ท้องถิ่นประสานเสียง ไม่มีอำนาจ ไร้ระเบียบจ่ายเงินเด็ก 600 บาท พร้อมหนุนเงินเด็กเล็กถ้วนหน้า

ท้องถิ่นประสานเสียง กระจายอำนาจที่ไม่มีอำนาจ ไร้ระเบียบจ่ายเงินเด็ก 600 บาท ด้านคณะก้าวหน้า พูดชัด รัฐลงทุนกับเด็กไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ด้านคณะกรรมการกระจายอำนาจ ย้ำ ทำทุกอย่างตามความต้องการของประชาชน

ผู้แทนสมาคม อบต. อบจ. เทศบาล ประสานเสียง การกระจายอำนาจขณะนี้ เป็นการกระจายอำนาจที่ไม่ให้อำนาจ เงิน และคน หลายอย่างยังติดขัดแม้รถรับส่งนักเรียน ยังทำไม่ได้ ด้านมูลนิธิก้าวหน้า เปิดข้อมูล รัฐไทยลงทุนกับเด็กไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คณะกรรมการกระจายอำนาจ ระบุ ร่างกฎหมายกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3 ใกล้แล้วเสร็จ ย้ำทำทุกอย่างตามความต้องการของประชาชน หากติดขัดระเบียบขอให้ส่งข้อเสนอมา

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 450 องค์กร ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เด็กเท่ากัน ก้าวสู่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ณ หอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยในช่วงบ่ายเป็น เรื่อง “กระจายอำนาจกับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” โดยวิทยากรจากสมาคมอบต. อบจ.และสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย

นายกสมาคม อบต. พูดชัด รัฐบาลไม่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง ปัญหาทุกอย่างแก้ไม่ได้

รศ.ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นหัวใจหลักของท้องถิ่น แต่ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจที่ไม่เป็นธรรม อย่างเช่นศูนย์เด็กเล็กที่ยังเป็นปัญหาอยู่ รวมไปถึงเงินค่าหัวอาหารเด็กต่อคนที่ 20 บาท หรือเงินสนับสนุนเด็กเล็ก 600 บาทต่อเดือน ประเทศไทยต้องพร้อมที่จะให้งบประมาณกับเด็ก อบต.ทั่วประเทศมีความพร้อมในการดูแลเด็ก หากรัฐมีงบประมาณให้

“ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญของเด็ก เยาวชน รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณมากกว่านี้”

ดร.วิระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมอง อบต.เป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศและไม่ให้ความสำคัญในการกระจายอำนาจที่แท้จริง หากอยากได้อะไรต้องเรียกร้อง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลสนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเด็กจะไม่เกิดขึ้น ในขณะที่กฎหมายกระจายอำนาจ ยังมีปัญหาในแง่บังคับใช้และการปฏิบัติ เรื่อง คน งาน เงิน ต้องไปพร้อมกัน

เสนอ อบจ.จับมือ อบต.ทั่วประเทศ ร่วมเรียกร้องนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

ด้านสมบัติ ชูเถื่อน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสาธารณสุข สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจาก อบจ. 77 จังหวัดทั่วประเทศ และ อบต 7,000 กว่าแห่ง หากทั้งสององค์กรเรียกร้องไปยังรัฐบาล รัฐบาลจะต้องดำเนินการนโยบายนี้แน่นอน รวมถึงภาคีเครือข่ายจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการเพิ่มประชากร ทั้งนี้หน้าที่ในการดูแล เด็ก สตรี คนชรา เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ อบจ. โดยเราดูแลตั้งแต่แม่ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งระบุไว้ในกฎหมาอยู่แล้วที่ท้องถิ่นจะต้องดำเนินการอย่างไรในการดูแลแม่และเด็ก

อย่างไรก็ตาม ในการที่ท้องถิ่นจะดำเนินการในบางเรื่องยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการกระจายอำนาจที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งต้องพิจารณาด้วยว่าท้องถิ่นมีอำนาจหรือไม่ เพราะส่วนท้องถิ่นก็ยังถูกควบคุมถูกตรวจสอบจากกฎระเบียบส่วนกลางอยู่

“เช่น หากอบจ.จะจ่ายเงินสนับสนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท ต้องมีระเบียบ หรือกฎหมายสนับสนุน”

ด้านสันนิบาตเทศบาล พร้อมสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า หากรัฐบาลไฟเขียว

ในขณะที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ธานินทร์ ริ้วธงชัย รองเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมสันนิตบาตมีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องเด็กโดยเฉพาะ จะมีเวทีพูดคุย รับฟังการทำงานเกี่ยวกับเด็ก เช่นรถรับส่งเด็กนักเรียน ในการรับส่งเด็ก ซึ่งถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเตือนว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ท้องถิ่นจึงต้องใช้วิธีอื่นเพื่อให้ทำงานได้ นอกจากนี้ ตามกฎหมายกระจายอำนาจระบุให้รายได้ท้องถิ่น 35 เปอร์เซ็นต์ แต่พอหลายปีผ่านมา การปฏิบัติก็ผิดเพี้ยนไปจากเดิม รัฐบาลงบประมาณลดลงท้องถิ่นก็ได้รับงบฯ ลดน้อยลงไปด้วย

“เรื่องเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในหัวใจอยู่แล้ว เท่าไหร่ก็ต้องลงทุน แต่ยังติดขัดเรื่องกฎระเบียบซึ่งตอนนี้ก็มีการพูดกันในฝ่ายนิติบัญญัติบ้างแล้วว่า กระจายอำนาจกระจายงานแล้วต้องกระจายเงินด้วย”

กทม.ยังมีเด็กตกหล่นกว่า 6,000 คน ที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

ภาสุรี เอี่ยมทิม ผู้อำนวยการส่วนกิจการผู้สูงอายุและคนพิการ สำนักงานสวัสดิการสังคม สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย เพื่อเด็กที่โตไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในกรุงเทพมหานคร ในกทม.มีเด็กแรกเกิดที่ขอรับการสนับสนุนเด็กเพียง 308 คน ยังมีเด็กตกหล่น 6,000 กว่าคน กทม.จึงประสานสำนักการแพทย์กทม.ให้แม่ที่มาคลอดลูกลงทะเบียน และประชาสัมพันธ์ไปยังทุกสำนักงานเขต เพื่อติดตามเด็กตกหล่น นอกจากนี้กทม.ยังดำเนินการศูนย์เด็กเล็ก ตั้งแต่เด็กแรกเกิดในโรงพยาบาล 8 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน และโรงเรียนอนุบาล รวมไปถึงการจัดเตรียมดูแลเด็กในชุมชนที่อยู่กับปู่ย่า ตายาย

ส่วนประเด็นที่ว่าเด็กข้ามชาติ เด็กไร้สัญชาติที่อยู่ในกทม.นั้น ส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะนำเรียนผู้บริหารเพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป ให้เด็กในกทม.ทุกคนได้เข้าสู่ระบบการศึกษา

คณะก้าวหน้า พูดชัด ไทยต้องลงทุนในเด็กไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า กล่าวว่า รัฐไทยลงทุนกับเด็กประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้าน = 0.25 ของ GDP เทียบเท่ากับ1.2% ในประเทศพัฒนา เช่นประเทศฟินแลนด์ หรือสวีเดน หากเทียบกับสัดส่วนของ UNICEF ที่กำหนดให้การลงทุนในเด็กขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศ หมายความว่าประเทศไทยต้องลงทุนกับเด็กเพิ่มขึ้นอีก 0.75 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลข 0.25 เปอร์เซ็นต์ บ่งชี้ว่า ประเทศไทยลงทุนกับเด็กน้อยมาก ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการยิ่งเด็กเกิดน้อยลง ประเทศจะยิ่งลงทุนกับเด็กลดลงเรื่อยๆ จากข้อมูลของ TDRI ระบุว่าในปี 2572 ไทยจะลงทุนในเด็กเหลือเพียง 0.10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้การพัฒนาเด็กไม่เต็มเม็ดเต็มหน่อย

“ธนาคารโลกเคยทำวิจัยที่ประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่า หากลงทุนในเด็กประมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์ เราจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมได้อีก 0.4 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP นั่นหมายความว่าเมื่อเราพูดถึงเรื่องเด็กเล็ก จะไม่ใช่แค่เรื่องเด็กเล็ก แต่เป็นการส่งผลในภาพรวมของ GDP ประเทศ การดูแลเด็กเล็กคือการดูแลครอบครัวของเด็ก และคนเหล่านี้จะเป็นผู้สร้างกิจกรรมให้กับประเทศนี้”

ผู้อำนวยการมูลนิธิก้าวหน้า กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น บ่งบอกว่าประเทศไทยยังลงทุนในเด็กเล็กไม่เพียงพอ หากจะนำไปสู่ข้อเสนอ 3,000 บาท ต้องกลับไปพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น

นอกจากนี้ในส่วนของขวัญ Baby Box ในการดูแลตั้งแต่แม่ตั้งท้อง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้แม่ไปฝากครรภ์ และท้องถิ่นจะรู้ว่าแม่ต้องการอะไร และอะไรควรอยู่ใน Baby Box ส่วนศูนย์เด็กเล็กควรจะดำเนินการให้สอดคล้องกับการลาคลอด และควรใช้บุคลากรของ รพสต.มาดูแลเด็กเล็ก เพราะในการดูแลเด็กเล็กจะเป็นเรื่องของสาธารสุขมากกว่าการศึกษา การขยายเวลาเปิด-ปิด ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นจะสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ผอ.มูลนิธิก้าวหน้า กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถทำได้ทุกพื้นที่หรือไม่ ซึ่งท้องถิ่นที่สามารถทำได้และดำเนินการไปแล้ว คือผู้บริหารท้องถิ่นกล้าที่จะทำ หรือท้องถิ่นนั้นมีศูนย์เด็กเล็กอยู่แล้ว และดำเนินการเพิ่มขึ้น ซึ่งท้องถิ่นเหล่านี้จะมีรายได้เป็นของตนเอง แต่ในท้องถิ่นเล็กๆ ที่ยังไม่มีเงิน จะต้องกลับไปที่ภาครัฐส่วนกลางเรื่องเงินลงทุนที่ไม่พอ และต้องลงทุนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตอนกลางคืน ซึ่งทำได้ดำเนินการโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ในท้องถิ่นเองไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบต่าง ๆ อุปสรรคใหญ่คือการตรวจสอบและกฎ ระเบียบต่างๆ

ร่างแผนกระจายอำนาจ ฉบับ 3 ใกล้คลอด ย้ำกระจายอำนาจเพื่อประชาชน

ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล ผู้แทนคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า รัฐบาลควรที่จะรับฟังความเห็นต่างและยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการกระจายออำนาจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแผนกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3 ซึ่งกฎหมายกระจายอำนาจจะต้องทบทวนทุก 5 ปี และแผนกระจายอำนาจ ฉบับที่ 2 มีการพูดเรื่องการโอนภารกิจของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งขณะนี้แผนฯ ฉบับที่ 3 มีเรื่องของการโอนภารกิจศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วย

“คณะทำงานกระจายอำนาจ ใช้ความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง เป็นสารตั้งต้นในการจัดทำนโยบาย”

ทั้งนี้ ผู้แทนคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ กล่าวอีกด้วยว่า แน่นอนว่า การดำเนินการตามกฎหมายกระจายอำนาจยังอยู่ในระบอบราชการ และอาจจะติดขัดปัญหาหลายอย่างที่ทำไม่ได้ และหากท้องถิ่นใด ยังติดขัดปัญหาเหล่านี้ สามารถส่งข้อเสนอไปที่คณะกรรมการกระจายอำนาจได้ ซึ่งการทบทวนร่างกฎหมายกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3 ใกล้จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะนำเสนอครม.และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

สำหรับร่างกฎหมายกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3 มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็ก 2 ประเด็นคือ การถ่ายโอนเรื่องการสนับสนุนเงินเด็กเล็ก 600 บาท และเรื่องสภาเด็กและเยาวชนให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล

////////////////////////////////////