สร.รฟท. ทวงกทม.ค้างชำระค่าเช่าที่ดินตลาดนัดสวนจตุจักร

สร.รฟท. บุกทวงกทม.ค้างชำระค่าเช่าที่ดินตลาดนัดสวนจตุจักร หลังคำพิพากษาศาลแพ่ง ให้ กทม.ชำระค่าใช้ประโยชน์ให้ รฟท.จำนวน 605,688,120 บาท พร้อมดอกเบี้ย

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดย นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสร.รฟท. ที่ปรึกษา และกรรมการสหภาพฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อ ติดตามกรณีกรุงเทพมหานครค้างชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร
นายสราวุธ กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยภายในตลาดนัดจตุจักร และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการในตลาดนัดจตุจักร โดยให้กระทรวงคมนาคม ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดการดำเนินการโอนความรับผิดชอบการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปเป็นความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักรระหว่าง รฟท.กับ กทม. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร ระหว่าง รฟท.และ กทม. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 โดย รฟท.ตกลงให้ กทม.เช่าที่ดินเพื่อบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรทั้งหมดบนพื้นที่ 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา กำหนดอัตราค่าเช่าปีละ 169,423,250 บาท เป็นระยะเวลาเช่าไม่เกินปี พ.ศ. 2571 (10 ปี) และให้มีการพิจารณาทบทวนค่าเช่าร่วมกันทุกๆ 3 ปี รวมถึง กทม.และ รฟท. ตกลงจัดทำสัญญาเช่าที่ดินตามแบบสัญญาเช่าที่ผ่านการตรวจร่างจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร โดยมีผู้แทนของ รฟท. และ กทม.ลงนามร่วมกันไว้เป็นหลักฐาน ซึ่ง กทม. ได้เริ่มบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 เป็นต้นมา

ตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ กทม.ไปบริหารจัดการแล้ว รฟท.ได้ดำเนินการนำร่างสัญญาเช่าให้ กทม.ตรวจสอบเพื่อส่งให้พนักงานอัยการตรวจร่างตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงแต่ กทม.ไม่ยินยอมลงนาม ประสงค์จะใช้ร่างสัญญาที่ กทม.เป็นผู้จัดทำ ซึ่ง รฟท.ได้นำร่างสัญญาของแต่ละฝ่ายให้พนักงานอัยการวินิจฉัย โดย กทม.ขอระยะเวลาหารือกับ รฟท.เพื่อให้ได้ข้อยุติในการทำร่างสัญญา จนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 รฟท.กับ กทม.ตกลงที่จะใช้ร่างสัญญาเช่าที่ดินตามที่ได้มีการเจรจาร่วมกันและส่งร่างให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา แต่ปรากฏว่า กทม .ไม่ยอมลงนามสัญญาเช่าซึ่งได้มีการเจรจาและปรับแก้เงื่อนไขตามสัญญาแล้วหลายครั้ง เมื่อรฟท.มีหนังสือแจ้งให้ กทม.ชำระค่าขาดประโยชน์ที่ยังค้างชำระแต่ กทม.เพิกเฉย ท้ายสุด รฟท.ได้มีหนังสือถึง กทม.ให้มาทำสัญญาเช่า และชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ยังค้างชำระแต่ กทม.กลับเพิกเฉยไม่ยอมทำสัญญา จนนำมาสู่การฟ้องคดีทางแพ่งของ รฟท. ตามข้อเท็จจริงปรากฎตามคำพิพากษาศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ พ3135/2565 คดีหมายเลขแดงที่ พ5004/2566 ลงวันที่ 19 กันยายน 2566 ให้ กทม.ชำระค่าใช้ประโยชน์ให้ รฟท.จำนวน 605,688,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 จนถึงวันฟ้อง (27 มิถุนายน 2565) เป็นเงิน 66,332,497 บาท รวมเป็นเงิน 672,020,617 บาท และ กทม.ยังต้องชำระค่าใช้ประโยชน์ในอัตราเดือนละ 14,118,605 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะทำสัญญาเช่ากับ รฟท.

ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องและรักษาประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่กรุงเทพมหานครไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 และตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ซึ่งทราบว่า กทม.มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ด้วยเหตุนี้ สร.รฟท. จึงขอเรียกร้องให้ กทม. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อความเป็นธรรมกับ รฟท.ดังนี้

1.ขอให้ กทม. เร่งรัดการชำระค่าใช้ประโยชน์จากการรับมอบที่ดินตลาดนัดจตุจักรจาก รฟท. แล้วนำไปให้บุคคลอื่นเช่าทำประโยชน์ โดย กทม. ได้รับค่าเช่าตอบแทนมาแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร และคำพิพากษาศาล

2.ขอให้ กทม. ถอนการอุทธรณ์คดีจากศาลแพ่งและดำเนินการร่วมกับ รฟท. ในการเจรจาแก้ไขปัญหาด้วยหลักธรรมาภิบาล ให้ได้ข้อยุติร่วมกันบนพื้นฐานตามระเบียบ ข้อกฎหมาย รวมทั้งภาระข้อผูกพันต่างๆ ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสาธารณะชนต่างทราบทั่วกันว่า กทม.ได้เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรจริงและเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าจริง แต่กลับไม่นำเงินที่ได้นั้นไปชำระค่าใช้ประโยชน์จากที่ดินให้แก่ รฟท.การอุทธรณ์คดีถือเป็นการแสดงเจตนาในการประวิงเวลา และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกัน

นายสราวุธ ยังกว่าอีกว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 40 (4) ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ จากกรณีดังกล่าว สร.รฟท. เห็นว่า รฟท.ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 (2) จัดดำเนินกิจการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งทางรถไฟ และธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แห่งกิจการรถไฟ ประกอบกับมาตรา 9 (2) ให้ รฟท. มีอำนาจในการกระทำการ ซื้อจัดหา เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง อาศัย ให้อาศัย จำหน่าย แลกเปลี่ยน และดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ และมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลในการดำเนินกิจการให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนและความปลอดภัย ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยภายในตลาดนัดจตุจักร และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการในตลาดนัดจตุจักร เป็นการดำเนินการร่วมกัน ระหว่าง รฟท.และ กทม. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และมีหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อกฎหมาย รวมทั้งภาระข้อผูกพันต่างๆที่มีขึ้นตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561

ด้วยสถานการณ์ด้านการเงินและงบประมาณของ รฟท. ในปัจจุบันมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมกว่า 288,600 ล้านบาท เนื่องจากการให้บริการสาธารณูปโภคที่ต่ำกว่าต้นทุนเพื่อให้ประชาชนได้เดินทางโดยรถไฟในราคาถูก ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการเดินขบวนรถ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายพนักงาน การปรับปรุงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆของพนักงานและครอบครัว ซึ่งรายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อสภาพคล่องทางการเงิน และ รฟท. นำที่ดินที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเดินรถ (Non-Core) ไปบริหารจัดการเชิงพานิชย์เพื่อหารายได้เข้ามาเสริมสภาพคล่อง ในการปรับปรุงการให้บริการ และหากรายได้ไม่เพียงพอจำเป็นต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี ขอกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องโดยจะต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น จากกรณีที่ กทม.ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงฯ ในการรับมอบที่ดินตลาดนัดจตุจักรจาก รฟท.แล้วนำไปให้บุคคลอื่นเช่าทำประโยชน์โดย กทม.ได้รับค่าเช่าเป็นค่าตอบแทน แต่กลับไม่จ่ายค่าใช้ประโยชน์ให้ทำให้มีผลกระทบโดยตรงกับ รฟท.เกี่ยวกับสถานะด้านการเงิน กระทบต่อการให้บริการต่อประชาชน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อ รฟท.และประชาชนทั้งประเทศ

ส่วนนายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษา และอดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนที่มีการมอบให้ทางกทม.ใช้สิทธิประโยชน์ในสวนจตุจักรนั้น ตนอยู่ในตำแหน่งของประธานสหภาพแรงงานฯ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตอนนั้นคือพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ว่าจะต้องมีการจ่ายรายได้ให้กับทางรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่น้อยกว่าเดิมคือประมาณปีละ 261 ล้านบาท หลังจากที่มีการต่อรองเจรจากันทางสรุปว่ากทม.จะจ่ายให้กับการรถไฟปีละ 169 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่การรถไฟบริหารได้เองด้วยซ้ำไป แต่ด้วยเราก็เห็นว่าเป็นหน่วยงานรัฐเหมือนกัน และกทม.ก็เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรและให้บริการกับประชาชนเช่นเดียวกัน การที่มาวันนี้หากว่าทางกทม.ยังไม่มีการดำเนินการ ทางสหภาพฯก็จะเสนอให้ทางการรถไฟนำสวนจติจักร์มาบริหารเอง เพราะการรถไฟก็มีบริษัทลูกที่ชื่อว่า บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เป็นบริษัททรัพย์สินของการรถไฟ หากกทม.ยังบริหารแบบนี้ ทางการรถไฟควรนำมาบริหารเองซึ่งมีรายได้ถึง 261 ล้านบาท และให้กทม.บริหารแล้วจ่ายให้การรถไฟเพียง 169 ล้านบาทยังไม่จ่ายอีก หากการรถไฟมาบริหารเองเพื่อสร้างรายได้ให้กับการรถไฟเพื่อการบริการประชาชนต่อไป

ด้านนายสุธน สุวรรณภานนท์ ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักรผู้รับหนังสือแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า ได้มีการประสานงานกับทางการรถๆฟอย่างต่อเนื่องเรื่องตั้งแต่เริ่มสัญญา เดือนธันวาคม 2561 จนหมดสัญญาปี 2571 เป็นเวลา 10 ปี ด้วยช่วงปี 2562-2565 เรามีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วยช่วงระบาดแรกๆได้มีการให้หยุดค้าขายในตลาดจติจักรเป็นเวลา 6 เดือน และสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การค้าขายเป็นช่วงเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งช่วงโควิด-19 และได้มีการลดค่าเช่าให้กับผู้ค้า ซึ่งมีการเจรจากับทางการรถไฟตลอด เพื่อขอผ่อนผัน และการลดค้าเช่า โดยทางการรถไฟได้ขอรายละเอียดซึ่งกำลังมีการจัดทำรายละเอียดว่าช่วงเวลาการลดค่าเช่า หรือการผ่อนผันนั้นช่วงใดบ้าง และทางกทม.ได้เก็บค่าเช่ามาเพื่อส่งให้ทางการรถไฟ ซึ่งทางกทม.พร้อมที่จะจ่าย แต่ว่าช่วงนี้ยังมีการเจรจาประนอมหนี้กันอยู่ ว่าจะผ่อนชำระกันอย่างไรระหว่างกทม. กับทางการรถไฟ