15 ปี คดีทอผ้า สังคมไทยได้อะไร ? กับค่าทดแทนที่เป็นธรรม

“ไม้ซีกน้อยด้อยแรงงัดแต่ถ้ามัดกันแล้วมุ่ง                                     รวมใจงัดไม้ซุงมีหรือมิเคลื่อนไป
พลังอันน้อยนิดจะพิชิตอำนาจใหญ่                                                รวมกันเข้าผลักใสใหญ่แค่ไหนไม่อาจทาน
มาเถิดไม้ซีกน้อยถึงจะด้อยแต่อาจหาญ                                        สองมือคือแรงงานใครจะทานพลังเรา”
                                                                                                                                                          (ได้มาจากอีเมลสหภาพคนงาน GM 21 มค54)
                             
15 ปี คดีทอผ้า สังคมไทยได้อะไร ? กับค่าทดแทนที่เป็นธรรม
 
สมบุญ สีคำดอกแค โจทก์ที่ 1 ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย วันที่ 23 มกราคม 2554
 
กลอนบทนี้  ที่ได้จากเมลของสหภาพแรงงาน GM ทำให้เป็นแรงจูงใจที่จะเขียนบทความนี้ ขึ้นมาเพราะมันตรงใจของกลุ่มผู้ป่วยอย่างพวกเราพอดีเลย  ช่วงที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างกันนั้น  พวกเราจะถูกทักท้วงด้วยคำพูดนี้เสมอว่า   จะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงหรือไง ? แล้วก็มีคนหวังดีเข้ามาทักท้วงตักเตือนกันมากมาย  แต่เราก็ไม่ได้หวั่นวิตกกับคำนี้เท่าไหร่เพราะเราคิดว่า สู้ก็ป่วย ไม่สู้ก็ป่วย ดังนั้นพวกเราสู้จะดีกว่า   เพราะถ้าเราป่วยแล้วไม่มีเงินรักษาตัวนี่ซิจะทำอย่างไร ? แล้วนายจ้างก็ปฎิเสธการป่วยของพวกเราก่อน  ผู้ป่วยเกือบ 200 คนต้องถูกนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของกองทุนเงินทดแทน ที่ว่าพวกเราป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสจากการทำงาน  ทั้งๆที่เราทุกคนได้รับการวินิจฉัย  กับ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล คลินิกแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ.ราชวิถี ว่าพวกเราป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิส ปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงาน  ต้องกินยามื้อหนึ่งเกือบ 10 เม็ด  3 มื้อก็ตก 30 เม็ดต่อวันพวกเราทรมานด้วยอาการป่วย มีเจ็บคอ คอแห้ง มีเสมหะพันคอ มีไข้ ไอมากไม่หยุด  จนเจ็บซี่โครง เสียวลึกๆในปอด หายใจไม่สะดวก  จะนั่ง ยืน เดิน หรือ นอนก็เหนื่อยหายใจไม่เต็มอิ่ม  
 
9 พฤษภาคม 2538 คนป่วยโรคบิสซิโนซิสจากการทำงาน 37 คนนี้  จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างโดยแต่ละคนเรียกค่าสินไหมทดแทนคนละ 1 -2 ล้านบาท คิดจากค่ายาค่ารักษาตกเดือนละ 2-3 พันบาท ค่าขาดโอกาสในการประกอบอาชีพเดือนละ 5 พันบาท ค่าภาระเลี้ยงดูบุตร บิดามารดาเดือนละ 3 พันบาท ค่าสูญเสียสมรรถภาพปอดตลอดชีวิตประเมินค่ามิได้ เพราะปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายในการผลิตเลือดไปสู่หัวใจและหล่อเลี้ยงร่างกาย โดยทนายยื่นฟ้องบริษัทฐานที่เป็นผู้ก่อมลพิษทำการประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้มลพิษฝุ่นฝ้ายอยู่ในอากาศจนเข้าสู่ร่างกายเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนพวกเรา เกิดปอดอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพไปอย่างถาวรตลอดชีวิต
 
ระยะเวลาเนิ่นนานผ่านไปด้วยการที่โจทก์จำเลย นำพยาน  มาสืบต่อศาลต้องดินขึ้นลงศาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  ต้องเจอกับสถานการณ์ ที่ทำร้ายกระทบกระเทือนจิตใจ ผู้ป่วยอย่างพวกเราตลอดเวลา ด้วยฝ่ายนายจ้างผู้ ก่อมลพิษปฏิเสธต่างๆนา  ท้าให้พวกเราต้องไปตรวจพิสูจน์กับแพทย์ท่านอื่น  ซึ่งเราคิดว่าเป็นวิธีคิด ที่ไม่เคารพกัน มองว่าฝ่ายคนงานที่เจ็บป่วยเป็นฝ่ายผิดที่ฟ้องร้องนายจ้าง  ถึงต้องทำการตรวจพิสูจน์ ซึ่งเราก็คิดว่าทำไมไม่ท้าไปตรวจพิสูจน์โรงงานบ้าง  หลายคนต้องลาออกจากงานเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว ทนเจ็บป่วยแล้วทำงานต่อไปไม่ไหว และมีหลายคนที่ถูกปลดออกจากงาน ชีวิตคนป่วยต้องตกระกำลำบาก  เจ็บป่วยกายแล้วก็ยังเจ็บป่วยใจ รู้สึกท้อแท้  สิ้นหวัง  แต่ก็ไม่เลิกราที่จะต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการทำงานจริงๆ ตามที่นายจ้างมองว่าพวกเราไม่ได้ป่วย  แกล้งป่วย ??? 
 
จนกระทั่งเวลาผ่านไป  8 ปี 4 เดือน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีวันที่ 30 กันยายน 2546 ให้นายจ้างมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อ ปล่อยฝุ่นฝ้ายทำให้พวกคนงานป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงานจนปอดเสื่อมสมรรถภาพการทำงานของปอดอย่างถาวรตลอดชีวิต โดยให้ได้รับเงินสินไหมทดแทนคนละ 1 แสน -2 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 / ปี แต่โรงงานใช้สิทธิอุทธรณ์คำพากษาต่อศาลฎีกา 
 
ช่วงนี้เองที่คนป่วยส่วนใหญ่ก็เริ่มมีอาการเจ็บป่วยมากขึ้น  หลายคนใช้วัดเป็นที่พึ่งทางใจ หลายคนต้องหาเงินเลี้ยงชีพด้วยการไปรับจ้างเขา ด้วยพละกำลังที่ป่วย  เพราะมีภาระมีลูกที่ยังเล็ก มีพ่อแก่แม่เฒ่าต้องดูแล และคนป่วยจึงพยายามปกปิดตัวเองไม่ให้ใครรู้ว่าป่วยอยู่   มีคดีในศาล  เพราะเกรงว่าสังคมไม่เข้าใจจะรังเกียจ คนป่วยเริ่มมีอาการป่วยแทรกซ้อนมากขึ้น ทั้งปอดอักเสบ เสื่อม เป็นหวัดบ่อย เป็นไข้บ่อย โรคความดัน โรคเครียด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ที่สำคัญ คือโรคกระดูก ซึ่งเป็นกันเกือบทุกคน  คงเป็นเพราะว่ากินยาระยะยาวนาน และปอดที่สำคัญเสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน จึงพาให้ร่างกายสุขภาพมีโรครุมเร้า ผลจากการที่ต้องต่อสู้ระยะยาวทำให้คนป่วยโรคบิสซิโนซิสไม่เพียงแต่เป็นผู้สูญเสียสุขภาพเท่านั้น หลายคนต้องเป็นผู้สูญเสียสภาพจิตใจไปด้วย  คือ คนป่วยจะเก็บตัว ไม่เข้าสังคม ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย เครียด นอนไม่ค่อยหลับ หลงๆลืมๆ  เบลอๆ เป็นผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้  ทุกคนต้องเป็นหนี้เป็นสิน บางคนถึงขั้นเคยคิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาและเกิดความเบื่อหน่ายชีวิต ที่จะอยู่ในโลกอันเลวร้ายนี้
 
เวลาผ่านไปเป็น 11 ปี ศาลแรงงานกลางนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2549  ทุกคนไปฟังคำพิพากษาฎีกา  กันอย่างพร้อมเพียงด้วยหัวใจจดจ่อหวังว่าคดีคงสิ้นสุดคราวนี้แน่แล้ว  แต่เมื่อฟังคำฎีกา  มีคำสั่งว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงๆไม่เพียงพอจึงยกคำพิพากษาครั้งแรก และให้ศาลแรงงานกลางสืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมใหม่กับโจทก์ทั้ง 37 คนใน 3 ประเด็น ดังนี้
 
1.ผ้าปิดจมูกที่จำเลยจัดให้ลูกจ้างใช้ในโรงงานได้มาตรฐานตามที่หน่วยราชการกำหนดหรือไม่
 
2.จำเลยออกระเบียบให้พนักงานสวมใส่ผ้าปิดจมูกในขณะปฏิบัติงานหรือไม่และคอยควบคุมดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด
 
3.หากฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำการละเมิดต่อโจทก์การละเมิดเกิดขึ้นเมื่อใด สิ้นสุดเมื่อใด โจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องชดใช้ค่าสินไหมตั้งแต่เมื่อใด
 
วันนั้นจึงไม่ต้องบอกว่าคนที่ไปศาลจะเห็นอะไร ?  น้ำตาผู้ป่วยไงคะ ที่มันไหลรินออกมา แทบหมดกำลังล้มทั้งยืน  มีบางคนแอบคิดสั้น “ นี่ 11 ปีแล้วนะ!!  ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆคนป่วยก็ยื่นส่งศาลไปหมดกันครบถ้วนแล้วทำไมต้องมาสืบใหม่ ? การสืบใหม่ครั้งนี้ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด ?   ผลจะเป็นอย่างไร  ถ้าหากตัดสินให้คนป่วยชนะจะต้องมีอุทธรณ์ฎีกาอีกไหม ? และถ้าหากแพ้จะทำอย่างไร ?  ในใจคนป่วยทุกคนมีแต่คำถาม  เคยมีคดีแบบนี้บ้างไหม ? คนป่วยโรคบิสซิโนซิสหลายคนเริ่มทยอยห่างหายไป  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ก็พยายามหางบมาจัดกิจกรรมเพื่อให้คนป่วยได้มีเวทีมาแลกเปลี่ยนพบปะกันเป็นประจำทุกเดือน  หรือออกไปเป็นตัวแทนองค์กร  มีบางรายเอายามาแบ่งกัน  มีบางรายก็มาขอยืมเงินกัน เอาของมาขายให้กัน มีบางรายต้องไปเยี่ยมเยียนเพื่อนที่นอนป่วยไปไหนไม่ไหวพากันไปหาหมอ 
 
แล้ววันนัดฟังคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาครั้งที่  2 ก็มาถึงในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 นับเวลาผ่านไปรวม  12 ปีโดยศาลแรงงานกลางตัดสินให้ผู้ป่วยโรคบิสซิโนซิสชนะคดีอีกครั้ง โดยให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้ง 37 คนต่ำสุด 6 หมื่นบาทสูงสุด 110,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนถึงวันที่จ่ายเงินเสร็จ ทุกคนดีใจเป็นที่สุดคิดว่าคดีคงยุติแล้ว  ถึงแม้ค่าสินไหมทดแทน จะลดลงครึ่งหนึ่งก็ช่างเถอะ แต่แล้วความดีใจก็มีได้ไม่นาน เมื่อรู้ว่านายจ้างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาเป็นครั้งที่ 2  คราวนี้คนป่วยท้อแท้มากๆบางคนก็มาลาออกจากกลุ่มบอกว่าไม่เอาแล้วเงินศาล  เพราะสุขภาพไปไม่ไหว  ไม่มีเงิน  ไม่มียา ไม่อยากสู้แล้ว
 
ระหว่างรอคำฎีกาจากศาลก็มีหมายจากกรมบังคับคดีมาถึงโจทก์ทุกคนว่าขณะนี้นายจ้างกำลังล้มละลาย จึงขอให้ศาลล้มระลายกลางมีคำสั่งให้เข้าฟื้นฟูกิจการ  โดยให้พวกเราคนป่วยไปร้องเป็นเจ้าหนี้กับบริษัท  ช่วงนี้คนป่วยต้องลงมาจากต่างจังหวัด  มาประชุมมาทำใบมอบอำนาจ  ซึ่งก็มีอยู่  3-4 รายที่จะสละสิทธิไม่สู้ต่อ  และจะไม่มอบอำนาจ  แต่สุดท้ายทุกคนก็พร้อมใจกันเหมือนเดิม ระหว่างการเจรจาเพื่อชำระหนี้ทางนายจ้างก็มาต่อรองว่าจะให้เงินคนละ 100,000 บาทโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาฎีกา แล้วที่เหลือก็ยกประโยชน์ให้กับโรงงานไปแต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไปขอระงับการพิจารณาคดี  ซึ่งที่ประชุมคนป่วย ก็ไม่ยินยอมกันที่จะให้ไประงับคำพิพากษาฎีกา  แต่สุดท้ายผลจากคำพิพากษาศาลล้อมระลายกลางพิพากษาว่าทางโรงงานไม่ได้ล้มระลายจริง จึงไม้ต้องเข้าข่ายฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด และนี่ก็เป็นจุดแข็งของกลุ่มคนป่วยที่ทุกคนร่วมกันตัดสินใจ  ไม่ได้ใช้ความคิดของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
 
การติดตามคำพิพากษาฎีกาก็มีอยู่เป็นระยะๆโดยทางกลุ่มออกหนังสือไปถึงเลขาธิการประธานศาลฎีกาก็ผู้ป่วยไปยื่น ได้รับคำตอบทุกครั้งว่า  คดีกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ในใจผู้ป่วยหลายคน  เริ่มมีความคิดว่าผลคดีสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ? เริ่มมีความรู้สึกว่า ความเป็นธรรมนี่หนา ช่างบางเบาเหมือนปุยฝ้ายจริงๆ ล่องลอยไปเรื่อยๆจนพวกเราคนป่วยไขว่คว้าหยิบจับแทบไม่ได้  มองแทบไม่เห็น  พี่ๆป้าๆมาบ่นเสมอว่าสมบุญ ป้าจะอยู่ถึงคำพิพากษาไหมหนอ ? สามวันดี  สี่วันไข้ อยู่อย่างนี้  บางคนก็บ่นว่าพี่ไม่มีเงินเลย…บางคนก็เจ้าหนี้ทวง  ต้องขายบ้านขายช่องหนีเจ้าหนี้    ไม่มีบ้านซุกหัวนอน  ทางกลุ่มก็ต้องคอยให้กำลังใจกันไปหากิจกรรมให้คนป่วยทำไม่ให้ต้องเครียด พาไปร่วมกิจกรรมตามที่กลุ่มจัดในที่ต่างๆอย่างสม่ำเสมอตามกำลังที่จะสามารถทำได้เพื่อไม่ให้คนป่วยเครียด
 
ย่างเข้าปีที่ 15 ปี 6 เดือน คุณอุไร ไชยุชิต เป็นหนึ่งเดี่ยวที่ได้รับหมายศาลจากศาลแรงงานกลางให้ไปฟังคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากๆ โจทก์ 37 คนแต่ได้รับหมายเพียงคนเดียว ทางสภาเครือข่ายฯ ต้องนำเอกสารหมายศาลฉบับนี้ถ่ายสำเนา แล้วส่งไปแจ้งคนป่วยทั้ง 37 คนที่อยู่กันคนละทิศละทาง แต่ถึงวันตัดสินจริงๆทุกคนกลับทำใจได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ? ขอเพียงแต่ให้คดีสิ้นสุดเสียทีเถอะจะได้นอนตายตาหลับสักที  เพราะเครียดมามากแล้ว ต่อสู้มายาวนานแล้ว ยังโชคดีที่ยังมีชีวิตไปฟังคำพิพากษาศาล  อย่างนั้นก็ยังมีอยู่ 2-3 รายที่เมื่อรับแจ้งแล้วไม่เชื่อว่าศาลตัดสินแล้ว แน่นอนผลคดีออกมายืนตามศาลชั้นต้น(ศาลแรงงานกลาง)ทุกคนจึงดีใจ กับชัยชนะที่ขาวสะอาด และการได้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา  ว่าเรื่องทั้งหมดทั้งมวลนี้พวกเราป่วยจริง  เราต่อสู้เพื่อความจริง  เพื่อให้สังคมได้รู้ว่าเราไม่ได้อยากได้เงิน แต่เราอยากได้รับชัยชนะ(ได้รับคำฎีกานี้)เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับสังคมผู้ใช้แรงงานได้รับรู้ ถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย   แต่ก็อยากฝากว่าการต่อสู้คดีเจ็บป่วยจากการทำงานนี้น่าจะมีความรวดเร็ว  เป็นธรรมในเรื่องค่าสินไหมทดแทน  และให้ทันกับสถานการณ์การเจ็บป่วย ที่จะต้องได้รับการเยียวยารักษาฟื้นฟูสุขภาพทุกวันอย่างต่อเนื่อง ขอให้คดีนี้เป็นบทเรียนแรกและสุดท้ายของการต่อสู้เพื่อสิทธิด้านสุขภาพของคนงานเถอะค่ะ
 
จึงอยากฝากความคิดตรงนี้ว่า  สิทธิที่ได้รับกับจากกองทุนเงินทดแทนนั้น  มันเป็นสิทธิขั้นต่ำสุดของกฎหมาย   หากจะขยับขยายวงเงิน  การทดแทนค่ายาค่ารักษาพยาบาล ให้มันเพียงพอดีกับชีวิตคนป่วยที่พอจะอยู่ได้ในสังคม มันควรจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ? หรือจะปล่อยให้คนป่วยพิการจากการทำงานเหล่านี้ต้องเผชิญชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อแต่เพียงลำพังผู้เดียวต่อไปแบบนี้หรืออย่างไร ?
 
“ หากจะถามว่าคนป่วย ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่  ดิฉันก็อยากตอบว่าความเป็นธรรมที่ผู้ป่วยได้รับถ้าเปรียบดั่ง  ผลไม้ ก็คงเป็นผลไม้  ที่ถูกหนอนชอนไช  กินเนื้อที่หอมหวานไปหมดแล้ว  สิ่งที่เหลือให้คนป่วยได้รับก็คงมีแต่เม็ดที่เกือบจะเน่าเท่านั้น    ดังนั้น  :  ความล่าช้า  แห่ง คดี   คือ ความไม่เป็นธรรม อย่างหนึ่ง  ต่อแต่นี้ชีวิตของคนป่วยโรคบิสซิโนซิส  ปอดอีกเสบและเสื่อมสมรรถาพอย่างถาวร ก็คงต้องดำเนินชีวิตต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดลมหายใจสุดท้าย ซึ่งพวกเราเอง ก็ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะต้องตกระกำลำบากต่อไปอีกมากน้อยแค่ไหน..? ***เราจะมีการพูดคุยกันหลายแง่มุม ทั้งผู้ถูกกระทบ ทนายความ นักวิชาการ นักกฎหมาย ของเรื่อง  15 ปีคดีทอผ้าฯขอเชิญพี่น้องนักข่าวสื่อมวลชน  คนที่สนใจเข้าร่วมเวทีได้ค่ะ  ณ .ที่ห้องราชา   โรงแรมรัตนโกสินทร์วันที่ 5 กุมภาพาพันธ์ 2554 
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////