สรส.ต้าน CPTPP ทำไทยเสียเปรียบทั้งยาและพันธุ์พืช

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เสนอรัฐให้ยกเลิก CPTPP หวั่นยาราคาแพง กระทบระบบสุขภาพ- เกษตรกรรมต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทย

วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ยื่นหนังสือ เรื่อง  ขอให้รัฐบาลยกเลิกการพิจารณาให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทาง เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทางนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ตามที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ กนศ. ได้มีมติเมื่อวันที 13 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปทำการศึกษาและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของประเทศไทยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาและการระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ แต่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้ถอนการเสนอเรื่อง CPTPP เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม. แล้ว โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เหตุผลว่าเมื่อยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ จึงได้ถอนเรื่องออกไปก่อน

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในฐานะองค์กรด้านแรงงาน ที่มีองค์กรสมาชิกประกอบด้วยสหภาพแรงงานภาครัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงานภาคเอกชน รวม 44 แห่ง มีสมาชิกรวมกันมากกว่า 1.6 แสนคน มีความเห็นว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น จึงขอกราบเรียนมายังท่าน เพื่อแสดงความเห็นคัดค้าน การที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP โดยมีเหตุผลประกอบ ดังนี้

ประเด็นของความมั่นคงทางยา

1. ประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยา เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบการผลิตยาของไทยส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP แทบทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกัน บรรษัทยาข้ามชาติจะเข้ามาแข่งขันกับบริษัทยาชื่อสามัญ เช่นองค์การเภสัชกรรม รวมถึงบริษัทยาชื่อสามัญอื่น ๆ ในประเทศ ประเทศไทยต้องเปิดตลาดให้อุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงระเบียบและกฎกระทรวงของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศ ย่อมไม่สามารถทำได้ เป็นอุปสรรคของการพึ่งพาตัวเองในการคิดค้นและผลิตยาเองภายในประเทศ แม้จะเปิดตลาดเสรี แต่ด้วยขีดความสามารถที่จำกัดทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยี จะทำให้การแข่งขันที่คาดว่าจะใช้กลไกตลาดสร้างการค้าที่เป็นธรรมกลับกลายเป็นเครื่องมือของบรรษัทข้ามชาติใช้สร้างตลาดผูกขาดในอุตสาหกรรมยา ยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิมในที่สุดคนไทยต้องซื้อยาในราคาที่แพงขึ้น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะล่มสลาย เพราะต้นทุนค่ายาที่แพงขึ้น

2. เนื้อหาของข้อตกลง CPTPP มีเนื้อหาอีกหลายส่วนที่ส่งผลต่อการเข้าถึงยา การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ และส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุขในด้านอื่นอีก เช่น

2.1 การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) ทำให้การผลิตและจำหน่ายยาชื่อสามัญจะยากขึ้น เพราะไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ จนกว่าจะหมดสิทธิบัตร

2.2 ข้อผูกมัดในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา บทที่ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน ทำให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้

2.3 การเป็นสมาชิก CPTPP ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้การบังคับใช้สิทธิ์เพื่อผลิตหรือนำเข้ายา หรือมาตรการ CL (Compulsory Licensing) ในกรณีที่บังคับใช้โดยรัฐไม่แสวงหากำไร (Public non-Commercial Use) ได้ เช่น องค์การเภสัชกรรม จะไม่สามารถผลิตยารักษาโรคเอดส์ ยารักษาโรคหัวใจหรือยารักษาโรคอื่น ๆ ตามมาตรการ CL ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามบทคุ้มครองการลงทุน เป็นต้น

3. กรณีการเกิดวิกฤตโรคระบาดของประเทศ เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้รัฐจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลไกกำกับดูแลระบบสาธารณะสุข ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อสร้างความมั่งคงทางสาธารณสุขให้บริการประชาชนได้เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ แต่เงื่อนไขของความตกลง CPTPP จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อรัฐที่จะเข้าดำเนินการภายใต้สถานการณ์วิกฤต

4. การเป็นสมาชิก CPTPP ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถผลิตยากำพร้า (Orphan Drug) ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่จำเป็นต้องใช้รักษาโรคที่พบได้น้อย แต่มีปัญหาขาดแคลน ทำให้คนไข้ต้องใช้ยาอื่นที่มีราคาแพงกว่า

ประเด็นในเรื่องพันธุ์พืชในอุตสาหกรรมเกษตร

5. อุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทยจะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทย หลังการเปิดเสรีด้านการค้า

6. CPTPP มีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991 หรือ (International Convention for Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้ว จะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น

การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้ประเทศไทยได้ตลาดการค้ากับประเทศ เม็กซิโก และแคนาดา เท่านั้น เพราะอีก 9 ประเทศสมาชิกที่เหลือนั้น ประเทศไทยมีข้อตกลงการการค้าเสรี FTA แล้วทั้งหมด แต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลับทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียประเด็นสำคัญ 6 ประเด็นข้างต้น ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงทางยาของประชาชน และการประกอบอาชีพของเกษตรกรซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบของประเทศไทย มีจะทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและบางสินค้าการเกษตร ต้องเผชิญกับสินค้าจากต่างประเทศมาตีตลาดแข่งขัน ดังที่กล่าวข้างต้น

ด้วยเหตุนี้ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการพิจารณาให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP โดยขอให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนแนวทางการวางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศลดการพึ่งพาต่างประเทศตามกรอบคิดระบบทุนเสรีนิยม หันมาพัฒนาประเทศบนหลักการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน พึ่งพาตนเองบนหลักการของผลประโยชน์ ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ