โรงงานในหลายจังหวัดทยอยปิดกิจการจากค่าแรง 300 บาท-ประมวลข่าวการเลิกจ้าง

โรงงานในหลายจังหวัดทยอยปิดกิจการ-ประกันสังคมเปิดให้แรงงานลงทะเบียนขอความช่วยเหลือ

ข่าว Thai PBS ออกอากาศวันที่ 4 ม.ค. 56 เวลา 06:38

สำนักงานประกันสังคมบางจังหวัดเปิดให้ผู้ว่างงานไปลงทะเบียนประกันตน เป็นผู้เพื่อขอรับการช่วยเหลือ หลังโรงงานประกาศปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน ขณะเดียวกันมีโรงงานหลายแห่งในบางจังหวัดเริ่มทยอยปิดกิจการ

ประมวลข่าวคนงานถูกเลิกจ้างหลังประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

 

 

1. ข่าว Channel Nation

พิษค่าแรง300 รง.ในนครปฐมลอยแพคนงานกว่า100คน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้( 3 มกราคม 2556) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากพนักงาน โรงงาน MASTER PIECE เลขที่ 26/2 หมู่ 1 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ว่าถูกแรงงานปล่อยลอยแพหลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ มาทำงานในวันนี้เป็นวันแรก ซึ่งพนักงานที่มีทั้งหมดจำนวน 98คน เข้ามาทำงานตามปกติแต่ทางโรงงาน MASTER PIECE ไม่มีการเปิดทำงานแต่อย่างใด และทางการไฟฟ้าได้มีการยกเลิกหม้อแปลงฟ้าไปแล้ว ไปตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2555 แล้วและมีการตัดน้ำไปเรียบร้อยแล้วทำให้พนักงานบางส่วนที่พักในโรงงานต้อง จุดเทียนอยู่กัน จนต้องออกมาชุมนุม เนื่องจากทางพนักงานโรงงาน MASTER PIECE ต้องกลับมาทำงานเพื่อที่จะรอรับเงินเดือนที่ค้างอีกในวันที่ 5 มกราคม 2556 เนื่องจากเงินเดือนของพนักงานต้องออกทั้งหมด2 วิค เงินเดือนออกในวันที่ 20 และวันที่ 5ของทุกเดือน

นางสาววิจิตรา คำตัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัท MASTER PIECE บอกว่า ได้ทำการติดต่อประสานงานกับผู้บริหาร นายธีระ ศุภกิจศิลป์ เพื่อที่จะเข้ามาเคลียร์แต่ทางผู้บริหารนัดประมาณ 14:00 น. แต่ก็ไม่ได้มาตามที่นัดไว้ จึงทำให้พนักงานลุกขึ้นมาชุมนุมอีกครั้งโดยไม่ออกไปไหน

นางสาวสุมาลี พรมมา อายุ 26 ปีชาวศรีษะเกษ บอกว่า ตั้งแต่ค่าแรงขึ้น 300 บาท ทั่วประเทศ การทำโอทีไม่มีและงานไม่มีทำอย่างต่อเนื่อง และการออกเงินเดือนของพนักงานไม่ตรงวันที่ตกลงกับพนักงานมีการเลื่อนออกไป อีกประมาณ 3 วัน

นางสาวกัญญา แซ่ตั้น อายุ 40 ปี ชาวสมุทรสาคร ได้มีการนำสลิปเงินเดือนมาให้ดูพร้อมบอกว่าทางโรงงานมีการหักเงินสมทบประกัน สังคมทุกวิคแต่พอมีการเข้ารับการรักษาตัวที่ โรงพยาบาลแต่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้เพราะไม่มีการส่งเงินสมทบให้กับทางประกัน สังคมเลยเป็นเวลา9 เดือนแล้ว

ต่อมาทางนายฤทธิ์รงค์ เดชชำนาญ นิติกรสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม ได้เข้ามาทำการชี้แจงให้กับพนักงาน เบื้องต้นพร้อมได้ประสานกับจัดหางานจังหวัดนครปฐมให้มาตั้งโต๊ะรับลงทะเบียน คนว่างงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือพนักงานที่ถูกลอยแพจำนวน 98 คน ทั้งคนไทยและชาวพม่าที่ถูกต้องตามกฏหมายให้มีรายได้ในช่วงที่ตกงาน ส่วนผลกระทบต่อพนักงานที่มีการพักอาศัยอยู่ภายในโรงงาน ไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้คงเป็นเพราะทางโรงงานค้างค่าชำระหรือยกเลิกการติดตั้ง หม้อไฟไปแล้ว ซึ่งต้องให้ทางพนักงานที่พักภายในโรงงานไปพักร่วมกับเพื่อนก่อน ส่วนทางประกันสังคมจะติดตามหนี้ที่โรงงานคงค้างการชำระเงินสมทบต่อไป

 

 

2. โคราชปลดพนักงาน1.3พันคนสังเวยค่าแรง300

วันที่ 4 มกราคม 2556 13:00

โคราชปลดพนักงาน1.3พันคนสังเวยค่าแรง300

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

ค่าแรง 300 บาททั่วไทยพ่นพิษ ผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมาปลดพนักงานกว่า 1.3 พันคน

น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลิกจ้างงาน ภายในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ต้นเดือน ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ที่ก่อนได้มีการประกาศให้ขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ พบว่า ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทรายการผลิตชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิค มีการเลิกจ้างงานไปแล้วกว่า 550 คน

ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ได้มีการเลิกจ้างงานหลังที่รัฐบาลได้ประกาศปรับค่า แรง 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่าได้มีการเลิกจ้างงานพนักงานแล้วกว่า 800 ราย แต่มีผู้ที่ได้เริ่มงานใหม่ทันทีเพียง 59 ราย รวมตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2555 ถึง ปัจจุบัน มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเลิกจ่างแล้วทั้งสิ้นกว่า 1,300 ราย แต่มีผู้ที่เดินทางมาขึ้นทะเบียนกับจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เพียง 860 ราย

ส่วนสาเหตุที่มีการเลิกจ้างแรงงานและโรงงานที่ได้ปิดกิจการนั้น จากการสอบถามทราบสาเหตุ ว่า แต่ละโรงงานได้รับผลกระทบในเรื่องของออเดอร์ในการผลิตจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการลดปริมาณแรงงานลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่โรงงานที่ได้ปิดกิจการส่วนใหญ่จะเป็นการยุบโรงงานให้เหลือสายการผลิต เพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตามทุกโรงงานที่มีการเลิกจ้างแรงงานก็ได้มีการจ่ายเงินชดเชยตามที่ กระทรวงแรงงานกำหนดไว้

ส่วนเรื่องของผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ที่ตนเป็นห่วงมากก็คือ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานอย่างเข้มข้น และมีจำนวนมาก และเมื่อมีการปรับค่าแรง 300 บาท ก็จะทำให้มีรายจ่ายที่สูงกว่าที่อื่น แต่อย่างไรก็ตามในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เครื่องจักรเป็นหลักก็จะได้รับผลกระทบเรื่องค่าแรงน้อย กว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ยังคงใช้แรงงานเข้มข้น แต่ก็จะต้องใช้ระยะเวลาในการดูอีกซัก 2-3 เดือน หลังจากที่ได้มีการประกาศขึ้นค่าแรง อย่างไรก็ตามในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในภาครวมก็ยังคงขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้มีอุตสาหกรรมที่เข้ามาตั้งฐานผลิตใหม่ ดังนั้นส่วนตัวแล้วคิดว่าจังหวัดนครราชสีมา จะได้เปรียบเรื่องแรงงานและค่าใช้จ่าย เนื่องจากประชาชนที่ได้เดินทางไปทำงานต่างถิ่นก็จะกลับมาทำงานในบ้านเกิด เพราะทำงานที่ไหนก็ได้ค่าแรง 300 บาท เท่ากันอีก

 

 

3. พิษ300บาทลามทั่วปท.เจ๊งถ้วนหน้า สิ่งทอ-ตุ๊กตา-เซรามิก ปิดกิจการหนี

วันศุกร์ ที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2556, 06.00 น.

พิษ300บาทลามทั่วปท.เจ๊งถ้วนหน้า   สิ่งทอ-ตุ๊กตา-เซรามิกจ่ายไม่ไหวปกิจการหนีแห่ขึ้นทะเบียนคนว่างงานสอท.คาดมีนาคมรู้อยู่-ไปเผดิมชัยยังอ้างไม่กระทบ

กรณีกลุ่มพนักงานสตรีบริษัทวีณาการ์เมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชุดชั้นใน ตั้งอยู่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี จำนวนกว่า 200 คน รวมตัวชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงบริษัทที่ปิดโรงงานเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นั้น

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สระบุรี เปิดเผยว่า วันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมาว่า ตนได้ชี้แจงต่อตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วว่า ได้ติดต่อกับ นายสมาน พงษ์พันธ์เดชา เจ้าของโรงงานทางโทรศัพท์แล้ว ซึ่งได้รับการยืนยันว่า บริษัทจะจ่ายเงินเดือนที่ค้างให้ในวันที่ 5มกราคมนี้ ส่วนเงินชดเชยนั้น ตนเสนอให้ผู้เรียกร้องเขียนคำร้องเพื่อขอรับเงินชดเชยค่าจ้างตามขั้นตอนของ กฎหมายต่อไป

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มพนักงานที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เปิดเผยว่า กลุ่มพนักงานทั้งหมดกว่า 200คน ต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน หากทางบริษัทยืนยันที่จะปิดโรงงาน เพราะแต่ละครอบครัวต่างดำรงชีพอยู่ด้วยการเป็นพนักงานของบริษัทวีณากา ร์เมนต์ ในส่วนของการช่วยเหลือจากทางบริษัทในวันที่ 5มกราคม ที่ทางบริษัทรับปากจะจ่ายเงินเดือนที่ค้างให้พนักงานนั้น หากมีการผิดพลาด หรือผิดเงื่อนไขตามที่พนักงานเรียกร้อง ทางกลุ่มพนักงานทั้งหมดก็จะไปรวมตัวกันหน้าบริษัทวีณาการ์เมนต์ พร้อมทั้งจะเพิ่มความกดดันและจะเดินทางไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อพบ รมว.แรงงาน เป็นลำดับต่อไป

2รง.ตัดเย็บบุรีรัมย์ไล่ 120 คนงาน

ผลกระทบจากประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300บาท ยังทำให้บริษัทนางรองแอพพาเรล จำกัด ตั้งอยู่ถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์และบริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน ตั้งอยู่ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือตัดเย็บเสื้อผ้า ได้เลิกจ้างพนักงานแล้ว 120คน เพื่อลดต้นทุนการผลิต จากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรง 300บาท นอกจากนี้ยังมีแรงงานตามสถานประกอบการต่างๆใน จ.บุรีรัมย์ ที่ลาออกจากงานด้วยเหตุส่วนตัวอีก 275คน ขณะนี้แรงงานกลุ่มดังกล่าวได้ทยอยเข้ายื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนหรือเงิน ประกันการว่างงานที่สำนักงานประกันสังคมบุรีรัมย์และขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ที่สำนักงานจัดหางานบุรีรัมย์แล้วอย่างต่อเนื่อง

รง.สระแก้วปิด 700 คนตกงาน

ด้าน นายกรุณา แก้วน้อย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า โรงงานขนาดเล็กในสระแก้วประกาศปิดตัวเองแล้ว 2แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1มกราคมที่ผ่านมา คือ บริษัทอิสบอร์ด อินดัสตรี จำกัด สาขาสระแก้ว ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก มีพนักงาน 471 คนและบริษัทโกลบอล ฮาร์เนส เทคโนโลยี จำกัด ประกอบชิ้นส่วนสายไฟฟ้าภายในอาคาร มีพนักงาน 254คน ทั้งสองแห่งจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย รวมพนักงานที่ตกงาน 725คน

รง.ตุ๊กตาขอนแก่นปลดคนงาน

ขณะที่ นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น กล่าวว่า นโยบายค่าแรง 300บาทต่อวัน ยังไม่สามารถบอกได้ทันทีว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งช่วงเวลาที่จะประเมินว่า เอสเอ็มอีอยู่รอดหรือไม่ คงต้องรอให้พ้นครึ่งปีนี้ไปก่อน หากพ้นไปแล้วกิจการใดที่ยังพอหมุนเงินได้เท่ากับว่า ไปรอด ที่ทนภาระต้นทุนไม่ไหวก็จะไม่อยู่ให้เห็นแล้ว เชื่อว่าไม่เกิน 2ไตรมาสจะเห็นผลชัดเจนว่า ใครจะอยู่ใครจะไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้มีโรงงานผลิตตุ๊กตาเซรามิกแห่งหนึ่งในขอนแก่น มีท่าทีชัดเจนแล้วว่าต้องปิดกิจการแน่นอน โดยปลดพนักงานออกไปกว่า 100คน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และสิ้นเดือนมกราคมนี้ จะปรับลดลงอีก คาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้จะปิดกิจการแน่นอน

นครปฐม2รง.สิ่งทอชิงปิดตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกัน เวลา 7.30น.ที่บริษัทมาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์ แอนด์ แท็กซ์ไทซ์ จำกัด ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ได้มีพนักงานบริษัทกว่า 80คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุเฉลี่ย 35-40ปี รวมตัวกันในโรงงานหลังเดินทางมาทำงานแต่โรงงานปิดโดยไม่แจ้งสาเหตุ

น.ส.มัณฑนา สะทองอ๊อด พนักงานคนหนึ่ง กล่าวว่า ตนและเพื่อนเดินทางมาทำงานแต่ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ เพราะประตูอาคารที่เปิดด้วยไฟฟ้าถูกปิด เมื่อติดต่อไปสำนักงานใหญ่ได้รับคำชี้แจงว่า ผู้บริหารติดประชุม เชื่อว่าการปิดโรงงานน่าจะเกิดจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะช่วง5-6 เดือนก่อนหน้านี้ มีการจ่ายเงินเดือนล่าช้า อย่างไรก็ดีอยากเรียกร้องให้โรงงานแจ้งให้ชัดเจนว่า จะปิดกิจกิจการหรือไม่ หากปิดขอให้จ่ายค่าชดเชยและเงินสมทบประกันสังคมที่ค้างจ่ายประมาณ 7-8เดือน รวมถึงค่าจ้างงวดสุดท้ายที่ยังค้างจ่ายอีกประมาณ 3-4พันบาทด้วย

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดี กสร.กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.นครปฐม ว่า บริษัทมาสเตอร์พีซฯ เคยถูกออกคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายมาแล้ว

โดยระหว่างนี้จะเร่งประสานกับนายจ้างเพื่อขอให้มาเจรจากับพนักงาน หากวันที่ 5มกราคมนี้ ยังไม่จ่ายค้าจ้าง จะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างอีกครั้ง หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย ส่วนกรณีบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญการทอ จำกัด ตั้งอยู่ อ.สามพราน ที่ผลิตถุงเท้าไนลอนและปิดกิจการนั้น ทางบริษัทได้ปิดกิจการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2555 เพราะประสบภาวะขาดทุน แต่ได้นัดแบ่งจ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ลูกจ้างทั้ง 48คน ไว้ล่วงหน้าโดยชอบตามกฎหมายแล้ว

สอท.เชื่อมีนาคมรู้แน่ใครเจ๊ง

นายพากร วังศิลาบัตร รองประธานสายงานแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า หากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ เข้าช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาทต่อวัน คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้ จะเห็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวนมากทยอยปิดกิจการลง เพราะแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีกำไรต่ำ เมื่อค่าแรงขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงจนแทบไม่มีกำไรและการปรับราคาสินค้าทำได้ยาก

กลุ่มผลิตเซรามิคชี้ไม่รอดแน่

นายอำนาจ ยะโสธร เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สอท.กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันยอมรับว่า บางธุรกิจ แม้จะเป็นเอสเอ็มอีก็ต้องจ่ายมากกว่า 300 บาท เพราะหาแรงงานไม่ได้ ซ้ำร้ายหากรัฐบาลขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนกลางปีนี้เชื่อว่า จะยิ่งทำให้เอสเอ็มอีเซรามิกต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากที่อยู่รอดได้ส่วนหนึ่งรัฐบาลได้ผ่อนผันให้ใช้แอลพีจีถัง 48กิโลกรัม ได้ 20ถัง หรือไม่เกิน 1,000 กก.ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบากสุดของอุตฯเซารมิก เพราะต้องเจอต้นทุน 2เด้ง ทั้งค่าแรง 300บาทและยังต้องเตรียมตัวรับกับปรับขึ้นแอลพีจีอีก ซึ่งก่อนหน้านี้แอลพีจีภาคอุตสาหกรรมได้ปรับราคาไปก่อนแล้ว แต่รัฐอนุโลมให้ใช้ถังขนาด 48กก.ได้ 20ถังในราคาครัวเรือน แต่ต่อไปราคาครัวเรือนก็จะปรับขึ้น เราก็จะลำบากมากขึ้นอีก

โคราชแห่สมัครงานคึกคัก

ส่วนบรรยากาศในสำนักงานจัดหางาน จ.นครราชสีมา ถนนสืบสิริ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีประชาชนผู้ว่างงานในพื้นที่นครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง เดินทางมาลงทะเบียนสมัครงานกันอย่างคึกคัก หลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาทต่อวันทั่วประเทศ ทั้งนี้ผู้ที่มาลงทะเบียนว่างงานส่วนใหญ่อายุระหว่าง 25-35ปี มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-ปริญญาตรี ขณะที่ข้อมูลตำแหน่งงานว่างในสำนักงานจัดหางาน จ.นครราชสีมา เดือนมกราคม 2556 มีประมาณ 4,000อัตรา ส่วนใหญ่เป็นสายงานการผลิตตามโรงงานต่างๆ ที่รับพนักงานวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวช.หรือเทียบเท่ามัธยมปลายลงมา

ตรังโอดค่าแรง300ธุรกิจแย่

ขณะที่ นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตรัง กล่าวว่า ผลพวงการปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300บาท ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในระดับหนึ่งที่ไม่สามารถปรับตัวสู้ได้ เช่น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา จึงทำให้หลายแห่งต้องลดกำลังผลิตลง ขณะที่ออเดอร์หรือยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศยังไม่ค่อยจะดีนัก ส่งผลให้ราคาไม้ยางพาราปรับตัวลดลงเกือบ50%และมีแนวโน้มลดต่ำลงไปมากกว่านี้ ในช่วงต้นปี2556 เมื่อมีปัญหาขึ้นค่าแรงซ้ำเติม เนื่องจากภาพรวมของอุตสาหกรรม จ.ตรัง จะเกี่ยวกับการเกษตร หากแต่ละโรงงานต้องเผชิญปัญหาค่าแรงวันละ300บาท ต้นทุนย่อมลงไปสู่วัตถุดิบ คือ ยางพารา หรือไม้ยางพารา ซึ่งขณะนี้ด้วยอำนาจต่อรองที่ลดลงและสภาวะเศษรฐกิจที่ถดถอย จึงไม่อาจปรับขึ้นราคายางพารา หรือไม้ยางพารา ได้ ท้ายสุดภาระทั้งหมดจึงตกอยู่ที่เกษตรกรและหากธุรกิจSME หรือร้านค้ารายย่อยสู้ไม่ไหวด้วย ก็จะส่งผลไปถึงค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อความอยู่รอด

เผดิมชัยอ้างเจ๊งไม่เกี่ยว300บ.

ทางด้าน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้บางบริษัทอ้างว่า จำต้องปิดกิจการเพราะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท แต่ความเป็นจริงแล้วการปิดกิจการ หรือเลิกจ้างนั้น เป็นปัญหาของบริษัทเอง เช่น ไม่มีออเดอร์เข้ามา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนขึ้นมา 1ชุด เพื่อดูผลกระทบ รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว

เล็งถก”กิตติรัตน์”4มกราคมนี้

นายเผดิมชัย ยังกล่าวถึงมาตรการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาท ว่า วันที่ 4มกราคมนี้ ตนจะหารือร่วมกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำปี2556 เกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเตรียมเสนอรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกหลายมาตรการ เช่น การลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรมหรือที่พักแรมที่เป็นเอส เอ็มอี หรือการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายการจัดประชุมสัมมนาส่วนราชการ ซึ่งคาดว่าจะเสนอต่อ ครม.ภายในเดือนมกราคมนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขแรงงานถูกเลิกจ้างเพราะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีผล บังคับใช้เมื่อวันที่ 1มกราคมนั้น ยังไม่ชัดเจน คาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนช่วงเดือนมีนาคมนี้

ชงครม.8มค.หาทางช่วยเอสเอ็มอี

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงาน 9กระทรวงด้านเศรษฐกิจ ว่า การบริหารงานปี56 ยังมีเรื่องต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาท ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าเกิดปัญหา เพราะจากการปรับขึ้นค่าแรงครั้งแรกใน 7จังหวัดนำร่อง ผู้ประกอบการก็ปรับตัวได้ดี ขณะที่มาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบนั้น ในการประชุม ครม.วันที่ 8มกราคมนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการต่างๆ เข้าไปกว่า 10มาตรการ ทั้งมาตรการเดิมและมาตรการใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องรอความเห็นจากครม.ก่อน เชื่อว่าข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่จะได้รับความเห็นชอบจาก ครม.และจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวในช่วงนี้ได้

 

 

4. ข่าว Channel Nation

300บาทพ่นพิษ อุตฯเซรามิคลำปางหันจ้างเหมาแทนรายวัน

ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทพ่นพิษ อุตฯเซรามิคลำปางดิ้นหนีตาย หันจ้างเหมาแทนจ้างรายวัน ชี้จ้าง 300 บาทแต่ได้งานปริมาณเท่าเดิม ด้านผู้ประกอบการลำพูน ตั้งโต๊ะหารือดึงจัดหางานให้ข้อมูลการจ่ายเงินสมทบลูกจ้างต่างด้าว หลังแบกรับต้นทุนจากพิษค่าจ้าง 300 บาทไม่ไหว ต้องหั่นเวลาทำงานลงเหลือสัปดาห์ละ 4 วัน แต่กลับยังต้องจ่ายเงินสมทบเท่าเดิม แถมแรงงานต่างด้าวหัวใสดอดไปรับจ้างนอกเวลางาน แจงแรงงานในท้องถิ่นหายากเหตุหันซบโรงงานในนิคมฯต้องจ้างแรงงานต่างด้าวทำ งานแทน

นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า หลังนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทของรัฐบาลมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการได้ปรับค่าจ้างเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลแล้ว แม้ว่าจะเป็นภาระหนักเพราะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นขณะที่มาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากรัฐบาลก็ยังไม่มีความชัดเจน ผู้ประกอบการหลายรายที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ได้หาวิธีบรรเทาผลกระทบเพื่อเริ่มปรับตัวรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน จากเดิมจ้างรายวัน เป็นจ้างเหมาแทน

เนื่องจากต้องยอมรับว่าการจ้างเงินค่าจ้างเพิ่มให้แก่ลูกจ้างเป็นวันละ 300 บาท แต่คุณภาพหรือปริมาณของงานยังเท่าเดิม จึงเปลี่ยนมาเป็นวิธีการจ้างเหมาซึ่งได้คุณภาพและปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น มากกว่า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซรามิก เคยจ้างเป็นรายวัน ก็เปลี่ยนมาจ้างเหมาเป็นรายชิ้นแทน เช่น งานขึ้นรูปถ้วย ชาม ฯลฯ จะจ้างเหมาขึ้นรูป 40 – 50 ชิ้นต่อ 100 บาท เพราะเป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยความละเอียด งานจัดเรียงสินค้าในเคมเผาจ้างเหมาวันละ 300 บาท งานเพ้นส์ลายเซรามิก จ่ายเหมาตามความยาก-ง่ายของลาย

"การหันมาจ้างเหมาแทนการจ้างรายวันซึ่งต้องจ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมเซรามิกเป็นกิจการที่อาศัยแรงงานคนเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันจังหวัดลำปางมีโรงงานเซรามิกทั้งใหญ่จนถึงรายย่อยรวมกันไม่ต่ำ กว่า 200 โรงงาน หากต้องจ่ายค่าจ้าง 300 บาท อาจได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นปิดโรงงานได้"นายอธิภูมิ กล่าว

นายณรงค์ ธรรมจารี เลขาธิการหอการค้าจังหวัดลำพูน กล่าวว่า วันนี้ ( 3 มกราคม) หอการค้าฯจะประชุมหารือกันระหว่างผู้ประกอบการ และเชิญจัดหางานจังหวัดลำพูนมาให้ข้อมูลเรื่องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคมสำหรับลูกจ้างชาวต่างด้าว เพราะหลังนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการในจังหวัดลำพูนที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการนอกนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ต้องปรับเปลี่ยนตารางการทำงานของแรงงานต่างด้าว จากเดิมให้ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ก็ลดเหลือ 4 วันส่วนอีก 3 วันให้หยุดงาน เพราะไม่สามารถจ่ายค่าจ้าง 300 บาทได้จึงต้องลดวันทำงานลง

แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังต้องรับภาระจ่ายเงินสมทบประกันสังคมตามกฎหมายให้ กับแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาขึ้นเพราะในวันที่แรงงานเหล่านี้เมื่อหยุดงานก็ออกไป รับจ้างนอกสถานประกอบการแทน บางรายเกิดปัญหาถูกจับกุม ฯลฯ จนผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการในจังหวัดลำพูนมีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน เพราะแรงงานคนไทยในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเข้าไปทำงานกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เกือบทั้งหมดจึงขาดแคลนแรงงานในท้องถิ่นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวแทน

"ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลายรายที่เคยวางแผนจะขยายฐานก็ผลิตก็ต้องทบทวนแผนใหม่ไม่ลงทุนเพิ่ม พยายามประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดยอมรับว่าบางรายประสบปัญหามากเพราะการ แข่งขันในตลาดที่สูงอยู่แล้ว เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องประสบ กับความยากลำบากในการทำธุรกิจมากขึ้น นอกจากผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ได้รับความเดือดร้อน นักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือหลายราย เช่น ผู้ผลิตจิวเวอรี่ ได้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนามตั้งแต่ปีก่อนที่รัฐบาลส่งสัญญาณการปรับ ค่าจ้างขั้นต่ำ"นายณรงค์ กล่าว

 

 

5. แรงงานไทยระส่ำ! โรงงานเลิกจ้าง-ทยอยปิด สังเวยพิษค่าแรง 300

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         แม้เทศกาลปีใหม่จะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยได้เฉลิมฉลองกันอย่างมีความสุข แต่ทว่าเมื่อผ่านพ้นเทศกาลไปแล้ว ฝันร้ายของใครหลายคนก็เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อโรงงานหลายแห่งประกาศปิดตัวลงอย่างกะทันหัน เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลซึ่งดีเดย์มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ได้ ส่งผลให้พนักงานหลายพันชีวิตต้องถูกลอยแพเคว้งคว้างตั้งแต่ต้นปี

ภาคกลาง และภาคตะวันออก 

         อย่างที่เราได้ยินข่าวกันเป็นที่แรกก็คือ ที่จังหวัด สระบุรี เมื่อ บริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในส่งออก ปิดโรงงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา พนักงาน กว่า 300 คน ต้องเดินทางไปยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยเหลือ ซึ่งทางผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้พนักงานทุกคนมาลงทะเบียน เพื่อขอรับเงินชดเชยจากนายจ้างต่อไป 

         อย่างไรก็ตาม ภายหลังทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี ได้ออกมาชี้แจงว่า การที่บริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ต้องปิดตัวลงนั้น เป็นเพราะผลประกอบการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปีนี้ได้ขาดทุนไปแล้วกว่า 140 ล้านบาท จึงต้องปิดตัวลง ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นค่าแรง 300 บาทแต่อย่างใด

         ขณะที่ จังหวัด นครปฐม ลูกจ้างชาวไทยและชาวต่างด้าว รวม 89 คน ของ บริษัท มาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์ แอนด์ เท็กซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้องช็อก เมื่อไม่สามารถทำงานได้หลังจากกลับมาจากหยุดยาวปีใหม่ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าของโรงงานถูกตัดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2555 ลูกจ้างจึงรวมตัวทวงถามคำตอบจากผู้บริหารโรงงาน ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจน ก่อนที่ นายโชคชัย ศรีทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะให้ข้อมูลว่า โรงงาน นี้ขาดสภาพคล่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาทไปแล้ว แต่ยังไม่สรุปว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างหรือไม่

         ส่วนที่จังหวัดสระแก้ว พบว่าสถานประกอบการขนาดกลางที่ทำธุรกิจเสื้อผ้าส่งออกหลายแห่งได้ปิดกิจการ ลง ทำให้แรงงานกว่า 471 คนต้องตกงาน และได้รับค่าชดเชยไปร่วม 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโรงงานขนาดเล็กที่เลิกจ้างแรงงานไปบางส่วน รวม 207 คน ต้องจ่ายค่าชดเชยไปอีกกว่า 3.5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอีก 1 แห่งในอำเภอวัฒนานครที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างแรงงาน เพราะแบกรับภาระค่าแรง 300 บาทต่อไปไม่ไหว

         ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็เผชิญกับพิษค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน โดย นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะ นี้มีข้อมูลว่ามีพนักงานกว่า 1 หมื่นคนที่อยู่กับผู้ประกอบการรายย่อยสุ่มเสี่ยงที่จะถูกบอกเลิกจ้าง เพราะโรงงานไม่สามารถขึ้นค่าแรงให้ได้  
 

ภาคเหนือ 

         ที่จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกจำเป็นต้องใช้แรงงานคน นายจ้างหลายแห่งจึงต้องหาวิธีอื่น ๆ มาลดผลกระทบจากพิษค่าแรง 300 บาท เช่น ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน จากเดิมจ้างรายวันมาเป็นจ้างเหมาแทน โดยผู้ประกอบการชี้แจงว่า หากไม่ทำเช่นนี้อาจจะได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นปิดโรงงาน

         ไม่ไกลกันนัก ที่จังหวัดลำพูน มีรายงานว่า ผู้ประกอบการหลายรายเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะต้องปรับค่าแรงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากวันละ 236 บาท เป็น 300 บาท ทำให้ นายณรงค์ ธรรมจารี เลขาธิการหอการค้าจังหวัดลำพูน เตรียมเรียกผู้ประกอบการเข้าประชุม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งทางนายจ้างเตรียมจะลดวันทำงานของแรงงานต่างด้าวจากสัปดาห์ละ 6 วัน เหลือ 4 วัน เพราะไม่สามารถจ่ายค่าแรง 300 บาทในทุกวันได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

         ที่จังหวัดบุรีรัมย์ แม้จะยังไม่มีข่าวว่าโรงงานแห่งใดปิดตัว แต่หลายแห่งก็เริ่มปลดพนักงานออกแล้ว โดย ที่ บริษัท นางรองแอพพาเรล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ปลดพนักงานออก 120 คน เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และคาดว่าจะมีโรงงานอีกหลายแห่งใช้วิธีการเลิกจ้าง เพื่อช่วยลดต้นทุนด้วยเช่นกัน ทำให้ทางสำนักจัดหางานจังหวัดเร่งหาตำแหน่งงานว่างไว้รองรับผู้ว่างงานอีก 10,000 อัตรา

         ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีสถานประกอบกิจการทั้งหมด 8,452 แห่ง มีลูกจ้างมากกว่า 2 แสนคน โดยพบว่า โรงงานขนาดกลาง และขนาดย่อมตามเขตหัวเมืองหลัก เริ่มทยอยเลิกจ้างคนงานบางส่วนแล้ว พร้อมกับปรับพฤติกรรมลูกจ้างให้ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง เพื่อช่วยลดต้นทุน 

         ทั้งนี้ นางสาวอัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่า 550 คน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมมานี้ ก็มีพนักงานถูกเลิกจ้างอีก 800 ราย รวมแล้วช่วง 2 เดือนนี้ มีคนตกงานแล้วกว่า 1,300 คน ซึ่งจากการสอบถามทราบว่า ที่ต้องเลิกจ้างแรงงานนั้นก็เพื่อลดค่าใช้จ่าย
 

ภาคใต้ 

         นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลกระทบไปทั่วรวมทั้งภาคใต้ที่มีแรงงานชาวพม่าทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก

         โดยที่จังหวัดระนอง แรงงานชาวพม่าหลายคนบอกว่าตัวเองถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน เพราะนายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าแรง 300 บาทให้ได้ ซึ่ง ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีแรงงานชาวพม่าถูกโรงงานเลิกจ้างงานแล้วกว่า 1,000 คน เรื่องนี้ทำให้ นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง ในฐานะเลขานุการและนายทะเบียนสภาอุตสาหกรรม 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมเป็นการด่วน

         ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นายประภาส เอื้อนนทัช รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารารายใหญ่ของภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้โรงงานได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะต้องใช้แรงงานคนเกือบทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมแบกภาระต่อไป จนกระทั่งเมื่อไม่ไหวจริง ๆ ก็คงต้องหยุดกิจการ

         อย่างไรก็ตาม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ยืนยันว่า การที่บริษัทหลายแห่งปิดตัวลงหลังปีใหม่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แต่เป็นเพราะปัญหาของตัวบริษัทเอง เช่น ไม่มีออเดอร์เข้ามา ดังนั้นจึงไม่ควรเหมารวม พร้อมยืนยันว่า ได้ศึกษาถึงผลกระทบการขึ้นค่าแรงมาอย่างรอบด้านแล้ว และพบว่ามีผลกระทบน้อยมาก อย่าง ไรก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ จึงสั่งให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูผลกระทบ รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป

         สำหรับมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น ทางคณะกรรมการร่วมของสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคาร ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไป 27 ข้อ ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบในมาตรการ 11 ข้อ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 

         โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ข้อ เสนอของผู้ประกอบการจำนวน 27 ข้อ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือนั้น เห็นว่าบางเรื่องก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ และที่ผ่านมารัฐบาลได้พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือออกมาแล้ว โดย ล่าสุดคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ได้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี สำหรับ 11 มาตรการในการบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือบางมาตรการยังเพิ่มวงเงินในการให้ความช่วยเหลือ และยังมีทั้งมาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการลดภาระต้นทุนต่าง ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะแรงงาน ซึ่งน่าจะเพียงพอ

         "นอกจาก 11 มาตรการที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือไปแล้ว ยังมีอีก 6 มาตรการที่อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นต้น เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งน่าจะเพียงพอและครอบคลุม" 

         นายกิตติรัตน์ ชี้แจงข้างต้น พร้อมยืนยันว่า นโยบาย การปรับขึ้นค่าแรงที่ 300 บาท ไม่ใช่เป็นการผลักภาระ หรือให้ใครได้รับประโยชน์สูงสุดเพียงฝ่ายเดียว แต่จะช่วยสนับสนุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ ทั้งในแง่ของการผลิตและการบริหารจัดการ ขณะที่ผู้ใช้แรงงานเองก็จะได้รับประโยชน์จากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศที่จะสะท้อนกลับมาในแง่ของภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนั้น จึงถือว่านโยบายดังกล่าวมีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจทั้งจุลภาคและมหาภาค