“3 ปี ผ่านไป บอกรักให้จำใจจากฯ” 12 ก.ค. 2559 ค่าย TOYOTA VS 12 ก.ค. 2562 ค่าย FORD & MAZDA

“3 ปี ผ่านไป บอกรักให้จำใจจาก บอกจากให้ไปด้วยใจ ไปอย่างไรให้มีคุณค่า”
12 กรกฎาคม 2559 ค่าย TOYOTA VS 12 กรกฎาคม 2562 ค่าย FORD & MAZDA
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม
14 กรกฎาคม 2562

เป็นเช้าวันหยุดยาวเทศกาลเข้าพรรษาที่เขาดื่มกาแฟแล้วไม่จรุงใจเลย บางทีอดคิดไม่ได้ว่า นี้คือความรับผิดชอบของใครกันแน่ ! เสียงถอนหายใจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างอ่านเอกสารเบื้องหน้า จนต้องปิดเปลือกตาลงและครุ่นคิดอะไรบางอย่าง

(1) ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังคนไม่สอดคล้องกับกระบวนการผลิต การนำระบบ Automation เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆจึงเป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ โดยเฉพาะค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะๆ รวมทั้งการเรียกร้องของสหภาพแรงงานทุกปีต่อสวัสดิการต่างๆ หลายตำแหน่งงานจึงสามารถทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ

งานที่จะถูกแทนที่แบ่งเป็นงานผลิตที่ไม่ซับซ้อน เช่น ยกของ บรรจุสินค้า, งานผลิตที่ซับซ้อน มีการนำระบบ Data Analysis และ AI Technology มาแทน, งานสนับสนุน นำ BIG DATA, Chat bot มาใช้แทน รวมถึงงานควบคุมคุณภาพ
บริษัทนำเข้าหุ่นยนต์แห่งหนึ่ง ระบุว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน สามารถขายหุ่นยนต์ได้ทั้งหมด 7,000 กว่าตัว โดยปี 2561 ในประเทศไทยได้ขายไปแล้วพันกว่าตัว ปีนี้ 559 ตัว ลูกค้าของบริษัทอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “Car Maker” ในปีนี้มีบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งสั่งหุ่นยนต์มาแล้ว 275 ตัว เพื่อมาใช้ในไลน์ผลิตที่เรียกว่า New Model ทำให้สามารถลดกำลังคนไปได้ถึง 50 %

หากประเมินในรูปของตัวเงิน หุ่นยนต์ยกของที่โรงงานใช้อยู่ ราคาในปัจจุบันไม่เกิน 2 ล้านบาท สามารถทดแทนคนทำงาน 2 กะๆ ละ 2 คน หากค่าจ้างคนละ 20,000 ต่อเดือน หรือเฉลี่ย 500,000/ปี 4 ปีกว่าก็คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนระยะยาวได้จริง
สอดรับกับนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งเน้นไปที่ Thailand 4.0 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงส่งเสริมให้มีการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการลดภาษีที่เอื้อต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนอย่างมากตั้งแต่ 20-100 % ซึ่งมีการคำนวณแล้วว่าความคุ้มทุนจะเกิดขึ้นในระยะ 4 ปี ที่เริ่มนำมาใช้
(2) Center of Robotics Excellence (CORE) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม 38,400 ตัว ประเทศที่มีการใช้มากที่สุด คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็ก รถยนต์ อาหาร อุตสาหกรรมในไทยในปี 2562 มีจำนวน 4,000 ตัว และปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ตัว

แม้ว่าการนำระบบ Automation เข้ามาใช้จะส่งผลกระทบกับแรงงานที่มีอยู่เดิม ที่ต้องมีการเลิกจ้างหรือสูญหายในบางตำแหน่งงาน

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบเชิงบวกที่ลงทุนเพียงครั้งเดียวย่อมคุ้มค่ามากกว่า ลดปัญหาข้อขัดแย้งและข้อพิพาทแรงงานกับสหภาพแรงงาน รวมทั้งยังเอื้อให้มีการจ้างงานมากขึ้นในสาขาที่ต้องการในตำแหน่งใหม่ๆมากขึ้น พนักงานมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่องค์กรนำเข้ามาใช้ ถือเป็นการยกระดับฝีมือแรงงานไปในคราเดียว
กล่าวได้ว่าระบบ Automation จึงเป็นทั้งโอกาสและวิกฤติไปพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะมองด้วยสายตาแบบใด

(3) กำลังแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สอดรับกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ “EEC” ที่ต้องการแรงงานสายพันธุ์ใหม่ในกระบวนการผลิตกว่า 400,000 คน แต่กลับพบว่าการศึกษาเพื่อผลิตคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยังเน้นสายสามัญหรือการเรียนสายสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ ซึ่งวันนี้มีนักศึกษากว่า 500,000 คน ศึกษาอยู่ แต่งานที่รองรับคือสายดิจิทัลและ Robotic
ทั้งนี้แรงงานปัจจุบันที่ทำงานอยู่มีระดับการศึกษาน้อย สุขภาพมีปัญหา อายุมากขึ้น ซึ่งไม่เอื้อต่อการผลิตรูปแบบใหม่ๆที่ต้องอาศัยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ความรู้ด้านระบบ Cloud, System Integrator, System Design, Process design หรือ IIoT ซึ่งยังหาได้น้อยมาก รวมถึงการเข้าใจทักษะใหม่ ๆ เช่น Agile, Scrum, Design Thinking, Digital man, Software Development, Digital and Content Writing เป็นต้น

(4) แม้จะมีการวางนโยบายสร้างคนให้สอดคล้องกับการมีงานทำในอนาคต แต่ก็พบปัญหาเรื่องผู้สอนไม่มีทักษะและประสบการณ์ที่เพียงพอ ในระบบอาชีวศึกษามีนักศึกษากว่า 1 ล้านคน ผู้สอนกว่า 30,000 คน แต่ผู้สอนก็ขาดทักษะและไม่มีโปรแกรมเพื่อยกระดับอาจารย์ ดังนั้นหากการเรียนระบบอาชีวศึกษา คือ คำตอบของการจ้างงานอนาคต ก็จำเป็นต้องยกระดับการเรียนการสอน ยกระดับทักษะผู้สอน และให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเข้ามาวัดมาตรฐานแต่ละอาชีพที่จบไป

(5) รัฐบาลส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับประเทศพัฒนาที่เดิมอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคงอยู่ที่เพียง 3 % ซึ่งสิ่งที่จะเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ คือ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้มีผลิตภาพ 6 % ขึ้นไป อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย แรงงานเดิมถดถอย แรงงานใหม่ไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

(6) สถานการณ์เฉพาะหน้า ก็ต้องพิจารณาช่องว่างสำหรับกลุ่มแรงงานที่ตกหล่น กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าสู่การพัฒนาฝีมือแรงงานได้เพื่อตอบสนอง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประชากรกลุ่มนี้จะกลายเป็นภาระด้านสวัสดิการของประเทศในอนาคต ว่ารัฐต้องเข้าไปโอบอุ้มในเรื่องใดบ้าง อยู่ตรงจุดไหนหรือส่วนไหนในอุตสาหกรรมใดบ้าง
ในหลายหน่วยงาน พบว่า มีการแบ่งพนักงานออกเป็น 4 กลุ่มคือ

1) กลุ่มที่ยังมีงานทำและพร้อมพัฒนาตนเอง (Up-skill)

2) กลุ่มที่ไม่มีงานแล้วแต่ยังปรับตนเองไปทำงานอื่นได้ (Re-skill)

3) กลุ่มที่ยังมีงานรองรับอยู่แต่ไม่พร้อมจะปรับตัวกับงานแบบใหม่

4) กลุ่มที่ไม่มีงานรองรับและไม่พร้อมปรับตัว แต่ละบริษัทมีวิธีการจัดการอย่างไรโดยเฉพาะในพนักงานกลุ่ม 3 และกลุ่ม 4 เพื่อได้ model ที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ในบริษัทแห่งอื่นต่อไป
มีตัวอย่างจากบางหน่วยงานที่มีกฎหมายห้ามเลิกจ้างพนักงาน แนวทางที่ถูกนำมาใช้ คือ การไม่รับคนเพิ่มในงานแบบเดิม, การขยายธุรกิจแบบใหม่ที่เน้นเชิงวิเคราะห์-สังเคราะห์, การใช้นโยบายกระตุ้นให้เกิดการเกษียณก่อนกำหนด, ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพคนในด้านอื่นๆ เพื่อการมีอาชีพเสริมหรือการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต เป็นการทำให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่หรือเกิดทักษะใหม่ในการทำงานอื่น จนสามารถออกจากองค์กรไปมีชีวิตการทำงานใหม่ได้จริง บางบริษัทใช้โปรแกรมที่เรียกว่า “ปิดเผย” คือ ให้เงินพิเศษเพิ่มเติมและจากกันด้วยดีสำหรับกลุ่มคนที่ป่วยหนัก (prolong sick) กลุ่มที่ผลงานไม่ดี และกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวและเรียนรู้แบบใหม่ได้

แม้เอกสารข้างต้น จะคือข้อมูลนำเข้าที่เขาต้องเตรียมนำเสนอสัปดาห์หน้ากับผู้บริหารคนใหม่ที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ และรวมถึงข้อเสนอทางออกที่เกี่ยวข้อง แต่ดูเหมือนว่าใจยิ่งเพิ่มความหนักหน่วง

🍃 โครงการเออร์ลี่รีไทร์ในหลายค่ายรถยนต์ 2559-2562🍃

พลันที่ข้อความจาก LINE ส่งประกาศโครงการ 3 ฉบับ ซึ่งเป็นของบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “AAT” นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง 2 ฉบับ คือ โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (กรณีพิเศษ) Special Early Retirement (SER) กับ โครงการโอกาสสานฝันสู่อาชีพทางเลือก Employee Choices for Alternative Career Program (ECAC) และอีกฉบับหนึ่งชื่อเดียวกับโครงการ ECAC แต่เป็นของบริษัทเจ เอส แอล ซับคอนแทรกเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งแรงงานเหมาค่าแรงให้กับบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ฯ

เขาย้อนหวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว นี้คือช่วงเวลาเดียวกันเลย เมื่อบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดโครงการสมัครใจลาออก “จากกันด้วยใจ” เพื่อที่จะให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมด สมัครใจลาออกประมาณ 1,000 คน เนื่องจากมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต ประกอบกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออกทั้งนี้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายแรงงานและเงินเพิ่มเติมพิเศษ

สำหรับเอกสารของบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ฯ ได้ชี้แจงว่า “ประกาศดังกล่าวเป็นผลมาจากการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานในการจ่ายเงินชดเชยและเงินช่วยเหลืออื่นๆให้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด สำหรับพนักงานที่มีความประสงค์จะขอเกษียณอายุก่อนกำหนด” พบว่า ได้กำหนดอัตราเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆที่จะจ่ายให้พนักงานเข้าโครงการ ตั้งแต่ 8.67 เดือน + 26,700 บาท–29.01 เดือน + 26,700 บาท โดยพิจารณาจากอายุผู้เข้าโครงการประกอบกับอายุการทำงาน ตามลำดับ ซึ่งกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 15-31 กรกฎาคม 2562
หากย้อนไปปีที่แล้วตุลาคม 2561 บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ได้อนุมัติโครงการ “เกษียณอายุก่อนกำหนด” หรือ “เออร์ลี่รีไทร์” เพื่อให้พนักงานบางส่วนที่มีความจำเป็นส่วนตัวและอยากเกษียณอายุก่อนระยะเวลาที่บริษัทกำหนด สมัครเข้าร่วมโครงการ ครอบคลุมพนักงานอายุ 45-57 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ 9 เดือน-54 เดือน
และก่อนหน้านั้น 1 เดือน กันยายน 2561 บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้มีประกาศเรื่องโครงการสมัครใจลาออก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานเปลี่ยนสายอาชีพเช่นเดียวกัน โดยกำหนดอายุพนักงานตั้งแต่ 45- 54 ปี ได้รับเงินชดเชย 16.5 เดือน–24 เดือน ตามหลักเกณฑ์

เขาจำได้ว่าน้องคนหนึ่งที่พบในงานสัมมนาเมื่อไม่นานมานี้ได้กล่าวถึง การเข้าไปสร้าง MODEL บางอย่าง ที่เรียกว่า “AAT MODEL” เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานใน 4 ด้าน คือ สุขภาพ รายได้หนี้สิน ความสมดุลในครอบครัว และการสร้างอาชีพทางเลือก โดยให้ถือว่าการเตรียมความพร้อมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานแบบกลยุทธ์เชิงรุก ที่บริษัทควรมีการเตรียมความพร้อมพนักงานแต่เนิ่นๆ โดยถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญยิ่งยวด

🍃 จากกันด้วยใจหรือจำใจให้ต้องลาจาก บทบาทสหภาพแรงงานอยู่ตรงไหน? 🍃

ปลายทางไม่มีผู้รับสาย เขาสอบถามไปยัง “วิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์” อดีตประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (สยท.) ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุการทำงานและไปเป็นเกษตรกรที่ไร่เรืองฤทธิ์ นครสวรรค์ ได้ฉายภาพสถานการณ์ให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่า

“ผมคิดว่าหากกลับไปดูตอนปี 2559 ที่มีการเลิกจ้างแรงงานเหมาค่าแรง โดยใช้คำว่าเปิดโครงการจากกันด้วยใจ ให้พนักงานเขียนใบลาออก สิ่งที่ตามมา คือ สิทธิประโยชน์ของพนักงานที่จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย กรณีใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรมาแทนคนจะหายไปทันที รวมถึงสิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน ที่หากคนงานถูกเลิกจ้างจะได้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 50 % เป็นเวลา 6 เดือน แต่ถ้าเป็นการลาออกเองแบบเข้าโครงการแบบนี้ เงินว่างงานจะได้แค่ 30 % และเป็นเวลา 3 เดือนเท่านั้น ผมคิดว่าต้องใช้คำพูดที่ว่า จำใจจากมากกว่า เพราะมีพนักงานที่ไม่ประสงค์จะลาออก แต่ก็ถูกให้เขียนใบลาออกเช่นกัน

มาถึงปี 2562 ค่ายรถยนต์อีกค่ายมีการเปิดโครงการทางเลือกให้กับพนักงาน ผมตั้งคำถามว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือไม่ การต่อรองเรื่องสิทธิประโยชน์กรณีค่าชดเชยพิเศษ การเอาเครื่องจักรมาแทนคน สิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีว่างงาน จะทำกันอย่างไร

ผมไม่รู้สถานการณ์การนำหุ่นยนต์มาใช้ในบริษัทที่นั่น แต่บทบาทสหภาพแรงงานควรจะเข้าไปแสดงศักยภาพไม่ให้พนักงานได้เสียสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ อย่าปล่อยให้เป็นเพียงการเปิดโครงการเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนงานเท่านั้น

บทบาทขององค์กรแม่ของแต่ละสหภาพแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบรถยนต์หรือผลิตชิ้นส่วนควรจะต้องมีข้อมูล ที่ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อคนงาน ว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปผลกระทบต่อคนงานจะมีอะไรบ้างและมีทางเลือกอะไรบ้าง

เท่าที่ผ่านมา 3 ปี ในเวทีการประชุมใหญ่ของแต่ละสหภาพแรงงาน บทบาทขององค์กรแรงงานระดับสูงหรือที่ผมใช้คำว่า องค์กรแม่ ไม่เคยวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ลักษณะนี้ เพื่อสื่อสารกับคนงานที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ ได้ตื่นตัวและตระหนักถึงผลกระทบและเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ไม่มีการเก็บข้อมูลและสถิติการเปลี่ยนแปลงภายในสถานประกอบการที่เอาเครื่องจักร เทคโนโลยีเข้ามา ช่วงไหนเมื่อไหร่ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าการเปิดโครงการทางเลือกหรือสมัครใจลาออก สัมพันธ์กับการนำสิ่งเหล่านี้มาทดแทนคน การเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายก็เป็นเรื่องยากตามมาเพราะไม่มีข้อมูลมายืนยัน

ในขณะที่สื่อมวลชนพยายามเกาะติดสถานการณ์ การปลดออกเลิกจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์กรณี ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีแทนคนงานอย่างต่อเนื่อง แต่หาคนที่จะให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนยากมาก และตั้งอยู่บนความประมาทว่า จะยังไม่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
เท่ากับว่าเวลาที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำอะไรกันเลย ถ้าจะเปรียบเมื่อปี 59 เป็นการเผาหลอก ปี 62 น่าจะเป็นการเผาจริงของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ผู้ประกอบการหรือนายจ้างควรมีความสุจริตใจในการที่จะปรับลดคนงาน ควรให้เหตุผลและความตรงไปตรงมาในการเลิกจ้าง เพราะคนงานส่วนใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง คือ พนักงานระดับปฏิบัติการ ซึ่งโอกาสยกระดับพัฒนาฝีมือแรงงานของตนมีน้อยมาก

ผู้ประกอบการก็จะไม่ส่งเสริมเพราะเป็นการเพิ่มต้นทุน ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับชีวิตใหม่ ด้วยการหางานทำที่อื่นต่อไปไม่มีทางเลือก จะได้ค่าจ้างสวัสดิการต่ำกว่าที่เดิมก็ต้องยอมทำ ความมั่นคงทางรายได้จากค่าชดเชยและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับมาก็ไม่เพียงพอ
ผมมีตัวอย่างจากกรณีจำใจจากปี 59 พนักงานเกือบ 100 % แค่ใช้หนี้ค่ารถ ค่าบ้าน ก็หมดแล้ว ไม่มีเงินทุนพอที่จะไปเริ่มต้นอาชีพใหม่ในการลงทุนทางด้านการเกษตร จึงจำเป็นจะต้องทนทำงานต่อไปเพื่อขายแรง
มีพนักงานไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ที่มีเงินทุนเหลือพอหรือมีที่ของตัวเองอยู่บ้าง เพื่อเปลี่ยนวิถีไปทำการเกษตร ซึ่งก็จะต้องเอาเงินเหล่านี้ไปลงทุนต่อ กว่าจะได้ผลผลิตก็อีก 2-3 ปี การใช้ชีวิตคงยากลำบาก

ข้อเสนอสำหรับผม สำหรับคนที่ไปต่อไม่ได้จะทำอย่างไร ผมยังคิดไม่ออก
เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง หรือหากมี เงินทุนก็ไม่เหลือเก็บ เพราะจะเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำเกษตรก็ต้องมีการลงทุน และหาตลาดรองรับ ถ้าจะกลับไปทำโดยที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ ก็จะต้องทำแบบเดิมๆ ทำเหมือนคนอื่นทำ ก็สุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะผลผลิตที่ทำออกมาจะล้นตลาด

ข้อเสนอที่ผมคิดว่าเป็นไปได้ จะรองรับคนกลุ่มนี้ คือ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการออกมาที่ชัดเจนตามนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ศิริจรรยาพร แจ้งทองหลาง เลขาธิการสหภาพแรงงานวายเอสภัณฑ์ ก็แลกเปลี่ยนกับผมบ่อยครั้งว่า ลูกจ้างต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยน mind set ตัวเอง ทั้งการใช้จ่าย หารายได้ วางแผนการออม ลดละเลิกหวย เหล้า บุหรี่ ของฟุ่มเฟือย การพนัน ลดการกู้เงินนอกระบบ กระทั่งการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ การเปิดฝึกอาชีพต่างๆทางเลือก การให้ความรู้เรื่องการเงิน

ตอนนี้มีเพียงสหภาพแรงงานวายเอสภัณฑ์ และสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทยของสัพพัญญู นามไธสง ที่เป็นประธานเริ่มดำเนินการแบบนี้
แต่จะมีซักกี่แห่ง ที่จะคิดอาชีพรองรับให้กับสมาชิกซึ่งมีความไม่แน่นอนในอนาคต

สำหรับนายจ้างที่จะคิดแบบบริษัท AAT คงหายาก ที่ส่งพนักงานมาอบรมกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องและออกค่าใช้จ่ายให้ และนับเป็นวันทำงาน
ดังนั้นการช่วยเหลือ พัฒนา หาอาชีพทางเลือกให้กับสมาชิก จึงคือภารกิจของสหภาพแรงงานเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีในวันนี้ เพื่อรองรับการจ้างงานที่ไม่แน่นอนในวันหน้า

แม้อาจช่วยคนงานไม่ได้ทุกคน แต่ทำให้ลดความเสี่ยงในเรื่องการถูกปลดออกเลิกจ้างได้บ้าง หากมีการเตรียมความพร้อมอย่างที่บอกไปข้างต้น ไม่ใช่คิดแต่เรื่องเรียกร้อง โบนัส เงินขึ้น แต่ไม่มองความมั่นคงในการทำงานระยะยาว”

🍃 ภาวะ Disruption วิกฤติย่อมมีโอกาส สร้างทางเลือกชีวิตใหม่เป็นนายตนเอง 🍃

“ตรีชาญ ผ่องใส” รองประธานสหภาพแรงงานผู้บริหารฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย และยังเป็นประธานชมรมอาชีพทางเลือก บริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายความเพิ่มขึ้นว่า

“ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจผันผวน การผลิตสินค้าแข่งขันกันด้วยต้นทุนการผลิตต่อสินค้าหนึ่งชิ้นในประเภทเดียวกัน ผู้เข้มแข็งที่จะอยู่ต่อได้ คือ ผู้ที่สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ต่ำที่สุด การเพิ่มขีดความสามารถของการทำงานของพนักงานในองค์กรนั้นๆจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อไปต่อในเส้นทางของธุรกิจ

สถานการณ์เช่นนี้กลุ่มผู้บริหารต่างแบกรับภาระอันหนักอึ้งในการคิดค้นหาวิธีในการบริหารต้นทุนการผลิตทั้งจากคน, เครื่องจักร, วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และวิธีการผลิต

การลดความสูญเปล่าของเวลาจากกระบวนการผลิตจะถูกเลือกมาใช้เป็นลำดับแรกๆ ตามด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ามาเสริม เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มยอดการผลิตให้สูงขึ้น การลดต้นทุนจากการหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกลงจากผู้ผลิตชิ้นส่วนเดิมก็เป็นทางเลือกที่ใช้เป็นประจำ ใครไม่ปรับเปลี่ยน ต้นทุนการผลิตสูงก็แพ้คู่แข่ง อยู่ในตลาดไม่ได้

สิ่งสุดท้ายที่จำเป็นต้องเลือก คือ การลดคนงานเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปต่อได้ขององค์กร แต่เมื่อจำเป็น องค์กรก็อาจต้องยอมสูญเสียตัดแขนหรือขา เพื่อรักษาชีวิต คือ พนักงานส่วนใหญ่และธุรกิจขององค์กรนั้นๆไว้
เพราะเมื่อผลิตได้ในราคาต้นทุนต่ำ ก็ทำให้สามารถส่งออกไปแข่งกับตลาดภายนอกประเทศได้ ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจแบบมีกำไรและไปต่อได้อีกนาน

สิ่งสำคัญคือแรงงานต้องยอมรับความจริงว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ แรงงานคนในอนาคตอันใกล้จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ การเตรียมความพร้อมให้ตัวเองแต่เนิ่นๆ ทำให้เราปรับเปลี่ยนสถานะตนเองจากการเป็นผู้ถูกเลือก กลายเป็นผู้มีสิทธิเลือกว่าจะอยู่ต่อกับนายจ้าง หรือไปตามทางสายอาชีพที่ตัวเองเลือกจะทำแบบมีความสุขในอาชีพใหม่ แบบเป็นนายของตัวเอง หรือเปลี่ยนนายใหม่ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ปัญหา คือ คนงานยังไม่คิดถึงอนาคตและขาดการเตรียมความพร้อม ยังก้มหน้าก้มตาทำงานเช้ายันค่ำ ไม่คิดเรียนรู้อาชีพเสริมซักเท่าไหร่ คิดแต่จะอยู่กับนายจ้างไปจนเกษียณเป็นส่วนมาก โดยไม่เฉลียวใจคิดว่าถ้าเขาไม่จ้างเรา เราจะไปต่ออย่างไร ให้เกิดความต่อเนื่องและมีความสุขในอนาคตหลังการถูกเลิกจ้าง

ในบริบทการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมยุค 4.0 ทุนก้าวไปไกลจนมองลับสายตา แต่หุ้นส่วนอย่างแรงงานยังก้มหน้าก้มตาทำงานหนักและเรียกร้องผลตอบแทนให้ได้สูงๆ แต่ละเลยไร้การเหลียวแล แม้แต่สุขภาพของตนอันเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าเงินตรา ยามเลิกงานร่างกายเมื่อยล้าก็ใช้สุรา หรือบางรายก็หันหายาเสพติด เช่น ยาบ้าไว้ปลอบประโลมใจให้หายเหนื่อย
ความมั่นคงในชีวิต หมายถึง เพียงมีงานดีๆ มีเงินเดือนดี มีตัวเลขรายรับสูงๆ แต่เมื่อรายรับมากแต่รายจ่ายก็สูง บางคนก็ติดลบสะสม หนี้ที่สร้างไว้ทำให้ต้องทุ่มเททำงานหาเงินมาใช้หนี้แบบลุ้นใจจดใจจ่อว่า เดือนนี้รายได้จะพอชนเดือนไหม เครียดสะสมจนล้มป่วย ร่างกายโรยรา

ต้องเรียนว่าในบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์เอง ได้มีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นตรงกันว่าการสร้างอาชีพทางเลือกไว้รองรับระหว่างที่มีงานประจำในโรงงานอยู่แล้ว จะช่วยให้คนงานมีวัคซีนในอาชีพที่มีภูมิต้านทานสูง มีหลักประกันในอาชีพมากขึ้น รวมถึงการกลับมาดูแลสุขภาพ การเงิน ชีวิตครอบครัว มากกว่าทำงานในแผนกเท่านั้น

ทุกๆวันข้อมูลข่าวสารในกลุ่มชมรมอาชีพทางเลือกจะมีการ update เสมอ โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมมาบเอื้องเมื่อตอนต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ที่ทางบริษัทสนับสนุนงบประมาณให้คนงาน 50 คน ไปเรียนรู้ศาสตร์พระราชาทฤษฏีโคก หนอง นาโมเดล หลายคนเริ่มมีผลผลิตมาอวดเพื่อนๆในกลุ่ม แววตามีประกายความสุข ทั้งสุขในเส้นทางใหม่ สร้างสีเขียวให้โลก สร้างความมั่นคงทางอาหาร

ขณะเดียวกันเรายังมีการประสานงานกับรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานที่ระยอง เรื่องการจัดคอร์สอาชีพเสริมด้านช่างให้พนักงาน มีความร่วมมือระหว่างทีม HR กับทีม สสส. โดยคุณอรพิน วิมลภูษิต เข้ามาทำโครงการสร้างสุขลดทุกข์ มีการร่วมมือกับอธิบดีกรมอนามัย กับสำนักส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องการนำแพคเกจปลอดภัยดี สุขภาพดี คนงานมีความสุข มาใช้ในโรงงาน

ดังนั้นที่ผมกล่าวมานี้ทุกภาคส่วนน่าจะตื่นตัวหยิบยกเอาปัญหา Disruption และการถูกแย่งงานจากหุ่นยนต์มาเป็นโจทย์ในการหาทางแก้ปัญหา และใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ส่งแรงงานคืนถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้พวกเขามีองค์ความรู้นำกลับไปพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิผลในทางบวก จะช่วยให้เกิดแบบอย่างในการประกอบอาชีพที่เป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนได้เห็น และจะช่วยในการสร้างงานในชนบทจากเม็ดเงินของแรงงานภาคอุตสาหกรรม ที่จะกลับคืนถิ่นจากการถูกเลิกจ้าง พวกเขาเหล่านี้มีขีดความสามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นอย่างดี”

🍃พลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพกับรัฐสวัสดิการต้องไปด้วยกัน 🍃

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประเด็นสหภาพแรงงานอย่างมากของประเทศไทย ได้ชี้ชวนมองอีกมุมว่า

“การนำระบบ Automation มาใช้ ยังไงก็กระทบกับคนงานแน่นอน เพราะค่าแรงเราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอันดับสามต่อจากสิงคโปร์ มาเลเซีย มีทางเดียวที่จะอยู่รอด ก็คือพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แต่คำถาม คือ ใครจะเป็นคนจ่ายต้นทุนการพัฒนาฝีมือแรงงานนี้

รัฐลงทุนถือว่าง่ายที่สุด แต่นายจ้างจะลงทุนซื้อเครื่องจักรหรือเครื่องมือมาพัฒนาคนของตัวเองหรือไม่ หรือแม้แต่จะยอมให้คนของตัวไปฝึกงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้ฟรีๆสักเดือน ครึ่งเดือนหรือไม่ เพราะในเมื่อหากแรงงานฝีมือดีขึ้น แล้วไม่มีมาตรการที่จะรักษาคนเหล่านั้นไว้ใช้ให้คุ้มกับการจ่าย นายจ้างจะยอมลงทุนหรือ

อีกทั้งถ้าสังคมทั้งหมดใช้หุ่นยนต์ คนตกงานทั้งหมด เศรษฐกิจไม่มีกำลังซื้อ หุ่นยนต์ผลิตไปขายใคร

ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีจึงต้องมีขีดจำกัด ไม่ให้กลายเป็นข้าศึกต่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติ การแข่งขันทางเศรษฐกิจ ทำให้เราเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เลยไม่ได้นึกถึงภาพรวม ก็เหมือนเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้จึงต้องคิดโดยภาพรวมและอาศัยความร่วมมือกันทั้งโลก

มิฉะนั้นการแข่งขันทางธุรกิจกลายเป็นการ race to the bottom ผมคิดว่านักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจต้องช่วยกันตอบคำถามว่า ประสิทธิภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อใคร

พม่า ลาว เวียดนาม เขามีแรงงานหนุ่มสาวราคาถูกให้ใช้ แต่ประเทศไทยไม่มีสิ่งเหล่านั้น เราต้องนึกถึงการขายสิ่งที่เรามี ทำอย่างไรจึงขายแรงงานสูงอายุที่ราคาแพงได้ ถ้าจะขายให้ได้ก็ต้องพัฒนาให้เร็ว ต้องดูว่าญี่ปุ่นทำอย่างไรกับแรงงานซึ่งส่วนใหญ่สูงอายุและราคาแพง ถ้าเขาทำไม่ได้ สังคมเขาก็อยู่ไม่ได้

ที่สำคัญต้องไม่คิดเพียงว่า แรงงานเป็นปัจจัยการผลิต แต่เป็นเป้าหมายของการผลิตด้วย แรงงานไม่ใช่ต้นทุนที่ต้องลดให้ต่ำสุดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นจุดหมายท้ายสุดของการผลิตด้วย ถ้าลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแรงงานก็เท่ากับลดกำลังซื้อของสินค้าที่แรงงานนั้นผลิตขึ้นมาขายด้วย

แม้แรงงานข้ามชาติเข้ามาช่วยค้ำจุนธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ แต่ก็ต้องจัดการให้อยู่คนละตลาดกับแรงงานไทย จะได้ไม่แข่งขันกัน ทั้งนี้ก็ต้องด้วยการยกระดับฝีมือและทักษะเฉพาะอย่างให้แรงงานไทย ต่างไปจากแรงงานข้ามชาติ

การให้บริการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและค่านิยมที่ต่างจากของแรงงานข้ามชาติ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างตลาดแบบใหม่ขึ้น เพื่อหลีกหนีคู่แข่งและเหมาะเฉพาะแรงงานไทย

ผมคิดต่ออีกว่าเรื่องการลงทุนของต่างประเทศในบ้านเรานั้น ต้องมองผลประโยชน์ให้รอบด้าน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว มิฉะนั้นเราสามารถใช้โมเดลของเมืองขึ้นจูงใจให้ต่างประเทศมาลงทุนได้อย่างเต็มคราบเหมือนทุนฝรั่งในเมืองขึ้น ไม่ว่าเอเชีย อัฟริกา หรือลาตินอเมริกา

การต้อนรับการลงทุนต่างชาติมีต้นทุนทางสังคมและการเมืองที่จะต้องเสียด้วยเช่นกัน

ประเทศที่รับการลงทุนต่างชาติมาก ทำให้รัฐมีข้อจำกัดในการใช้อำนาจปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ เพราะกลัวไปกระทบสัญญาที่ทำกับต่างชาติ การลงทุนต่างชาติมักตามมาด้วยเงื่อนไขการนำเข้าแรงงานจำนวนมาก อย่างจีนที่ลงทุนในลาว

แม้ที่สุดการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ลงทุนโดยต่างชาติ ก็จะเกิดการปรับเปลี่ยนสมดุลสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งหมดนี้คือต้นทุนที่ประเทศเจ้าบ้านจะต้องเสีย ผมไม่ได้บอกว่าควรปิดประเทศไม่รับการลงทุนเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ก็ตามเพียงแต่ต้องคิดให้รอบด้านและครบถ้วน เพราะไม่ใช่แค่ถนนหนทาง ท่าเรือ รถไฟ ไฟฟ้า โทรศัพท์และบรรดาสาธารณูปการที่ต้องสร้างขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของต่างชาติเท่านั้น มันแพงและเสียหายอย่างไม่อาจกลับคืนมาได้
คำถามคือ คุ้มไหม ?”

นักเศรษฐศาสตร์ชอบพูดว่า There is no free lunch โลกนี้ไม่มีของฟรี จะได้อย่างต้องเสียอย่างเสมอ จะได้กำไรก็ต้องลงทุน คนเรามักมองแต่กำไร ไม่มองทุนที่ต้องจ่าย โดยเฉพาะทุนที่จับต้องไม่ได้

ขณะนี้ประเทศไทยมีคนว่างงาน (unemployed) น้อยที่สุด แต่เรามีคนทำงานต่ำระดับ(underemployed) ไม่น้อยเลย คนพวกนี้ คือ คนที่จบปริญญาแล้วไปผัดราดหน้าเอ็มไพร์ขาย ไปเสริฟอาหารตามร้าน เพราะหางานที่ใช้ความรู้ในระดับที่ตนจบมาไม่ได้

ความจำเป็นที่ระบบเศรษฐกิจจะต้องเปลี่ยนเป็น social democracy แทน liberal democracy จึงชัดขึ้น Automation, digitalization พลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพกับรัฐสวัสดิการต้องไปด้วยกัน มิฉะนั้นจะตอบไม่ได้ว่าสังคมได้อะไรจากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น

อย่าให้ technology เป็นเครื่องแทนคน แต่ควรให้เป็นแค่เครื่องมือ คือ เครื่องช่วยคน มิฉะนั้นเทคโนโลยีจะเป็นข้าศึกต่อผลประโยชน์ของมนุษย์ ความเป็นเสรีของระบบเสรีนิยมต้องถูกจำกัดขอบเขตไม่ให้เป็นเสรีภาพที่จะทำลายประโยชน์ของมนุษยชาติ”

ใจผมเบาบางลงหลังจากได้สนทนากับคนทั้ง 3 แล้ว แม้นโยบายภาครัฐยังเดินเชื่องช้าเป็นเต่าคลานแตกต่างจากคำว่า “Thailand 4.0 ยิ่งนัก” แต่การเปลี่ยนแปลงตนเองให้แข็งแกร่ง การเข้าให้ถึงสิทธิในสิทธิที่มีอยู่ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ การหนุนเสริมจากภาคส่วนต่างๆโดยไม่มองเพียงว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐ นายจ้าง หรือลูกจ้างเพียงเท่านั้น แต่คือการพร้อมเป็นหุ้นส่วนในการสร้างทรัพยากรมนุษย์โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังร่วมกัน เหล่านี้คือสิ่งสำคัญยิ่งกว่า
เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ชื่อใครบางคนที่ผมโทรหาปรากฏหน้าจอ ผมยิ้มรับและปลายทางก็คงยิ้มให้เฉกเช่นเดียวกัน