24 ล้านคน รอคำตอบ ทำไมยังไม่ให้ออม?

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 ที่ห้องประชุมป๋วย อึ้งภากรณ์ ชั้น 7 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ระบบประกันรายได้เพื่อการชราภาพ : โอกาสและความยั่งยืน จัดโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับ สมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

กิตติรัตน์3 กิตติรัตน์2

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาครั้งนี้ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเป็นลักษณะของการเชิญชวนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนใดๆ แทนที่จะปล่อยให้ท่านออมโดยอิสระ รัฐบาลก็มีความจริงใจและมีเจตนาที่จะให้เสนอกฎหมายจนผ่านสภาไปว่าถ้าหากเริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปรัฐบาลก็จะสมทบให้ และอายุ 30 ปี ก็จะสมทบมากขึ้น และอายุ 60 ปี ก็จะสมทบมากขึ้นอีก เมื่อเกษียณอายุ 60 ปี ก็จะมีเบี้ยบำนาญใช้ต่อไปอีก การออกกฎหมายไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพียงแต่ว่าการที่ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลมานาน ก็เห็นว่าบางเรื่องก็อยากจะเริ่มด้วยความมั่นใจ ไม่อยากกลับมาตามแก้ไขมากนัก ซึ่งได้มีโอกาสเริ่มสำรวจอย่างจริงจังในส่วนงานราชการว่ามีกองทุนการออมอะไรบ้าง และกองทุนการออมจะมีส่วนเสริมเติมให้ได้หรือไม่อย่างไร

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจครั้งนี้พบข้อมูลที่สำคัญในกระทรวงแรงงานคือผู้ประกันตนประกันสังคมตาม มาตรา 40 ซึ่งผู้ประกอบอาชีพอิสระส่วนใหญ่เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันที่เป้าหมายของ กอช. ต้องการทุกประการ ซึ่งมีด้วยกัน 2 แผนคือ แผนที่ 1 เป็นการออม 100 บาท โดยสมาชิกออม 70 บาท รัฐบาลสมทบให้ 30 บาท แผนที่ 2 เป็นการออม 150 บาท โดยสมาชิกออม 100 เท่าเดิม ส่วน 50 บาท สมาชิกออม 30 บาท รัฐบาลสมบทให้อีก 20 บาท อันนี้แล้วแต่ละเลือกใช้แผน 1 หรือแผน 2 ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกทั้งแผน 1 และแผน 2 ราว 1.7 ล้านคนเท่านั้น แต่ถ้าหากมีผู้ประอาชีพอิสระมาร่วมเป็นสมาชิกก็จะมีจำนวนมากถึง 30 คน จึงจำเป็นต้องให้มีการศึกษาให้ดี ซึ่งขณะนี้ก็มีความเห็นตรงกันกับกระทรวงแรงงานที่จะให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 มีทางเลือกที่ 3 เพิ่มในการออมตาม กอช.ซึ่งจะต้องศึกษาร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ยินดีรับผลลัพธ์ของการเสวนาในครั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินการต่างๆให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติต่อไป

กิตติรัตน์4 กิตติรัตน์5

กิตติรัตน์6 กิตติรัตน์7

กิตติรัตน์8กิตติรัตน์9

หลังจากนั้น ตัวแทนเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน จำนวน 10 คน นำโดย นางสาวอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติโดยด่วน เพราะความล่าช้าในการรับสมัครสมาชิกกองทุน ส่งผลให้แรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคน ที่มีความพร้อมที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนและมีการเก็บออมเงินสะสมไว้ในช่วงที่มีศักยภาพที่จะจัดการตนเองได้ โดยการสร้างวินัยการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติไม่สามารถเข้าสู่การมีหลักประกันทางสังคมด้านการออมเพื่อการดำรงชีพยามชราภาพ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 และทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้เตรียมการเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555

นางสาวอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน กล่าวว่า สมาชิกศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กรุงเทพ และในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้มีความพยายามในการติดตามเร่งรัดการดำเนินการของกระทรวงการคลัง ผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี การร้องเรียนคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยเห็นว่า การล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วนั้น เป็นเรื่องที่ต้องการคำอธิบายจากรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เพราะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังชี้แจงว่ากำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวนั้น เครือข่ายฯ เห็นว่าการปรับแก้กฎหมาย สามารถทำได้หลังการเปิดรับสมาชิกกองทุนฯ แล้ว ซึ่งจะทำให้เห็นทั้งข้อดี เเละข้อด้อยของกฎหมายชัดเจนมากขึ้น

นางนิรมล สุทธิพรรณพงศ์ ประธานกลุ่มอาชีพ ส.ค เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง ตัวแทนแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้ความเห็นว่า “เราต้องการให้จัดสวัสดิการเพื่อเตรียมสู่วัยชราภาพที่มั่นคง เช่น การออมเพื่อชีวิตหรืออนาคต โดยอาจเริ่มตั้งแต่เด็ก ไม่ต้องการการสงเคราะห์จากรัฐอย่างเดียว”

จากงานศึกษาของ รศ. ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การวิเคราะห์ผลได้ผลเสียของการชะลอการรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติและการแก้ไขพระราชบัญญัติเพื่อเพิ่มเงินสมทบจากรัฐบาล” พบว่า การชะลอการรับสมาชิกของกองทุน มีผลกระทบสูงต่อผู้ต้องการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มอายุมากและผู้สูงอายุ ที่มักเผชิญปัญหาการขาดหลักประกันทางรายได้ในยามชราภาพอย่างเพียงพออยู่แล้ว หากรัฐบาลเลือกการดำเนินการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมตามพระราชบัญญัติที่เป็นอยู่ และค่อยแก้ไขเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สมาชิก จะเป็นประโยชน์กับทุกรุ่น โดยที่สมาชิกรุ่นอายุ 50 ปีขึ้นไป ได้รับสิทธิประโยชน์คงเดิม และในระยะยาวรัฐบาลก็จะไม่ต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งในการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 10 ปีข้างหน้า

นายอเนก จิรจิตอาทร ผู้แทนศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวว่า ได้ติดตามผลักดันให้รัฐบาลนำนโยบายกองทุนการออมแห่งชาติสู่การปฏิบัติมาตลอด เพราะเห็นว่าเป็นประโยขน์ต่อคนที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมยามชราภาพ ที่มากกว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นลักษณะการสงเคราะห์ มากกว่าการออมเพื่อสร้างหลักประกันของตนเองอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นภาระพึ่งพิงผู้อื่นมากเกินไป จึงใคร่ขอร้องรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เร่งนำนโยบายที่เป็นความต้องการของประชาชนสู่การปฏิบัติโดยการลงนามประกาศให้มีการสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติโดยด่วน และทางประชาชน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ สามารถนำเงินสะสมที่มีอยู่ปัจจุบันมาร่วมออมสะสมในกองทุนฯ ได้ทันที

เครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน / เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน รายงาน

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่
ผู้ประสานงานเครือข่าย น.ส. อุบล ร่มโพธิ์ทอง 089-5477014
เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.)
ที่อยู่ ห้อง 5/148 ชั้น 7 สายลมคอนโดมิเนี่ยม ซอย 8
ถนนพหลโยธิน ซอย 8 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
กรุงเทพฯ 10400 โทร/Fax 02-2791611

เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) ประกอบด้วยองค์กรภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน และกรุงเทพฯ กลุ่มแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เครือข่ายแท็กซี่อาสา เครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้านภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน