2 องค์กรนำด้านแรงงาน ยื่นข้อเสนอร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อสปช.

Untitled-3

สรส. ร่วมกับคสรท. 2 องค์กรนำแรงงานรัฐวิสาหกิจ และเอกชน ยื่นข้อเสนอร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ 7 หมวดด้านสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ

วันที่ 19 ธันวาคม 2557 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  (สรส.)ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้เข้ายื่นข้อเสนอต่อศาตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และพลโทเดชา ปุญญบาล ประธานกรรมาธิการปฏิรูปแรงงาน เรื่องข้อเสนอเพื่อการเขียนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร

นายอำพล ทองรัตน์ รองเลขาธิการฝ่ายบริหาร รักษาการเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กล่าวว่าสรส.มีองค์กรสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 39 แห่ง และสหภาพแรงงานแอกชน 3  แห่ง ประกอบด้วยสมาชิกกว่า 1.5 แสนคน ได้เดินทางไปยื่นข้อเสนอเพื่อการเขียนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับแรงงานและการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจไทย เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย อันจะเป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง สร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริงกับการให้บริการแก่ประชาชน โดยหวังว่า ข้อเสนอของ สรส. จะได้รับการพิจารณา เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทย

Untitled-2Untitled-6

โดยมี “ข้อเสนอเพื่อการเขียนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ” มีดังนี้

  1. หมวด สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

1) ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

2) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

3) บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

4) การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

5) สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง

6) บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

7) บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้

8) การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้

  1. หมวด ความเสมอภาค

1) บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

2) ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

3) การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

4) มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

5) บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม

Untitled-4 Untitled-5

  1. หมวด สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

1) บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

2) บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

4. หมวด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน” 

คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติโดยการดำเนินการต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเรียงลำดับความสำคัญจากสูงสุดไปต่ำสุด ดังนี้

-ความมั่นคงของรัฐ (ให้ถือว่าเป็นลำดับความสำคัญสูงที่สุด)

-ประโยชน์สาธารณะ

-การศึกษาและวัฒนธรรม

-การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม(ให้ถือว่าเป็นลำดับความสำคัญต่ำที่สุด)

รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะการกำกับการประกอบกิจการตามที่กล่าวต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน

  1. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว
  2. หมวด สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ
  3. รัฐต้องจัดให้มีบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและการเข้าถึงยาที่ได้มาตรฐาน และทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการทางสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  4. บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
  5. บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
  6. บุคคลวิกลจริตย่อมได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
  7. บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
  8. หมวด เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม
  9. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธการจำกัดเสรีภาพตามที่กล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกเท่านั้น
  10. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพแรงงาน สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
  11. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
  12. หมวด แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ

รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้

1) จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง

2) กำกับให้การประกอบกิจการของภาคเอกชน ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค

3) ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

4) จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐในทางเศรษฐกิจ และต้องมิให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอยู่ในความผูกขาดของเอกชนอันอาจก่อความเสียหายแก่รัฐ

5) รัฐต้องเป็นเจ้าของโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ ไฟฟ้า ประปา สื่อสารโทรคมนาคม ขนส่ง ของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ

6) ส่งเสริมและสนับสนุน กิจการพาณิชยนาวี การขนส่งทางราง รวมทั้งการดำเนินการตามระบบบริหารจัดการขนส่งภายในและระหว่างประเทศ

7) รัฐต้องสนับสนุนการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนในชาติ โดยการบริหารรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์ (Centralized administration) ภายในการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียว และตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย โดยการหักเงินจากเงินนำส่งผลกำไรของการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถพัฒนารัฐวิสาหกิจทั้งหมด ทั้งประเภทที่มีกำไร และที่ไม่แสวงหากำไร ให้มีบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน

ด้านข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่    ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ตามที่ได้จัดทำเวทีแสดงข้อคิดเห็นเรื่อง ข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานในการปฏิรูปประเทศ จากผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนและได้ข้อสรุปร่วมกัน เพื่อนำเสนอด้านนโยบายด้านแรงงานต่อกากรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 11 ข้อเสนอ ดังนี้

1. สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา

(1)บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าปริญญาตรีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

(2)ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น

(3)การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ

(4)การสมัครรับเลือกตั้งทุกระดับ ไม่จำจัดวุฒิการศึกษา

2.สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ

(1)บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

(2)บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

(3)บุคคลต้องเข้าถึงบริการด้านอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการซึ่งการเข้าถึงมี 3 ด้านคือ การป้องกัน การส่งเสริมความปลอดภัย และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการวินิจฉัยโรค  ขณะเดียวกันเนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน และอาชีวอนามัย คศ.1981 (พ.ศ.2524)ฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย ค.ศ.1985  (พ.ศ.2528)ฉบับที่ 187ว่าด้วยกรอบงานส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006(พ.ศ.2549)จึงให้ตรากฎหมายรองที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ครอบคลุมและสอดคล้องกับข้อตกลงของนานาประเทศและส่งผลให้ขาดแรงจูงใจที่จะทำให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานเรื่องการบริการอาชีวอนามัยอย่างเต็มที่

(4)บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ (ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ เช่น ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล บำนาญชราภาพ )

(5)รัฐต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้บุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัย และช่วยเหลือค่าครองชีพอย่างเหมาะสม

(6)  รัฐต้องจัดให้คลินิกโรคจากการทำงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ 82 แห่งให้มีให้ครบทุกพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรม และต้องมีแพทย์อาชีวเวศศาสตร์และคลินิคโรคจากการทำงานต้องอยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกัน

3. เสรีภาพในการชุมนุม

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธโดยรัฐต้องอำนวยความสะดวกและจะต้องได้รับการความคุ้มครองจากรัฐ

1.) เสรีภาพในการรวมกัน

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สมาพันธ์ สภา สหกรณ์กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และต้องไม่ถูกคุกคามทุกรูปแบบ

ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิ เสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะกระทำมิได้

2.) เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรีโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ และเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับนั้นเป็นอันยกเลิกไป

4. นโยบายด้านเศรษฐกิจ

(1)รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง โดยเน้นตลาดภายในประเทศ ให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

(2)รัฐต้องพัฒนาปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ อันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นของประชาชนต่อการดำรงชีพ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อความมั่นคงของรัฐและประชาชนในทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการบริการ โดยไม่หวังกำไร ห้ามไม่ให้รัฐแปรรูปและใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมราคาสินค้า

(3)คณะกรรมการใน บีโอ ไอ ควรมีตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเข้าไปเป็นกรรมการบอร์ด

(4)ให้รัฐบาลกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่คำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิต ของคนงาน ตลอดจนประชากรวัยสูงอายุที่เกษียณจากการทำงาน โดยให้รัฐบาลประกาศ   เป็นนโยบายที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการตามทิศทางดังกล่าวโดยทันทีรัฐต้องควบคุม และยกเลิกอุตสาหกรรมที่สกปรกเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนไทย

5. นโยบายด้านแรงงาน

รัฐต้องดำเนินตามนโยบายด้านแรงงาน ดังนี้

1.การคุ้มครองแรงงาน

(1)รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนวัยทำงานมีหลักประกันในการทำงานอย่างมั่นคง

(2)รัฐต้องดำเนินการให้แรงงานทุกสาขาอาชีพได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน

(3)รัฐต้องคุ้มครองแรงงานเด็ก สตรี คนชรา และคนพิการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงมีครรภ์ ให้ได้รับสิทธิ และโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แรงงานหญิง ชาย ต้องมีสภาพการจ้างที่เท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติ

(4)รัฐต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างที่เป็นธรรม โครงสร้างค่าจ้างของแรงงาน ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และทักษะฝีมือที่สอดคล้องกับประสิทธิภาพ ความเสี่ยง และลักษณะงานของลูกจ้าง และงานที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานแรกเข้าให้ได้รับค่าจ้างเป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่คนทำงานมีรายได้เพียงพอที่สามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน

(5)คนทำงานลักษณะเดียวกัน สภาพการทำงานที่เหมือนกัน ให้ได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่ากัน

(6)รัฐต้องจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงาน เพื่อเป็นหลักประกันการถูกเลิกจ้างให้ได้รับค่าชดเชย  และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียกร้องสิทธิของแรงงาน “โดยให้ผู้นำแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการกองทุน ”

(7)รัฐต้องจัดให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มทักษะของแรงงานอย่างทั่วถึง อย่างมีประสิทธิภาพ

6. แรงงานสัมพันธ์

(1)รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการร่วมตัว และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจราจาต่อรองโดยได้รับการคุ้มครองโดยไม่เลือกปฏิบัติ และฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ

(2)รัฐต้องให้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัว และส่งเสริมการรวมตัวของแรงงานทุกสาขาอาชีพ ทั้งเป็นการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ระหว่างแรงงานประเภทเดียวกันและระหว่างกลุ่มอาชีพ ทั้งภาครัฐและเอกชน

(3)รัฐต้องตรากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้ครอบคลุมแรงงานทุกประเภทโดยไม่แบ่งแยก และสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

(4)รัฐต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งไตรภาคี ที่ผู้ทำงานมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนโดยตรง

 

7.สวัสดิการแรงงาน

(1)รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ (ประธานกรรมการและเลขาธิการต้องเป็นมืออาชีพ มาจากการสรรหา ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมเลือกผู้แทนของตนเองเข้ามาบริหารโดยตรง)

(2)รัฐต้องจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  (โดยให้สถาบันดังกล่าวมีอำนาจรับเรื่องร้องทุกข์ ส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขปัญหา ทำวิจัยเชิงลึก พัฒนาบุคลากร ตรวจสอบสถานประกอบการ “ตรงนี้เป็นอำนาจรัฐ”  แต่สถาบันฯขอเข้าไปทำงานสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพราะการแก้ไขปัญหาถ้าไม่รู้ข้อเท็จจริงสดๆ สถาบันฯก็จะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และภารกิจอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้)    ให้รัฐบาลสนับสนุนให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระโดยแท้จริงและดำเนินการแก้ไข พรบ.กองทุน  เงินทดแทน ให้มีการจัดสรรเงินทุนจำนวน 20% ของดอกผลของกองทุนเงินทดแทนให้กับสถาบันฯโดยตรง

(3)รัฐต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีพในวัยชรา และเป็นการสร้างวินัยการออมในวัยทำงาน

(4)รัฐต้องจัดให้มีที่พักอาศัยของคนงาน และจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กให้แก่แรงงาน ในบริเวณเขตอุตสาหกรรมใกล้ที่ทำงาน

(5)รัฐต้องจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ให้เป็นโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ประกันตนโดยเฉพาะและครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง

(6)ให้จัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อเป็นกองทุนทางเศรษฐกิจของคนทำงาน

8.สภาผู้แทนราษฎร

(1)ให้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยให้สิทธิคนทำงานในพื้นที่ใดๆ ให้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ (โดยใช้ทะเบียนประกันสังคม หรือทะเบียนบริษัทแทนทะเบียนบ้าน)

(2)การสมัครเลือกตั้งทุกระดับไม่ต้องจำกัดวุฒิการศึกษา

(3)สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เลือกตั้งจากสัดส่วนทุกกลุ่มอาชีพต่างๆ

(4)รัฐต้องอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง

ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชน ที่อยู่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านสามารถมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้

พรรคการเมืองยังมีอยู่ แต่ให้สิทธิผู้ไม่สังกัดพรรคการเมืองสามารถลงสมัครเลือกตั้งได้

9. การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน

(1)สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน 10,000 ชื่อต่อประธานสภาเพื่อให้พิจารณา และให้ประธานสภาได้บรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใน 90 วัน และให้สภาพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ในการพิจารณาของสภาให้ตัวแทนผู้เสนอกฎหมายได้ชี้แจงสาระสำคัญต่อสภา เมื่อสภารับหลักการแล้วให้สภาแต่งตั้งกรรมาธิการสามัญจากผู้แทนเสนอกฎหมายจำนวนกึ่งหนึ่งของกรรมาธิการทั้งหมด

(2)ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ให้ใช้หมายเลขประจำตัวบัตรประชาชน

(3)ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 ชื่อมีสิทธิเข้าชื่อถอนถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(4)ประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบ

10. ศาล

(1.) ให้ศาลพิจารณาเป็นการไต่สวน โดยแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน เชิงสืบสวน สอบสวน

(2.) ศาลแรงงานพิจารณาด้วยความรวดเร็ว เที่ยงธรรม มีระยะเวลาที่ชัดเจน เมื่อได้รับคำฟ้อง ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นไม่เกิน 90  วัน

(3.) ศาลต้องมีผู้พิพากษาเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การสูญเสียสุขภาพ ผลกระทบจากสารเคมี

(4) ในการพิจารณาไกล่เกลี่ยของศาลแรงงาน ให้ศาลแรงงานต้องไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดไว้

11. สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

รัฐธรรมนูญมาตรา 44 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงานรวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นสภาพการทำงาน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน