คสรท.เปิดผลสำรวจพบแรงงานไม่มีความรู้เรื่อง AEC กลัวต่างชาติแย่งงานโรงงานย้ายฐานทำตกงาน ผู้นำแรงงานชี้เป็นแนวคิดทุนนิยมเสรีที่นายทุนได้ประโยชน์มากกว่า เสนอรัฐเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ด้านตัวแทนกระทรวงแรงงานแจงเซ็นเปิดเสรีแรงงานฝีมือแล้ว 8 สาขาอาชีพ เตรียมแก้กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐานเดียว
จากการที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ขึ้นในปี 2558 ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อภาคส่วนต่างๆนั้น ในส่วนของแรงงานไทยยังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง AEC ดีพอ มูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท จึงร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ประชาคมอาเซียน : บทบาทของขบวนการแรงงานไทย” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค กรุงเทพ
นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเรื่องการเปิดเสรีแรงงานว่า ที่ผ่านมาแรงงานไร้ฝีมือมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีมานานแล้ว เช่น แรงงานพม่า ลาว กัมพูชา แต่สำหรับ AEC จะเป็นการเปิดเสรีแรงงงานผีมือ ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพ หรือ MRA ไปแล้ว 8 สาขาอาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร บัญชี ช่างสำรวจ และวิชาชีพท่องเที่ยว แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในของประเทศที่ไปทำงาน
ส่วนที่กระทรวงแรงงานต้องเตรียมตัวก็เป็นเรื่องของการปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน เช่น พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว, ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน, พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518, พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543, และที่อาจจะแก้ไขผ่านได้ง่ายคือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งทั้งหมดก็ต้องมีการปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกับทุกประเทศในอาเซียน
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า AEC ก็คือแนวคิดของระบบทุนนิยมเสรีใหม่ ที่มองว่าสหภาพแรงงานคืออุปสรรคของกลไกตลาดเสรี คือการลงทุนเคลื่อนย้ายทุนได้อย่างเสรี ซึ่งก็จะมีการควบคุมงบประมาณด้านบริการสาธารณะ มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดบทบาทภาครัฐ ส่งเสริมการลงทุนและกรรมสิทธิ์ของเอกชน อาเซียนจึงไม่ใช่มีแค่ AEC แต่ยังมีขั้วอำนาจอื่น เช่น อเมริกา สหภาพยุโรป หรือ EU และกลุ่มประเทศ BRICS (Brazil, Russia, India, China, South Africa) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการที่ขบวนการแรงงานไทยยังไม่มีอำนาจต่อรองเพราะมีสมาชิกน้อย จึงทำให้ผลประโยชน์จากการเปิด AEC ตกอยู่กับฝ่ายทุนมากกว่าแรงงาน
จึงเห็นว่าขบวนการแรงงานไทยต้องขยายฐานสมาชิก สร้างเอกภาพในขบวนการแรงงาน สร้างองค์ความรู้ให้เท่าทันสถานการณ์ สร้างผู้นำรุ่นใหม่ๆ รวมทั้งต้องเชื่อมโยงกับองค์กรแรงงานในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และช่วยกันปกป้องแรงงานทั้งในประเทศและต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน
นายยงยุทธ เม่นตะเภา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า นายจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์มักขู่ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตหากมีการเปิด AEC ซึ่งสร้างปัญหาในการเจรจาข้อเรียกร้องของแรงงานและคนงานเกิดความกังวล เพราะขณะนี้ในอุตสาหกรรมยานยนต์เองก็มีการใช้แรงงานข้ามชาติ ใช้นักศึกษาฝึกงานมาทำงานมากขึ้น รวมทั้งยังปรากฏว่ามีการใช้ทหารเกณฑ์มาทำงานในช่วงเจรจาข้อเรียกร้องของบางโรงงานด้วย
ในอนาคตคิดว่าการเปิดเสรีแรงงานอาจมีมากกว่า 8 สาขาอาชีพ เพราะ AEC ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องแรงงาน กลายเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถเลือกใช้แรงงานฝีมือดีและราคาถูกได้ง่าย กระทรวงแรงงานจึงต้องเป็นผู้สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแรงงานมากขึ้น สร้างมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ในส่วนของสหภาพแรงงานก็ต้องปรับตัว ไม่ใช่เพียงเรียกร้องเพื่อสมาชิกตัวเอง แต่ต้องรวมตัวเป็นสหภาพใหญ่ที่ให้ความคุ้มครองทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแรงงานทุกกลุ่มทุกประเภทได้อย่างแท้จริง
ขณะที่ นายชาลี ลองสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เปิดผลสำรวจแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม 8 จังหวัดว่า ส่วนใหญ่รู้จัก AEC จากสื่อโทรทัศน์ โดยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากนัก และเกิดความกังวลว่าการเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีจะทำแรงงานไทยตกงานมากขึ้น เพราะขาดทักษะฝีมือ ค่าจ้างจะลดลง โรงงานต่างๆจะมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นในอาเซียนที่ค่าจ้างถูกกว่า เสนอให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อแรงงานให้มากขึ้น ช่วยพัฒนาทักษะฝีมือและทักษะเรื่องภาษาอังกฤษ รวมทั้งให้มีมาตรการเพื่อการคุ้มครองแรงงานมากขึ้น
นักสื่อสารแรงงานรายงาน