300 บาท รัฐจัดให้ แต่นายทุนปล้นคืน

วันนี้ ( 12 มีนาคม พ.ศ.2556 ) เวลา 10.30  น. ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้จัดแถลงข่าว เรื่อง 300 บาท รัฐจัดให้  แต่นายทุนปล้นคืน  เพื่อเป็นการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานต่อสาธารณชน  เพราะหลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบถูกละเมิดสิทธิแรงงาน   สถานประกอบการหลายแห่งได้ใช้โอกาสนี้เป็นข้ออ้างในการพยายามเลิกจ้างคนงาน ลดสวัสดิการด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย, สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย, สหภาพแรงงานลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ต , สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง ฯลฯ และยังมีอีกหลายกรณี ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้รับเรื่องร้องเรียน โดยเฉพาะการเลิกจ้างในพื้นที่ต่างๆที่ไม่เป็นธรรมด้วยข้ออ้างเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะเดียวกันภาครัฐไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงจัดแถลงข่าวขึ้น โดยมีเนื้อหาการแถลงข่าว คือ

นับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2556 ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนถึงสถานการณ์ที่นายจ้างใช้ข้ออ้าง 300 บาท มาเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในหลายพื้นที่ ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 70 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ  ทั้ง “วีณาการ์เม้นต์” จ.สระบุรี  “มาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์แอนด์เท็กไทล์” จ.นครปฐม “แอร์โร่เวิร์ค เอเชีย” จ.ชลบุรี และ “อีเลคโทรลักซ์” จ.ระยอง เป็นรูปธรรมที่ตระหนักชัดว่า นี้คือการโต้กลับของนายทุนและสถานประกอบการที่ “กำลังเอาคืน” ภาครัฐ ผ่านการฉวยโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน บนความเจ็บปวดและหยาดน้ำตาของ “ผู้ใช้แรงงาน”

แถลงข่าว 5 แถลงข่าว 6

แถลงข่าว 3 แถลงข่าว 8

ดูเหมือนว่าความกระตือรือร้นของกระทรวงแรงงานจะมีเพียงการออกมายืนยันว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเพราะวิกฤติของสถานประกอบการที่สะสมมายาวนานแล้วจนไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศแค่นั้นเอง นี้เป็นเพียงเสี้ยวของความจริงที่อีกหลายความจริงยังถูกซ่อนเร้นไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาจากกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะการทำลายสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่สหภาพแรงงาน คือ องค์กรที่ถูกจัดตั้งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกันเอง

เสียงของแรงงานที่หายไป ยังถูกตอกย้ำผ่านที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 ที่ระบุว่า ในหลายสถานประกอบการที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ได้ลดเวลาทำงานล่วงเวลา (โอที) ของลูกจ้างลง เพื่อไม่ให้นายจ้างมีภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อลูกจ้างที่ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เช่น การปรับวันการทำงาน หรือ ปรับเวลาการเข้าออกงานใหม่ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะสถานการณ์การเลิกจ้างตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายังอยู่ในภาวะปกติ มีการเลิกจ้างรวมทุกกรณีเพียงกว่า 2,000 คนเท่านั้น

การประชุมดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่า กระทรวงแรงงานเองก็ยอมรับอย่างชัดเจนว่าวันนี้ “การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” คือ “การตอกย้ำให้เกิดระบบค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมในประเทศไทย” เพราะค่าจ้าง 300 บาท ไม่สามารถทำให้แรงงานมีรายได้เพียงพอเพื่อการใช้จ่ายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคม จนแรงงานต้องทำงานล่วงเวลา ค่าตอบแทนของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นเพียงค่าจ้างเพื่อประทังชีวิตของคนงานได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง

          ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้รับเรื่องร้องเรียนหลายกรณี โดยเฉพาะความกดดันจากสถานประกอบการที่ถาโถมสู่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้ต้องยอมรับการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณ-ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง และในที่สุดนำมาสู่การเลิกจ้างแรงงานในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า “การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” มาพร้อมกับ “การเปลี่ยนสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณในหลายพื้นที่” หรือนี้คือ “นโยบาย 300 บาท ได้ฆ่าผู้ใช้แรงงานให้ตายทั้งเป็น”

พบว่า

แถลงข่าว 4 แถลงข่าว 9

แถลงข่าว 10 แถลงข่าว 1

–          กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ถูกเลิกจ้าง 129 คน เนื่องจากสหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเสนอกับสถานประกอบการเพื่อขอให้พิจารณาปรับค่าจ้างตามนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ให้สอดคล้องกับฐานเงินเดือนและอายุการทำงานของลูกจ้าง และการบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอายุงาน 6 เดือนขึ้นไป ให้มีสิทธิสอบบรรจุเป็นพนักงานประจำ รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี, โบนัส

–          สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ถูกสถานประกอบการยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย ) จำกัด  โดยสถานประกอบการได้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน จากเดิมพนักงานทำงาน 5 วัน ต่อสัปดาห์ หยุดวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เปลี่ยนเป็นให้ทำงาน 6 วัน ต่อสัปดาห์ หยุดวันอาทิตย์เพียงวันเดียว โดยอัตราค่าจ้างยังเท่าเดิม ทั้งนี้ในระหว่างที่การเจรจายังไม่ยุติ สถานประกอบการก็ได้มีการนำสภาพการจ้างงานแบบใหม่มาใช้กับพนักงานที่กำลังจะบรรจุเป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานที่กำลังจะเลื่อนตำแหน่งงานเรียบร้อยแล้ว เพื่อกดดันลูกจ้าง โดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยังไม่รับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

–          สมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทย ในฐานะลูกจ้างบริษัทลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย จำนวน 50 คน ถูกเลิกจ้าง ภายหลังจากที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงาน เพื่อเจรจาให้บริษัทมีการจัดสวัสดิการ วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดประจำปี 13 วัน ให้แก่พนักงาน รวมถึงขอให้มีการจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดให้แก่พนักงานที่ต้องทำงานด้วย แต่ทางบริษัทไม่ได้ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่กลับแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างพนักงานที่มารวมตัว ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงแล้วลูกจ้างต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย ทั้งค่าแรงและสวัสดิการต่ำ นี้ไม่นับความไม่ปลอดภัยในการจ้างงานที่พนักงานต้องขับรถส่งสินค้าทั่วประเทศยาวนานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ไม่มีวันหยุดใดๆทั้งสิ้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่บริษัทก็ไม่ได้ตระหนักถึงสภาพการทำงานดังกล่าว

–          สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง พบว่าทางนายจ้างได้มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับ ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการปรับสวัสดิการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้าง โดยบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง รวม 4 ข้อ คือ (1) เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เวลาทำงานปกติ งานล่วงเวลาและการคิดค่าจ้างรายชั่วโมง วันลา ยกเลิกโครงสร้างตำแหน่งงาน โครงสร้างค่าจ้าง และตารางการขึ้นค่าจ้างจากการประเมินผลงาน (2) การเลื่อนตำแหน่งของพนักงานรายวันออกจากข้อตกลงสภาพการจ้าง (3) การยกเลิกเงินช่วยเหลือพนักงานที่ประสบภัยธรรมชาติ และ (4) ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีกำหนดเวลา 3 ปี   ทั้งนี้ทางลูกจ้างเห็นว่าเป็นสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง โดยเฉพาะการทำงานแบบ 4 วัน หยุด 2 วัน โดยบริษัทใช้ข้ออ้างเรื่อง จรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ ELECTRONIC INDUSTRY CODE OF CONDUCT (EICC) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23 ที่เวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมด คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยไม่มีข้อเรียกร้องใดๆทั้งสิ้นต่อภาครัฐและกระทรวงแรงงานแล้ว การแถลงข่าว การเข้าพบ การเจรจากับกระทรวงแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชีวิตผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง และไม่เปิดโอกาสให้นายจ้างฉวยโอกาสใช้ข้ออ้างจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และภาครัฐต้องไม่ควรปัดความรับผิดชอบในการให้ลูกจ้างต้องมาต่อรองสิทธิกับนายจ้างเพียงลำพัง โดยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองและไม่ถูกเลิกจ้าง ก็เป็นแนวทางที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเรียกร้องมาตลอด และรัฐก็ไม่เคยได้ยินและรับฟังอย่างใส่ใจ

จนวันนี้ผู้ใช้แรงงานต้องเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อทำให้เสียงที่แผ่วเบาของพวกเขาและเธอได้ยินไปยังรัฐบาล

ว่าไปแล้วเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ทุนเคลื่อนย้ายได้โดยเสรีทำให้โลกใบนี้เล็กลง อำนาจต่อรองของบรรษัทข้ามชาติจึงสูงขึ้น ขณะที่อำนาจต่อรองของแรงงานลดต่ำลงในทางตรงข้าม แรงงานเป็นเพียงอะไหล่ชิ้นหนึ่งที่ถอดเปลี่ยนเมื่อใดก็ได้ของปัจจัยการผลิตเท่านั้น

รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชื่อ “เผดิมชัย สะสมทรัพย์” ที่ได้ฝากชะตาชีวิตของเศรษฐกิจประเทศไทยไว้กับทุนต่างชาติ ต่างก็พยายามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศด้วยวิถีทางมักง่าย โดยการกดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำ แข่งขันกันลดค่าจ้าง ไม่ใส่ใจสวัสดิการของแรงงาน แข่งขันกันลดภาษี เพื่อพยายามขายของราคาถูก หามาตรการลดต้นทุนการผลิต ด้วยหวังจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน

ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าสถานการณ์การเลิกจ้างผู้ใช้แรงงานโดยปราศจากความเป็นธรรม ถือเป็นตัวบ่งชี้ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาประเทศไทย ทั้งยังเป็นชนวนสำคัญของความขัดแย้งในสังคม เพราะสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐบาลซึ่งถืออำนาจและใช้อำนาจรัฐแทนประชาชน รวมถึงผู้ใช้แรงงาน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการวางกรอบ กฎเกณฑ์ กฎหมาย นโยบาย และแนวทางการพัฒนาเพื่อลดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ เพราะเครื่องชี้ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศที่แท้จริงแล้ว หาใช่อยู่ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ลดความเหลื่อมล้ำของผู้ใช้แรงงาน ทั้งด้านรายได้ คุณภาพชีวิต การมีสุขภาวะที่ดีทั้งในระหว่างการทำงานและเกษียณอายุจากการทำงาน ความอยู่ดีกินดีอย่างถ้วนหน้า

วันนี้ก็ปรากฏชัดเจนว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานก็ไม่มีความเข้มงวดที่จะลงโทษกับนายจ้างที่เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผลประโยชน์ของกระบวนการผลิตไม่ได้ตกถึงผู้ใช้แรงงานในฐานะฟันเฟืองสำคัญในระบบดังกล่าว แรงงานต้องทำงานหนักขึ้น คุณภาพชีวิตก็ด้อยลงเพื่อแลกกับค่าจ้างที่สูงขึ้นให้เพียงพอกับค่าครองชีพ  ทิศทางการพัฒนาที่มุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีสิทธิ มีเสียง มีศักดิ์ศรี และมีอำนาจต่อรอง

ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงขอประกาศว่า เราจะไม่ยอมจำนนต่อภาวะและสถานการณ์แบบนี้อีกแล้ว  บทเรียนในช่วงที่ผ่านมาย้ำให้ผู้ใช้แรงงานตระหนักเสมอว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายสถานประกอบการก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง อีกทั้งยังมีการถ่วงปัญหาให้ยืดเยื้อออกไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและฝ่ายนายจ้างเอง การแก้ปัญหากลับกลายเป็นเพียงการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้ง ๆ ไป แต่ไม่ใช่บทสรุปที่จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาจากการถูกเลิกจ้างได้จริง นี้จึงเป็นภาพสะท้อนถึงตัวบทกฎหมายที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ว่าเอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างมากกว่าผู้ใช้แรงงาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงความจำเป็นต้องยกระดับการต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อให้คนงานได้รับความเป็นธรรม โดยในวันพรุ่งนี้ (13 มีนาคม 2556) เวลา 08.30 น. คนงานกว่า 600 คน จะเดินทางไปยังสถานทูตของบริษัทที่มาลงทุนในประเทศไทย คือ สถานทูตออสเตรเลีย สถานทูตอเมริกา และสถานทูตเนเธอร์แลน เพื่อให้ทางสถานทูตดังกล่าวรับทราบชะตากรรมที่คนของประเทศตนเองมาทำกับพี่น้องแรงงานในประเทศไทย และในช่วงเย็น ทางขบวนการแรงงานไทย จะเดินทางมาร่วมชุมนุมกับพี่น้องแรงงานที่อยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลและจะประกาศแนวทางการต่อสู้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

แถลงการณ์จากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน