
ดิฉันอยากจะย้ำบ่อยครั้งว่า การเกิดกองทุนของประกันสังคมนั้นเกิดจากความทุกข์ยากของคนงานที่เวลาเจ็บป่วยไม่มีเงินรักษา เวลาตายไม่มีเงินทำศพ เวลาทุพพลภาพไม่มีใครดูแล ตกงานก็ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อข้าวกิน นี้คือปัญหาที่เกิด ทำให้คนงานในเขตย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งภาครัฐวิสาหกิจ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนนักศึกษา ข้าราชการตัวอย่างเช่น อาจารย์นิคม จันทรวิทุร และผู้นำแรงงานให้ความสำคัญเคลื่อนไหวใหญ่ในเดือนกันยายน 2533 จนประสบความสำเร็จ
สิ่งที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของคนจนทั้งนั้น ถึงจะได้สิทธิของเราเองจนมีกองทุน 5 แสนล้าน มีผู้ประกันตนเกือบ 10 ล้านคน แต่การบริหารงานกองทุนประกันสังคม ที่ผ่านมาอำนาจในการตัดสินใจทุกเรื่องของกรรมการบอร์ดประกันสังคมและที่ปรึกษามาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำให้อำนาจในการตัดสินใจในโครงการต่างๆ ถูกครอบงำและแทรกแซงจากนักการเมืองอยู่เสมอ และมีคนบางกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากเงินกองทุนประกันสังคม
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาจะมีข่าวฉาวการใช้เงินประกันสังคมที่ไม่โปร่งใส เช่นโครงการซื้อตึกวัฏจักร 500 ล้านบาท เมื่อมีเสียงคัดค้านจึงล้มเลิก กรณีการนำเงินประกันสังคมไปทำโครงการประชาสัมพันธ์ในปี 2552 จำนวน 1,000 กว่าล้านบาท และโครงการขนาดใหญ่ซึ่งน่าเป็นห่วงการนำเงิน 2,800 ล้าน ในโครงการจัดหาและดำเนินการเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานของกระทรวงแรงงาน ในโครงการดังกล่าวที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความไม่โปร่งใส และการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงได้ข้อมูลความผิดในวันที่ 16 มิถุนายน 2552 และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ส่งรายงานเอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญากับอดีตเลขาสำนักงานประกันสังคมจนถึงขณะนี้แล้วเรื่องราวต่างๆจะเงียบหายไป
คำถามคือคดีจะจบอย่างไร? ใครจะรับผิดชอบกับจำนวนเงินมหาศาล? มีใครได้ผลประโยชน์คงต้องติดตามต่อไป? และอีกโครงการลงทุนในกิจการต่างๆของสำนักงานประกันสังคมก็ได้พบว่ามีการขาดทุน เช่นการลงทุนในหุ้นธนาคารไทย ธนาคารที่เกิดขาดทุน ในบริษัทเลห์แมนบราเธอร์โฮลดิ้งส์ ที่บริษัทดังกล่าวประสบวิกฤติทางการเงินจนล้มละลายในที่สุด หรือการลงทุน ที ยู โดม เรสชิเดนเชียลคอมเพล็กซ์ TUPF ที่มีผลดำเนินการขาดทุน และอีกหลายกรณีที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยในการนำเงินกองทุนสปส.ไปใช้เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นความไม่เหมาะสมของผู้มีอำนาจในการบริหาร ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะหาทางออกอย่างไร?
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ส่งเรื่องไปยังเลขาที่การคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 และต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จะปรากฏ บทบาทของกรรมการประกันสังคมได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริงหรือไม่เพราะการใช้เงินไม่ได้คำนึงถึงคนส่วนใหญ่การใช้เงินประกันสังคมของบอร์ดประกันสังคม
กรณีไปดูงานต่างประเทศในแต่ละปีผลาญเงินจำนวน 10 กว่าล้านบาทขึ้นไปของทุกปีที่ไปดูงานต่างประเทศ แล้วผู้ประกันตนได้อะไร รวมทั้งการนำเงินประกันสังคมมาจัดทำเสื้อวันแรงงานปีละเกือบ 2 ล้านบาท ให้เฉพาะคนบางกลุ่ม แล้วผู้ประกันตน 9 ล้านคนที่เป็นเจ้าของเงินได้อะไร เหมาะสมหรือไม่กับการใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่าย รวมทั้งคิดจะนำเงินประกันสังคม 210 ล้านบาท ไปจัดทำหนังสือรวบรวมผลงานของคณะกรรมการประกันสังคมอีก เหมาะสมหรือไม่ มีผลงานอะไรที่จะบอกกับสังคมถึงผลงานที่ผ่านมา การนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หลายเรื่อง สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้เงินกองทุนประกันสังคมเริ่มจ่ายออกจำนวนมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2 ปี ที่ผ่านมา กรณีว่างงาน และในปี 2553 เกิดวิกฤติทางการเมืองที่มีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบกรณีว่างงานที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน รวมทั้งอีกปี 2557 ที่จะต้องจ่ายชราภาพให้กับผู้ประกันตนจำนวนมากถ้าการบริหารเงินไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ประกันตนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้และในอนาคตผู้ประกันตนจะมีความมั่นคงได้อย่างไรกับการบริหารงานที่ขาดการมีส่วนร่วมของสำนักงานประกันสังคม กับการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ไม่มีความโปร่งใสกับการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม
20 ปีของการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกันตนต้องร่วมกันปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ การบริหารงานกองทุนแบบมีส่วนร่วมมีระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส กรรมการต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นที่ตั้ง และต้องมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตน เพื่อจะดูแลสิทธิและผลประโยชน ของผู้ประกันตนเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตของผู้ประกันตน