10 แพ็กเกจกระทรวงแรงงาน “สร้างความทุกข์ สกัดความสุข ไม่หยุดยั้งการละเมิดสิทธิ”
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
1 มกราคม 2560
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและอธิบดีทุกกรม ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีมอบของขวัญปีใหม่ 2560 ให้แก่ลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบการ รวม 10 เรื่อง ได้แก่
(1) การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 จำนวน 5-10 บาท
(2) การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาให้บริการจัดหางานต่างประเทศ
(3) บริการตรวจสภาพรถฟรี สอบถามเส้นทาง และนวดระหว่างเดินทางช่วงปีใหม่ ประจำจุดบริการบนถนนสายหลัก
(4) ส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจำนวน 10,000 บาท เมื่อมีผู้ผ่านการทดสอบทุกๆ 100 คน
(5) สนับสนุนผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงงานของตนเองสาขาระดับละ 10,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของสถานประกอบกิจการ
(6) ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ
(7) จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องประกันสังคม พร้อมมอบของที่ระลึกในการส่งแรงงานกลับบ้านช่วงปีใหม่ระหว่างวันที่ 29-30 ธันวาคม 2559 ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ และบริษัทสมบัติทัวร์ (วิภาวดี)
(8) เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรีแก่ผู้ประกันตนในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เริ่ม 1 มกราคม 2560
(9) เพิ่มค่าทันตกรรมจาก 600 บาท/ปี เพิ่มเป็น 900 บาท/ปี โดยไม่ต้องสำรองจ่ายทั่วประเทศ
(10) การคืนสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยยกร่าง พ.ร.บ. การกลับมาเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เนื่องจากไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สามารถขอกลับมาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้
อย่างไรก็ตามจากการติดตามการทำงานของกระทรวงแรงงานมาตลอดปี 2559 พบว่า มี 10 ประเด็นที่ถูกหลงลืมในการแก้ไขปัญหา จนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ การกลบทับปัญหาด้วยของขวัญปี 2560 จึงยิ่งทำให้ปัญหาถูกหมักหมมและซุกไว้ใต้พรมมากยิ่งขึ้นไปอีก ได้แก่
(1) กระทรวงแรงงานไม่ปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำปี 2560 ใน 8 จังหวัด
(2) การนำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาใช้ควบคุมการชุมนุมของสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย
(3) ช่องว่างของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กรณีถูกนายจ้างปิดงานของสหภาพแรงงานไมย์เออร์อลูมิเนียม, สหภาพแรงงานอ๊อฟโรดประเทศไทย และสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย
(4) กระทรวงแรงงานไม่มีการเสนอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง
(5) สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดไม่มีมาตรการจัดการบริษัทแอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีไม่เปลี่ยนสถานที่ทำงานให้พนักงานที่ตั้งครรภ์จนเกิดการแท้งบุตร
(6) ผู้ประกันตนมาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่สามารถชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ณ ที่ทำการสำนักงานประกันสังคมต่างๆ ได้
(7) ผู้ประกันตนที่เป็นคนพิการเนื่องจากบาดเจ็บในงานตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถูกบังคับให้ย้ายสิทธิไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผลจากคำสั่ง คสช.ที่ 58 /2559
(8) ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 ขาดการมีส่วนร่วมจากแรงงานทุกกลุ่ม
(9) ประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถูกละเลยจากกรรมการประกันสังคมในการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น
(10) สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมปฏิเสธแรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน แม้มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2558
มีรายละเอียดแต่ละเรื่อง ดังนี้
(1) กระทรวงแรงงานไม่ปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำปี 2560 ใน 8 จังหวัด
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 โดยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างใน 8 จังหวัด และปรับขึ้นจำนวน 5-10 บาท ในเพียง 69 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยจังหวัดที่ไม่ปรับค่าจ้างรวม 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
ในเรื่องนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เคยตั้งข้อสังเกตมาแล้วว่า มติเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด ไม่ได้นำข้อมูลที่แท้จริงเรื่องดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดมาพิจารณา ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดในกลุ่มจังหวัด 8 จังหวัดบางจังหวัดที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สูงกว่ากลุ่มที่มีการปรับอัตราค่าจ้าง
อีกทั้งมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้นำปัจจัยเรื่องมาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม มาพิจารณาอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น จังหวัดที่อยู่ติดกัน เช่น อ่างทอง (ปรับ 5 บาท) พระนครศรีอยุธยา (ปรับ 8 บาท) กับสิงห์บุรี (ไม่ปรับ) แม้จะคนละจังหวัดแต่ก็อยู่ในเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกัน ซึ่งเมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกันแล้วค่าครองชีพของแรงงานก็ย่อมไม่ต่างกัน
(2) การนำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาใช้ควบคุมการชุมนุมของสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย
นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา ได้สร้างความสับสนให้กับกลุ่มแรงงานในระบบภาคอุตสาหกรรมต่างๆจำนวนไม่น้อยว่า การชุมนุมที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งด้านแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ไม่สามารถยุติได้ หรือที่เรียกว่าการพิพาทแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นั้น อยู่ในการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯหรือไม่
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 สมาชิกสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ประมาณ 500 คน ได้ไปชุมนุมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เนื่องจากบริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยีประเทศไทย จำกัด สัญชาติญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ส่งงานให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ , ฟอร์ด, มาสด้า ฯลฯ ได้มีคำสั่งปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จำนวน 663 คน และนำไปสู่การสั่งห้ามเข้าทำงานในโรงงานชั่วคราวและงดจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558
ขณะเดียวกันนายจ้างก็มีมาตรการกดดันลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำแรงงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน, การสั่งให้ลูกจ้างล้างห้องน้ำ, การเปิดโครงการสมัครใจลาออกด้วยข้ออ้างเรื่องการขาดทุนแต่ก็มีการให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) ควบคู่กันไป, การทำงานท่ามกลางความไม่ปลอดภัยในสภาพแวดล้อมในโรงงาน เป็นต้น
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความวิตกกังวลใจต่อลูกจ้างว่าอาจนำไปสู่การเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด จึงทำให้เดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดเวลาราชการ กระทรวงแรงงานไม่อนุญาตให้สหภาพแรงงานฯค้างคืนภายในกระทรวง เนื่องจากถือว่ากระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแทน แต่สหภาพแรงงานยังคงมีการชุมนุมต่อไป เพราะเกรงจะประสบเหตุการณ์อันตรายไม่คาดฝันถ้าออกไปชุมนุมภายนอกในยามวิกาล
ในที่สุดกระทรวงแรงงานจึงได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จนทำให้มีตำรวจกว่า 200 นาย พร้อมรถตำรวจที่เปิดไฟด้านบนตลอดเวลา และรถที่มีกรงกักขัง เข้ามาประจำการในกระทรวงแรงงาน และได้มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กดดันผ่านตัวแทนผู้นำแรงงานที่ถูกควบคุมตัวไปที่ชั้น 6 บนกระทรวงแรงงาน เพื่อให้มีการสลายการชุมนุมสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 500 คน ที่มีทั้งกลุ่มแรงงานหญิง แรงงานตั้งครรภ์ และแรงงานที่ป่วย รวมอยู่ด้วย จนในที่สุดการกดดันดังกล่าว นำมาสู่การส่งกลับสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนในเวลาตี 1 ของค่ำคืนดังกล่าว โดยที่ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปิดงานของนายจ้างแต่อย่างใด
(3) ช่องว่างของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กรณีถูกนายจ้างปิดงานของสหภาพแรงงานไมย์เออร์อลูมิเนียม, สหภาพแรงงานอ๊อฟโรดประเทศไทย และสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย
การปิดงานตามความหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หมายถึง การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานในสถานประกอบการชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ยังตกลงกันไม่ได้ เป็นมาตรการที่นายจ้างกดดันให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนในระหว่างปิดงาน เนื่องจากไม่มีรายได้ เพราะลูกจ้างไม่สามารถเข้าทำงานได้ ก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างยอมทำตามข้อเรียกร้องที่นายจ้างกำหนด อีกทั้งยังไม่ได้รับสิทธิแรงงานตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องในระหว่างปิดงานนี้ด้วย เช่น ประกันสังคม, คุ้มครองแรงงาน , กองทุนเงินทดแทน
การปิดงานในทั้ง 3 กรณี เกิดขึ้นภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และมีการเจรจาตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มาเป็นระยะๆแต่ไม่สามารถตกลงได้ กลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน และนำมาสู่การที่บริษัทได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานเพียงเท่านั้น นี้ไม่นับว่านายจ้างไม่มาเจรจาตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้กำหนดไว้ก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายเวลาไปโดยไม่มีจุดสิ้นสุดที่แน่นอน
ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้ ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจนว่า
“แม้สิทธิในการปิดงานเป็นมาตรการทางแรงงานสัมพันธ์ ที่รับรองให้ฝ่ายนายจ้างใช้ในการกดดันหรือบีบบังคับลูกจ้างให้ตกลงตามที่นายจ้างเรียกร้อง หรือยินยอมถอนข้อเรียกร้องของตน แต่กฎหมายในหมวด 3 การปิดงาน มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดของการปิดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดงานบางส่วน คือ เฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง
การไม่บัญญัติถึงความหมาย ขอบเขต และความชอบด้วยกฎหมายของการปิดงานบางส่วน การไม่บังคับให้นายจ้างและลูกจ้างต้องเจรจากันเสมอเมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อกัน การเร่งรัดระยะเวลาในการดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาทแรงงานในแต่ละขั้นตอน ที่ปรากฎในหมวด 3 ทำให้การปิดงานสามารถกระทำได้ง่ายดายและรวดเร็วเกินไป
เมื่อนายจ้างได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งนำมาสู่การงดจ่ายค่าจ้าง เป็นการกดดันให้ลูกจ้างต้องออกจากงานทางอ้อม โดยที่บริษัทแทบจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆเลย และลูกจ้างที่ถูกปิดงานก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้กลับเข้าทำงานหรือไม่ เมื่อใด อีกทั้งยังทำให้ลูกจ้างคนอื่นๆที่มิได้ถูกปิดงานไม่กล้าที่จะดำเนินการใดๆต่อลูกจ้างที่ถูกปิดงานไป เนื่องจากเกรงว่านายจ้างจะใช้การปิดงานบางส่วนกับตนบ้าง
สำหรับในเรื่องของการมิได้กำหนดระยะเวลาในการปิดงานว่านายจ้างจะสามารถปิดงานได้นานเพียงใด ทำให้ลูกจ้างที่ถูกปิดงานได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้นานเกินสมควร การไม่เรียกกลับเข้าทำงานจะทำให้ลูกจ้างเหล่านั้นต้องขาดรายได้และผลประโยชน์อันควรได้รับจากการทำงานเป็นเวลานานเกินสมควร เมื่อไม่มีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพ ในที่สุดลูกจ้างเหล่านั้นก็จะต้องออกไปหางานทำใหม่และเป็นฝ่ายลาออกไปเอง โดยนายจ้างไม่มีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยให้อย่างกรณีการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน”
(4) กระทรวงแรงงานไม่มีการเสนอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 องค์กร American Federation of Labor-Congress of Industrial Organizations (AFL-CIO) และอีกกว่า 26 องค์กร เช่น Greenpeace , Human Rights Watch , International Labor Rights Forum ได้ส่งจดหมายถึง Karmenu Vella คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่าด้วยการประมง กิจการในทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึง Jesús Miguel Sanz ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปฯยังคงให้ใบเหลืองกับประเทศไทยต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อให้รัฐบาลไทยมีแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทะเลและประมงทะเลต่อเนื่อง หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ 27 องค์กรดังกล่าวนี้เรียกร้อง คือ การที่รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
ผลที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลไทยไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง โดยกระทรวงแรงงานอ้างเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กับพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับให้เรียบร้อย
นี้จึงพบปัญหาสำคัญ คือ มีแรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง ให้ออกจากงานหรือถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเหตุจากการก่อตั้งสหภาพแรงงาน หรือการถูกเลือกปฏิบัติเพราะการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของสหภาพแรงงาน
สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น
(1) บริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กดดันให้สมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทยต้องลาออกจากงาน รวมทั้งยังมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้นำแรงงานที่เกี่ยวข้องในสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (สยท.) และฟ้องร้องทางคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายกับสมาชิกสหภาพแรงงาน
(2) บริษัทโตไก รับเบอร์ อิสเทิร์น จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง เลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นแกนนำทั้งหมดขณะอยู่ในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและจัดตั้งสหภาพแรงงานโตไก รับเบอร์ อิสเทิร์น
(3) บริษัทโคบาเทค ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาทแรงงานนำไปสู่การปิดงานของนายจ้าง ต่อมาข้อพิพาทแรงงานสิ้นสุด และนายจ้างตกลงรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างกลับไม่มอบหมายงานในหน้าที่เดิมให้สมาชิกสหภาพแรงงานทำ แต่กลับจัดให้ลูกจ้างไปนั่งอยู่ในเต็นท์หลังโรงงานโดยไม่มีกำหนด
นอกจากนั้นแล้วยังพบกรณีที่สถานประกอบการบางแห่งให้ผู้นำสหภาพแรงงานระงับการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในโรงงาน เพื่อไม่ให้มีการพบปะกับสมาชิกสหภาพแรงงาน อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรรมการสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่มีข้อตกลงว่าจะไม่เอาความผิดก็ตาม แต่กลับมีการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานในเวลาต่อมา ซึ่งพบในกรณีของสหภาพแรงงานซัมมิทแหลมฉบังโอโตบอดี้ เป็นต้น
ตลอดจนกรณีที่อดีตข้าราชการกระทรวงแรงงาน หรือปัจจุบันยังคงทำงานเป็นข้าราชการในกระทรวงแต่อยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้เกษียณอายุราชการ รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายจ้างเพื่อมาสกัดไม่ให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือสกัดไม่ให้สหภาพแรงงานได้มีโอกาสเติบโต เป็นต้น
(5) สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดไม่มีมาตรการจัดการบริษัทแอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีไม่เปลี่ยนสถานที่ทำงานให้พนักงานที่ตั้งครรภ์จนเกิดการแท้งบุตร
บริษัทแอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติจีน ประกอบธุรกิจผลิตยางรถยนต์เพื่อส่งออกให้บริษัทหลินหลงที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน สำนักงานประเทศไทยตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2559 สหภาพแรงงานแอลแอลไอที ประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงสถานประกอบการให้จัดสถานที่ทำงานใหม่ให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์โดยย้ายจากแผนกการผลิตเดิม แต่บริษัทฯก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด จนทำให้เดือนต่อมาพนักงานคนดังกล่าวได้เกิดการแท้งบุตรขึ้น สหภาพแรงงานฯจึงได้ยื่นจดหมายถึงหัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ในเดือนเดียวกันสหภาพแรงงานฯ ก็ได้รับหนังสือร้องเรียนจากพนักงานอีกคนหนึ่งกรณีแท้งบุตรเช่นเดียวกัน เนื่องจากทางหัวหน้างานไม่เปลี่ยนจุดที่ทำงาน จนทำให้ในเดือนพฤษภาคม 2559 สหภาพแรงงานฯ ต้องทำจดหมายทวงถามถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ยังไม่มีการเข้ามาตรวจสอบสถานประกอบการแต่อย่างใด
ล่วงเลยมาถึงเดือนกรกฎาคม 2559 สหภาพแรงงานฯได้ทำจดหมายทวงถามถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีเป็นครั้งที่ 2 จนในที่สุดได้เข้ามาตรวจสอบบริษัทฯตามที่ทางสหภาพแรงงานฯได้ทำหนังสือร้องเรื่องกรณีพนักงานตั้งครรภ์ได้แท้งบุตรจากการทำงาน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วได้แต่อย่างใด นี้จึงแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่ทำได้เพียงแนะนำและตักเตือนเท่านั้น แต่ไม่มีมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแต่อย่างใด
(6) ผู้ประกันตนมาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่สามารถชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ณ ที่ทำการสำนักงานประกันสังคมต่างๆ ได้
นับจากที่สำนักงานประกันสังคม ได้มีหนังสือที่ รง 0603 / ว 1595 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เรื่อง ขอความร่วมมือชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนผ่านระบบธนาคารหรือหน่วยบริการ มีผลทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ณ ที่ทำการสำนักงานประกันสังคมสาขาต่างๆ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ยกเว้นเฉพาะกรณีที่ผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบย้อนหลังไป 2 เดือน จึงจะสามารถชำระที่สำนักงานประกันสังคมสาขาต่างๆได้
ในกรณีนี้นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้นำประเด็นดังกล่าวฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ 1224 / 2559 เมื่อสิงหาคม 2559 โดยเห็นว่าเป็นการทำให้ผู้ประกันตนเกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จากการที่ธนาคารพาณิชย์ , เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือที่ทำการไปรษณีย์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกันตนที่นำเงินไปชำระผ่านช่องทางดังกล่าวในอัตรา 10 บาทต่อรายการ (ต่อครั้ง) ตามแต่ละช่องทาง ถือเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น
(7) ผู้ประกันตนที่เป็นคนพิการเนื่องจากบาดเจ็บในงานตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถูกบังคับให้ย้ายสิทธิไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผลจากคำสั่ง คสช.ที่ 58 /2559
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เรื่องการรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้คนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่เป็นผู้ประกันตน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
โดยคำสั่งนี้เป็นผลมาจากกรณีที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 33 ได้กำหนดให้สถานประกอบการต้องรับผู้พิการเข้าทำงานตามสัดส่วนพนักงาน 100 คนต้องมีการจ้างผู้พิการทำงาน 1 คน ทำให้ผู้พิการที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง เมื่อมีงานทำสิทธิการรักษาจะถูกเปลี่ยนไปอยู่สิทธิประกันสังคม ซึ่งประสบปัญหาด้านการใช้บริการ เนื่องจากระบบบัตรทองให้สิทธิคนพิการรักษาฟรีในสถานพยาบาลใดก็ได้ ขณะที่ระบบประกันสังคมคนพิการจะต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อให้เกิดสิทธิ และสามารถเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ลงทะเบียนประกันตนเอาไว้เท่านั้น
อย่างไรก็ตามผลที่เกิดขึ้นจากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลต่อผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนเนื่องจากบาดเจ็บในงานตามมาตรา 33 ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตั้งแต่ต้น และก่อนหน้านี้ไม่เคยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก่อน คนพิการกลุ่มนี้ต้องถูกย้ายสิทธิโดยอัตโนมัติไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแทน ส่งผลต่อความไม่คุ้นเคยและความไม่สะดวกต่อการได้รับบริการเดิมอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้สถานประกอบการมาก่อน แต่สำนักงานประกันสังคมก็ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด นอกจากยกเลิกบัตรประกันสังคมของผู้ประกันตนกลุ่มนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา
(8) ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 ขาดการมีส่วนร่วมจากแรงงานทุกกลุ่ม
สืบเนื่องจากที่กระทรวงแรงงานได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559
สาระสำคัญของระเบียบฯฉบับนี้มีความแตกต่างจากระเบียบฉบับเดิมอย่างสิ้นเชิง คือ ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ. 2551 ที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2551
โดยในข้อ 5 ของระเบียบฯฉบับใหม่ปี 2558 ได้ระบุไว้ว่า “การได้มาซึ่งกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ให้อธิบดีแจ้งให้สภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์เสนอชื่อผู้สมัครสภาละสองคนเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างเพื่อให้ คณะกรรมการคัดเลือกตามข้อ 7 พิจารณาเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาแต่งตั้งต่อไป”
อีกทั้งในข้อ 6 ยังได้ระบุเรื่องคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญของผู้ที่จะสมัครได้ในส่วนของผู้ใช้แรงงาน คือ ต้องเป็นหรือเคยเป็นกรรมการสภาองค์การลูกจ้างมาก่อน
กระบวนการคัดเลือกได้ถูกระบุไว้ในข้อ 7 ว่า “ให้อธิบดีนัดประชุมผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อเลือกกันเองให้ได้จำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ครบวาระ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาตามจำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ครบวาระต่อไป”
สำหรับคณะกรรมการคัดเลือก ถูกระบุไว้ในข้อ 29 ให้ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ ได้แก่ “รองปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านประกันความมั่นคงในการทำงาน เป็นประธานกรรมการ , อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ , ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ผู้อำนวยการกลุ่มงานทะเบียนกลาง สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมาย สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นกรรมการ ,ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการกลุ่มงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ”
ที่ผ่านมาโดยตลอดนั้น กระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้น ถูกระบุไว้ในข้อ 6 ในระเบียบฯฉบับปี 2551 ว่า “ให้อธิบดีแจ้งให้สมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานในเขตภาคต่าง ๆ เสนอชื่อผู้แทนฝ่ายตนที่จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคีแล้วแต่กรณีได้ไม่เกินองค์กรละหนึ่งคน สมาคมนายจ้าง และสหภาพแรงงานจะเสนอชื่อผู้แทนตามวรรคหนึ่งได้คนละไม่เกินสองคณะ”
ข้อ 7 “ในเขตภาคใดหากไม่มีสมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานซึ่งจดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานไว้ แต่มีสถานประกอบกิจการ ให้อธิบดีแจ้งให้นายจ้างและคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการส่งผู้แทนฝ่ายตนแห่งละหนึ่งคนเพื่อเสนอชื่อผู้แทนสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการไตรภาคี แล้วแต่กรณี”
ข้อ 10 “ให้สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน แจ้งชื่อผู้ลงคะแนนเลือกตั้งแห่งละหนึ่งคน ซึ่งต้องเป็นกรรมการสมาคมนายจ้าง หรือกรรมการสหภาพแรงงานนั้น แล้วแต่กรณี ต่ออธิบดีภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้อธิบดีประกาศรายชื่อผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ณ สถานที่ทำการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน”
จากที่กล่าวมาจึงทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ยื่นจดหมายคัดค้านระเบียบฯดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า “เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มาจากเพียงการสรรหาจากตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์จำนวน 15 สภาองค์การลูกจ้างเท่านั้น นี้จึงสะท้อนถึงขาดการมีส่วนร่วมขององค์กรแรงงานทั้งหมด โดยเฉพาะสหภาพแรงงานจำนวนมากไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้าง
อีกทั้งสภาองค์กรลูกจ้างก็ไม่ใช่ตัวแทนขององค์กรแรงงานทั้งหมด จึงไม่มีหลักประกันใดๆว่าผู้แทนของฝ่ายแรงงานที่มาจากสรรหาจากสภาองค์การลูกจ้าง ที่ได้เข้าไปเป็นกรรมการในสัดส่วนตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จะสามารถสนับสนุนข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มต่างๆ เนื่องจากกระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส เป็นธรรม และเท่าเทียมตั้งแต่เริ่มต้น
ทั้งยังมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า สภาองค์การลูกจ้างบางแห่งมีแนวความคิดที่ขัดแย้งและคัดค้านข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มอื่นๆมาโดยตลอด”
(9) ประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถูกละเลยจากกรรมการประกันสังคมในการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น
สำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคม ระบุว่าเดือนพฤศจิกายน 2559 มีผู้ประกันตนมาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 จำนวนสูงถึง 2,236,612 คน ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มแรงงานนอกระบบ ถ้าคิดการส่งเงินสมทบจำนวนต่ำสุดต่อคน คือ 70 บาท นี้จึงกล่าวได้ว่า เดือนหนึ่งๆจะมีเงินจากผู้ประกันตนถูกส่งเข้าสู่กองทุนประกันสังคมสูงถึง 156,562,840 บาท หรือประมาณ 156 ล้านต่อเดือน
แต่เมื่อมาพิจารณาที่ประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้รับ คือ
เมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี
กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานานถึง 15 ปี ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแพทย์
กรณีตาย รับเงินค่าทำศพจำนวน 20,000 บาทต่อราย
กรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จ) รับเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ประโยชน์ทดแทนดังกล่าวมีความแตกต่างจากประโยชน์ทดแทนในผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 อย่างมาก และส่งผลต่อการออกจากการเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง โดยที่คณะกรรมการประกันสังคมมีแต่แผนการเพิ่มจำนวนผู้ประกันตน แต่ไม่มีแนวนโยบายการปรับปรุงประโยชน์ทดแทนแต่อย่างใด
(10) สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมปฏิเสธแรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน แม้มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2558
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 ศาลแรงงานภาค 5 ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2558 กรณีแรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน กรณีที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนปฎิเสธคำขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน โดยให้ไปรับเงินทดแทนจากนายจ้างแทน ซึ่งลูกจ้างคนนี้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก่อสร้างในเชียงใหม่ ขณะเป็นลูกจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง จนขาพิการทั้งสองข้างและต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีสถานะป็น “ลูกจ้าง” ตามนิยามของ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 แม้จะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบ แต่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร มีใบอนุญาตทำงาน จึงเป็นผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ. และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง และการที่นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน จึงไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุเพื่อปฏิเสธสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้
ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนฯ และสั่งให้กองทุนจ่ายเงินทดแทนที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับจากนายจ้างครบถ้วน
อย่างไรก็ตามโดยข้อเท็จจริงยังคงพบว่า ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมบางจังหวัด เช่น นครปฐม ยังคงมีการปฏิเสธที่จะจ่ายเงินจากกองทุนเงินทดแทนให้กับลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติอยู่