“ยุบสภา! เลือกตั้งใหม่! เล่น (กับ)การเมืองอย่างไร? ให้แรงงานไทยมีอำนาจต่อรอง”

 

เมื่อวันที่ 13มีนาคม 2554โครงการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย โดย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับสภาพัฒนาการเมือง ได้จัดการเสวนา “ยุบสภา!เลือกตั้งใหม่!เล่น (กับ)การเมืองอย่างไร? ให้แรงงานไทยมีอำนาจต่อรอง” คน ซึ่งประกอบด้วยแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานรัฐวิสาหกิจ สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมราว 100

เริ่มด้วยมิวสิควีดีโอเพลงแรงงานกับการเมือง และการฉายวีดิทัศน์สารคดี แรงงานไทยรู้สิทธิ ร่วมสร้างประชาธิปไตย

นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า ด้วยโครงการฯได้มีการจัดเวทีให้การศึกษาพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย โดยการสนับสนุนจากสภาพัฒนาการเมือง ได้มีการลงพื้นที่ชุมชนแรงงานทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ ซึ่งวันนี้เป็นการจัดเสวนาแบบเข้มข้นจากนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ผู้นำแรงงาน และนักการเมืองในอนาคต เพื่อให้ผู้นำแรงงานได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และนำไปเผยแพร่ถ่ายทอดต่อให้กับสมาชิก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้แรงงานมีความตื่นตัว เข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง และเกิดสำนึกที่จะต้องร่วมกันสร้างอำนาจต่อรองทางด้านการเมืองให้เกิดขึ้นจริง เพื่อเป็นช่องทางผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานเป็นต้น

ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวในปาฐกถาพิเศษ “สภาพัฒนาการเมืองกับแนวทางส่งเสริมสิทธิแรงงาน” ว่า

ขบวนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คือ ขบวนของผู้ใช้แรงงานแต่ไม่ได้ใช้ความเป็นขบวนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในฐานะของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แรงงานไม่เคยพูดถึงแนวคิดทิศทางการเมือง ซึ่งอาจบอกว่าขบวนการแรงงานยังไม่พร้อมที่จะเข้าไปกำหนดทิศทางการเมือง ผิดกับประชาธิปไตยในชุมชนที่เริ่มกำหนดทิศทางการเมืองในท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมและเข้าไปมีอำนาจการตัดสินใจชี้ชะตาของชุมชน โดยที่แรงงานเองไม่เคยมีแนวทางการเข้าไปกำหนดทิศทางในชุมชน ในโรงงาน โดยเท่าเทียมกับนายจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารงานจัดการทั้งส่วนการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ ค่าจ้างที่พอเพียง สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ได้รับความเคารพด้านสิทธิกันทั้งคนงานและนายจ้าง มีสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานสามารถต่อรองอย่างมีส่วนร่วมช่วยกันสร้างความมั่นคงทั้งในโรงงาน ชุมชนอยู่อย่างมีคุณค่า ไม่ใช่ถูกมองว่าคนงานไม่มีคุณค่าเป็นผู้มาอาศัย การที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในท้องถิ่นเพื่อสร้างความมีตัวตนในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ด้วย ขณะนี้กระแสการทวงคืนอำนาจการบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่นจากรัฐเพื่อสร้างตนเองกำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ แล้วแรงงานละคิดว่าจะอยู่ตรงไหน?

แรงงานควรมองยกระดับมากกว่าค่าจ้างที่รอให้มีการปรับประจำปี โดยมีคนกลุ่มหนึ่งมาบอกว่าควรปรับค่าจ้าง 10บาท 2บาทเท่านั้น แต่แรงงานต้องกำหนดค่าจ้างเองมีฐานการปรับขึ้นเหมือนกับข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และทำให้รัฐรู้ว่าค่าจ้างที่อยู่ได้คือ 421 บาท รัฐต้องปรับไม่ปล่อยให้ข้อเสนอสูญเปล่า นายกจะมาตัดสินใจแทนแรงงานได้อย่างไร? ทำไมแรงงานไม่มีอำนาจตัดสินใจเองต้องรอการปรับประจำปีเท่านั้นทั้งที่แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำไมแรงงานไม่มีส่วนได้เข้าไปบริหารประเทศ ปล่อยให้คนส่วนน้อยมาบริหารประเทศ อาจเป็นเพราะแรงงานไม่มีการศึกษา ซึ่งก็คิดว่าเป็นเพียงข้ออ้าง ทำไมต้องยอม หากเราไม่ยอมละ ทำไมเวลาเลือกตั้งต้องเลือกคนอื่นมาตัดสินชีวิตเรา ทำไมไม่เลือกตัวแทนของเราเข้าไปบริหารประเทศ ให้เข้าไปตัดสินใจมีอำนาจคลุมชะตาชีวิตแทนเรา แรงงานไม่พร้อมเพราะอะไร? เพราะแรงงานยอมแพ้ ไม่กล้าลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตตนเอง ไม่มีผู้นำแรงงานที่เป็นตัวแทนในการพูดแทนแรงงานว่าแรงงานไม่เอาแนวการปรับค่าจ้างแบบนี้

ตนอยากเห็นพรรคแรงงานแม้ว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงไม่สามารถเกิดขึ้นทัน แต่ควรมีผู้นำแรงงานที่โดดเด่นเข้าไปอาสาลงสมัครในพรรคการเมืองต่างๆ ตรงไหนก็ได้เพื่อตอกเสาเข็มให้ได้เป็นการเริ่มต้นก่อน ทั้งการลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกวุฒิสภา หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอย่างไรควรมีการสนับสนุนตัวแทนของตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมแม้ครั้งนี้เป็นคนส่วนน้อยแต่อนาคตต้องมีพรรคแรงงาน

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา สรุปประเด็นอภิปรายดังนี้ แน่ใจหรือว่าจะมีการยุบสภาและเลือกตั้ง?  โดย “จับสัญญาณเตือนภัย” คนไทยจำนวนไม่น้อยยังยอมรับว่ารัฐประหารเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหา ยังไม่เชื่อ ผลของการเลือกตั้งไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ และสนองตอบความ

ต้องการคู่ขัดแย้ง จับกระแสเสี้อเหลือง สิ้นหวังกับระบบการเมืองเก่า ต้องการล้ม หวังอำนาจพิเศษ เพื่อสร้างระบบการเมืองใหม่ และ จับกระแสเสื้อแดง เสียงตะโกนโค่นอำมาตย์และอียิปต์โมเดลดังมากขึ้น หวังสร้างรัฐไทยใหม่ด้วยเส้นทางพิเศษ ไม่มีใครฟันธงว่าถึงจุดเลือกตั้งหรือไม่เหตุใดแรงงานต้องเล่นการเมือง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่รวมกัน แต่คนแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ของผู้คนใน

สังคม แรงงานคือคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่กลับได้รับการแบ่งปันประโยชน์น้อย นำสู่ความเหลื่อมล้ำและเอารัดเอาเปรียบ เหตุเพราะเราเล่นการเมืองไม่เป็น ต้องการสังคมเป็นธรรม แรงงานจึงต้องเล่นการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะเล่นการเมืองอย่างไรเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน

หากจะให้แรงงานมีอำนาจทางการเมืองก็ควรมีพรรคการเมือง และควรมีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมี 1. ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม แบบรวมศูนย์ และสังคมประชาธิปไตยที่เปิดให้คนมีส่วนร่วม 2. ในสังคมต้องมีพื้นที่ให้หรือยอมรับอุดมการณ์ที่เอื้อต่อประโยชน์แรงงาน(สังคมนิยมแบบใดแบบหนึ่ง)3. มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพ 4. แรงงานที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและความตื่นตัวทางการเมืองสูงเพราะเวลาไปเลือกตั้งแรงงานส่วนใหญ่มองตนเองเป็นเพียงประชาชนทั่วไป การเลือกตั้งจึงไม่ได้คำนึงถือชนชั้นแรงงาน ต้องถามว่าขบวนการแรงงานต้องการจะมีระบบประชาธิปไตยแบบใด?

ซึ่งมีตัวอย่างประเทศที่แรงงานมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงดังนี้

ประเทศ

สหภาพ/สมาชิก

พรรคการเมือง

ความสัมพันธ์

อังกฤษ

TUC/ 7ล้าน30%

Labour Party

ตรง

นิวซีแลนด์

NZCUT/.3ล้าน

Labour Party

ตรง

ออสเตรเลีย

ACTU/1.8ล้าน

Labour Party

ตรง

เดนมาร์ค

LO/1.2 ล้าน FTF.5/AC.25 90%

DSDP

ตรง

ฟินแลนด์

SASK/1ล้าน 80%

SDP

อ้อม

ฝรั่งเศส

CFDT.8ล้าน

CGT .7ล้าน

FSP

FCP

ตรง

ตรง

เยอรมนี

GDB 7 ล้าน 30%

SPD

อ้อม

เนเธอร์แลนด์

FNV1.2ล้าน

Labour Party

อ้อม

นอรเวย์

LO .8 ล้าน

Labour Party

อ้อม

สวีเดน

LO 2ล้าน

SSDP

อ้อม

บาซิล

CUT 7ล้าน

WP

ตรง

กล่าวได้ว่า แรงงานในหลายประเทศมีบทบาทอำนาจในการต่อรองทางการเมือง และมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการเมือง ประเทศ ว่าแรงงานมีสิทธิมีเสียงเข้าไปเป็นเพียงเสียงเข้าไปในสภาทั้งทางตรง และทางอ้อม มีบทบาท เนื่องจากมีขบวนการแรงงานที่มีการจัดตั้งอย่างเข้มแข็ง มีฐานสมาชิกจำนวนมากและเข้มแข็งมีจิตรสำนึกทางการเมือง มองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศคือแรงงาน มีการโหวตเพื่อกำหนดทิศทาง

แรงงานไทยไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ถูกดันให้กลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่บ้านเกิด ซึ่งไม่รู้จัก  ทำให้สภาผู้แทนราษฎรถูกคลุมด้วยพวกนายทุนทั้งสิ้น ประชาธิปไตยเสรีแบบผู้แทน ปิดกั้นการมีส่วนร่วม   ระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคล้วนเอื้อคนมีเงินเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จทางการเมือง จึงเป็นเสียงของกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งสิ้น และการเมืองของแรงงานจะถูกกดดันอยู่เพียงบนท้องถนน แรงงานต่อสู้ผ่านขบวนการแรงงานที่อ่อนแอ และจำกัดบทบาทไว้แค่กลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มผลักดัน ที่อยู่นอกเวทีการเมือง จำกัดการขยายการจัดตั้งสมาชิกของแรงงานมีเพียงร้อยละ 1.3แต่สมาชิกสหภาพแรงงานของประเทศเดนมาร์กมีถึงร้อยละ 90ฐานะกลุ่มผลประโยชน์การล็อบบี้และการเมืองบนท้องถนนจึงเป็นช่องทางสำคัญของการใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายแรงงาน ซึ่งก็เป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ขบวนการแรงงานไทยมีสมาชิกราว 5แสนคนเป็นจำนวนน้อยของผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ แต่ถือว่าไม่น้อยหากเป็นเอกภาพในการเสนอกำหนดทิศทางการเมืองได้ส่วนหนึ่ง นำมาต่อรองทางการเมืองต่อประเด็นนโยบายทางชนชั้น

สภาพความเป็นจริงและข้อจำกัดภายในขบวนการแรงงานไทย คือ เป็นขบวนการเล็ก อ่อนแอ แตกแยกไม่เป็นเอกภาพ ทำให้พึ่งตนเองไม่ได้ นำสู่การแสวงหาการพึ่งพิงจากภายนอก ไม่ค้นหาแนวทางพึ่งตนเอง นับแต่วิกฤติแห่งศรัทธา ทำให้ขาดอุดมการณ์ร่วมทางการเมืองที่จะเรียงร้อยผู้คนให้เข้าเป็นขบวนการเดียวกัน ขาดวิสัยทัศน์และความเข้าใจในปัญหาระดับโครงสร้างและมหภาค มองปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ปัญหาเฉพาะจุด จำนนต่อกรอบความคิดที่ครอบงำอยู่ และขาดความตื่นตัวทางการเมือง มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะเข้าช่วงชิงอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นระบบและมีแผนงาน

ข้อเสนอระยะสั้น การต่อสู้ภายใต้กติกากรอบเดิม คือ

1. หมายถึงการต่อสู้นอกเวทีการเมืองผ่านการล็อบบี้และการเมืองบนท้องถนน

2. สร้างconnectionสำรวจขุมกำลังที่มีอยู่ เรียงร้อยมวลพี่น้องเข้าเป็นอันหนึ่งเดียว เพื่อยืนยันการดำรงอยู่และสร้างอำนาจต่อรอง กำจัดคนชั่วออกจากขบวนการเพื่อสร้างการยอมรับ

3. เร่งปลุกจิตสำนึกทางการเมืองมวลสมาชิกให้มีความตื่นตัวทางการเมือง

4. เร่งปรับโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน แปรความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกทั้งหลายเพื่อนำสู่การสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนของขบวนการ

ข้อเสนอระยะยาว เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองที่ยั่งยืน

1. เร่งกำหนดเป้าหมาย วางแผนขยายการจัดตั้ง สร้างองค์กรที่พึ่งตนเองได้และขยายเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองเพื่อเสริมอำนาจต่อรอง

2. พัฒนาอุดมการณ์ แนวนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองแนวสังคมประชาธิปไตยเพื่อเป็นกรอบการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย

3. คิดค้นรูปแบบความสัมพันธ์ขบวนการแรงงานกับพรรคการเมืองที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง

4. จำเป็นต้องเข้าร่วมปรับเปลี่ยนกติกาการเมืองใหม่ และเตรียมพร้อมสร้างบุคคลกรเพื่อเข้าสู่การเมือง

การสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งคือก้าวแรกและเงื่อนไขเบื้องต้นสู่การสร้างอำนาจการเมืองให้แก่แรงงานไทยไม่มีทางลัด ไม่มีช่องทางพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น  อำนาจทางการเมืองต้องทำขบวนการแรงงานให้เข้มแข็งแรงงานไม่มีทางเลือกอื่นต้องสร้างความเข้มแข็งทั้งมีคุณภาพ และทั้งปริมาณเพื่อฐานอำนาจการต่อรองทางการเมือง

นางสุนี ไชยรส นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า น่าสนใจประเด็นวันนี้ที่มีการพูดถึงการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือไม่มีการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนแรงงานยังคงต้องต่อสู้อย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าใครจะมีอำนาจแรงงานยังคงต้องมีบทบาทนำในการเรียกร้องสิทธิอย่างที่ผ่านมาในอดีตแรงงานจะเป็นแกนนำหลักในการต่อสู้ เมื่อประเทศอยู่ภายใต้อำนาจมืด ของเผด็จการแรงงานไม่เคยหยุดการเคลื่อนไหว และต้องไม่หยุดการเคลื่อนไหว

หากมีการเลือกตั้งคนงานควรสู้อย่างไร? ภายใต้ความไม่มีพลัง ไม่สามารถรวมกันได้ ในอดีตการต่อสู้ของภาคประชาชนเรียกว่าสามประสานมีแรงงาน นักศึกษา ชาวนาร่วมสู้กันเพื่อให้มีระบบประชาธิปไตย แรงงานมาจากที่ไหนก็มาจากชุมชนชนบท เหตุเพราะระบบทุนเข้ามาทำให้ชนบทล้มสลายกำลังแรงงานไหลสู่โรงงาน และเมือออกจากโรงงานกลับสู่ชนบท กลายเป็นแรงงานนอกระบบวนเวียนถูกขูดรีดจากระบบทุนตลอดเวลา ทุนเข้าไปทำลายทั้งชนบท และในโรงงาน

การขูดรีดที่ซับซ้อน การต่อสู้ที่โดดเดี่ยวของแรงงาน การแบ่งแยกกลุ่ม การสะสมทุนการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองของทุนทำให้การต่อสู้ของแรงงานและภาคประชาชนอ่อนแอ

วันนี้ยุทธศาสตร์การรวมตัวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง การเลือกตั้งการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. การเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ทำงานและอยู่อาศัยเป็นทางเลือกหนึ่งในการต่อรอง แต่หากวันนี้ยังไม่ได้ก็ควรรับเอาแนวคิดทางชนชั้นเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายด้านแรงงานไปเปลี่ยนแปลงในชนบทบ้านเกิดด้วย สามารถทำได้ให้เกิดพลังเป็นดาวกระจายสู่ชนบทกลับไปสร้างผลสะเทือนในการต่อสู่ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึง เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ที่แรงงานมักถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นการต่อสู้เชิงนโยบาย โดยรัฐเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะรัฐเป็นผู้คลุมทางการเมืองโดยมีนโยบายที่กระทบต่อแรงงานอย่างชัดเจน ต้องทำให้สังคมรู้ว่าแรงงานไม่ได้เพียงลูกจ้างนายจ้างเท่านั้น

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยกล่าวว่า วันนี้ได้ตัดสินใจที่จะเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานในการลงสมัครผู้แทนราษฎรในนามพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน การตัดสินครั้งนี้เป็นเพราะเห็นว่านายกรัฐมนตรีคนนี้ได้แสดงเจตนาที่ดีต้องแรงงานเช่นการประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่สามารถให้คนงานอยู่ได้หลายครั้ง และยังมีการประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์การขยายสิทธิประกันสังคมคุ้มครองแรงงานนอกระบบเป็นต้น แม้ว่าจะยังไม่เห็นผลแต่ก็เห็นถึงความแนวแน่ในการมีนโยบายด้านแรงงาน

การลงสมัครครั้งนี้ตนไม่ได้หวังในคะแนนเสียงของแรงงานในการสนับสนุนเนื่องจากลงสมัครมาอย่างน้อย 2ครั้งแต่สอบตก เพราะแรงงานไม่ได้มีสำเนาทะเบียนบ้านในพื้นที่สมุทรปราการ ครั้งนี้ที่มั่นใจว่าอย่างไรได้เข้าสู่สภาเพราะได้มีการทำงานในพื้นที่ชุมชนชาวบ้านมาโดยตลอดจึงคิดว่าจะเป็นผู้นำแรงงานอีกคนหนึ่งที่ได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

การเมืองไม่ใช่แค่การใช้สิทธิเลือกตัวแทนเข้าไปเท่านั้น แต่แรงงานควรมีการทำงานตรวจสอบ มีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายการบริหารประเทศโดยผ่านพรรคการเมืองที่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาแรงงาน หรือตัวแทนแรงงานที่เสนอตัวเข้าไป

นางสาวเสน่ห์ หงษ์ทอง ฝ่ายทะเบียนพรรคการเมืองใหม่เล่าว่า การทำงานพรรคการเมืองเหมือนกับการทำงานสหภาพแรงงานมีระบบสมาชิกมีหัวหน้าพรรค เลขา ฝ่ายต่างๆ เพียงแต่เป็นการจัดตั้งภายใต้กฎหมายคนละฉบับเท่านั้น ขณะนี้พรรคการเมืองใหม่มีสมาชิก 1.3หมื่นคนเท่านั้นการเลือกตั้งที่จะมาถึงการต่อสู้ทางการเมืองคงต้องทำงานหนัก แม้พรรคจะไม่ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้ขบวนการแรงงาน เป็นการจัดตั้งด้วยภาคประชาชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่นโยบายภายใต้คุณสมศักดิ์ โกสัยสุข เป็นหัวหน้าพรรคเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงาน

นายชัยสิทธิ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสหภาพรงงานธนาคารกรุงเทพ ผู้ลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า การลงสมัครสว.ครั้งนี้คิดว่าคงได้ยากเนื่องจากว่า สว.เป็นเรื่องที่คนชั้นสูงมีการวางตัวไว้ว่ามีใครที่จะได้คัดสรรเข้าไปบ้าง แรงงานไม่ได้มีสัดส่วนเฉพาะเป็นการรวมอยู่ในสาขาอาชีพอื่นๆรวมด้วย

ความแตกแยกทางการเมืองเรื่องสีทำให้มองเห็นความต่างของการเมืองของสองกลุ่ม คือกลุ่มแดงมีการเปิดโอกาสให้ผู้นำแรงงานบางส่วนได้เสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการ และมองการเมืองระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่การเลือกตั้งก็ไม่ได้มีแรงงานเข้ามีส่วนในอำนาจ กลุ่มเหลืองเป็นกลุ่มการเมืองที่มองเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นควรเป็นผู้บริหารประเทศ จึงสรุปได้ว่าไม่มีกลุ่มใดมองว่าชนชั้นแรงงานสามารถบริหารประเทศไทย

ประสบการณ์ที่ตนเคยเข้าไปเป็นกรรมการประกันสังคม และได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาวิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. พบว่าการเมืองไม่เคยจริงใจหรือเอื้อผลประโยชน์ต่อแรงงาน

นายสำเร็จ  มูระคา คนขับรถแท็กซี่ เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคกทม. เล่าว่า ชีวิตของคนขับรถแท็กซี่วันๆก็อยู่หลังพวงมาลัย ไม่เคยถูกมองว่าเป็นผู้ใช้แรงงานเช่นกัน ไม่มีใครพูดถึงสวัสดิการ หรือมีนโยบายเข้ามาดูแล วันนี้มีการพูดถึงคนขับรถแท็กซี่ว่าเป็นแรงงานนอกระบบ มีตัวตนเป็นแรงงาน ต้องได้รับการดูแล ต้องมีสวัสดิการ ตนได้เข้าไปร่วมในการผลักดันเรื่องสิทธิและสวัสดิการกับขบวนการแรงงาน ในเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จนมีนโยบายประชาวิวัฒน์เรื่อการขยายประกันสังคมมาคุ้มครอง สิทธิในการกู้เงินซื้อรถ นี้คือการเมือง หากแรงงานนอกระบบไม่มีการรวมตัวจะได้รับสวัสดิการนี้หรือไม่? การเมืองเกี่ยวข้องกับแรงงาน การที่จะเข้าสู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง ต่อสู้ทางการเมืองแรงงานต้องมีเงิน มีการจัดตั้งพรรคการเมืองของแรงงานส่งตัวแทนเข้าไปลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อให้เข้าไปทำหน้าที่แทนแรงงาน ไปกำหนดกฎหมาย นโยบายที่เอื้อต่อแรงงาน ทุกวันนี้มีแต่นายทุนพรรคการเมืองของทุนเข้าไปในสภา แล้วจะมาดูแลแรงงานได้อย่างไร? แรงงานควรกำหนดบทบาททางการเมืองให้ชัดเจนว่าจะไปทิศทางไหน ส่งคนของตนเองลงสมัคร หรือว่าเสนอนโยบายให้พรรคการเมือง

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกรรมการสภาพัฒนาการเมือง เล่าว่า จากการที่เคยได้เข้าไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในจังหวัดสงขลาพบว่าชาวบ้านมีความก้าวหน้าในการต่อรองกับท้องถิ่นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมาก ช่วงระยะเวลาการเลือกตั้งที่จะมาถึงสั้นมากแรงงานไม่มีเวลาเตรียมตัวในการส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง จากการที่ทำงานแรงงานมา 30กว่าปี ได้มีการศึกษาเรื่องการเมือง การที่มีตัวแทนคนเดียวเข้าไปในสภาเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของกลุ่มทุนผู้ประโยชน์ทางการเมืองของพรรคได้

ขณะนี้ใกล้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่แรงงานต้องนำข้อเสนอไปเสนอต่อพรรคการเมืองให้นำเสนอเป็นนโยบาย เพื่อเลือกตั้งให้เข้าไปแก้ไขปัญหาให้ในระยะยาวได้ แรงงานต้องมีการจัดตั้งฐานเสียงเพื่อเข้ามากำหนดทิศทางนโยบายทางการเมือง แรงงานต้องเป็นตัวชี้ขาดทางการเมืองเป็นตัวเชื่อมระหว่างการเมืองกับฐานเสียงชนบท การกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นบ้านเกิด แรงงานต้องเสนอให้ครอบครัวเลือกส.ส. ที่มีนโยบายทางการเมืองด้านแรงงาน ในวันนี้แรงงานก็ยังคงทิ้งการเมืองท้องถนนไม่ได้ การเลือกตั้งส.ส.ไม่ใช่ตัวชี้ขาดว่าแรงงานจะมีชีวิตที่ดีแม้ว่าพรรคการเมืองนั้นจะมีนโยบายแรงงานแต่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายนั้น

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การส่งตัวแทนแรงงานลงเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเป็นโอกาสหนึ่งที่ควรทำ การส่งตัวแทนแรงงานเข้าไปสู้ระบบการคัดสรรของสมาชิกวุฒิสภา มีความจำเป็นได้หรือไม่ก็ต้องลอง หากมีหนทางต้องเข้าไป

การเลือกตั้งที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือน นายทุนมีการสนับสนุนพรรคการเมือง แรงงานมีผู้นำเสนอตัวลงสมัครในพรรคการเมืองหลายพรรค ภายใต้วันนี้ที่แรงงานยังไม่มีพรรคการเมืองของตนเอง แรงงานจำเป็นต้องเลือกตั้งตัวแทนเข้าสภาการมีผู้นำแรงงานเสนอตัวไปทำงานในสภาแรงงานต้องสนับสนุนเพื่อให้อย่างน้อยมีแรงงานเข้าสู่สภาบ้าง โดยทำงานตรวจสอบควบคู่ว่าเข้าไปแล้วตัวแทนทำอะไรเพื่อแรงงานบ้าง เข้าไปอย่างเสือหรือเข้าไปอย่างจิ้งจก ครั้งนี้หวังว่าจะมีตัวแทนแรงงานในสภาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5คน พร้อมทั้งทำงานจัดตั้งเพื่อการรองรับการจัดตั้งพรรคแรงงานขึ้นมาทำงานทางการเมืองเพื่อแรงงาน การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นการพัฒนาทิศทางการต่อสู้ในระดับนโยบาย ซึ่งอาจไม่ได้มากนักแต่ก็เป็นการสร้างสมประสบการณ์

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองกับแรงงาน เช่น นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ นักวิชาการ มองว่าการเลือกตั้งแรงงานต้องมองนโยบายมากกว่าตัวบุคคล การเลือกตั้งในระบบปาร์ตี่ลิสเป็นอำนาจหนึ่งที่แรงงานที่มีการจัดตั้งสามารถใช้เป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองได้ นางรจนา ค้ำคูน แรงงานนอกระบบ การต่อสู้มานานจนวันนี้รัฐบาลได้ประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์มาดูแลแรงงานนอกระบบแต่ในทางปฏิบัติในพื้นที่ยังมีปัญหาต้องใช้การรวมกลุ่มต่อรอง นายสมพร ขวัญเนตร แรงงานภาคตะวันออก มองว่าคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยควรมีการสรุปข้อเสนอของแรงงานเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองกำหนดเป็นนโยบาย สมาชิกจะได้เลือกพรรคการเมืองนั้น ควรมีข้อเสนอเรื่องสัดส่วนส.ส. ส.ว.มาจากสาขาอาชีพด้วย นางนิรมล การเลือกตั้งที่มาถึงเป็นการกำหนดด้วยคนที่เป็นแกนนำที่กำหนดว่าจะให้เลือกใคร นักการเมือง หรือพรรคการเมืองไหน เป็นการคอบงำด้วยหัวคะแนน นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล มองว่าข้อรียอร้องของแรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี วันแรงงานปีนี้มีข้อเรียกร้องจำนวน 16ข้อ เป็นเพราะปัญหาไม่ถูกแก้ไข การเมืองเป็นของนายทุนจึงไม่มีความสนใจแก้ไขปัญหาแรงงาน แรงงานควรกำหนดทิศทางการเมือง นายธนกร คนงานมิชลิน มองว่าขบวนการแรงงานควรมีการตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง เพื่อต่อสู้ทางการเมืองด้วย

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน

//////////////////////////////////////////////