“รัฐบาลใหม่ กับลมหายใจร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน”

โดย  บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้มีการนำเสนอข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 20 กันยายน 2554 ว่าคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้นำร่าง พระราชบัญญัติที่จัดทำโดยภาคประชาชน 4-5 ฉบับ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้รัฐบาลต้องให้ความเห็นชอบภายใน 60 วัน ไม่เช่นนั้นร่างกฎหมายจะตกไปในเดือนกันยายน 2554  หนึ่งในร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบและให้นำร่างกฎหมายเสนอต่อสภาผู้แทนฯ คือร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. (ฉบับภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงาน เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 14,500 รายชื่อ ที่เสนอโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย) ทำให้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ของรัฐบาลชุดที่แล้วที่อยู่ในขั้นของการพิจารณาชั้นวุฒิสมาชิกต้องตกไป ทั้งนี้ร่างกฎหมายประกันสังคม (ฉบับผู้ใช้แรงงานฯ) ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี 20 กันยายน 2554 จะต้องมีการนำเสนอเข้าบรรจุวาระเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรก โดยมีการประเมินว่าน่าจะประมาณเดือน พฤศจิกายน 2554

เมื่อมองจุดความเชื่อมโยงของการเปิดหน้าต่างด้านนโยบายประชานิยมยกกำลัง 2 ในรัฐบาลชุดนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เช่นการปฏิรูปเรื่องการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท หรือ การปรับฐานเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 15,000 บาท  บ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นการดำเนินนโยบายแบบเขย่าฐานคิดเดิมของการจ้างงาน ระบบสวัสดิการแรงงาน ระบบสวัสดิการสังคม  ที่ต้องปรับทั้งระบบ และก่อให้เกิดการเปิดเผยข้อเท็จ จริงด้านข้อมูลที่เป็นจริงของนายทุนนักการเมือง กับผู้ใช้แรงงาน และภาคประชาชน โดยล่าสุดการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ….(ฉบับภาคประชาชนผู้ใช้แรงงาน)เสนอผ่านมติคณะรัฐมนตรี และเตรียมนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น ย่อมเป็นการทำงานแบบได้ใจประชาชนแรงงาน ที่เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคมในระบบ 9.4 ล้านคน และสมาชิกที่เป็นแรงงานนอกระบบ (ม.40)อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาประกันสังคมมีเงินจากการสมทบของสมาชิกมากถึง 8 แสนล้านบาท

การที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวกรอบเล็กแสดงความยินดีต่อผู้ใช้แรงงาน เช่น รัฐไฟเขียวก.ม.ประกันสังคมเข้าสภา, แรงงานยิ้มร่างกฎหมายสปส.เข้าสู่สภาฉลุย, ไฟเขียว กม.ประกันสังคมฉบับ คสรท. เป็นปรากฎการณ์ ของข่าวที่ทำให้ผู้ใช้แรงงาน และภาคประชาชน เกิดความยินดีเชื่อมั่นระดับหนึ่งต่อการนำเสนอร่างพรบ.ประกันสังคมที่เป็นลมหายใจด้านคุณภาพชีวิตแรงงาน และทำให้เห็นว่ ารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีชุดนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ทำตามข้อเสนอของผู้ใช้แรงงาน  เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 เวทีจุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2554 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีคุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้แทนพรรคมารับข้อเสนอสาระสำคัญ ของการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม (ฉบับภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงาน) ในห้าประการดังนี้

ประการที่หนึ่ง สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ กล่าวคือ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระมีการกำหนดกฎระเบียบวิธีการในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เอง เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิในการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง โดยประกันสังคมจะต้องสังกัดกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

ประการที่สอง สำนักงานประกันสังคม ต้องมโปร่งใส มีกระบวนการที่ตรวจสอบได้ กล่าวคือ กิจการของสำนักงานประกันสังคม ต้องมีการปรับปรุงด้านการบริหารจัดการที่โปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ดีที่สุด มีการพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ประกันตน และผู้เกี่ยวข้องทั่วไป อีกทั้งมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ประการที่สาม ต้องมีการมีส่วนร่วมของสมาชิก โดยจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวคือ ผู้ประกันตนทุกคนควรมีสิทธิในการเลือกตั้งคณะกรรมการหนึ่งคนหนึ่งเสียง ต้องมีการแก้ไของค์ประกอบกระบวนการที่ได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการฯ เพื่อเป็นหลักประกันที่ชัดเจนให้ได้มาซึ่งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้าง และผู้ประกันตน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานประกันสังคม

ประการที่สี่ สิทธิในการใช้บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา กล่าวคือ ผู้ประกันตนและคู่สมรสต้องมีสิทธิการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ตามความต้องการ หรือความสะดวกในแต่ละครั้งของตนเองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่เข้ารับการรักษา หรือบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวกหรือความต้องการของตน การขยายสิทธิประโยชน์ควรให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างรวดเร็ว ตรงตามสิทธิ และเหมาะสมกับสภาพงานของคนงาน

ประการที่ห้า ประกันสังคมต้องถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน กล่าวคือ การประกันสังคมเป็นหลักการที่คนทำงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสมทบเป็นกองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต เมื่อเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ดังนั้นคนทำงานทุกคนต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่ออย่างน้อยจะได้มีหลักประกันให้กับตนเองทั้งปัจจุบัน และอนาคต

จากข้อเสนอทั้งห้าประการที่เป็นสาระสำคัญในร่างกฎหมายประกันสังคมฯ เป็นเสมือนการย้ำเตือนเจตนารมณ์ของผู้ใช้แรงงาน และภาคประชาชน  ซึ่งบัดนี้รัฐบาลของนายกยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ได้ก้าวไประดับหนึ่งของการต่อลมหายใจของผู้ใช้แรงงาน โดยการนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับผู้ใช้แรงงานฯ) ผ่านมติครม. แต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นคือ รัฐบาลต้องเร่งเสนอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 รับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. …. โดย คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฯ อยากให้คำนึงถึงผู้แทนแรงงาน นายจ้าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ และนักกฎหมายที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านสวัสดิการแรงงาน และงานระบบประกันสังคม เข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.ฉบับนี้ฯ

โดยผมขอฝากธรรมบรรยายตอนหนึ่งเพื่อเป็นข้อคำนึงที่นัการเมืองควรมีต่อประชาชน ดังคำบรรยายธรรมของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต ) ในหนังสือชื่อจุดหมายของงานการเมือง “ ถ้านักการเมืองมีจิตใจใหญ่กว้างจริงๆ เป็นนักการเมืองที่แท้ ก็คือจะทำงานเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ใจอยู่ที่นั่น ไม่คิดถึงตัวเอง ก็อยากจะเห็นประชาชนมีความสุขด้วยใจจริง จนกระทั่งเหมือนกับเอาความสุขของตนไปฝากไว้กับประชาชน เหมือนกับต้องพูดว่า ข้าพเจ้าจะมีความสุขได้ ต่อเมื่อได้เห็นประชาชนอยู่ดีมีสุข ” ฝากสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของผู้ใช้แรงงานด้วยครับ รัฐบาล และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ

/////////////////////////////////////////////