เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เสนอประกันสังคมเพิ่ม 5 สิทธิประโยชน์ ครอบคลุมการตรวจครรภ์ ส่งเสริมและป้องกัน ตรวจช่องปาก และสิทธิผู้ประกันตนรับบำนาญให้คงสิทธิ
วันที่ 26 ธันวาคม 2559 เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เข้าพบเลขาธิการ สปส. (นายสุรเดช วลีอิทธิกุล ) ที่กระทรวงแรงงาน อาคารประกันสังคม เขตพื้นที่ 3 เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการใน 5 ประเด็น ดังนี้
1) การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาตรา 63 (2) และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตนกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ มาตรา 63 (7)
2) การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 39
3) การเร่งรัดการออกอนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 จำนวน 17 ฉบับ
4) สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน
5) กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพถูกตัดสิทธิการรักษาจากประกันสังคมไปใช้ระบบ สปสช. (บัตรทอง)
นายมนัส โกศล ประธาน คปค. กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาตรา 63 (2) ซึ่งมีการจัดตรวจสุขภาพฟรีนั้น ยังขาดการประสานงานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งมีกฎหมายบังคับให้กิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงต้องจัดตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว สำหรับสิทธิตรวจสุขภาพฟรีนั้นยืนยันว่าไม่ควรมีการกำหนดอายุ เพราะทุกคนมีการจ่ายเงินสมทบเหมือนกัน ถือเป็นการจำกัดสิทธิ ทางเครือข่ายฯ ขอให้เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปาก และการฝากครรภ์ ให้อยู่ในสิทธิตรวจสุขภาพด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าในส่วนของผู้ประกันตนนั้นมักไปใช้สิทธิรักษาทันตกรรมช่วงปลายปีก่อนที่จะหมดสิทธิ ทั้งที่อาจไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปาก จะช่วยให้ผู้ประกันตนรู้ว่าสุขภาพช่องปากของตัวเองเป็นอย่างไร ต้องรักษาในเรื่องใดบ้าง
“ส่วนกรณีการฝากครรภ์นั้นพบว่า ผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์ไม่ค่อยมาฝากครรภ์ เหมือนคนในสิทธิบัตรทอง เพราะต้องเสียเวลาในการทำงานและมีค่าใช้จ่าย จึงต้องการเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงหลังคลอด การให้สิทธิตรวจสุขภาพครอบคลุมการฝากครรภ์ด้วย จะช่วยเพิ่มอัตราการฝากครรภ์ได้ จากการติดตามความก้าวหน้าในการออกอนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 จำนวน 17 ฉบับ พบว่ากฎหมายลำดับรองที่ได้มีการจัดทำ และมีผลบังใช้แล้วนั้นเพียง 7 ฉบับ ส่วนมากเป็นกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสำนักงาน และการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการประกันสังคม แต่ยังไม่มีการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ หน้าที่ และประโยชน์ทดแทน ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม จึงขอให้เร่งรัดดำเนินการในเรื่องนี้ และขอสอบถามถึงความคืบหน้าในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน และอัตรการจ่ายเงินสมทบ มาตรา 40 กฏกระทรวง มาตรา 40 ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 8 รวมทั้ง มาตรา 63 (2) (7) ยังไม่ชัดเจน และยังไม่เทียบเท่ากับสิทธิ สปสช.” นายมนัสกล่าว
ส่วนข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานนอกระบบนั้น นางสาวอุบล ร่มโพธิ์ทอง ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 39 ได้แก่
1. ประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิต ผู้ประกันตนมาตรา 40 ขอเพิ่มสิทธิรับเงินค่าทำศพเป็น 40,000 บาท
2. กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อเจ็บป่วยและมีใบรับรองแพทย์ 300 บาทต่อวัน
3. กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้นาน 15 ปี ขอแก้ไชเป็นตลอดชีวิต นอกจากนี้ ขอเรียกร้องในประเด็นการฝากครรภ์ด้วย เนื่องจากผู้ประกันตนได้ร้องเรียนในเรื่องนี้มาก
ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆนั้น ทาง สปส. ยินดีรับไว้พิจารณา เบื้องต้นข้อเสนอการตรวจสุขภาพผู้ประกันตนที่จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น ทางเครือข่ายเสนอขอให้มีการตรวจสุขภาพช่องปาก ในเรื่องทันตกรรม รวมทั้งเรื่องการตรวจการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ อยากให้อยู่ในการตรวจสุขภาพนั้น สปส.ก็จะรับไว้พิจารณา ซึ่งมองว่าน่าจะปรับปรุงเพิ่มเติมได้ แต่ในเรื่องผู้ประกันตนที่เกษียณอายุไปแล้ว และอยากให้สปส.ดูแลการรักษาพยาบาลต่อนั้น เรื่องนี้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป ส่วนกรณีอนุบัญญ้ติ 15 ฉบับ กระทรวงกำลังดำเนินการ แต่ในกรณีการเลือกตั้งกรรมการต้องยุติลง ตามคำสั่ง คสช.