นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน กล่าวรายงาน แนวคิดทำไมแรงงานต้องมีสื่อเป็นของตนเองว่า จากการเคลื่อนไหวที่ผ่านๆมาปัญหาของผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับการเผยแพร่เป็นข่าวเท่าที่ควร และกระแสการไม่ยอมรับจากสังคม เมื่อมีการเดินขบวน ปิดถนน เนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิต่างๆที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่ได้รับการแก้ไข การที่ไม่มีการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ถึงสภาพปัญหา หากสังคมจะคิดว่า เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่ใช้รถใช้ถนน เป็นกลุ่มที่ชอบก่อความวุ่นวายจึงไม่แปลก ขบวนการแรงงานจำเป็นต้องมีสื่อเป็นของตนเอง การสร้างนักสื่อสารที่เป็นแรงงาน ให้เขียนข่าวบอกเล่า เรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานให้สังคมได้รับรู้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ ผลที่เกิดวัดได้จากที่ผ่านมา กรณีการเคลื่อนขบวนกรณีแม็กซิส ฟูจิสึ พิซีบี ที่เดินเท้าเข้ากรุงเทพ ที่มีประชาชนสองข้างทางร่วมให้กำลังใจ บริจาคสิ่งของให้เมื่อมีขบวนเดินผ่าน ซึ่งเป็นเพราะมีการรายงานข่าวโดยนักสื่อสารแรงงานของพื้นที่ที่เกาะติดรายงานข่าวทุกวัน
การทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการฝึกเขียนข่าว โดยมีนักข่าวมืออาชีพ เป็นครูฝึกให้ 1 วัน ซึ่งมีหนังสือพิมพ์แรงงาน เว็บไซต์ของแรงงานvoicelabour.org และการอบรมตัดต่อวีดีโอจากทีมงานของนักข่าวพลเมือง ThaiPBS ทำให้เกิดผลงานออกกสู่สังคมหลายชิ้นในข่าวนักข่าวพลเมือง ThaiPBS และนักสื่อสารแรงงานในพื้นที่ยังสามารถที่จะเขียนข่าวส่งให้กับสื่อมวลชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล รวมทั้งบางครั้งต้องเป็นแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเอง หรือหาแหล่งข่าวให้บ้างทำให้นักสื่อสารแรงงานกลุ่มนี้มีการพัฒนามากขึ้น โครงการได้มีการอบรมนักสื่อสารแรงงานราว 130 คน ที่มีการทำงานที่เรียกว่าเขียนข่าวส่งเป็นประจำอยู่ที 30 คน ทำให้มีข่าวแรงงานในคนได้อ่านความเคลื่อนไหวทุกวัน และถือว่าเป็นเว็บไซต์ ที่มีข่าวแรงงานมากที่สุด เป็นทีจับตาดูของนายจ้าง และรัฐ ซึ่งมีบางกรณีที่เขียนรายงานข่าว แม้ไม่ได้ใช้ชื่อจริง ไม่ได้ใส่ชื่อบริษัท แต่รัฐก็เข้าไปช่วยแก้ไขให้แรงงานได้เข้าถึงสิทธิ
นายสมเกียรติ จันทร์สีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายประชาสังคม หัวหน้าโต๊ะข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนของขบวนการแรงงานที่ใช้สื่อ และทำสื่อเพื่อการสื่อสารเรื่องราวประเด็นแรงงานเองให้กับสังคม การทำข่าวนักข่าวพลเมืองถือเป็นการฝึกงาน แต่ตอนนี้อาจไปไกลกว่านักข่าวพลเมือง นักสื่อสารจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร ในสังคม จะมีการส่งสารถึงคนดูให้เข้าถึงปัญหา และมีความเข้าใจได้อย่างไร ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อให้เข้าถึงคนดู ทำอย่างไรให้สังคมได้เข้าใจปัญหาของแรงงาน ทำทีวีอย่างไร ที่ไม่ใช่แค่การทำข่าวออกไป แล้วจบ ต้องมีการสร้างความรู้อย่างต่อเนื่องกับสังคม
นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า บทบาทของขบวนการแรงงานกับการทำสื่อได้หายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์มานาน ตอนนี้ได้กลับมาอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์จำนวนมาก เป็นการก้าวมาไกลพอสมควร
เดิมมีสหภาพแรงงานในการทำสื่อเพียง 3 แห่ง และยังไม่เข้มแข็งเท่าไหร่ แต่ต่อไปจะมีเพิ่มมากขึ้น สื่อจะเข้าใจแรงงานเพิ่มมากขึ้น นักสื่อสารแรงงานเกิดขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรให้นักสื่อสารอยู่ได้ จะก้าวเดินไปอย่างไร การเตรียมตัวใช้ช่องทางใหม่ของการสื่อสารต้องเตรียมการรับมือเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยด้วย
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ขบวนการแรงงานอับเฉาในการทำสื่อมานาน เราดูถูกความสามารถตัวเองไม่กล้ากลัว เขียนไม่ได้?
การสร้างนักสื่อสารของขบวนการแรงงาน 1 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาการทำสื่อของตนเอง โดยใช้ในการสื่อประเด็นปัญหาของตัวเองให้สังคมรับรู้ และแรงงานยังต้องพัฒนาเพิ่ม และวิวัฒนาการต่อไปอีก เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้อื่นสามารถหยิบไปใช้ได้ ความรู้ต้องหยิบมาใช้ ถ้าไม่ใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ความพยายามที่จะมีสื่อของขบวนการแรงงานได้พยายามกันมาหลายปี เริ่มจากการถูกปิดกั้นในการที่จะสื่อเรื่องราวของแรงงานออกไป จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หลังจากปี 2540 เป็นต้นมา เริ่มคิดว่า จะทำอย่างไรให้แรงงานมีช่องทางในการใช้สื่อ สื่อมีอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ การนำเสนอสื่อหากไม่มีเป้าหมาย จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากนำเสนอแรงๆ ออกไปไม่รู้ว่า ยังมีพื้นที่ให้เราอยู่อีกหรือเปล่า นำเสนอเชิงบวกอย่างมีเป้าหมายในปัญหาของแรงงาน
นางสาวเพ็ญจันทร์ เจริญสุทธิพันธ์ บางกอกโพสต์ กล่าวว่า การทำงานของนักสื่อสาร สามารถนำการข่าวที่เขียนไปลงในหนังสือพิมพ์ได้ โดยแทบไม่ต้องปรับเนื้อหา นักสื่อสารแรงงานมีความอดทน ตั้งใจในการทำงานนอกเหนือจากการทำงานปกติ เป็นการเปิดพื้นที่ของการทำงาน ทำให้เกิดการพัฒนาการทำงาน รู้จักใช้คำที่เป็นการป้องกันตัวเอง
การเขียนมีหลายเรื่อง หลายแบบ ต้องฝึกฝนการเขียน ต้องให้เวลาในการอ่าน เรื่องราว และเขียนให้มากขึ้น ทำแล้วทำอีกทำซ้ำๆบ่อยๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้าในการเขียนงานในรูปแบบอื่นด้วย
นายภาสกร จำลองราช มติชน กล่าวว่า อยากให้มีการทำข่าวมากกว่าการนำเสนอเรื่องราว หรือแลกเปลี่ยนปัญหาแรงงาน อยากให้ทดลองทำข่าวเป็นซีรี่ที่มีความรอบด้าน ตั้งแต่การสัมภาษณ์ นายจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ ลูกจ้าง ให้ตีโจทย์ของปัญหา และสอดแทรกเนื้อหาวิถีชีวิตว่า มีความเป็นมาอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องแรงงานในการทำข่าวให้มีความรู้รอบทิศการทำข้อมูลส่งสื่อกระแสหลักยังมีน้อยมาก ควรจะมีการต่อยอดอย่างไรให้มากขึ้นกว่านี้
นายโกวิท โพธิสาร นักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาถือเป็นการเปลี่ยนแปลง จากเสียงที่หายไปได้กลับมาสื่อสารกับสังคมอีกครั้ง มีการพัฒนาในการทำสื่อหลายรูปแบบมากขึ้น มีคนเข้าไปดูเว็บไซร์voilabour.org จำนวนแสนกว่าครั้ง ที่เข้าประจำประมาณ 5 หมื่นกว่าคน ทำอย่างไรจะให้คนงานที่ไม่อยู่ในกลุ่มสหภาพแรงงานรู้จักสื่อของแรงงาน voicelabourจะก้าวต่อไปอย่างไร
นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ที่แรงงานมาทำข่าวนำเสนอเรื่องราวของตนเอง ในรอบกี่ทศวรรษ ถือเป็นความสำเร็จของขบวนการแรงงานที่สร้างนักสื่อสารแรงงาน เป้าหมายของการทำงานของนักสื่อสารต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน เป็นทั้งผู้เสริม และผู้สร้าง ผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ความรู้นี้เป็นความหวังของขบวนการแรงงาน
ทีมนักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ รายงาน