คสรท.และสรส.เข้าทำเนียบตามข้อเสนอ ร้องเพิ่มเงินว่างงานจาก62%เป็น 75% และแก้ปัญหานายจ้างเลิกจ้างคนท้อง

คสรท.และสรส.เข้าทำเนียบตาม 9 ข้อเสนอ ร้องเพิ่มเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจาก62%เป็น 75% พร้อมขอแก้ปัญหานายจ้างเลิกจ้างคนท้อง

วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) นำโดย นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคสรท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. ได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาลพบ โดย รัฐมนตรีประจำสำนักนายก นายเทวัญ ลิปตพัลลภเป็นผู้แทนในการรับเรื่อง ติดตามความคืบหน้าข้อเรียกร้องให้รัฐเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยื่นไว้ 9 ข้อ พร้อมยื่นหนังสือเพื่อสนับสนุนให้รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย จาก 62% เพิ่มเป็น 75% ของค่าจ้าง และประเด็นเร่งด่วนให้รัฐดำเนินการ กรณีนายจ้างฉวยโอกาสในช่วงโควิด ใช้เหตุสุดวิสัย ปลดออกเลิกจ้างคนงานหญิงตั้งครรภ์อีกด้วย

ทั้งนี้ข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เรื่องขอให้เร่งช่วยเหลือเยี่ยวยาลูกจ้างซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลกรณีเร่งด่วน โดยมีข้อเสนอมีดังนี้

  1. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานใช้อำนาจตามมาตรา36 แห่ง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน และลูกจ้างนัดหยุดงานทั่วราชอาณาจักร กรณีที่มีการปิดงาน หรือนัดหยุดงานอยู่ก่อน ขอให้สั่งให้นายจ้างที่ปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ โดยเร็วในทันที
  2. ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน ซึ่งรัฐบาลยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง กล่าวคือ เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2561 รัฐบาลยังไม่ได้นำเงินเงินสมทบจำนวน 95,989,000.000 ล้านบาท (ปัจจุบันอาจมีจำนวนมากกว่านี้) โดยรัฐบาลจะต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนตามที่กฎหมายกำหนด และรัฐบาลต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ส่วนของรัฐให้เท่ากันกับนายจ้าง และลูกจ้าง จำนวนร้อยละ 5
  3. กรณีที่ผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ยังไม่ครบตามระยะเวลาที่ประกันสังคมกำหนด ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท เป็นระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  4. กรณีนายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้จ่ายค่าจ้าง 75 % ของค่าจ้าง ก่อนถูกปิดงาน หรือไม่สามารถทำงานได้
  5. ขอให้รัฐบาลลดค่าน้ำ ค่าไฟ คนละ 1,000 บาท ให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ และให้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะพ้นวิกฤตโรคโควิด-19
  6. ขอให้สถาบันการเงิน พักชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ย กรณีที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ตลอดระยะเวลาจนกว่าจะพ้นวิกฤตโรคโควิด-19
  7. ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเช่าบ้านผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม และประชาชนทั่วไปรายละ 2,000 บาทต่อเดือน
  8. ขอให้รัฐบาลระงับการนำเงินกองทุนชราภาพไปจ่ายชดเชยกองทุนประกันการว่างงาน กรณีกองทุนประกันว่างงานหมดลง โดยรัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรา 24 ซึ่งเงินกองทุนดังกล่าวมี วัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงในชีวิตของคนงาน
  9. ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19