ผู้ประกันตนเสนอปฏิรูปสิทธิ เพิ่มสวัสดิการ สร้างการมีส่วนร่วม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ด้านผู้สมัครรับลูก ชูนโยบายปฏิรูปทั้งระบบบริหาร การลงทุน พร้อมเติมสวัสดิการทุกกรณี
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเวทีเรื่อง “เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ปฏิรูปอะไร? อย่างไร?” โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม)ในส่วนของผู้ประกันตน ทั้งตัวแทนทีมต่างๆและผู้สมัครอิสระเข้าร่วม โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์กว่า 11 คน เป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ และผู้สมัครอิสระด้วย
ผศ.วีรบูรณ์ วิสาทรสกุล คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดเวทีว่า เรามี พรบ.ประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2533 และปรับปรุงปี 2558 แต่โชคร้ายที่ 8 ปีตกอยู่ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)โอกาสต่อไปเรามีบอร์ดที่มีวาระ 2 ปีซึ่ง 2 ปีข้างหน้าผู้ลงเลือกตั้งน่าจะมากกว่า 8 แสนคน แต่ในวันที่ 24 ธันวาคม ไม่ว่าทีมใดเข้าไปก็อยากให้ทั้ง 7 คนทำงานกับขบวนการแรงงาน อยากให้เป็นผู้แทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง
รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ กล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมเกิดจากการต่อสู้ของภาคประชาชนทั้งแรงงาน องค์การพัฒนเอกชน นักศึกษา นักวิชาการ โดยเฉพาะ ศ.นิคม จันทรวิทุร อดีตสมาชิกวุฒิสภา โดยบอร์ดประกันสังคมมีหน้าที่บริหารสำนักงานประกันสังคมและกองทุนประกันสังคมซึ่งขณะนี้มีเงินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมีมาโดยตลอด ปี 2549 มีการวิจารณ์เรื่องที่บอร์ดไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของแรงงานเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน สหภาพแรงงานนำเงินกองทุนไปรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดซึ่งเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ จึงเกิดข้อเสนอปฏิรูปประกันสังคม เช่น เปลี่ยนสถานภาพของ สปส.ให้เป็นองค์กรมหาชนโดยจ้างคณะนักวิจัยจากธรรมศาสตร์ และมีข้อเสนอต่างๆ เช่น เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างในบอร์ด บูรณาการระบบประกันสังคมเข้ากับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“ข้อเสนอที่ปัจจุบันมากขึ้นคือการปฏิรูประบบบำนาญ เช่น ปรับเพิ่มเพดานการจัดเก็บเงินสมทบในการคำนวณสิทธิโยชน์ การขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 55 ปีเป็น 60 ปี เพราะปัจจุบันคนที่รับบำนาญเกษียณไปแล้วถูกตัดสิทธิในการรักษาพยาบาล” รศ.ดร.นภาพร กล่าว
ทั้งนี้ก่อนการเปิดโอกาสให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งได้แสดงวิสัยทัศน์ ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตราต่างๆ และนักวิชาการได้นำเสนอเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาระบบประกันสังคม โดย
ดร.โชคชัย สุทธาเวศ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ เราต้องบูรณาการทำงานร่วมกับกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนเงินทดแทน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง การทุนผู้ใช้แรงานเกี่ยวกับการกู้ยืม กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออม กองทุนกู้ยืมด้านการศึกษาและกองทุนต่างๆ กองทุนทั้งหมดส่งเสริมคุณภาพชีวิตทุกหมู่เหล่า แต่มีข้อชวนคิดว่าเรายังไม่มีเงินเพียงพอดูแลคุณภาพชีวิตทุกหมู่เหล่าอยู่ดี เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเอาเงิน 1-10% เป็นกองทุนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้าทำเช่นนี้รัฐบาลปัจจุบัน อาจไม่ต้องไปกู้เงินมาแจกประชาชน
นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กล่าวว่า ปัจจุบันประกันสังคมยังมีความแบ่งแยก ทั้งๆที่แนวคิดคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขทั้งในและนอกระบบ โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ยังแบ่งคนออกเป็น 3 ช่องทางคือคนจน คนปานกลางและคนรวย ตามเงินสมทบที่ส่ง ทั้งๆที่ควรเป็นมาตรฐานเดียวกันและมีเพียงช่องทางเดียว อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นประเทศแรกให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งบอร์ด
“แรงงานนอกระบบอย่างป้า เราไม่มีนายจ้าง ควรมีการปรับกฎหมายหรือไม่ เพราะคนที่มีรายได้น้อยบางส่วน ไม่สามารถส่งเงินสมทบต่อได้ เราอยากให้มีกฎหมายร่มใหญ่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ แต่พอออกมาจริงๆคุ้มครองแค่เพียงไรเดอร์ เราอยากเห็นกองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยากให้มีนักการเมืองหรือข้าราชการเข้าไปมีอำนาจมากกว่าสัดส่วนของผู้ประกันตน ถ้าเรายังเป็นเช่นนี้แรงงานนอกระบบจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเลือกตั้งได้เพราะเราอยู่พื้นที่ห่างไกล แต่หน่วยเลือกตั้งอยู่ในเมือง การจะเดินทางไปเลือกตั้งต้องใช้ค่ารถซึ่งเราไม่มี อยากให้ปรับให้สอดคล้อง”นางสุจิน กล่าวว่า
น.ส.วิภา มัจฉาชาติ ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 กล่าวว่า อยากให้แก้ระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับผู้ประกันตนโดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่ค่อยมีโอกาสได้สมัครรับเลือกตั้งเพราะมีเงื่อนไขว่าต้องส่งเงินสมทบติดต่อกัน 36 เดือน แต่เราเป็นแรงงานอิสระที่ต้องเข้า-ออกจากงานบ่อย บางครั้งต้องส่งคร่อมเดือนทำให้ถูกตัดสิทธิ ที่สำคัญคือการที่ให้ผู้ประกันตนไปลงทะเบียนซึ่งมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ ทำให้มีผู้ประกันตนน้อยมากที่มาลงทะเบียน
“ที่ผ่านมามีงบศึกษาต่างๆของกองทุนประกันสังคมจำนวนมาก แต่ผู้ประกันตนกลับไม่รู้สิทธิของตัวเอง เราขอว่าอย่าให้มีการผูกขาดการศึกษาไว้ที่สภาองค์การลูกจ้างใหญ่ๆ เท่านั้นหรือกรณีที่ใช้งบจัดทำปฏิทิน เปลี่ยนมาเป็นงบอุดหนุนเด็กดีกว่าหรือไม่ นอกจากนี้อยากฝากด้วยว่าเราอยากได้ประกันสังคมถ้วนหน้า”นางวิภา กล่าว
น.ส.สุธิลา ลืนคำ ผู้แทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กล่าวว่าประกันสังคมต้องครอบคลุมคนทำงานถ้วนหน้า โดยมาตรา 33 มีสิทธิประโยชน์ 7 กรณี แต่หลายเรื่องกลับไม่เป็นจริง เช่น ค่าทำฟันเพราะน้อยมาก หรือกรณีมาตรา 39 ซึ่งตกงานกลับต้องส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างซึ่งเป็นเรื่องตลกมากแทนที่รัฐจะยื่นมือเข้าช่วย
“ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหนก็ยังเป็นหนี้กองทุนประกันสังคม ลูกจ้าง นายจ้างส่งเงิน 5% ตลอด รัฐจ่ายแค่ 2.75 %กลับค้างจ่าย แถมรัฐมนตรีแรงงานที่เข้ามาอยู่ยังอยากได้นู่นได้นี่ แทนที่รัฐจะจ่ายเท่ากับเรา แถมเงินที่ติดหนี้ก็ยังไม่ใช้คืน” น.ส.สุธิลา กล่าว
นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ถ้าเราพึ่งพาประกันสังคมแบบเดิมเราจะเอาเงินจากไหนมารองรับผู้สูงอายุได้ หากมีการใช้แรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นจำเป็นต้องออกแบบประกันสังคมใน 4 ประเด็นคือ 1 การมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ 2 ควรปฏิรูประบบประกันสังคมให้โปร่งใสอิสระ 3 ปฏิรูปเงินสมทบ เช่น เพดานการจ่ายเงิน 4 การลงทุนเพราะการเอารายได้ไปฝากไว้กับการลงทุนเป็นการตอบโจทย์หรือไม่
“คิดว่าถึงเวลาแล้วคือเราต้องรับแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น เราต้องออกแบบอย่างไร อยากให้คิดถึงกรอบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย” นายอดิศร กล่าว
เวทีแสดงวิสัยทัศน์โดยมีผู้แทนทีมผู้รับสมัครเลือกตั้ง และผู้สมัครอิสระ ได้ นำเสนอนโยบายไว้ ดังนี้
นายชินโชติ์ แสงสังข์ ตัวแทนทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยหมายเลข 3, 12, 13, 14, 15, 16, 17 กล่าวว่า ตนขอเล่าประวัติศาสตร์ของตัวเอง ว่าตนเป็นคนแรกของประเทศไทย เป็นบอร์ดที่ถูกปลดออกจากรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้กฎหมายมาตรา 44 “สมัยนั้น 14-15 ปีที่แล้ว รัฐบาลเป็นหนี้กองทุนประกันสังคมอยู่ หกหมื่นล้านบาทผมเป็นประธานคณะทำงานในการติดตามทวงหนี้รัฐบาล ได้รณรงค์อย่างจริงจังจนถูกมาตรา 44 ปลดออกไป” การลงสมัครครั้งนี้กลุ่มสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยได้กำหนดนโยบายประกันสังคม เพื่อสร้างเสนอให้คนเลือก ซึ่งประกันสังคมมีวาระเพื่อแค่ 2 ปีเท่านั้น ซึ่งนโยบายที่เสนอ คือ
1.เงินบํานาญชราภาพ เราถูกกำหนดไว้ 20% 15,000 บาท ก็คือ 3,000 บาท เพราะฉะนั้นจึงเสนอว่า อย่างน้อยสุดเงินบํานาญชราภาพ 30% ทำให้สามารถยังมีชีวิตที่พออยู่ได้
2.เงินเดือน 15,000 บาท เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เหมาะสมมาก ในวันนี้ขอเพิ่มเป็น 18,000 บาท
3.ฐานบำนาญในบุคคลที่ใช้มาตรา 39 ต้องใช้ฐานเงินเดือนสุดท้ายก่อนหลุดมาตรา 33 ไปเป็น มาตรา 39 มาเป็นฐานในการคำนวณเงินบํานาญชราภาพ”
“ระบบประกันสังคมคือ ‘ระบบที่เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ ในตอนที่แข็งแรง ไม่ป่วย ในส่วนใหญ่ คนที่ทำงานโรงงานดีๆ ก็จะใช้สวัสดิการของโรงงาน คนทั่วไปก็ไม่ป่วย แต่พอเราแก่ เกษียณหลังอายุ 55 ปี เราส่งเงินเข้ากองทุนมายาวนาน สุดท้ายพอเรารับเงินเดือนเงินบํานาญชราภาพ เราหมดสภาพจากการรักษาพยาบาล
“มนุษย์ในประเทศไทยมี 3 หัว ราชการ ประกันสังคม ประชาชน เราต้องกลับไปใช้ระบบบัตรทอง เมื่อเราอายุ 55 ปี เราไม่มีสิทธิเลือกโรงพยาบาลเลย ไม่มีสิทธิรักษาในระบบประกันสังคมเมื่อรับเงินบำนาญ ซึ่งเป็นกฎหมายเนรคุณ คนยิ่งแก่ ยิ่งต้องได้รับการดูแล เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องป่วย แต่กลับถูกลิดรอนสิทธิลง” นายชินโชติกล่าว
ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ผู้แทนทีมประกันสังคมเพื่อแรงงานไทย ประกอบด้วยหมายเลข 49, 50, 51, 52, 53, 54, 55 กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมมีเม็ดเงินมหาศาล ทำอย่างไรถึงมีธนาคารหรือต่อรองกับธนาคารได้ ทำให้ดอกเบี้ยลดลงกว่าตลาดเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสินเชื่อต่างๆ ขณะเดียวกันคุณภาพการดูแลของโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนควรมีประสิทธิภาพเพราะเรามีอำนาจต่อรอง ส่วนเรื่องบำนาญชราภาพควรสอดรับกับสถานการณ์ ควรมีการปรับเปลี่ยนทุกระยะเพื่อสอดคล้องกับค่าครองชีพ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนและนำเสนอนโยบายบริหารเงินกองทุน 2.3 ล้านล้านบาทมีนโยบายดังนี้
1. ยกระดับคุณภาพการให้บริการโรงพยาบาลผู้ประกันตนทั่วประเทศ
2. จัดตั้งธนาคารสำหรับผู้ประกันตนเพื่อการเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรม
3. ปรับปรุงวิธีการคิดเงินบำนาญให้สอดรับกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป
4. ปรับปรุงการบริหารพนักงานประกันสังคม ให้มีความมั่นคงและก้าวหน้าในอาชีพรวมทั้งสิทธิสวัสดิการ
5. ปรับปรุงสิทธิประโยชน์มาตรา 33 ,39,และ40 ให้เกิดความเป็นธรรม
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า ประกอบด้วยหมายเลข 27, 28, 29, 30, 31, 32, 33 กล่าวว่าประกันสังคมหมดเงินไปกับการดูงาน การทำปฏิทิน รวมทั้งการลงทุนที่ขาดทุนในบางตัว เงินเหล่านี้แทนที่จะใช้เพิ่มในการลาคลอด รักษาโรค วันนี้สิทธิในการรักษาพยาบาลเริ่มต่ำเตี้ยกว่า สปสช. สาเหตุเพราะประกันสังคมไม่ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ผู้ประกันตน ประกันสังคมคือตัวอย่างสวัสดิการของคนธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ์ เราอยากให้ประกันสังคมเป็นหลังพิงของคนธรรมดา เราต้องการปักธงให้เป็นก้าวแรกของรัฐสวัสดิการ ประกันสังคมต้องตรวจสอบได้ ประกันสังคมต้องเป็นประชาธิปไตย
ทีมประกันสังคมก้าวหน้า มีหลักนโยบายก้าวหน้า ก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ 14 ข้อคือ
1. เพิ่มค่าลาคลอดบุตรเป็น 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สนับสนุนพรบ.ลาคลอด 180 วัน
2. เพิ่มสงเคราะห์บุตร 0-6 ปี จาก 800บาทเป็น 1,000 บาทต่อเดือน
3. เพิ่มเงินดูแลเด็ก 7-12 ปี ปีละ 7,200 บาท
4. ชดเชยการลาเพื่อดูแลคนในครอบครัววันละ 300 บาท
5. เพิ่มประกันการว่างงานสูงสุด 9 เดือน
6. สูตรคำนวนบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม
7.สินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.99 เปอร์เซ็นต์
8. ขยายสิทธิประโยชน์คนพิการ ไม่ตัดสิทธิ์การใช้ร่วมกับสวัสดิการอื่น รักษาพยาบาลได้ทุกที่
9. ประกันสังคมถ้วนหน้า พื้นฐานสำหรับแรงงานอิสระทั้งระบบ วางระบบระยะยาวใน 2 ปี
10. พัมนาบัญชียาเดียวกัน ไม่น้อยกว่าราชการและบัตรทอง ไม่ต้องต้องสำรองจ่ายทุกกรณี
11. สิทธิทันตกรรม รักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับสปสช.เหมาจ่าย 17,500 บาทตลอดการรักษา
12. ปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน
13. วางเงื่อนไขการลงทุนและบริษัทคู่สัญญา มีธรรมาภิบาลการลงทุนขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบได้ ยึดโยงกับผู้ประกันตน
14. มุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ทุกระดับ
นายธนัสถา คำมาวงษ์ ทีมสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วยหมายเลข 83, 84, 85, 86, 87, 88, 89 กล่าวว่า เรามีพี่น้องที่อยู่ในธุรกิจยานยนต์ประมาณ 800,000 คน อยู่ในสมาชิกสหภาพ 90,000 คน ซึ่งเราลงสมัครเพื่อรับใช้พี่น้องของเรา และเป็นตัวแทนของพวกเขา เราได้พิจารณาว่า บอร์ดประกันสังคมมีหน้าที่อะไร สำหรับนโยบายที่เสนอ มีดังนี้
1.เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 800 บาท เป็น 3,000 บาท จำนวน 12 ปี โดยเดิมทีเงินสงเคราะห์บุตรอยู่ที่ 600 บาท ถูกเปลี่ยนมาที่ 800 บาท จากท่านสุชาติ ชมกลิ่น โดยครั้งนี้ต้องเป็นที่ 3,000 บาท
2.เพิ่มเงินบํานาญชราภาพเป็น ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท นั้นจาก นายจ้าง 5% ลูกจ้าง 5% รัฐบาล 2.75% เราจะผลักดันให้รัฐบาลจ่าย 5% เราจะได้แน่นอน
3.โรงพยาบาลประกันสังคม ทำให้เป็นสถาบันทางการแพทย์ เราสามารถทำได้ เนื่องจากทหาร ตำรวจ พระสงฆ์ก็ยังมีโรงพยาบาลตนเอง และเมื่อลูกหลานเรียนดีเรียนเก่ง ประกันสังคมให้เงินสบทบทุนไปเลย เพื่อกลับมาพัฒนาทีมการแพทย์
4.เงินกู้ที่อยู่อาศัยดอกเบื้ยต่ำ ถ้าเรานำเงินประกันสังคมไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน และเรามาซื้อบ้านในดอกเบื้ยที่ไม่เกิน 1% จะทำให้เราผ่อนบ้านหมดเร็ว เป็นสิ่งที่ต้องประสานต่อจากท่านสุชาติ ชมกลิ่น ให้พวกเราได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
5.ถ้าเกษียณอายุ 55 ปี เราต้องเลือกได้ ไม่ใช่บังคับให้เราเลือกบำนาญ หรือบำเหน็จ เราจะขับเคลื่อนและผลักดัน
6.ธนาคารแรงงาน เพื่อให้พี่น้องเอาเงินประกันสังคมมาลุงทุนต่างๆ และเก็บออม” นายธนัสถากล่าว
นายกฤษฎา ด้วงหิรัญ ผู้แทนทีมแรงงานเพื่อสังคม ประกอบด้วยหมายเลข 90, 100, 101, 102, 103, 104, 109 กล่าวว่า นโยบายเพียงไม่กี่ข้อจากทั้งหมด อย่างนโยบาย 3 ขอ “ขอคืน ขอกู้ ขอเลือก” ที่ช่วงโควิดภายในทีมมีการหารือ และยื่นหนังสือต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในสมัยนั้นคือ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และผลักดันเรื่อยมา โดยแบ่งเป็น
1. ขอคืน คือ คืนเงินชราภาพบางส่วน หรือทั้งหมด ผู้ประกันตนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเก็บเงินไปทำไม เลือกตั้งก็ไม่มีสิทธิเลือก แล้วยังจะเอาเงินไปใช้อีก มันควรจะคืนผู้ประกันตน อาจจะเอาไปลงทุนต่อยอด เปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ ตามชนบท มีเงินทุกเดือน อาจจะมีรายได้มากกว่าเงินชราภาพที่ผู้ประกันตนจะได้ในอนาคตอีกด้วย
2. ขอกู้ คือ สำหรับคนที่ทำงานอยู่ ยังไม่มีสิทธิขอคืนได้ ให้เอาไปเป็นตัวค้ำประกันได้หรือไม่ เพื่อกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งคนติดเครดิตบูโรเยอะมาก ขอไปค้ำประกันแล้วไปกู้เอาเงินออกมา สัดส่วนเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อต่อยอดได้ ดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ผู้ประกันตนต่อยอดได้
3. ขอเลือก คือ ผู้ประกันตนควรมีสิทธิเลือกว่า จะรับบำเน็จ หรือบำนาญอย่างไร คำว่าหลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ทุกคนต้องเท่าเทียม ทำไมเงินชราภาพจึงจ่ายไม่เท่ากัน ต้องมีเงื่อนไข ซึ่งควรจะเลือกได้ ทุกคนควรมีสิทธิเลือกว่าจะรับแบบไหน อย่างไร มีสิทธิเสรีภาพในการดูแลตนเองจากเงินที่ผู้ประกันตนต้องส่ง เราจะผลักดันให้ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกัน มันต้องเท่ากันได้
ด้านการแก้ไขระเบียบ เพื่อเพิ่มสิทธิขึ้น และให้มีขั้นตอนรวดเร็วขึ้น ตามสิทธิประกันสังคมกำหนดไว้ที่ 30 วัน 45 วัน ซึ่งไม่ทันต่อความเดือดร้อนผู้ประกันตน เพราะบางกรณี ชราภาพ อายุ 61 ปี ยังไม่อนุมัติ ต้องแก้ระเบียบให้รวดเร็วขึ้น ทำไมต้องจ่ายเงินไปก่อน แม้ไม่ใช่เหตุฉุกเฉินก็ต้องสามารถใช้สิทธิได้ เพราะผู้ประกันตนจ่ายเงินทุกเดือน ซึ่งนโยบายหลักคือ การแก้ไขระเบียบเพื่อให้ผู้ประกันตน ได้มีสิทธิเสรีภาพ รวมถึงจะติดตามทวงเงินตามจากนายจ้าง เพราะปัจจุบันนายจ้าง 3-4 เดือน ผ่านโปรค่อยหักเงินนำส่ง “ส่งจนฟันหลอ ก็ขาดทุนแล้ว” กิจการประเภทมีโครงการลาออกโดยสมัครใจ ประกันสังคมจะเสียหายไปเท่าไหร่ จะต้องมีการบังคับใช้ให้ถูกวิธี
นายศิริศักดิ์ บัวชุม ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ประกอบด้วยหมายเลข 2, 5, 7, 9, 43, 45, 60 กล่าวว่า ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของพี่น้องแรงงานที่อยู่ในสหภาพแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ เราขับเคลี่อนในเรื่องของประกันสังคมมาโดยตลอด ซึ่งเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน มีแนวคิดตั้งแต่ขับเคลื่อนการปฎิรูปประกันสังคม ให้เป็นประกันสังคมที่ถ้วนหน้า ที่อิสระ โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ยืดหยุ่น และเป็นธรรม สำหรับนโยบายทีม มีดังนี้
1.เสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน
2.การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ร่วมไปถึงสถาบันทางการแพทย์เฉพาะทาง เรื่องนี้เรามีการศึกษาแล้วทั้งจากกระทรวง ทั้งกรรมธิการ และระดับวิชาการ ความเป็นไปได้แน่นอน
3.ปรับรูปแบบการลงทุนในรูปแบบประกันสังคมเป็นเรื่องของความเสี่ยง และความมั่นคง ของกองทุน ในไม่กี่ปีข้างหน้า กองทุนเราจะหมดไปหรือไม่ เมื่อทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เข้าไปเป็นคณะกรรมการจะร่วมพิจารณาในระเบียบข้อบังคับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน สัดส่วนในเรื่องของการลงทุน ทั้งความเสี่ยงให้พอเหมาะเพื่อความยั่งยืนของกองทุนให้มาหล่อเลี้ยงผู้ประกันตน
4.พัฒนาปรับปรุงการเข้ารับรักษาสิทธิพยาบาล ให้รวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย
5.เพิ่มขยาย สิทธิและประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกมาตราให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจ เราจะเข้าปเพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ เช่น มาตรา 40 เรามีแนวนโยบายอย่างเดียว เราจะเข้าไปช่วยเหลือครอบคุ้ม 7 กรณี มาตรา 39 รับบำนาญชราภาพแล้วให้คงสิทธิไว้ 3 สิทธิ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
6.เรื่องของการแก้ไขระเบียบชราภาพ ต้องใช้ฐานเงินเดือนสุดท้ายมาคำนวณ และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ
“ประเด็นสำคัญสุดของพี่น้องแรงงานในระบบและนอกระบบ เรามีความเป็นเอกภาพ และสัมพันธภาพอันเดียวกัน ไม่มีสี ไม่มีพรรค ไม่มีพวก เราทำงานร่วมกันทั้งเครือข่ายภาครัฐ เครือข่ายแรงงาน เราทำสำเร็จในเรื่องของทันตกรรมในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ดังนั้นฝากเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เสียงเดียวอาจจะไม่ดัง เสียงของพลังผู้ประกันตนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกองทุนประกันสังคม”
น.ส.อรอนงค์ นิธิภาคย์ ผู้แทนทีมสมานฉันท์แรงงานไทย ประกอบด้วยหมายเลข 4, 6, 10, 11, 19, 22, 23 กล่าวว่าจะใช้หลักการ 2 ขาคือ ขาสิทธิและขาสร้าง เพื่อความยั่งยืนของประกันสังคม แต่จะเน้นไปที่ขาสร้างคือ สร้างรายได้กองทุนประกันสังคม ควบคู่ไปกับรายได้ของผู้ประกันตน โดยใช้หลักคิดเปลี่ยนจากการลงทุนทางอ้อมสู่ลงทุนทางตรง ให้ผู้ประกันตนมากขึ้น และเป็นการลงทุนในทรัพย์สินที่จับต้องได้อย่างแท้จริง
สถานะกองทุนในปัจจุบันมีเงินอยู่ 2.3 ล้านล้านบาท ปัจจุบันลงทุนทางอ้อม ในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และหุ้นเอกชน ได้อัตราผลตอบแทนอยู่ 2.36 % ต่อปี ดังนั้นเพื่อที่จะได้มีจุดคานงัด แก้ปัญหาทั้งกองทุนประกันสังคม และชีวิตของลูกจ้าง จากกระแสเงินสดปัจจุบัน มีการเก็บเงินจากนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาลได้ปีละ 148,000 ล้าน มีรายจ่าย 165,000 ล้าน เท่ากับว่าติดลบในแต่ละปีประมาณ 16,000 ล้าน ส่วนลูกจ้างก็มีปัญหาชีวิตอยู่ 3 ประการคือ 1. รายได้ไม่พอ สวัสดิการน้อย 2. เจ็บป่วย และ 3. เป็นหนี้ โดยปัจจุบันหนี้นอกระบบมากที่สุดอยู่ที่กลุ่มลูกจ้าง จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ธนาคารแรงงาน หรือธนาคารผู้ประกันตนที่จะพัฒนามาจาก รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จะเป็นจุดนำไปสู่ขาสิทธิ และขาสร้าง โดยใช้หลักการ “ใช้หนี้พัฒนาคน” 3 จังหวะก้าว ดังนี้
1. จะจัดตั้งกองทุนพัฒนาชีวิตลูกจ้าง เพื่อปลดหนี้นอกระบบด้วยดอกเบี้ย 10% ไปล้างดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน
2. จัดตั้งธนาคารผู้ประกันตน โดยเปลี่ยนบทบาทจากคนที่ขอกู้เป็นคนปล่อยกู้
3. ใช้ธนาคารเพื่อสร้าง ฐานเศรษฐกิจให้กับแรงงาน
นโยบายสามารถลงมือทำได้เลย ถ้าได้เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคม จะขอให้กองทุนประกันสังคมย้ายเงินฝากไปยังธนาคารที่ทำสัญญากับเรา ซึ่งจะปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกันตนเท่านั้น เอาเงินไปฝากไว้ 2 -3 หมื่นล้าน ให้ผู้ประกันตนกู้ 2-3 เท่าของเงินเดือน ไม่เกิน 40,000 -50,000 บาท และเราจะขอให้ผู้กู้บังคับโอน 10% จากวงเงินกู้ เก็บไว้ทุก 3 ปี จะมีเงินฝากประจำได้ดอกเบี้ยเก็บไว้ โดยอัตราดอกเบี้ย 10% มีการจัดสรร ดังนี้
1.ให้กองทุนประกันสังคม 3%
2.ให้กำไรธนาคารที่มาช่วยดำเนินการ 3 %
3.ค่าดำเนินการของธนาคาร 1 %
4.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาชีวิตผู้ประกันตน 1% หรือจัดจ้างนักศึกษาจบใหม่ 10,000-20,000 คน เป็นเจ้าหน้าที่ในการช่วยปล่อยสินเชื่อ กระจายไปทั่วประเทศ เปิด Sunday Banking ให้นักศึกษาทำงานกับเรา เป็นคนแนะนำแผนการเงิน รวมถึงติดตามหนี้จากผู้ประกันตน
5. ให้นายจ้างที่ยินดีเข้าร่วมโครงการ หักเงินลูกจ้างที่กู้ธนาคารนี้ไปส่งคืน แล้วมอบให้นายจ้างในสัดส่วน 0.2–0.5 %
6. ให้รัฐบาล 1.5 -1.8 % หากเข้ามามีส่วนร่วมในการเอื้ออำนวยสถานที่ หรือค้ำประกันให้กับผู้ประกันตน
ด้วยวิธีดังกล่าวยังเพิ่มคุณค่าทางสังคมของชีวิตคนงาน เช่น คนงานรายหนึ่งที่ผ่อนบ้าน จนพาครอบครัวมาอยู่ร่วมอาศัยได้ และเมื่อเวลาผ่านไปที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น จึงไม่ควรดูถูกคนงาน เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยขาดส่งเจ้าหนี้แม้แต่งวดเดียว ดังนั้น “นโยบายเราจึงเป็นไปได้” ในด้านการลงทุนทางตรงในทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดินที่มีศักยภาพเป็นตลาด ถ้าประกันสังคมลงทุนในพื้นที่ที่เป็นตลาด มีแต่เสมอตัว หรือกำไร คนที่ถูกปลดออกจากงานจะมีที่ทางเดินต่อ ลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ค่าเช่าต่ำ มีโอกาสกำไร ส่งกองทุนประกันสังคมต่อไป เรื่องการให้ทุนนักศึกษาแพทย์ เรียนเฉพาะทาง เพื่อให้มารักษาโรคจากการทำงานเฉพาะ และเงินประกันสังคมที่คงอัตราเหมาจ่ายรายปีที่ 1,808 บาทต่อคน จะดึงค่าบริการผู้ป่วยนอกออกมา ตั้งเป็นวงเงินให้ผู้ประกันตนคนละ 5,000 บาท เจ็บป่วยสามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ต้องมือหมอได้เร็วที่สุด ซึ่งการลงทุนทางตรงกับผู้ประกันตนและเป็นการลงทุนที่แท้จริงที่จะต้องได้ จะนำไปสู่ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ความยั่งยืนมั่นคงของชีวิตผู้ประกันตน
นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้แทนทีมพลังแรงงานสหกรณ์ ประกอบด้วยหมายเลข 116, 120, 121, 122, 125, 126, 129 กล่าวว่าตนเองเป็นผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ดูแลสหกรณ์กว่า 7,000 แห่ง เคยเป็นอดีตบอร์ดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 20 ปี ซึ่งคิดว่าในกระบวนการสหกรณ์มีหลายอย่างที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต มองว่าในกระบวนการสหกรณ์มีหลายอย่างที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตพร้อมนำบทเรียนจากการทำงานร่วมกับองค์กรสหกรณ์มาพัฒนาระบบประกันสังคมให้ก้าวมั่นไปอย่างยั่งยืนเป็นที่พึ่งให้กับคนอีก 24,000,000 คน
“แม้จะมากันจากหลากพื้นฐาน แต่เพื่อแรงงานสหกรณ์อันสดใส มาร่วมเรียงเคียงกันเช่นมาลัย สร้างสรรค์ให้ไทยราษฎร์พัฒนา“ ปัณฐวิชญ์กล่าวก่อนเริ่มประเด็นนโยบายของทีมพลังแรงงานสหกรณ์ โดยชูนโยบายหลักคือ 4 ลด 5 เพิ่ม 6 เสริม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ลด 4 คือ
1. ลดค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นจากการบริหาร
2. ลดอัตราเงินสงเคราะห์ของผู้ประกันตนเหลือ 2.75% ให้นายจ้าง และรัฐบาลสมทบอีกฝ่ายละ 5%
3. ลดบทบาทอำนาจรัฐที่ควบคุมกำกับเป็นการส่งเสริมให้มีอิสระ และปกครองตนเอง
4. ลดการครอบงำจากการการเมือง ต้องสร้างและใช้ผลประโยชน์กันเองภายในองค์กร
เพิ่ม 5 คือ
1. กรณีการว่างงาน รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2. การรักษาพยาบาล กรณีการเจ็บป่วยและทุพพลภาพ เพิ่มสิทธิรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย เพิ่มสิทธิในการทำฟันเป็น 1,500 บาท
3. กรณีการสงเคราะห์บุตร เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 3,000 บาท ถึงอายุ 10 ปี และการคลอดบุตร เพิ่มประโยชน์ทดแทนคลอดบุตรเป็น 20,000 บาท ลาคลอดเลี้ยงดูบุตรได้ 120 วัน
4. กรณีชราภาพ เพิ่มเบี้ยบำนาญชราภาพไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน
5. กรณีการเสียชีวิต รับเงินค่าจัดการศพรายละ 300,000 บาท
เสริม 6 คือ
1. ยกระดับประกันสังคมสู่รัฐสวัสดิการ
2. สร้างโรงพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนเข้าถึงง่ายสะดวก
3. ผู้ประกันตนสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ตามความต้องการ รับบำเหน็จ บำนาญกองทุนชราภาพ
4. มีสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ประกันตนดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี
5. มีกองทุนเพื่อการศึกษา (เรียนฟรี) ของบุตรผู้ประกันตนจนจบปริญญาตรี
6. มีธนาคารสำหรับผู้ประกันตน
“แล้วท่านจะไม่ผิดหวัง เราจะผงาดในสังคมไทย อย่างยั่งยืน ด้วยพลังแรงงานสหกรณ์” ปัณฐวิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย
น.ส.บุญเรือง คุ้มคง ผู้แทนทีม 3 ขอต้องไปต่อ ประกอบด้วยหมายเลข 8, 21, 57, 58, 95, 177 กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยเป็นหนี้ แล้วไม่สามารถกู้เงินกับสถาบันทางการเงินได้ เนื่องจากติดเครดิตบูโร ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ได้ร่วมเรียกร้องกับกลุ่ม 3 ขอ หรือ “ขอเลือก ขอคืน ขอกู้” จึงมองเห็นว่าจะเสนอนโนบายนี้ให้กับผู้ประกันตนที่เข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว คือ นอกจากการเป็นผู้สมัคร ยังอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ประกันตน ฝากถึงคนที่ได้เข้าไปบริหารว่า ให้ทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เพราะผูัที่ได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือผู้ประกันตน จะได้ใช้นโยบายไปพัฒนากองทุนประกันสังคม สุดท้ายฝากทีม 3 ขอ เป็นทางเลือกของผู้ประกันตนที่จะได้เข้าถึงเงินของตัวเอง “ยามวิกฤต ให้มีสิทธิ เข้าถึง พึ่งพาได้”
ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 48 กล่าวว่า ถ้ามีโอกาสได้เป็นบอร์ดประกันสังคม อยากให้ความสำคัญความมั่นคงกองทุน อยากเห็นกองทุนเป็นที่พึ่งพาได้อุ่นใจไม่ใช่มีแต่คนพูดว่าอีก 10-20 ปีกองทุนประกันสังคมจะเจ๊ง เรามีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพราว 7 แสนคน แต่เมื่อดูโครงสร้างอายุมีผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมกับ 40 ปีขึ้นไปเป็น 8 ล้านคน หากครึ่งหนึ่งรับบำนาญชราภาพ เงินที่ต้องจ่ายจาก 2.4 หมื่นล้านเป็นแสนล้านในคาบเวลา 15-20 ปี ดังนั้นจำเป็นต้องวางแผนและคิดอย่างรอบคอบ แนวทางที่จะสร้างความมั่นคงคือ ต้องผลักดันศักยภาพการลงทุนให้ดีกว่าเดิม ส่วนเรื่องการคุ้มครองสิทธิอยากให้ทบทวนสิทธิชราภาพควรยึดหลักให้ติดตัวเขา เราอยากเห็นการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรักษาพยาบาล ทำไมเราต้องจ่ายเงินสมทบทั้งๆที่สิทธิอื่นใช้เงินงบประมาณ การลดความเหลื่อมล้ำได้จากการให้รัฐบาลจ่ายค่ารักษาพยาบาล เราอยากเห็นทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นว่าบอร์ดพูดอะไรไว้ในที่ประชุม ควรเปิดเผยวาระการประชุมเพื่อให้เห็นว่าใครคิดและพูดอะไร
นายกิรติ โกสีย์เจริญ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 113 กล่าวว่าต้องเปลี่ยนโครงสร้างโดยเฉพาะเรื่องระเบียบงบการเงิน ทุกบาทต้องโปร่งใส ควรเข้าไปตรวจสอบงบการเงินซึ่ง สปส.มีค่าใช้จ่ายกว่า 5.5 พันล้านบาท ได้มีการตรวจสอบหรือยังว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ นอกจากนี้หนี้สูญต่างๆที่มีมากกว่า 300 ล้านได้มีการตรวจสอบว่าสมเหตุสมผลหรือไม่
นางสุนี ไชยรส รองประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกล่าวว่า การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้แม้ขลุกขลักบ้าง แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่มีการจัดการเลือกตั้งบอร์ดครั้งต่อไป กองทุนประกันสังคมเติบโตมาจากการต่อสู้ประชาชน ความคาดหวังจึงแตกต่างจากบอร์ดที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นการเริ่มต้นและความร่วมมือต้องมีมากกว่านั้น และเมื่อมาจากการเลือกตั้ง ขอให้รับฟังผู้ประกันตนอย่างจริงจัง กล้าคิด กล้าทำ กล้าออกนอกกรอบหรือไม่ เราจำเป็นต้องติดตามตรวจสอบเพื่อทำให้กองทุนประกันสังคมนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด
ขอบคุณเนื้อหาจาก สำนักข่าวชายขอบ สำนักข่าว The Reportersและข่าว 3 มิติ
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน