คนรถไฟต้านลงนามรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ติงรัฐต้องรอบคอบ

คนรถไฟ และเครือข่ายร่วมค้านการลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูง แนะต้องรอบคอบ

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ร่วมกับเครื่อข่ายภาคประชาชน เครือข่ายแรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง จะลงนามในสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. และประธานสร.รฟท. ได้แถลงว่า เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน“ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท เป็นโครงการสืบเนื่องจากรัฐบาล คสช.จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน หรือ PPP (Net cost) และผู้ที่ชนะการประมูลโครงการคือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH)ซึ่งโครงการดังกล่าวรัฐร่วมลงทุนประมาณ 149,650 ล้านบาท หลังจากได้ผู้ชนะการประมูลโครงการแล้ว ตามระยะเวลาจะมีการลงนามกันประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมิได้ลงนามทำสัญญากัน อันเนื่องมาจากผู้ชนะการประมูลสร้างเงื่อนไขในการเจรจานอกกรอบ TOR จำนวน 12 ข้อ แม้จะมีข่าวว่าคณะอนุกรรมการเจรจาที่ตั้งขึ้นมาจะไม่รับข้อเสนอและเจรจาในประเด็นเงื่อนไข 12 ข้อ แต่ก็ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการให้แก่สาธารณชนได้รับทราบ เพราะเงื่อนไขทั้ง 12 ข้อ ที่กล่าวมาเป็นสาระสำคัญที่ทำให้รัฐ และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะเสียเปรียบ และเกิดความเสียหายที่จะตามมาในอนาคต

การลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าวถูกเลื่อนเรื่อยมา จนสังคมทั้งแวดวงการเมือง ธุรกิจ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ต่างตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการ และล่าสุดก็มีเรื่องเอกสารแนบท้ายสัญญา ซึ่งสาธารณชนไม่ทราบแม้แต่น้อยว่าสาระที่แท้จริงของเอกสารแนบท้ายสัญญาคืออะไร คำยืนยันที่จะลงนามกันปลายเดือนกันยายน 2562 ถูกเลื่อนไปเป็น 15 ตุลาคม 2562 แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปอีกเหตุเพราะคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด) ลาออกทั้งคณะ และวันที่จะลงนามถูกประกาศอีกครั้งเป็นวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยสิ่งที่เป็นข้อกังวลและห่วงใยหลังจากที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวว่าทางผู้ชนะการประมูลจะลงนามในสัญญาโดยมีเงื่อนไขว่า การรถไฟฯต้องส่งมอบพื้นที่ประมาณร้อยละ 82 ของพื้นที่ทั้งหมดภายในระยะเวลา 15 เดือน(1ปี 3 เดือน) ซึ่งหากดูจาก TOR และกรอบการเจรจาก่อนหน้านี้ การรถไฟฯต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด(100 เปอร์เซ็นต์)ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งก็ถือว่ายากและเสี่ยงแล้ว เพราะในเส้นทางที่จะต้องส่งมอบมีทั้งประชาชนที่อยู่อาศัยถูกต้องและที่ไม่ถูกต้องอยู่เป็นจำนวนมาก มีสัญญาทางธุรกิจระหว่างการรถไฟฯกับเอกชนประมาณ 300 สัญญา รวมทั้งการรื้อย้ายสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ท่อส่งน้ำมัน ท่อก๊าซ และอาจต้องทุบทำลายรื้อย้ายสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง ย้ายแล้วจะย้ายไปจุดไหนต้องเวนคืนที่ดินอีกหรือไม่ หน่วยงานเหล่านั้นได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับหรือไม่

อีกด้านหนึ่งหากเปรียบเทียบโครงการต่างๆที่มีปัญหาก่อนหน้านี้เช่นโครงการโฮปเวลล์ โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ หรือแม้กระทั่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงปัจจุบันล้วนมีปัญหาความล่าช้าและความเสียหายจากการส่งมอบพื้นที่ทั้งนั้น ยังไม่นับรวมถึงพื้นที่ในโครงการที่จะต้องเวนคืนอีกประมาณเกือบ 1,000ไร่ จนถึงขณะนี้