คสรท.และสรส.ยื่นUN เสนอวัคซีนโควิด-19สำหรับประชากรโลก

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่หนังสือต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เรื่อง ขอให้องค์การสหประชาชาติกำหนดมาตรการให้ประชากรโลกเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยมีข้อเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติประสานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพร้อมเป็นกลไกหลักในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้มวลมนุษยชาติเข้าถึงมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 เข้าถึงวัคซีนป้องกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมพร้อมกับยกเลิกระบบสิทธิบัตร ยา และวัคซีนป้องกันโรค ให้ประเทศที่มีความพร้อมสามารถผลิตวัคซีนได้อย่างเสรี สำหรับประเทศไหนที่ไม่มีความพร้อม ฐานะทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ก็ให้องค์การสหประชาชาติ เข้าช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า นับเป็นความเลวร้ายในการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติทั่วทั้งโลกที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่ปลายปี 2019 จนมาถึงปัจจุบัน แต่ละประเทศต่างพยายามที่จะช่วยเหลือประชากรของตนเองเท่าที่สามารถจะทำได้ในสภาวะที่แตกต่างกันไป ในความแตกต่างกันเหล่านี้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และการเมือง เป็นเหตุอันสำคัญที่ทำให้การจัดการเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเสียชีวิตเป็นไปได้ยากยิ่งจนเป็นเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการป้องกันที่จำเป็นต้องใช้วัคซีน แต่โอกาสการเข้าถึงวัคซีนเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีความเหลื่อมล้ำเพราะความแตกต่างดังที่กล่าวมา การผลิตวัคซีนจึงตกอยู่ในมือภายใต้สิทธิบัตรของบริษัทเอกชนเพียงไม่กี่ราย และรัฐบาลเพียงไม่กี่ประเทศ การทำกำไรจากวัคซีนในราคาที่แพงและยากต่อการเข้าถึงเป็นสาเหตุสำคัญต่อการแพร่ระบาดและการเสียชีวิตของประชากรโลก จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาความตายของประชากรโลกไปทำการค้าและหากำไร

องค์การสหประชาชาติมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อ “ระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศคู่กรณีด้วยสันติวิธี เป็นแกนกลางในการนำสันติภาพอันถาวรมาสู่โลก เป็นศูนย์กลางความร่วมมือช่วยเหลือระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพ” โดยมีหลักการสำคัญที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้ว่า “โรคโควิด-19 กำลังเป็นภัยคุกคามมวลมนุษยชาติ ฉะนั้นพวกเราทุกคนต้องร่วมกันต่อสู้กับภัยครั้งนี้ การรับมือของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพังนั้นไม่เพียงพอ เราต้องให้ความช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอและเปราะบางที่สุด ซึ่งมีมากมายหลายล้านคนที่ไม่อาจปกป้องตนเองได้ นี่เป็นเรื่องมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานและเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับไวรัส และนี่คือเวลาที่เราต้องยื่นมือไปช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง” ซึ่งเป็นคำประกาศในหลักการสำคัญ น่าชื่นชมจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นจริง

เมื่อเป็นดังนี้ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ซึ่งเป็นองค์การของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยมีจำนวนสมาชิกกว่า 400,000 คนจึงขอเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติประสานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพร้อมเป็นกลไกหลักในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้มวลมนุษยชาติเข้าถึงมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 เข้าถึงวัคซีนป้องกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมพร้อมกับยกเลิกระบบสิทธิบัตร ยา และวัคซีนป้องกันโรค ให้ประเทศที่มีความพร้อมสามารถผลิตวัคซีนได้อย่างเสรี สำหรับประเทศไหนที่ไม่มีความพร้อม ฐานะทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ก็ให้องค์การสหประชาชาติ เข้าช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการพิจารณาไปดำเนินการ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน