คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และสมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย ร่วมยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หวังช่วยเยียวยาผู้ใช้แรงงาน หยุดการเลิกจ้าง หลังน้ำท่วมกระทบหนักกว่าล้านคน
สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 21 จังหวัดที่เกิดขึ้น โดยภาพรวมทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ 1,019,616 คน สถานประกอบการโรงงานได้รับความเสียหาย 28,533 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ 9 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมนวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี และ โรงงานในเขตอุตสาหกรรมอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี กทม. และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม.
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ผลกระ
ทบที่เกิดกับผู้ใช้แรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วม และนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกน้ำท่วมแต่ได้รับผลกระทบจากสายการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้นายจ้างจำนวนหนึ่งฉวยโอกาสใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 เลิกจ้างลูกจ้าง และจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง
สถานการณ์ดังกล่าว 4 องค์กรแรงงานได้มีการจัดเสวนาเพื่อระดมข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมยานยนต์จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร? กับสถานการณ์วิกฤตอุทกภัยวันนี้และอนาคต” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แอร์พอร์ต สุวรรณภูมิ โดยมีข้อเสนอดังนี้
1. รัฐบาลต้องหยุดการเลิกจ้างในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ในขณะที่เมื่อเกิดภัยพิบัติลูกจ้างไม่ได้ทอดทิ้งโรงงาน หรือละทิ้งหน้าที่แต่อย่างใด
2. รัฐบาลต้องมีมาตรการในการเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ชัดเจนและทั่วถึง โดยเบื้องต้นลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนที่จะได้รับปกติ และทดแทนการขาดรายได้ให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ
3. ผู้ประสบภัยพิบัติต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการในการเยียวยาและฟื้นฟูตนเองอย่างแท้จริง
4. รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 กับลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
5. รัฐบาลต้องสำรวจและจัดทำข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างได้รับทราบเกี่ยวกับผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล
ในฐานะผู้ใช้แรงงานหวังว่า ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานจะได้รับการพิจารณาและสนองตอบจากรัฐบาลและฝ่ายต่างๆ อย่างจริงจัง รัฐบาลควรวางมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติช่วยเหลือเพียงผู้ประกอบการโรงงาน แต่ปล่อยให้ลูกจ้างถูกลอยแพจากการเลิกจ้าง
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน