ไอแอลโอ หนุน คสรท. ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานหลังน้ำท่วม

คสรท. พร้อมจับมือ ไอแอลโอ และองค์กรต่าง หวังช่วยเหลือแรงงานให้เข้าถึงสิทธิ พร้อมสร้างทีมทำงานด้านสิทธิ กฎหมาย ข้อมูล และสื่อสาร ใน 5 พื้นที่

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 ตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้เข้ามาเสนอแนวทางการทำงาน โครงการเครือข่ายความช่วยเหลือและฟื้นฟูเพื่อแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และองค์กรที่ให้การสนับสนุนอีกหลายองค์กร ซึ่งไอแอลโอเน้น การให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) การจัดตั้งกลไกอาสาสมัครและศูนย์ช่วยเหลือด้านสิทธิแรงงาน 2) การเก็บข้อมูลกรณีศึกษาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เป็นผลกระทบมาจากน้ำท่วม การและการช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านการละเมิดสิทธิ 3) เวทีเจรจากับกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดตั้งคณะทำงานร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ทางไอแอลโอได้เห็นการทำงานของทางคสรท.ในการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม เช่นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กล่าวถึงการทำงานในโครงการเครือข่ายความช่วยเหลือและฟื้นฟูฯว่า เป็นงานที่ต้องทำ เนื่องจากสถานการณ์ทำท่วมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับผู้ใช้แรงงานจำนวนมากทุกกลุ่ม ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ของผู้นำแรงงาน สหภาพแรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานซึ่งมีการจัดตั้งต้องเข้าไปช่วยกันดูแลผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม ทั้งในระบบที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

ปัญหาแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

แรงงานข้ามชาติ ที่ถูกกระทบเป็นกลุ่มแรก ที่นายจ้างทิ้งให้เผชิญปัญหาตามลำพังในที่ทำงาน ที่พักช่วงน้ำท่วม ไม่มีการจ่ายค่าจ้าง ไม่เลิกจ้างเดินทางไปไหนไม่ได้กลัวถูกจับต้องอดทนต่อการถูกละเมิดสิทธิเพราะปัญหาการสื่อสาร ไม่มีที่พึ่งอันนี้ต้องช่วยกันดูแลเขาเมื่อเขาเข้ามาทำงานเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ยังมีแรงงานเหมาค่าแรงที่ถูกกระทบเป็นกลุ่มต่อมา คือไม่ได้ค่าจ้าง ไม่ได้รับการติดต่อจากนายจ้าง ไม่เลิกจ้าง แต่ให้รอจนกว่างานจะเปิด ซึ่งถามว่าปัญหาต่างจากแรงงานข้ามชาติไหม คงไม่ต่าง นี้คนไทยยังโดนละเมิดสิทธิขั้นนี้หรือ

แรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมากกระทบในเครื่องมือทำมาหากิน ขาดรายได้ ปัญหาของแรงงานเกษตรพันธสัญญา ที่น้ำท่วมหมดตัวหมูไก่ตายหมดเล้าพัง ปลาหายกระชังพัง ไม่มีใครช่วยรับผิดชอบ ตนคิดว่าหลังน้ำลดปัญหาด้านแรงงานจะเพิ่มมากขึ้น การที่องค์กรต่างๆเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมการทำงานของ คสรท.ทำให้เกิดการทำงานที่มีคุณภาพ และทำให้เกิดทีมทำงานอาสาสมัครในการช่วยเหลือแรงงานเกิดความเป็นปรึกแผ่นในการทำงานมากขึ้น

กิจกรรมที่ต้องทำงานของคสรท. เรื่องปัญหาแรงงานหลังน้ำลด

ปีนี้ยังมีอีกมาก ในส่วนการทำงานฟื้นฟู จะมีการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบด้วยการเปิดศูนย์เครือข่ายความช่วยเหลือและฟื้นฟูเพื่อแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม ใน 5 พื้นที่ คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยา และใกล้เคียง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง จังหวัดปทุมธานี กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ โดยมีอาสาสมัครแรงงาน ด้านสิทธิแรงงาน ด้านกฎหมายแรงงาน ด้านสื่อสารแรงงาน ด้านข้อมูลแรงงาน ร่วมกันทำงานในแต่ละพื้นที่เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้ได้มีการนำผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบเข้ามายื่นเรื่องร้องเรียนกันที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555 บ้างแล้ว และยังมีการเจรจาปรึกษาหารือกันในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่แรงงานในแต่ละพื้นที่ได้ทำงานให้ความช่วยเหลือต่อผู้ใช้แรงงานเสียก่อน ตอนนี้เท่าที่ทราบ ในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีปัญหาหนักมาก มีเข้ามาร้องทุกข์เพื่อให้ทางศูนย์แก้ไขปัญหาทุกวัน ผ่านผู้นำแรงงานในกลุ่ม ซึ่งก็ทราบมาว่า กระทรวงแรงงานเองก็เข้าไปดูแล แต่ปัญหาอย่างนี้คงต้องมีการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกส่วน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาถูกจุด และตรงตามความต้องการของผู้ใช้แรงงานมากขึ้น

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน