13 อดีตกรรมการสร.รฟท. เฮ กลับเข้าทำงานหลังผู้ว่าการรถไฟยกเลิกคำสั่งไล่ออก

Untitled-2-copy

การรถไฟยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง 13 อดีตกรรมการสหภาพกรณีรณรงค์ให้ผู้บริหารดูแลระบบความปลอดภัย หลังเหตุการณ์รถไฟตกรางที่เขาเต่า ประจวบคีรีขันธ์ สาวิทย์ แก้วหวาน เตือนระบบความปลอดภัย คือหัวใจ ที่ต้องมีมาตรการแก้ระบบ ทั้งเทคนิค และบุคลากร เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเขาเต่า และกรณีน้องแก้ม

วันที่ 11กรกฎาคม 2557 นายสาวิทย์ แก้วหวาน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสากิจรถไฟแห่งประเทศไทยได้กล่าวถึงกรณีที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างตนเอง และกรรมการสหภาพแรงงานรวม 13 คนจากกรณีรณรงค์เรื่องความไม่ปลอดภัยในการเดินรถจากเหตุการณ์รถไฟตกรางที่เขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ผู้เสียชีวิต และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเมื่อได้รับหนังสือยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง ได้เข้ารายงานตัวเพื่อทำงานตามคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557แล้ว ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วเห็นว่าระบบความปลอดภัยก็ยังไม่ค่อยแตกต่างจากเดิมที่ทำงานเท่าไรนัก แต่สิ่งที่เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงคือ พนักงานมีความตื่นตัวเรื่องระบบความปลอดภัยมากขึ้น แต่ส่วนของผู้บริหารยังคงมองเรื่องความเร่งด่วน จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และการใช้งบประมาณที่อ้างว่ามีจำกัดทำให้การแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยในอุปกรณ์ที่เรียกว่า เชิงเทคนิคน้อยมาก

Untitled-3-copyUntitled-4

ยังไม่รวมถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยของคน เช่น กรณีน้องแก้มก็ถือว่า เป็นอีกตัวอย่างที่เป็นปัญหาเรื่องระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของการรถไฟ นอกเนื่องจากความปลอดภัยจากการจัดการอุปกรณ์เชิงเทคนิคที่แค่เปลี่ยนอุปกรณ์ก็ทำให้เกิดความปลอดภัยกับชีวิตและความเสียหายอื่นๆได้ ส่วนกรณีน้องแก้มเป็นเรื่องคนที่ด้อยคุณภาพ ไม่มีสำนึกบริการ ต้องแก้ที่ระบบการจัดการเรื่องคนด้วยการสร้างสำนึกการบริการ ความรับผิดชอบ ซึ่งสหภาพแรงงานได้เสนอให้มีการอบรม และจ้างบุคลากรประจำเพื่อให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน การที่จางพนักงานชั่วคราว หรือพนักงานเหมาค่าแรง นั้นทำให้เกิดปัญหาเรื่องสำนึกความรักต่อองค์กร ด้วยความรู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงในการมีงานทำ ทำงานเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น การรถไฟต้องแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรของตนเองมีการพัฒนาสำนึกรักองค์กร และการบริการที่ดีด้วย เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นกรณีเขาเต่า และน้องแก้ม ผู้บริหารต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยฟังเสียงสะท้อนจากสหภาพแรงงานฯที่เป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่กับพนักงานเพื่อจับมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ต่อกรณีเรื่องที่การรถไฟฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อตนเองและเพื่อนๆจำนวน 80 ล้านบาท และศาลพิจารณาเห็นควรให้จ่ายเพียง 15 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยนั้น ยังต้องคงไปรายงานต่อศาลอยู่

การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟฯได้ลงนามคำสั่งหนังสือยกเลิกคำสั่งไล่กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) สาขาหาดใหญ่ ออกจากงาน จำนวน 6 คน ได้แก่ นายธวัชชัย บุญวิสูตร นายสรวุฒิ พ่อทองคำ นายสาโรจน์ รักจันทร์ นายประชานิวัฒน์ บัวศรี นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม และนายนิตินัย ไชยภูมิ เมื่อวันที่ 27 กุมพาพันธ์ 2557 และกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนกลางในวันที่ 19 มิถุนายน2557 อีกจำนวน 7 คน ได้แก่ นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายภิญโญ เรือนเพ็ชร นายบรรจง บุญเนตร์ นายธารา แสวงธรรม นายเหลี่ยม โมกงาม นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี และนายอรุณ ดีรักชาติ รวมทั้งหมด 13 คน

Untitled-3Untitled-2

ด้วยที่ประชุมคณะกรรมการกิจการแรงงานสัมพันธ์การรถไฟฯได้พิจารณาคำร้องอุทธรณ์ เห็นว่าพฤติกรรมการร่วมชุมนุมรณรงค์ชี้แจงเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยที่เรียกว่าระบบวิจิแลนด์ หรือระบบเบรกอัตโนมัติชำรุดไม่สามารถใช้การได้ อันเป็นการดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้การรถไฟฯในฐานะนายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเพื่อมิให้พนักงานการรถไฟฯในฐานะลูกจ้างต้องปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงภัยอันอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงดังเช่นที่อำเภอเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพื่อเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ของการรถไฟฯ และพนักงานรถไฟฯอีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน ประกอบกับเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 พนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหาดใหญ่ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารบ้านเมืองและฝ่ายบริหารงานของการรถไฟฯ สรุปสาระสำคัญได้ว่า “เพื่อสร้างแรงงานสัมพันธ์อันดีการที่พนักงานหรือสมาชิกสหภาพแรงงานฯหาดใหญ่ ไม่ได้นำรถจักรออกไปทำขบวนและไม่ได้ขัดขวางการเดินรถ แต่พนักงานและสมาชิกสหภาพฯปฏิบัติตามข้อบังคับ และระเบียบการเดินรถพ.ศ.2549 และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฯข้อ 14 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 โดยมีเจตนาที่ดีกระทำไปเพื่อความปลอดภัยของขบวนรถไฟ”

Untitled-1

หลังจากที่มีบันทึกตกลงดังกล่าวทางสหภาพแรงงานฯและพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ดังนั้นจึงเห็นควรยกเว้นความผิด คามประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานฯพ.ศ.2547 ข้อ 4

ฉะนั้นอาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับการรถไฟฯฉบับที่ 3.1 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2529 ข้อ8.2 จึงให้ยกเลิกคำสั่งการรถไฟฯเรื่องไล่ทั้งพนักงานทั้ง 13 คนออกจากงาน และให้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม โดยให้รับเงินเดือนในระหว่างที่ถูกไล่ออกจากงานจามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของกรรมการสหภาพแรงงานฯส่วนกลาง 7 คน ยังคงต้องรับผิดชอบในการชดใช้ค่าเสียหายแก่การรถไฟจำนวน 15 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีขอต้นเงินนับตั้งแต่วันที่ฟ้องร้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามคำพิพากษาศาลแรงงาน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน