โทลูอีน : กับความเสี่ยงต่อการแท้งและความผิดปกติของทารกในครรภ์

รองศาสตราจารย์ ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล*ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความประมาทจนก่อให้เกิดการลุกไหม้ของสารโทลูอีนและเกิดการระเบิดของโรงงานฝ่ายผลิตยางรถยนต์ ภายในบริเวณ บริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 เป็นข่าวใหญ่ต่อสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งบรรยากาศของการท่องเที่ยวของผู้ที่ชื่นชอบผลไม้ของจังหวัดระยอง สำหรับคนไทยทั่วประเทศคงมีคำถามคล้าย ๆ กันว่า เมื่อไรปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง เพราะมีแต่ข่าวมลพิษ อุบัติภัย ความขัดแย้งกับชุมชน โดยเฉพาะความพยายามที่จะนำพื้นที่สีเขียวในอำเภอบ้านค่ายและอำเภอวังจันทร์ ตลอดจนพื้นที่ต้นน้ำมาใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม รวมทั้งคำถามถึงอนาคตในกรณีที่มีโรงงานหยุดผลิต ทิ้งร้าง รัฐมีหลักประกันใดที่เจ้าของกิจการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะอันตรายและสารพิษในโรงงานที่ทิ้งร้าง เพราะกังวลใจว่าในที่สุดรัฐจะต้องเป็นผู้แบกภาระโดยนำภาษีของประชาชนไปจ่ายในส่วนที่โรงงานต้องรับผิดชอบถ้าหน่วยงานอนุญาตให้สร้างโรงงานมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่รัดกุมเพียงพอ เพราะการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยจากอุบัติเหตุของโรงงานจำนวนมากส่งผลให้งบประมาณปกติของโรงพยาบาลที่ได้รับจัดสรรให้ต่อหัวประชากรถูกเบียดบังไปใช้เพื่อรองรับความประมาทของโรงงานแทนที่จะใช้กับการส่งเสริมและรักษาสุขภาพของประชาชน

          นักวิชาการกลุ่มที่ได้อ่านรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงงานนี้และบริษัทในเครือมีแผนที่การติดตั้งถังสารเคมีในการผลิตของโรงงาน ทุกคนภาวนาให้สามารถควบคุมการลุกไหม้ของโรงงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะยังมีถังสารเคมีที่ติดตั้งในพื้นที่จำนวนมาก และโรงงานใกล้เคียง คือโรงงานบริษัทไบเออร์ไทย จำกัด ซึ่งมีถังสารเคมีอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่าสารเคมีที่ระเหยปนเปื้อนในอากาศครั้งนี้เป็นสารโทลูอีนเพียงชนิดเดียวหรือมีถังสารเคมีชนิดอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น สารบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ความโชคดีของคนระยองครั้งนี้ คือ การที่มีฝนตกทำให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ง่ายกว่าปกติ อย่างไรก็ตามผู้รับผิดชอบได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่าสารคมีที่ปนเปื้อนในอากาศและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย คือ โทลูอีน รวมทั้งให้ข้อมูลว่าสารชนิดนี้ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่มิได้ให้ข้อมูลความเป็นพิษของโทลูอีนในแง่มุมอื่น

             การติดตามข่าวในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ขอตั้งข้อสังเกตว่าการประกาศรับรองต่อสาธารณะถึงความปลอดภัยของสารปนเปื้อนในอากาศยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน มีความเร่งรีบรับรองว่าปลอดภัย และให้ประชาชนกลับบ้านได้ โดยขาดมาตรฐานและความน่าเชื่อถือทางวิชาการ หากเปรียบเทียบกับการระเบิดของโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นมีการประกาศรายชื่อสารเคมีและปริมาณที่ตรวจพบ พร้อมทั้งให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เข้าใจและนำไปใช้ในการปกป้องดูแลตนเองและบุคคลในครอบครัว จึงปรารถนาที่จะเห็นการประกาศต่อสาธารณะของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ว่าได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีชนิดใดบ้าง และตรวจวัดพบว่าค่าการปนเปื้อนเท่าใด พื้นที่ใดบ้างที่ปลอดภัยเนื่องจากเป็นที่ทราบชัดว่าการตรวจหาสารเคมีปนเปื้อนในอากาศนั้นต้องตรวจรายชนิด เพราะมีวิธีการตรวจไม่เหมือนกัน และค่ามาตรฐานความปลอดภัยของสารเคมีแต่ละชนิดเป็นค่าเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้อง เคารพ ปกป้อง และได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นและเพียงพอที่จะทำให้สิทธิของชุมชนที่จะดำรงชีพได้อย่างปกติ รวมทั้งสิทธิด้านต่างๆ ที่มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญาและตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักการและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามไว้กับนานาชาติมีการดำเนินการเพื่อให้สิทธิเหล่านี้เกิดผลที่เป็นจริง

            การเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับมลพิษโดยตรงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจปกป้องประชาชนซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องจากอุบัติภัย และมีความสำคัญยิ่งต่อนาทีชีวิตของเหยื่อ เพราะรายชื่อสารเคมีจำเป็นต่อการรักษาเพื่อลดความเป็นพิษของสารเคมีชนิดนั้น หากแพทย์ทราบชัดถึงชนิดสารเคมีที่เป็นต้นเหตุจะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงกับสาเหตุอย่างไรก็ตามข้อมูลของสารเคมีที่เปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีของโรงงานนี้มุ่งเน้นที่สารโทลูอีนบทความนี้จึงนำเสนออันตรายของโทลูอีนในแง่มุมที่มีการกล่าวถึงไม่มากนัก แต่มีความสำคัญต่อชุมชนคือ ผลกระทบต่อทารกและการแท้งของสตรีมีครรภ์

         โทลูอีนเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่นิยมนำมาใช้เป็นตัวทำละลายทดแทนสารเบนซีน เนื่องจากโทลูอีนละลายในไขมันได้ดี จึงสามารถผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบได้เร็วและจากรายงานทางวิชาการพบว่าโทลูอีนสามารถแพร่ผ่านรกได้ดี ทำให้ตรวจพบโทลูอีนในเนื้อเยื่อต่างๆของทารกและในน้ำคร่ำที่อยู่ในมดลูกของแม่ที่สัมผัสโทลูอีน รวมทั้งพบในทารกแรกเกิดด้วย (1)  การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าโทลูอีนสามารถคงอยู่ในสัตว์วัยอ่อนที่อยู่ในท้องแม่ได้นานถึง 24 ชั่วโมงและหนูเม้าซ์ที่ได้รับโทลูอีนขณะตั้งท้องนั้นตรวจพบโทลูอีนสะสมอยู่ในตับจำนวนมาก (2, อ้างตาม 3) รายงานการศึกษาให้สัตว์ทดลองที่ได้รับโทลูอีน ด้วยวิธีให้กิน หรือให้ได้รับทางการหายใจ มี รายงานการศึกษาในสัตว์หลายชนิด เช่น หนู แฮมสเตอร์ และกระต่าย โดยให้ได้รับโทลูอีนในช่วงเวลาที่ แม่มีอายุครรภ์ต่างๆ กัน พบว่ามีผลแตกต่างกันตามปริมาณและระยะเวลาที่สัตว์ทดลองได้รับสารโทลูอีน โดยอาการที่ตรวจพบมีความหลากหลาย ขึ้นกับชนิดสัตว์ ปริมาณโทลูอีนที่ได้รับและอายุครรภ์ เช่น ทำให้เกิดการแท้ง หรือมีผลให้ลูกที่เกิดมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ อวัยวะที่สำคัญมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ เช่นหัวใจ ตับ ไต และสมอง รวมทั้งมีผลเพิ่มอัตราการตายของทารกก่อนหรือหลังคลอด สัตว์บางชนิดมีความไวกว่าสัตว์อื่น เช่น หนูทดลองจะมีความไวกว่าแฮมสเตอร์ นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อประสาท การได้ยิน และการเจริญของกระดูกโครงร่างช้ากว่าปกติด้วย (อ้างตาม 4) การศึกษาในคนที่ได้รับโทลูอีนจากการสูดดมต่อเนื่อง พบความผิดปกติของรูปร่าง เช่น กระดูกซี่โครงเพิ่มขึ้นซี่ที่ 14 ในกลุ่มที่ได้รับโทลูอีน 1,000 ppm นาน 6 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงที่มารดามีอายุ ครรภ์ 1-17 วัน นอกจากนี้พบความผิดปกติอื่น ๆ คือ ความผิดปกติของใบหน้าคล้ายกับทารกที่มารดาติดสุราในระยะตั้งครรภ์ คือ มีส่วนกลางของใบหน้าแบน กระบอกตาลึก กระดูกที่เชื่อมระหว่างรูจมูกแบน (รูปที่ 1 จาก 5 อ้างตาม 2) การให้กำเนิดทารกที่มีรูปร่างผิดปกติในคนนั้น มีรายงานว่าเกิดจากทารกได้รับโทลูอีนผ่านมดลูกในขณะที่อยู่ในครรภ์ และแม่ไม่สามารถกำจัดสารตกค้างจากโทลูอีนซึ่งไปทำลายไตได้ (รูปที่ 2 จาก 2)

รูปที่ 1 ใบหน้าของเด็กที่ได้รับโทลูอีนผ่านทางมดลูกของแม่ (ภาพนี้นำมาจากวารสาร Teratology 55:145–151 (1997) ซึ่งเจ้าของบทความได้ขออนุญาตเผยแพร่ภาพ จาก Arnold และคณะ (1994) จึงถูกนำมาอ้างอิงในบทความนี้ โดยมิได้ขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน จึงขอให้ระมัดระวังในการนำไปเผยแพร่ต่อ)

          รายงานการศึกษาสาเหตุการแท้งของสตรีมีครรภ์ โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์สตรี 50คน (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 105 ครั้ง) ซึ่งทำงานในโรงงานผลิตลำโพงและได้รับโทลูอีนปริมาณสูง 88 ppm (ช่วง 50-150 ppm) เปรียบเทียบกับสตรีที่ทำงานในแผนกอื่นของโรงงานเดียวกันซึ่งได้รับโทลูอีน(1 ppm หมายถึง มีสารโทลูอีน 1 ส่วน ในสารละลาย 1 ล้าน) ส่วนน้อยมากหรือไม่ได้รับเลย (0-25 ppm) จำนวน 31 คน (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 68 ครั้ง) โดยเปรียบเทียบกับสตรีที่อยู่ในชุมชนทั่วไปที่เข้ารับการรักษาในคลินิกแม่และเด็กหลังการคลอด จำนวน 190 คน เป็นกลุ่มควบคุม (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 444 ครั้ง) พบว่าสตรีกลุ่มที่ทำงานในโรงงานและได้รับโทลูอีน ปริมาณสูง มีอัตราการแท้งสูงถึง 12.4 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง ซึ่งมีอัตราการแท้งสูงกว่าสตรีกลุ่มที่ทำงานในโรงงานเดียวกันซึ่งได้รับโทลูอีนน้อยหรือไม่ได้รับเลย ที่พบว่ามีอัตราการแท้งเพียง 2.9 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง ซึ่งความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนสตรีกลุ่มในชุมชนทั่วไปนั้น พบอัตราการแท้ง 4.5 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง นอกจากนี้ในสตรีกลุ่มที่ได้รับโทลูอีนสูงนั้นเมื่อเปรียบเทียบอัตราการแท้งระหว่างก่อน-หลังเข้าทำงานในโรงงานความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติโดยก่อนทำงานมีอัตราการแท้ง 2.9 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง และมีอัตราการแท้งเพิ่มขึ้นหลังจาก เข้าทำงานในโรงงานเป็น 12.6 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง สตรีเกือบทั้งหมดไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการได้รับสารโทลูอีนของสตรีมีครรภ์ความเสี่ยงต่อการแท้งและสูญเสียทารกในครรภ์ (6) ถึงเวลาที่สิทธิของประชาชนในจังหวัดระยองจะได้รับการปกป้องอย่างแท้จริงหรือยัง เริ่มต้นที่สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร และการชดเชย เยียวยา ที่เป็นธรรม จึงควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีมาให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในการเข้าถึงสิทธิที่ถูกละเมิดมาอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบระบบการปกป้องประชาชนจากภัยพิบัติของโรงงานอุตสาหกรรมที่รัฐเป็นผู้อนุมัติ/อนุญาตและควบคุมการดำเนินการ (7)

รูปที่ 2 เมแทบอลิซีมของโทลูอีน อาศัยการทำงานของเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส(ADH) และอัลดีไฮด์ ดีโฮโดรจีเนส 1 (ALDH1) และ 2 (ALDH2) เพื่อสลายโทลูอีน โดยเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลและกำจัดออกทางปัสสาวะ

เอกสารอ้างอิง

(1) Goodwin, T.M. Toluene abuse and renal tubular acidosis. Obstet. Gynecol. 1988,71:715–718.

(2) Wilkins-Haug, L. Teratogen Update: Toluene, Teratology. 1997, 55:145–151.

(3) Ghantous, H. and Danielsson, B.R.G. Placental transfer and distribution of toluene,xylene and benzene, and their metabolites during getation in mice. Biol. Res.Pregnancy. 1986, 7:98–105.

(4). EPA/635/R-05/004, Toxicological review of toluene (CAS No. 108-88-3), In Supportof Summary Information on the Integrated Risk Information System (IRIS),September 2005. U.S. Environmental Protection AgencyWashington D.C.

(5) Arnold, G., R.S. Kirby, S. Langendoerfer, and Wilkins-Haug , L. Toluene embryopathy:Clinical delineation and developmental followup. Pediatrics. 1994, 93:216–220.

(6) Ng, T.P., Foo, S.C, and Yoong, T. Risk of spontaneous abortion in workers exposedto toluene. Brit. J. Ind. Med.1992, 49:804-808.

(7) (ร่าง) รายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อกรณีข้อร้องเรียนของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 2555 (คณะกรรมการกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างรายงานฉบับสมบูรณ์)__