คนทำงานไรเดอร์ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้พิการ ร้องก.แรงงาน หวังกองทุนเงินทดแทนเยียวยา

ครอบครัวไรเดอร์ผู้เสียชีวิตและพิการจากอุบัติเหตุระหว่างขับรถส่งของ  พร้อมเครือข่ายองค์กรแรงงานและภาคประชาสังคมร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมให้ได้รับการเยียวยาจากกองทุนเงินทดแทน 

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่กระทรวงแรงงาน  ครอบครัวไรเดอร์ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในระหว่างการทำงานร่วมกันกับองค์กรเครือข่ายแรงงานและประชาสังคม อันประกอบด้วย สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และกลุ่มไรเดอร์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานเรียกร้องให้กองทุนเงินทดแทนให้การเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตระหว่างการทำงาน

นางผกาวรรณ ห้อยแดง ผู้สูญเสียลูกสาว น.ส. จิราวรรณ คงใหญ่ ชื่อเล่นน้องแพร ไรเดอร์สาวอายุ 20 ปี ซึ่งถูกรถบรรทุกชนบาดเจ็บสาหัสในขณะขับรถจักรยานยนต์ส่งของให้บริษัทไลน์แมนเมื่อวันที่ 14 มิย. 2566 บริเวณถนนบางนาตราด ถูกกู้ภัยนำส่งโรงพยาบาลร่วมใจรักษ์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2566 เวลาประมาณ 2.00 น. ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อให้กองทุนเงินทดแทนเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงาน

“น้องแพร อายุ 20 ปีกำลังมีอนาคต ทำงานช่วยเหลือครอบครัวมีความหวังว่าจะไปเรียนมหาวิทยาลัยแต่มาเสียชีวิต เป็นความสูญเสียของครอบครัวจึงมาขอเรียกร้องความเป็นธรรม” นางผกาวรรณ กล่าว

นาย ภูมิ คงใหญ่ พี่ชายของผู้เสียชีวิต เล่าว่า วันนั้น น้องสาวออกไปทำงานเที่ยวแรกก็ประสบอุบัติเหตุ ของที่ต้องส่งยังอยู่ที่รถ น้องเกิดเหตุจนเสียชีวิตระหว่างการทำงานควรต้องได้รับสิทธิกองทุนเงินทดแทนเหมือนคนทำงานบริษัทคนอื่นๆ ครอบครัวจึงมายื่นหนังสือกับกระทรวงแรงงานวันนี้

“ครอบครัวเรา พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก น้องสาวเติบโตมากับย่า เรียนจบ กศน. เป็นคนขยันและตั้งใจ น้องทำงานร้านขายของแถวสายใต้ แล้วขับไรเดอร์ด้วย น้องรักย่ามาก เป็นคนหลักในการดูแลย่า ทุกวันน้องจะไปดูแล ซื้ออาหารไปให้ เอายาไปให้เพราะตอนนี้ย่าป่วย วันนั้นน้องไปดูย่าตอนกลางคืน รุ่งขึ้นออกไปส่งของเที่ยวแรกก็เกิดอุบัติเหตุ พอย่ารู้เรื่องน้อง กินข้าวไม่ได้ ร้องไห้ทุกวัน”

น.ส. สุภาภรณ์ พันธ์ประสิทธิ์ ตัวแทนกลุ่มไรเดอร์ กล่าวว่า กลุ่มไรเดอร์ได้เข้าไปช่วยเหลือน้องแพร โดยมีการแจ้งข่าวในกลุ่มไรเดอร์ ช่วยกันแจ้งเหตุให้รถพยาบาลนำน้องแพรไปโรงพยาบาล ระดมเงินค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือครอบครัวน้องแพรกันเองในเบื้องต้น และแจ้งบริษัทว่าเกิดอุบัติเหตุ 

“เมื่อไรเดอร์เกิดอุบัติเหตุพิการ เสียชีวิต บริษัทแพลตฟอร์มในประเทศไทย ควรต้องมีมาตรฐานในการรับผิดชอบต่อความสูญเสีย เหมือนคนทำงานบริษัททั่วๆไป ดิฉันเองก็เพิ่งประสบอุบัติเหตุ ขั้นตอนการเบิกจ่ายยุ่งยาก ใช้เวลานาน กรณีน้องแพร จึงเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับความเป็นธรรม เพื่อไรเดอร์ทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดต้องมีการเยียวยาครอบครัวอย่างเป็นธรรม เราจึงมาที่กระทรวงแรงงานในวันนี้  และหากมองระยะยาวประเทศไทยควรมีกฎหมายที่รองรับสถานะการทำงานของกลุ่มไรเดอร์ได้แล้ว  อย่าลืมว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาไรเดอร์คือส่วนสำคัญที่ทำให้เราผ่านจุดวิกฤตนั้นมาได้ การมีระบบคุ้มครองที่เป็นธรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็น” น.ส.สุภาภรณ์ กล่าว

ด้านนายเกษมสันต์ เครือเจริญ ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีภาระกิจในการดูแลและคุ้มครองแรงงาน จึงขอรับเรื่องเพื่อติดตามหากมีความคืบหน้าอย่างไรจะเร่งแจ้งให้ทราบ ต่อประเด็นคนพิการนั้นความต้องการในเรื่องอาชีพทางกระทรวงฯก็จะช่วยดูแลเรื่องโอกาสในการทำงานเรื่องรายได้ก็ต้องมีแม้ว่าเราจะพิการแต่ก็ควรต้องมีโอกาสตรงนี้ด้วย ซึ่งการขอใช้สิทธิ์เงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนกรณีเสียชีวิต บาดเจ็บพิการจากการทำงานนั้น เรื่องการคุ้มครองการทำงานของไรเดอร์นั้นขณะนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพยายามจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอิสระ เพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานกลุ่มไรเดอร์ด้วย ซึ่งขณะนี้คืบหน้าไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว

จากนั้นทางเครือข่าย ได้ส่งตัวแทนเข้าหารือกับทางภาครัฐ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นกองทุนเงินทดแทน ประกันสังคม ถึงความเป็นไปได้ในการที่จะมีการเยียวยาชดเชยให้กับครอบครัวของไรเดอร์ที่สูญเสียลูกสาว รวมถึงผู้ที่บาดเจ็บ พิการจากการปฏิบัติหน้าที่ของไรเดอร์ เพื่อให้เกิดการแก้ไขในทางนโยบายด้านแรงงานไรเดอร์ในอนาคตเนื่องจากไรเดอร์ทำงานอยู่ในความเสี่ยงทุกๆวัน ทุกๆชั่วโมงด้วย

ทั้งนี้ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ได้มีแถลงการณ์ต่อประเด็นดังกล่าวดังนี้ ไรเดอร์คือกลุ่มอาชีพที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับชีวิตของคนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด พวกเขาช่วยรับส่งของ-คน-อาหาร ลดช่องว่างระหว่างผู้บริโภคและการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรตาม สิ่งที่ไรเดอร์ทุกคนกำลังเผชิญในตอนนี้คือสภาวะการทำงานที่เสียงอันตราย เมื่อท้องถนนคือออฟฟิศ อุบัติเหตุในหลายครั้งก็เป็นสิ่งที่ยากจะเลี่ยง

การที่บริษัทแพลตฟอร์มกำหนดสถานะการจ้างงานแต่เพียงฝ่ายเดียวว่า “ไรเดอร์” เป็นเพียงพาร์ทเนอร์ ของบริษัท ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ทั้งๆ ที่บริษัทถือสิทธิขาดในการกำหนดรูปแบบการทำงานของไรเดอร์ให้มีลักษณะเป็นแรงงานอิสระที่ถูกจำกัดอิสระไม่ต่างไปจากลูกจ้างประจำ ส่งผลให้ไรเดอร์ ไม่ได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรมตามหลักเสี่ยงภัยอันเกิดจากการทำงานและบริษัทแพลตฟอร์มไม่ถูกบังคับต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนความเสียหายให้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับการประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยด้วยโรคหรือการเสียชีวิตอันเกิดจากการทำงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดขึ้นตามกฎหมายเงินทดแทนลูกจ้าง แม้ทางบริษัทแพลตฟอร์มจะมีประกันอุบัติเหตุและเงินชดเชยให้กับไรเดอร์ แต่กระบวนการยื่นขอเบิกเงินค่อนข้างซับซ้อน ทั้งยังใช้เวลานาน กระบวนการช่วยเหลือเยียวยาที่ล่าช้าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของไรเดอร์และสะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมเท่าเทียมของระบบ

กรณีที่ไรเดอร์เกิดอุบัติเหตุระหว่างระหว่างการทำงาน แม้โดยส่วนใหญ่ ไรเดอร์จะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจาก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ฯ (ซึ่งเป็นประกันที่ต้องจ่ายเอง) ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แต่ไรเดอร์ต้องสำรองจ่ายไปก่อน หากค่ารักษาเกินไปจากจำนวนนี้ ไรเดอร์สามารถทำเรื่องเบิกกับบริษัทแพลตฟอร์มได้ แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กระบวนการดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อน ทั้งยังมีการเรียกขอเอกสารหลายครั้ง ทำให้กระบวนการกินระยะเวลานาน

ในส่วนของเงินชดเชย กรณีที่ไรเดอร์ต้องแอดมิดเป็นผู้ป่วยใน ทาง พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ฯ กำหนดอัตราจ่ายเงินชดเชยกรณีขาดรายได้วันละ 200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 20 วัน ส่วนกรณีที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ กำหนดอัตราเงินชดเชยไว้ที่รายละ 35,000 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของประกันสังคม มาตรา 40 ที่ไรเดอร์หลายรายเลือกจ่ายเงินสมทบเองเพื่อรับความคุ้มครอง กรณีประสบอุบัติเหตุ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วัน กรณีพิการ ทุพพลภาพ จะได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวน 500 – 1,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี ติดต่อกัน ในส่วนกรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 20,000 บาท

หากลองพิจารณาสิทธิประโยชน์ข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่า จำนวนเงิน ทั้งค่ารักษาและเงินชดเชย นั้นเป็นจำนวนที่เล็กน้อยเกินกว่าจะเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังเป็นการเยียวยาในระยะสั้น การเรียกร้องจากบริษัทแพลตฟอร์มเองก็มีความซับซ้อน การเข้าถึงสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยในชีวิตการทำงานทั้งหลายที่เหล่าไรเดอร์ควรจะได้จึงเต็มไปด้วยอุปสรรค จนหลายรายเลือกที่จะก้มหน้ายอมรับชะตากรรม เพราะไม่สามารถยืนหยัดเพื่อต่อสู้-เรียกร้องในกระบวนการที่กินระยะเวลาที่ยาวนาน

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ขอเรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงนโยบายในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล-เงินชดเชย ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ลดความซับซ้อน รวมถึงระยะเวลาในการพิจารณาที่ต้องรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เร่งด่วน ในส่วนของภาครัฐ จะต้องทำงานร่วมกับบริษัทแพลตฟอร์มในการจัดตั้งกองทุนเงินชดเชย-เยียวยาที่ครอบคลุม กรณีที่ไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน จนเป็นเหตุให้ขาดรายได้ พิการ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน