“งานที่มีคุณค่า” กับ “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” (Decent Work and Just Transition)
วันที่ 7 ตุลาคม เป็นวัน Decent Work หรือ วัน “งานที่มีคุณค่า” ในระยะสองสามปีที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวบางประการที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
ในปี 2015 มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญในระดับสากลอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ การจัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ในทั้งสองเหตุการณ์ มีการรณรงค์ให้ “งานที่มีคุณค่า” ได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงและเป้าหมายการพัฒนาดังกล่าว
ในการจัดทำความตกลงปารีส ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก. และอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในบางภาคส่วน. ขบวนการแรงงานสากลได้รณรงค์โดยใช้แนวคิดเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” หรือ just transition
“การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” คืออะไร มีที่มาจากไหนช่วงทศวรรษ 1990 สหภาพแรงงานในอเมริกาเหนือได้ริเริ่มสร้างสรรค์แนวคิด “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” ขึ้นมา ในระยะแรก นักสหภาพแรงงานเข้าใจว่านี่เป็นโครงการช่วยเหลือคนงานที่สูญเสียงานเนื่องจากนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันบุคคลภายนอกขบวนการแรงงานบางส่วนยังคงเข้าใจเช่นนั้น นั่นคือ เน้นที่การลดผลกระทบจากการสูญเสียงานในบางภาคส่วน เช่น งานที่เกี่ยวกับถ่านหิน
อันที่จริงแล้ว ไม่นานหลังจากนั้น สหภาพแรงงานและองค์กรภาคีได้พัฒนาความหมายของ “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” ให้กว้างขวางมากขึ้น นั่นคือ รวมถึงความพยายามปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการวางแผนและการลงทุนในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างตำแหน่งงาน สร้างภาคอุตสาหกรรมบางสาขา และสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จนเมื่อสังคมมีความเข้าใจเรื่องวิกฤตของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น สหภาพแรงงานได้เชื่อมโยงเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน”กับปฏิบัติการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้รณรงค์ให้บรรจุเรื่อง“การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” ไว้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมทั้งการเจรจาต่อรองต่างๆของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)
ในปี 2015 เช่นเดียวกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้จัดทำ “แนวปฏิบัติว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงานเพื่อพัฒนาไปสู่สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกคน” แนวปฏิบัตินี้เป็นผลมาจากการเจรจาพหุภาคีระหว่างสหภาพแรงงาน องค์กรนายจ้างและภาครัฐ ในการเจรจาต่อรองที่นำไปสู่ความตกลงปารีส เมื่อปี 2015 สหภาพแรงงานและองค์กรพันธมิตรทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้มีการบรรจุข้อความที่หนักแน่นไว้ในความตกลง ในที่สุดภาคีที่เข้าร่วมเจรจาก็ตกลงบรรจุข้อความไว้ในอารัมภบทของความตกลง ดังนี้
…“คํานึงถึง ความจําเป็นของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน และการสร้างงานที่มีคุณค่าและงานที่มีคุณภาพ ตามลําดับความสําคัญของการพัฒนาซึ่งกําหนด โดยแต่ละประเทศ”…
สำหรับขบวนการแรงงาน ภาคธุรกิจและภาครัฐ ให้การยอมรับความหมายของ “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” ที่อยู่ในแนวปฏิบัติของ ILO ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางและมองเชิงบวก เป็นเหมือนสะพานให้ก้าวเดินจากปัจจุบันสู่อนาคตที่งานทั้งหลายกลายเป็นงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นงานที่เป็นธรรม ขจัดความยากจนได้ ขณะที่ชุมชนต่างๆก็เจริญรุ่งเรืองและได้รับการฟื้นฟู แนวปฏิบัตินี้จึงเป็นกรอบความคิดที่มองอย่างครอบคลุม ประกอบด้วยทั้ง
มาตรการลดผลกระทบที่มีต่อคนงานและชุมชน เนื่องจากตำแหน่งงานหายไปและอุตสาหกรรมบางอย่างที่ค่อยๆเลิกกิจการไป
มาตรการสร้างงานที่เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างสาขาภาคอุตสาหกรรมและชุมชนใหม่ที่มีสุขอนามัยที่ดี
เนื้อหาสาระสำคัญของแนวปฏิบัติของ ILO หยิบยกมาจากกรอบแนวคิด เรื่อง “วาระงานที่มีคุณค่า” อันประกอบด้วย สิทธิด้านสภาพการจ้างงาน การเจรจาต่อรองทางสังคม การคุ้มครองทางสังคม และการมีงานทำ
ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก และให้สัตยาบันความตกลงปารีสแล้ว ปัจจุบัน “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” อาจเป็นประเด็นใหม่ แต่ในอนาคต เมื่อจะต้องเดินไปบนเส้นทางสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การศึกษาและเตรียมความพร้อมโดยใช้แนวปฏิบัติของ ILO ตั้งแต่ต้น น่าจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น คนทำงานทุกคนสามารถเข้าถึง “งานที่มีคุณค่า” ได้อย่างแท้จริง