โดย พรนาราย ทุยยะค่าย นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าสระบุรี
นักการเมืองขายฝัน-ค่าจ้างขั้นต่ำ-รายได้ขั้นต่ำ-คณะกรรมการค่าจ้างกลาง-อนุฯจังหวัด อำนาจอยู่ที่ใคร?
หลังจากที่พรรคการเมืองหลายพรรคได้มุ่งเน้นหาเสียงกับผู้ใช้แรงงาน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมไปสู่อำนาจทางทางการเมือง จากพลังของผู้ใช้แรงงานกว่า 38 ล้านคน ผ่านบัตรเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา และไว้วางใจให้พรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศแบบถล่มทลาย ด้วยนโยบายปรับขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททันทีเท่ากันทั่วประเทศ” พร้อมกับโปรยหาเสียงกับนักศึกษาที่กำลังจะจบวุฒิปริญญาตรี หรือแรงงานที่จบปริญญาตรีทุกคนได้เงินเดือน 15,000 บาท สร้างความหวังให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศว่าจะมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังสร้างความฝันอันน่าชื่นชมอีกว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าค่าจ้างขั้นต่ำต้องได้วันละ 1,000 บาท แรงงานมองอนาคตด้วยความหวังให้กับลูกหลานว่า จบการศึกษามาจะมีความมั่นคงในรายได้แน่นอน
แต่เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23-24 สิงหาคม ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นว่าฟ้าผ่ากลางวันลงกลางใจของผู้ใช้แรงาน ถึงกับฝันสลายมลายลงทันตา เมื่อนโยบาย”ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททันทีเท่ากันทั่วประเทศ” กลายเป็น “มีรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน” และรายได้ปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 15,000 บาทเริ่มจากข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ทำแรงงานต่างมึนงงว่า เกิดอะไรขึ้น กับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีประกาศหาเสียงไว้ ทั้งที่ความหมายของทั้งสองคำนั้นต่างกันอย่างมาก หรือผู้ที่กุมอำนาจบริหารจากการนำของนายกยิ่งลักษณ์ มองผู้ใช้แรงงานเพียงเสมือนเศษฝุ่นดินที่ไร้ค่า การศึกษาต่ำ กล้าที่จะใช้วาทศิลป์ในการผลิกลิ้นหลอกล่อแรงงานในความหมายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ กลับมีรายได้ความหมายเดียวกัน (คงเห็นว่าเราโง่สินะ) ขอให้ผลสรุปรายได้ที่ 300 บาทต่อวันก็เพียงพอแล้ว จะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำหรือรายได้ขั้นต่ำก็ 300 บาทเหมือนกัน กระนั้นหรือ
เรื่องการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78 ให้มีคณะกรรมการค่าจ้างประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลสี่คน ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละห้าคน เรียกว่าคณะกรรมการไตรภาคี โดยให้อำนาจที่สำคัญคือ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่าควรจะเป็นเท่าใด และจากองค์ประกอบของคณะกรรมการค่าจ้างแล้ว ยังไม่เห็นว่า “นักการเมือง” จะมีที่นั่งในคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อร่วมกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำได้ รวมทั้งยังให้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้างในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อพิจารณาเสนอแนะกำหนดอัตราค่าจ้างในแต่ละจังหวัด ส่งให้กับคณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาอีกครั้ง
ที่ผ่านมา การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย มีความบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงมาก โดยพยายามกระจายอำนาจให้กับคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด หรือที่เรียกว่า อนุฯค่าจ้างจังหวัด ให้พิจารณาเสนอแนะตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อในจังหวัด ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างรวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจว่า ได้ตัวเลขใดก็ให้ส่งไปให้กับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยมีหลายระดับ โดยข้ออ้างทั้งรัฐ และนายจ้างเป็นเสียงเดียวกันว่า ในแต่ละจังหวัดค่าครองชีพไม่เท่ากัน จึงควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกัน
ความเป็นจริงพบว่า ราคาสินค้าและบริการระหว่างในกรุงเทพมหานคร กับต่างจังหวัดไม่แตกต่างกัน มิหนำซ้ำสินค้าจำเป็นบางชนิด ในต่างจังหวัดกลับมีราคาที่สูงกว่ากรุงเทพฯด้วยซ้ำไป เช่น ราคาน้ำมันเป็นต้น รวมทั้งยังพบว่า อำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างของอนุฯค่าจ้างจังหวัดนั้น ไม่มีผลใดๆ และไม่มีอำนาจ ในการพิจารณาปรับขึ้นหรือกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเลยแม้แต่น้อย กลับเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่สร้างความชอบธรรมที่รัฐและนายจ้างอ้างการมีส่วนร่วมของทั้งสามฝ่าย เป็นการนำเสนอร่วมกันของอนุฯค่าจ้างแต่ละจังหวัด หากมีการเสนอปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย คณะกรรมการค่าจ้างกลางมักเห็นชอบให้ขึ้นตามที่เสนอมา แต่หากจังหวัดใดขอปรับตัวเลขค่าจ้างมากทั้งๆ เช่นอนุฯค่าจ้างจังหวัดสระบุรีที่เสนอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่วันละ 441 บาท ซึ่งเป็นมติร่วมกันของอนุฯทั้งสามฝ่าย และหลายครั้งที่เสนอ ก็มักจะถูกคณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดทอนลงมา โดยไม่เคยมีมติปรับให้ตามอนุฯค่าจ้างจังหวัดเสนอ
มิหนำซ้ำการแต่งตั้งของอนุฯค่าจ้างจังหวัด ในจังหวัดที่ไม่มีองค์กรสหภาพแรงงานนั้น การเป็นตัวแทนจะแต่งตั้งฝ่ายบุคคล หัวหน้างานของบริษัท เรียกอีกนามก็เป็นตัวแทนนายจ้างมาเป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ทำให้องค์ประกอบของคณะอนุฯค่าจ้างจังหวัดผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ ทำให้ลูกจ้างในจังหวัดนั้นๆ ได้รับผลร้ายอย่างมากที่ได้ตัวแทนที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างอย่างแท้จริง ในบางจังหวัดเพียงได้นั่งโต๊ะร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็รู้สึกเป็นเกียรติอันสูงสุด จนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น หรือขัดแย้งคัดง้างแนวคิดการข้อเสนอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อาจลืมไปด้วยซ้ำว่าเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานทั้งจังหวัด
ดังนั้นจึงควรจะยกเลิกคณะอนุฯค่าจ้างจังหวัดให้เหลือเพียงคณะกรรมการค่าจ้างกลางเพียงคณะเดียวจะดีกว่า และท้ายที่สุดควรจะยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ และให้กำหนดปรับขึ้นค่าจ้างในแบบก้าวหน้า หรือใช้โครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจนเป็นระบบขั้นบันได เหมือนกับข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เพื่อความมั่นคงทางรายได้ของผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช้ปล่อยให้นายทุนเอาเปรียบจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตลอดชีวิต ไม่ว่าจะทำงานมานานหลายสิบปี รอเพียงการเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากนโยบายรัฐอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามการที่นักการเมืองใช้กลอุบายหลอกล่อหาเสียงกับผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ประชาชนที่รุมกันเลือกให้เข้ามาบริหารบ้านเมืองแล้วก็ตาม แต่พรรคเพื่อไทยต้องสำนึกด้วยว่า นโยบายที่ท่านได้หาเสียงไว้นั้น เป็นสัญญาประชาคมที่สร้างความคลาดหวังให้กับประชาชน ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานมานาน แต่ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีจากนายจ้าง ต่างรอความหวังในการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ซึ่งมีเป็นจำนวนไม่น้อย และคำประกาสนโยบายของรัฐบาลว่า ต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทเมื่อวันนั้น และต้องดูจากผลิตภาพแรงงาน หมายถึง ผู้ที่สมควรมีรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทนั้น ต้องมีทักษะฝีมือและประสบการณ์ในการทำงาน คำถามก็คือ แล้วคนงานที่กวาดถนน ตัดหญ้า และอื่นๆที่ทำงานมาเป็นเวลานับสิบๆปี โดยไม่เคยได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างเลย อย่างนี้จะถือว่าสมควรได้รับรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาทหรือยัง?
////////////////////////////////////////////////