450 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกแพทองธาร เสนอนโยบายสวัสดิการเด็กที่เป็นรูปธรรม

วันที่ 12 กันยายน 2567 คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน  450 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึก นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เรื่อง ขอให้มีนโยบายและแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ในการแถลงนโยบาย และแผนการปฏิบัติงานของรัฐบาลเป็นรูปธรรม

คณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน  450 องค์กร ทั่วประเทศ ได้มีข้อเสนอให้มีสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร จากการสำรวจสถานการณ์เด็กปฐมวัยทั่วประเทศ จากคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ที่มีอยู่ทุกภูมิภาค และจากงานวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้นำเสนอต่อพรรคเพื่อไทย และทุกพรรคการเมือง ในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และมีการเสนอต่อเนื่องมาอีกหลายละลอก ทั้งต่อพรรคการเมือง และต่อรัฐบาลโดยตรง   โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. ให้จัดเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ตั้งแต่คลอดจนถึงอายุ 6 ปี คนละ 600 บาท/เดือน ตามมติของคณะกรรมการแก้ไขของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยกำหนดเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2568

2. เงินอุดหนุนหญิงมีครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือน จนถึงเดือนที่ 9. แบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท ตามมติของคณะกรรมการแก้ไขของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เริ่มต้นในปีงบประมาณ 2568เช่นกัน

3. ขยายสิทธิลาคลอด เป็น 180 วัน เพิ่มระยะให้แม่และพ่อได้เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด และเชื่อมต่อไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน

4. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พัฒนาการรับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน รับช่วงต่อจากพ่อแม่ที่ลามาเลี้ยงดูลูกได้ 180 วัน โดยให้มีความยืดหยุ่น หลากหลายรูปแบบ  สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ทำงาน  จำนวนและคุณภาพเพียงพอ ให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ

โดยขอให้รัฐบาลในการบริหารของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้นำข้อเสนอของคณะทำงานไปพิจารณา และมีนโยบาย แผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ที่เร่งด่วน เพื่อดูแลเด็กเล็กทุกคนอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม ตามการรับรองของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้หลายฉบับ เพื่อเป็นการคุ้มครองทางสังคมต่อเด็กทุกคนในสังคมไทย

ผศ.สุนี ไชยรส ประธานคณะสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 450 องค์ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เรื่องเด็กเล็ก แม่ตั้งครรภ์  หญิงทำงาน  ตามที่ภาคประชาชนได้นำเสนอรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง จนมีมติคณะกรรมการระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  แต่ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติ  กล่าวคือ  ในร่างงบประมาณ ปี 2568  จะจัดเงินอุดหนุนเด็กจากแรกเกิดถึง 6 ปีเดือนละ 600 บาทแบบถ้วนหน้า  และการจัดเงินอุดหนุนหญิงตั้งครรภ์ จากเดือนที่ 5 ถึงเดือนที่ 9 เดือนละ 3,000 บาท

ผ.ศ.สุนี กล่าวอีกว่า วันนี้นโยบายรัฐบาลแพทองธาร  ที่ประกาศตัวว่า เป็นนายกฯหญิงคนที่ 2 ของไทย แถลงว่า “จะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กอย่างเท่าเทียม   ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศทั้งในระดับครอบครัวและที่ทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงเป็นได้ทั้งแม่และก้าวหน้าในการทำงาน  รวมทั้งเด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน   โดยอ้างนโยบายอิงรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดหน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐ” จากคำแถลงนี้  รัฐบาลอ้างถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2560 (รธน.)มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กและได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนและ มาตรา 71 รัฐพึงเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งครอบครัว ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัยและสภาพของบุคคล ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรม แต่ในนโยบายที่แถลงจะเป็นแบบกว้างๆ  ลอยๆ อย่างเช่น “ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม” และ”เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน” และ”รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ” ข้อวิจารณ์ที่สำคัญเบื้องต้น  คือในนโยบายที่มีน้อยนิดเรื่องสวัสดิการสังคมโดยตรง และนโยบายที่เกี่ยวกับคนทำงาน ก็ไม่มีการพูดถึงเด็กเล็กที่เป็นช่วงวัยทองของชีวิตที่จำเป็นต้องมีสวัสดิการถ้วนหน้า  และเป็นข้ออ่อนของรัฐบาลต่อเนื่องมา รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์  ตามที่มีการดำเนินการค้างอยู่       

“ข้อท้าทาย  คณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และภาคประชาชนจะมีการตรวจสอบ จับตา นโยบายเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง  ตั้งแต่การดำเนินการตามปี 68 ที่ไม่จัดงบประมาณตามที่มีมติ     รวมถึงการดำเนินนโยบายเพื่อเด็กถ้วนหน้าทุกคนตามที่แถลงบางส่วน      เพื่อผลักดันให้สังคมไทยที่มีเด็กเกิดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง  และยังไม่มีสวัสดิการถ้วนหน้าที่จะเป็นพื้นฐานรองรับการส่งเสริมการมีบุตร  ให้ได้รับสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐาน   มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นอนาคตที่ดีของสังคมอย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่” ผศ.สุนี กล่าว