61 คนงานAGC เคว้ง หลังถูกนายจ้าง ลอยแพ

แถมตามซ้ำ กดดันผู้ประกอบการ แจกแบล็คลิสต์ (blacklist) หมดสิทธิทำงาน ลูกจ้างครวญ หนูอยากทำงาน หลังเลิกจ้าง ข้อหาคลุมเครือ ไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจน อ้าง ละทิ้งหน้าที่

จากกรณี บริษัทเอจีซี อิเลคทรอนิกส์ จำกัด ตั้งอยู่ใน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา เลิกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน รวมสมาชิกจำนวน 61 คน ในข้อหา ละทิ้งหน้าที่ เมื่อวันที่ 18กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ทำให้คนงานต้องเดินสาย ร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ให้มีการไกล่เกลี่ยนายจ้างรับกลับเข้าทำงานอีกครั้ง

หนึ่งในตัวแทนคนงานกล่าวว่า เนื่องจากเหตุการณ์ที่นายจ้างได้ประกาศใช้ มาตรา 75 ให้หยุดงานชั่วคราว ในช่วงที่ผ่านมา อ้างภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ค่อยดี ไม่มีออเดอร์เข้ามา จำเป็นต้องใช้มาตรา 75 กับคนงานบางส่วน ทำให้คนงานรวมตัวกันเข้าไปขอความชัดเจนในการให้หยุดงานกับนายจ้าง เพราะไม่ทราบว่าจะให้หยุดงาน ในส่วนของกรรมการสหาภพแรงงานได้เข้าไปช่วยระงับพูดคุยกับคนงานเพื่อสร้างความความเข้าใจและจะเป็นตัวแทนเข้าไปพูดคุยกับนายจ้าง เพื่อหาความจริงมาให้ โดยขอร้องให้พนักงานกลับเข้าทำงาน แต่ปัญหาบางส่วนยอมกลับเข้าทำงานแล้ว ตามที่มีการช่วยกันขอร้อง ซึ่งมีพนักงานอีกส่วนหนึ่งที่ยังเข้าทำงานไม่ทันตามคำสั่งเพราะรอรับฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผล นายจ้างได้ประกาศเลิกจ้างทันทีโดยกล่าวหาละทิ้งหน้าที่ กักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงานรวมทั้งสหภาพแรงงานด้วย “คิดว่าควรมีการสอบสวนหาความเป็นจริงก่อน เพราะสหภาพแรงงานพยายามที่จะพูดคุยกับทางพนักงานทั้งหมดให้กลับเข้าทำงานอยู่ ไม่ได้ตั้งใจในการละทิ้งหน้าที่ ซึ่งหากคิดว่า จะตักเตือนหรือปรามเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถให้ใบเตือนก่อนก็ได้ ไมใช่อ้างแบบนี้แล้วประกาศเลิกจ้างเลย”

ปัจจุบันนี้นายจ้างได้มีการปิดประกาศรายชื่อของพนักงานเหมือนประจานกลายเป็น แบล็คลิศ (blacklist) ที่สถานประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่รับพนักงานกลุ่มนี้เข้าทำงาน ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงหมดทางหางานทำ

วันนี้คนงาน 61 คน ได้เดินทางมาขอความช่วยเหลือกับทางผู้นำแรงงานในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)เพื่อร้องทุกข์ ให้ขบวนการแรงงานเข้ามาช่วยหาทางเหลือ ซึ่งได้มีการพาไปพบกับเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อให้เข้าไปดำเนินการเรียกนายจ้างมาไกล่เกลี่ย ขอกลับเข้าทำงาน ให้มีเงินส่งเสียครอบครัว เพราะขณะนี้เดือดร้อนกันมาก “เรายังไม่อยากตกงาน” หนึ่งในแกนนำกล่าว

นางสาวบุษบา 1 ในพนักงาน 61 คน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา “หนูไปสมัครงานในโรงงานแห่งหนึ่งใน นิคมฯโรจนะ ซึ่งรับคนงานฝ่ายผลิต จำนวนมาก เราไป กัน 3 คน จากผู้สมัคร 20 คน โรงงานแห่งนั้น รับ ไว้ทั้งหมด 17 คน เขาไม่ยอมรับ พวกเราทั้ง 3 คน หนูและเพื่อนๆ เสียใจมาก พวกหนูจำเป็นต้องหาเงินมาดูแลครอบครัว โดยเฉพาะ ลูกของหนู ที่กำลังเริ่มเข้าเรียน หนูกลัวลูกของหนูจะลำบาก”

เมื่อวานนี้ (วันที่ 1 ก.ย.54) เวลา 10.30 น. กลุ่มอดีตคนงาน ประมาณ 15 คน เดินทางเข้าพบ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดยมีคุณชาลี ลอยสูง ประธานกรรมการ และ คุณยงยุทธ์ เม่นตะเภา กรรมการอำนวยการ ให้การต้อนรับ

ตัวแทนพนักงานกล่าวว่า ผ่านมากว่า 40 วัน แล้ว ที่พวกเราเดินทางยื่นหนังสือ ต่อ หน่วยงานต่างๆของรัฐ หวังว่า จะได้รับการแก้ไขปัญหา ช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า ชัดเจนเลยในทุกๆด้าน  ในขณะนี้ นายจ้างมีการเปิดรับสมัครคนงานเพิ่ม 2 รอบแล้ว รอบแรก 150 คน และ รอบที่ 2 อีกกว่า 500 คน แต่กลับพวกเรา นายจ้างกลับท้าทายให้พวกเราไปต่อสู้ในกระบวนการฟ้องศาล หรือร้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ซึ่งพวกเราไม่มีความพร้อม ไม่มีเงินในการที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม เราต้องการกลับเข้าทำงาน ไม่ต้องการต่อสู้กับนายจ้าง จึงเดินทางมาขอคำปรึกษา และ ความช่วยเหลือต่อ คสรท ในครั้งนี้

นายชาลี ลอยสูง กล่าว่า คสรท.ยินดีช่วยเหลือ และ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ใช้แรงงานทุกคนอยู่แล้ว ขอให้มั่นใจในสิ่งที่พวกเราจะทำ ความสามัคคีจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ภารกิจนี้ของทุกคนสำเร็จ เน้นการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกจ้างนายจ้าง ให้อยู่ด้วยกันได้ ขอพวกเราอดทน คงต้องมีการเข้าไปช่วยเหลือกันอีกหลายด้าน วันก่อนไปที่กระทรวงแรงงาน ยังไม่คืบหน้า นัดเจรจานายจ้างไม่มา ไม่เป็นไร คงต้องดูท่าทีนายจ้างก่อนว่าต้องการอะไร เลิกจ้างเพราะเป็นสหภาพแรงงานใช้หรือไม่

นายยงยุทธ์ เม่นตะเภา กล่าวว่า ในวัฒนธรรมการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ สัญชาติญี่ปุ่น ไม่ค่อยเห็นวิธีการบริหารลักษณะนี้บ่อยนัก โดยทั่วไปแล้ว เรื่องชื่อเสียงของบริษัทเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด อาจจะถือได้ว่า ชื่อเสียง หรือ แบรนด์ หรือ โลโก้ของบริษัท สัญชาติญี่ปุ่น เป็นทรัพยากรที่มีมูลค่ามากมาย มหาศาลเลยก็ว่าได้ แต่หากบริษัทแนะแนวทาง เสนอให้คนงานไปเรียกร้องสิทธิผ่านกระบวนการศาล หรือ ครส. อันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อชื่อเสียงบริษัท

ในเบื้องต้นเข้าใจว่า ฝ่ายจัดการเอง อาจจะยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบที่แท้จริงของวิธีการดังกล่าว ผมคิดว่า เราคงจะต้องหาช่องทางในการสื่อสาร ส่งสัญญาณให้บริษัทญี่ปุ่น ได้รับรู้ถึงผลกระทบในระยะยาว ซึ่ง คสรท.ยินดีที่จะรับดำเนินการ ทางคสรท. คงต้องลงไปพื้นที่ ขอทวงถามกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดดูว่า เรื่องนี้ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว หากแก้ไขปัญหาแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้ เราก็จะเดินไปตามขั้นตอน หากประนีประนอมไม่ได้ก็ต้องมาดูร่วมกัน เพราะทิศทางเดินมีอยู่แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนงานจะถูกใช้ มาตรา 75 บังคับตลอดช่วง ระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา หลัง ปัญหา วิกฤติเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกา การใช้ มาตรา 75 ในขณะนั้นเป็นการร่วมมือ ร่วมใจกันฟันฝ่าปัญหาวิกฤติ ร่วมกันระหว่างคนงาน กับ บริษัทฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายกย่องคนงานที่เห็นใจและเข้าใจต่อสถานการณ์ขณะนั้น แต่ปัจจุบันนี้ ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจผ่านพ้นไปแล้ว และเหตุใด มาตรา 75 ก็ยังคงถูกนายจ้างหยิบขึ้นมาใช้อยู่ตลอดเวลา

นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก รายงาน