สมาคมฯ อบจ. ย้ำชัด ไม่ทิ้งสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า พร้อมชวน อบต.เทศบาล ผลักดันร่วม

สมาคมฯ อบจ. ย้ำชัด ไม่ทิ้งสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า พร้อมชวน อบต.เทศบาล ผลักดันร่วม ด้านกมธ.สวัสดิการสังคม ยืนยัน สนับสนุนรัฐสวัสดิการ ในขณะที่ P-Move เตรียมเคลื่อนหากรัฐบาลไม่เดินหน้า

วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคเหนือ) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อถอดบทเรียนการทำงานขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ณ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ในช่วงเช้า เป็นการเสวนาในหัวข้อ ” พลวัตสังคมการเมือง เส้นทางการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก ถ้วนหน้า (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) ” โดย ผศ.สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ ได้นำเสนอรายละเอียดการขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วยหน้าฯ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเครือข่ายจาก 30 เพิ่มเป็นเกือบ 500 เครือข่ายในวันนี้ ซึ่งสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้านั้นเพื่อเด็กทุกคนได้สวัสดิการที่เท่าเทียมกันตั้งแต่ 0- 6 ปี และก่อนการเลือกตั้งเมื่อ พฤษภาคม 2566 พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และความคืบหน้าที่เห็นได้ชัดคือ มติจากคณะทำงานฯ ที่ตั้งโดยข้อเสนอจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ที่มีมติเงินสนับสนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวยังไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

นักวิชาการ ชี้ชัด ช่วงวัยเด็ก 0-5 ปี สำคัญในการพัฒนาเด็ก เรียกร้องรัฐบาลระบุเป็นนโยบาย
ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลของการทำงานวิจัย และลงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กในพื้นที่ว่า จากการเก็บข้อมูลเด็ก พบว่าข้อมูลการเกิดของเด็กลดลง จากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น โควิดและสถานการณ์อื่นๆ ซึ่งรัฐบาลอาจจะมองว่าดีเพราะงบประมาณในการดูแลเด็กลดลง

ทั้งนี้ในงานวิจัยได้นำเสนออย่างมีนัยสำคัญว่า ช่วงการพัฒนาการของเด็กที่สำคัญคือ ช่วงอายุระหว่าง 0-5 ขวบ หากเด็กได้รับการพัฒนาดีประเทศไทยจะได้แรงพัฒนากำลังการผลิตของประเทศที่มีคุณภาพ ในขณะที่นโยบายของรัฐยังไม่มีความชัดเจนกับเด็กกลุ่มนี้ ดังนั้นนโยบายระดับชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อถ่ายทอดลงมายังพื้นที่ ทั้งศูนย์พัฒนาการเด็กเล็ก ครู และงบประมาณที่เพียงพอ ซึ่งยังหาได้ยากในประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งคือในโรงเรียน ครูเป็นกลไกสำคัญที่ยังขาดงบประมาณสนับสนุน การเพิ่มพูนความรู้ให้ครู เพื่อให้ครูมีความรู้แต่งบประมาณในส่วนนี้ก็ยังไม่พอ รวมไปถึงอาหาร ของเล่นเสริมพัฒนาการ นอกจากนี้ผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือกับโรงเรียนด้วยในการเสริมพัฒนาการเด็ก ที่สำคัญ ท้องถิ่นต้องเข้าใจ เพราะมีพลังในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ในพื้นที่

กมธ.สวัสดิการสังคม ยืนยันต้องผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
สมดุลย์ อุตเจริญ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต 7 กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพราะสวัสดิการถ้วนหน้าคือการได้ทุกคนและพยายามผลักดัน

อย่างไรก็ตาม กมธ.สมดุลได้ย้ำว่าในการประชุมกมธ.ครั้งต่อไป จะบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระในการประชุม และมีแนวโน้มจะตั้งคณะกรรมาธิการสวัสดิการเด็ก อย่างไรก็ตามกมธ.ชุดนี้มีความหลากหลายมาก แต่การพัฒนาเด็กเป็นการลงทุนที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้การที่จะพัฒนาเด็กอาจจะต้องใช้นโยบายการกระจากอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ทั่วถึง

กมธ.สมดุลย์ เล่าถึง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่รับเลี้ยงเด็กทุกคน ไม่สนใจว่าเป็นเด็กสัญชาติใด ซึ่งจะได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอเป็นตัวอย่างในการประชุมคณะกรรมาธิการ

P-Move เปิดกลวิธีกดดันรัฐตั้งคณะทำงาน ผลักดันข้อเสนอรัฐสวัสดิการ

อาหล่อง เฌอมือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) กล่าวถึงการต่อสู้ขับเคลื่อนของขบวนการประชาชนในภาคเหนือ โดยเน้นเรื่องที่ดิน จนมาเป็น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ในปี 2554 ที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน สัญชาติ และเมื่อปี 2563 มีข้อเสนอ 10 ข้อ ซึ่ง 1 ใน 10 ข้อเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการ โดยในการผลักดันข้อเสนอของ P-Move แต่ละครั้งจะต้องผ่านการชุมนุมเพื่อให้ได้เจรจายื่นข้อเสนอ โดยขอให้รัฐบาลมีมติครม.ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาแต่ละเรื่อง ผ่านการตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อหารือในปัญหา โดยหนึ่งในมติที่สามารถได้ข้อสรุป คือ สวัสดิการสังคม

3 สมาคม พูดชัด ต้องสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 

สิริวรรณ บูรณสิงห์ ผู้อำนวยการ สำนักการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงใหม่/สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สนับสนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพราะเราทำงานให้ประชาชน

ปัจจุบันเราไม่ได้มีแต่ อบจ. มีทั้ง อบต.และเทศบาล คิดว่าจะสามารถผลักดันประเด็นนี้ได้และเชื่อว่ารัฐบาลต้องสนับสนุน อย่างไรก็ตามปัญหาในประเทศยังมีเยอะมาก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้รัฐบาลมีการแบ่งสัดส่วนของงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาซึ่งอาจจะมีปัญหาเร่งด่วนกว่า ทั้งนี้เครือข่ายฯ ต้องมีข้อมูลเพื่อชี้ให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของเรื่องเงินสนับสนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

ในส่วนของ อบจ.เชียงใหม่ เราจะให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่ อบจ.สามารถตั้งโรงเรียนได้ มีแนวโน้มที่จะตั้งสมาคมครูเด็กเล็กเพื่อพัฒนาครูผู้สอนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเป็นพลังในการต่อรอง

ปัจจุบันอบจ.รับถ่ายโอนมา 4 โรงเรียน หลักการศึกษาของอบจ.คือจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังดังนั้น อบจ.จะเน้นเด็กในพื้นที่ก่อน ทั้งนี้ อบจ.เชียงใหม่จะสำรวจข้อมูลจำนวนเด็กเล็กเพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ด้วย