสันทนาการของทีมกิจกรรม

ทั้งนี้ได้มีการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งชลบุรี และระยองในวันที่ 30 ก.ย.แล้ว

นักสื่อสารแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก  รายงาน