เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญาILO8798 ซึ่งมาจากองค์กรแรงงาน จำนวน 26 องค์กร ร่วมยื่นหนังสือ ขอสนับสนุน การลงนามให้สัตยาบัน ไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ98 พร้อมกันทั้ง 2 ฉบับ ต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน และดร.สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน และคณะ ที่สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 6 มีนาคม 2567
นายประสิทธิ์ ประสพสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายขับเคลื่อนILO8798 กล่าวว่า ตามที่ท่านได้ลงนาม คำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO ) ฉบับที่ 87ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ.1948 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ.1949 สั่ง ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน2566 นั้น ในนามเครือข่ายฯ ต้องขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการที่รัฐบาลไทยมีความจำเป็นในการลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นเวลากว่า 100 ปีของการก่อตั้ง ILO และประเทศไทยในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) และเป็นเวลากว่า 30 ปีที่ขบวนการแรงงานไทยเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ให้รับรองอนุสัญญาไอแอลโอทั้ง 2 ฉบับมาโดยตลอดแต่ยังไม่มีรัฐบาลชุดใดสมัยใด ให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างจริงจังในความพยายามต่อการลงนามให้สัตยาบัน ในวาระสมัยของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นรัฐบาลที่ให้ความเคารพในเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เครือข่ายฯจึงมีความคาดหวังอย่างยิ่งที่จะเห็นประเทศไทยภายใต้การนำของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และดร.สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานกรรมาธิการ การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากพรรคเดียวกัน คือพรรคภูมิใจไทย จะสามารถผลักดันให้รัฐบาลชุดปัจจุบันลงนามรับรอง อนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 และ98 พร้อมกันทั้ง 2 ฉบับ จนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อันใหญ่หลวงต่อประชาชนคนทำงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้มีความมั่นคงในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านสิทธิแรงงานในสายตาประชาคมโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตรุดหน้าต่อไป
นายประสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลลงนามให้สัตยาบัน อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ โดยเร็วก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) หรือEU ที่ประเทศไทยซึ่งจะมีการเจรจาเรื่องFTA (Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรี ในเดือนพฤศจิกายนที่ประเทศไทย เนื่องจากในEUมีข้อกำหนดอยู่แล้วว่าควรต้องมีการให้สัตยาบันดังกล่าวด้วย ไม่อยากให้การลงนามเป็นการบังคับ อยากให้เป็นความต้องการของรัฐไทยในการดูแลและคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยไม่ใช่การกำหนดจากปัจจัยภายนอก เพื่อการยอมรับของนานาประเทศด้วย หากเป็นไปได้ขอให้มีการเร่งรัดในการลงนามโดยเร็ว ภายใน 1 พฤษภาคม 2567 ประกาศเป็นของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงาน ในวันกรรมกรสากล หรือวันแรงงานแห่งชาติ หรือลงนามในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 วันงานที่มีคุณค่า ได้เห็นถึงความปรารถนาดีและความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐไทย ในการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน คนทำงานมาโดยตลอด ขอให้กำลังใจและแสดงความสนับสนุนการทำงานละช่วยผลักดันให้รัฐบาลไทย เร่งลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองร่วม ให้เกิดความสำเร็จสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO ) ฉบับที่ 87และฉบับที่ 98 และแบ่งเป็น 2 ชุดเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ โดยจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคงมีการส่งหนังสือเวียนไปยังกระทรวงต่างๆแล้วจะมีการตอบรับILO ฉบับที่87 หรือฉบับที่98 ซึ่งก็ต้องดูอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในยุคของรัฐบาล นายกเศรษฐา ทวีสิน จะพยายามให้การลงนามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับให้ได้แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นอำนาจกระทรวงแรงงานเพียงกระทรวงเดียว ก็ต้องดูความคิดเห็นของอีกหลายกระทรวงด้วย
ด้านดร.สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องของอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 นั้นทางคณะกรรมาธิการการแรงงานให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ด้วยเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นาน ซึ่งก็ได้เรื้อในส่วนของกฎหมายแรงงาน ซึ่งตอนนี้กำลังมีการรวบรวมกฎหมายแรงงานทั้งหมดและเป็นสิ่งที่ทันสมัย ซึ่งเรื่องILO เป็นกติกาทางสากลที่ต้องมาทำ ซึ่งก็ต้องดูเรื่องผลกระทบของทุกฝ่ายรวมถึงกฤษฎีกาก่อน ซึ่งตนเห็นด้วยกับการลงนามILO ฉบับที่ 87 และ98อยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องดูประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนี้ว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง ซึ่งตอนนี้ได้มีการเสนอให้มีสภาแรงงานจังหวัด หรือสภาคนทำงาน ซึ่งก็ต้องมีในรายละเอียดด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายแรงงานที่ใหญ่โตมากขึ้น และรวมในระดับประเทศก็จะเหมือนกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือILO เช่นกัน เพื่อให้เกิดสิทธิการมีส่วนร่วมและได้รับการยอมรับ มีโอกาสในการรวมตัว เป็นการเริ่มต้นของคณะกรรมาธิการ การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ 26 นี้
หมายเหตุ : เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญาILO 8798 ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรแรงงานต่างๆทุกภาคส่วน ในทุกระดับชั้น จำนวน 26 องค์กรได้แก่ 1) สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยายนต์แห่งประเทศไทย 3) สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย 4) สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย 5) สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย 6) สภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 7) สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน 8) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย 9) สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย 10) สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย 11) สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย 12) สหภาพคนทำงาน 13) สมาพันธ์แรงงานเด็นโซ่แห่งประเทศไทย 14) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 15) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) 16) สมัชชาแรงงานแห่งชาติ 17) สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย 18) โซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ประเทศไทย 19) สหพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่โตโยต้า 20) สมาพันธ์แรงงานอีซูซุประเทศไทย 21) สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) 22) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ 23) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 24) สหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย 25) Bright future 26) กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน