1 ปีกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร: บางสถานการณ์จากพื้นที่ในฐานะภาพสะท้อนนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

โดย นางสาวบุษยรัตน์  กาญจนดิษฐ์

(1)  แม้ว่าแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีรายปีจะมีบัตรประกันสุขภาพ แต่ก็พบบ่อยครั้งว่านายจ้างจำนวนหนึ่งมักจะยึดบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงานของแรงงานเอาไว้ หรือการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกบัตรประจำตัวล่าช้า ทำให้เวลาที่แรงงานข้ามชาติไปขอรับบริการต่างๆ เช่น การไปใช้บริการสถานพยาบาล เมื่อแรงงานไม่สามารถแสดงบัตรประจำตัวได้ทำให้แรงงานต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วแรงงานต้องจ่ายเพียงสามสิบบาทเท่านั้น

(2)  แรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วบางอาชีพจะต้องเข้าสู่การคุ้มครองตาม พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แต่ก็พบว่าในระหว่างที่แรงงานรอบัตรประกันสังคมนั้น เมื่อแรงงานเจ็บป่วยในช่วงก่อน 3 เดือนที่จะมีสิทธิ แรงงานก็จะไม่สามารถนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกย้อนหลังได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วแรงงานมักจะทำงานอยู่ในกิจการจ้างงานที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูง เข้าไม่ถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและการอยู่อาศัยที่ดี แต่แรงงานต้องส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะสามารถใช้สิทธิกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันมิใช่เนื่องจากการทำงานได้

(3)  ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายซึ่งทำงานอยู่ในสถานประกอบการในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับแรงงานไทย ที่ยังคงต้องรับค่าแรงที่ต่ำกว่าขั้นต่ำตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัด และปรับเพิ่มอีก 40 % ในบางจังหวัดที่เหลือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา แต่กลับพบว่าสถานประกอบการได้ปรับขึ้นค่าจ้างให้เฉพาะคนงานไทยเท่านั้น แน่นอนในกรณีเช่นนี้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องทนฝืนรับสภาพการจ้างงานดังกล่าวต่อไป การลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานมิใช่เรื่องง่าย เพราะผลกระทบที่จะติดตามมาด้วยการถูกเลิกจ้าง การหางานใหม่ กระทั่งการถูกส่งกลับ ก็เป็นความเสี่ยงที่ไร้การปกป้องคุ้มครอง  

(4)  ด้วยข้อจำกัดในเงื่อนไขเรื่องการอยู่อาศัยในราชอาณาจักรของแรงงานข้ามชาติที่ต้องมีนายจ้าง ซึ่งหากแม้แรงงานได้ขึ้นทะเบียนแรงงานแล้ว แต่ต่อมาถูกเลิกจ้าง แรงงานก็จะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7 วัน มิเช่นนั้นก็จะต้องถูกเนรเทศออกจากประเทศไทยและถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง พบว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือตกเป็นผู้เสียหายในกรณีถูกละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย แต่หากแรงงานไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ก็จะถูกเนรเทศกลับประเทศ ก่อนที่จะสามารถดำเนินการเรียกร้องสิทธิหรือเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกฎเกณฑ์เช่นนี้ทำให้แรงงานต้องตกอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบนายจ้าง เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกลั่นแกล้ง เพราะนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หากแรงงานลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ

(5)  ยังคงมีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านจำนวนมากพักอยู่ในบ้านของนายจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน แรงงานจำนวนมากจึงตกอยู่ในภาวะเปราะบางเสี่ยงต่อการถูกละเมิดทางเพศ บางคนไม่มีห้องนอนส่วนตัวและต้องพักร่วมกับคนอื่นๆ ในบ้านแรงงานบางคนเคยถูกนายจ้างปิดขังไว้ในบ้านยามตนเองออกไปทำงาน หรือไม่อนุญาตให้ออกไปเจอใครข้างนอกและไม่ให้ใครมาเยี่ยม อีกหลายคนนายจ้างก็ไม่ยอมให้ใช้โทรศัพท์ รับโทรศัพท์ ส่งหรือรับจดหมายจากบุคคลอื่นใด

(6)  ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังคงทำงานในชั่วโมงที่ยาวนาน สภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัย อีกหลายคนก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ มีการเก็บข้อมูลในพื้นที่มหาชัย สมุทรสาครโดยองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งระบุว่า “เฉลี่ยสูงถึง 2-3 รายต่อเดือน” จนนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม หญิงสาวตัดสินใจเลือกเข้าสู่วงจรการระงับการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ที่ส่งผลต่อสุขภาพ การติดเชื้อ กระทั่งเสียชีวิตติดตามมา นี้ไม่นับว่ามีช่วงหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีแนวคิดว่าจะส่งแรงงานข้ามชาติหญิงที่ตั้งครรภ์กลับไปคลอดบุตรที่ประเทศต้นทางอีกด้วย

จากบางสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดจึงดูเหมือนเป็นบางสะท้อนที่ว่านโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มุ่งเน้นและเป็นไปเพียงเพื่อเฉพาะการสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2555 เพียงเท่านั้น จึงไม่สามารถแก้ปัญหาปรากฏการณ์ข้างต้นที่ยังดำรงอยู่ได้ รวมถึงยังถูกเพิกเฉยราวๆกับสายลมที่พัดผ่านมาและก็ผ่านเลยไป  จนทำให้เกิดปรากฎการณ์แรงงานข้ามชาติจากพม่าเรือนหมื่นต้อนรับการมาเยือนของนางอองซานซูจี และฝากความหวังการมีชีวิตที่ดีไว้ที่ตัวเธอ เพราะคำปราศรัยแรกของซู จี คือ "แม่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับทราบทุกข์สุขของพี่น้องชาวพม่า แม่ไม่เคยลืม และจะนำปัญหาทุกข์ร้อนที่พบเจอไปหารือกับรัฐบาลไทย เพื่อแก้ไขปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ขอให้อดทนและรอเวลา แม่จะพยายามหาทางพัฒนาประเทศเพื่อให้พวกเราทุกคนได้เดินทางกลับประเทศ และนำทักษะความรู้ที่มีอยู่ไปพัฒนาชาติ"

************************