สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งเเวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่าย TBAN และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) ได้จัดงาน 19 ปีเคเดอร์ แรงงานปลอดภัยไร้แร่ใยหิน เมื่อวันที่10พฤษภาคม เวลา 08.30-15.30น. ที่ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน และจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากองค์กรเครือข่าย ต่างๆ เป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อ 19 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ มีผู้เสียชีวิต 188 ราย และได้รับบาดเจ็บ 469 ราย ก่อให้เกิดการให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานในด้านความปลอดภัยมากขึ้น แต่เมื่อไม่นานมานี้ ยังคงเกิดเหตุการณ์ซ้ำร้อยเดิม เช่น กรณีการเกิดสารเคมีรั่วไหลที่บริษัทอดิตยาเบอร์ล่าเคมีคัลส์ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช บาดเจ็บ138 ราย คนงานติดป้ายโฆษณาตกตึกใบหยก เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีก 2 ราย เกิดเหตุระเบิดที่บริษัทบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีผู้เสียชีวิต12 ราย และบาดเจ็บอีก141 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการการคุ้มครองที่มีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากอุบัติเหตุการณ์ดังกล่าวที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาแล้ว ยังมีโรคที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ ที่มักเกิดขึ้นในแรงงานภาคอุตสาหกรรม โดยมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แร่ใยหิน หรือ Asbestos
ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินเป็นอันดับ5ของโลก เพื่อใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมประเภทกระเบื้องซีเมนต์ เบรค คลัทช์ ท่อน้ำ และไดร์เป่าผม แร่ใยหินมีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความเหนียว ทนทานต่อแรงดึงได้สูง ทนความร้อนได้ดีและมีความทนทานต่อกรดด่างและสารเคมีหลายชนิด จึงมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตภาคอุตสาหกรรม และ แม้ว่า แร่ใยหินจะมีประโยชน์ต่อภาคการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็ยังส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ เพราะถ้าหากได้รับการสูดดมเข้าสู่ร่างกายแม้เพียงนิดเดียว จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้อง โดยระยะเวลาของฟักตัวของโรคนี้ยาวนานถึง 20-30ปี จึงทำให้ยังไม่เกิดอาการเจ็บป่วยในระหว่างทำงาน แต่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการทำงาน ทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเรียกร้องการคุ้มครองจากนายจ้างหรือประกันสังคมได้ ประกอบกับการแพทย์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ อาจเป็นเพราะรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่รวดเร็วเกินไป อีกทั้งยังมีการทำงานที่เน้นการแก้ไข มากกว่าการส่งเสริมการป้องกันจนมองข้ามความปลอดภัยของแรงงาน จึงเป็นที่มาของสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) ที่ประกอบด้วย เครือข่ายแรงงาน นักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมฯสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ฯ สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและคนทำไม้ฯ BWSTมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เร่งรัดการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์
2. เร่งชดเชยสิทธิตามกฎหมาย ให้กับ ผู้ประสบอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงาน รวมทั้งอันตรายที่มาจากแร่ใยหิน
3. ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน และยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีใยหินไครโซไทล์ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2554 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 โดยทันที
4. ปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง ”การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ”
5. ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน ธำรงค์รักษาจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ โดยนำเสนอ ข้อเท็จจริง
จากปัญหาทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า คนในสังคมมักมองเป็นเรื่องไกลตัว แม้กระทั้งสหภาพแรงงานเองก็ให้ความสำคัญกับค่าจ้าง มากกว่าความปลอดภัยของแรงงาน และนายทุนในระบบทุนนิยม ยังมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด จนละเลยและมองข้ามความสำคัญของความเป็นมนุษย์
สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ รศ.ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า การหลีกเลี่ยงอันตรายจากแร่ใยหินที่ดีที่สุดคือ "การไม่ใช้" และสนับสนุนในการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในสถานประกอบการ และร่วมกันรณรงค์ให้คนในสังคมตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน อีกทั้งควรร่วมกันผลักดันการทำงานของภาครัฐให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน เพราะแรงงานถือเป็นปัจจัยการผลิตของประเทศ ที่มีส่วนช่วยให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป
นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวแรงงานอยุธยา รายงาน