แรงงานแถลงกำหนดการจัดงานสมัชชาแรงงาน 54

คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ,คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน  ร่วมกันกำหนดจัดเวทีสมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2554 เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
เนื่องจากปัจจุบัน ระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นความคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิและบริการ รวมถึงระบบการรองรับ เพื่อให้คนทำงานได้รับบริการอย่างเป็นธรรมตามสิทธิพื้นฐานภายใต้กรอบสวัสดิการที่มีอยู่ เช่น ระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ยังไม่ได้เอื้อให้เกิดความคุ้มครองทางสังคมต่อคนทำงานได้ตามหลักการและวัตถุประสงค์ ทั้งในความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ แม้แต่แรงงานในระบบซึ่งมีสถานะ การจ้างงานที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายก็ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ด้วยสาเหตุและอุปสรรคในการเข้าถึงหลายประการ โดยไม่ต้องกล่าวถึงระดับการคุ้มครองทางสังคมที่แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติไม่เคยได้รับ เนื่องจากถูกขีดวงออกจากระบบประกันสังคม ด้วยเหตุจากปัญหาการยอมรับสถานภาพการจ้างงาน และเงื่อนไขทางกฎหมายของประเทศ เป็นต้น  ซึ่งเห็นได้จากสถิติการเข้าถึงระบบประกันสังคมไทยมีเพียง 9 ล้านกว่าคนเท่านั้น ทั้งที่กำลังแรงงานไทยมีมากกว่า 36 ล้านคน
แม้ระบบประกันสังคมไทยจะดำเนินการมากว่า 20 ปี และได้สร้างคุณูปการหลายประการ ทั้งการขยายสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้นในกลุ่มแรงงานในระบบ หรือกรณีของความครอบคลุมที่ขยายไปถึงในกลุ่มแรงงานนอกระบบ รวมถึงการมีส่วนร่วมของรัฐในการสมทบเงิน แบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ระบบประกันสังคมไม่ได้สอดคล้องและเท่าทันต่อสถานการณ์ด้านแรงงาน ยังมีประเด็นที่เป็นช่องว่างทำให้ผู้ประกันตนต้องประสบปัญหาอยู่หลายประการ  อาทิ กฎเกณฑ์บางข้อได้กีดกั้นผู้ประกันตนในการเข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองที่ควรจะได้รับ แม้งบประมาณส่วนใหญ่จะมาจากการจ่ายเงินสมทบโดยผู้ประกันตน แต่การบริหารจัดการยังขาดการมีส่วนร่วม การตรวจสอบโดยผู้ประกันตนอย่างเพียงพอ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องผลักดันให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็น“ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส” โดยมีเหตุผลสำคัญ ได้แก่
1.  เพื่อให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมตรวจสอบและเกิดความเป็นเจ้าของกองทุนอย่างแท้จริง หลีกเลี่ยงการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองผ่านการใช้อำนาจของรัฐมนตรี เลขาธิการ สปส. และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
2.  กองทุนประกันสังคมมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  แรงงานผู้เกี่ยวข้องกว่า 9 ล้านคนต้องจ่ายเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด  ไม่ใช่เงินทุนของรัฐบาลที่มาจากภาษีจากประชาชนฝ่ายเดียว  จึงไม่ควรบริหารงานรวมศูนย์แบบหน่วยราชการ แต่ควรมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระคล่องตัว โปร่งใส เข้มแข็งมั่นคง และสะดวกต่อการบริการประชาชน
3.  สำนักงานประกันสังคมมีภารกิจในการขยายความคุ้มครองให้กว้างขวางขึ้น  โครงสร้างและกฎหมายเดิมมีข้อจำกัด ไม่สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.  เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่  ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านบริหารการเงินการลงทุน
จึงขอเรียนเชิญผู้ใช้แรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ สื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมเวที สมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2554 ครั้งนี้คลาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1,000 กว่าคน โดยมีกิจกรรม 1. เวทีสร้างการเรียนรู้ระดับกลุ่ม เครือข่าย กลุ่มย่าน และองค์กรแรงงาน (สหภาพ สหพันธ์ สภาแรงงาน) 2. จัดตั้งคณะกรรมการจัดงานและประชุมวางแผนการขับเคลื่อนวาระสังคมโดยการมีส่วนร่วมของผู้แทนทุกภาคส่วน 3. พัฒนาข้อมูลและงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการรณรงค์และสร้างการเรียนรู้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานและสังคมผ่านกลไกเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายองค์กรแรงงานในระบบ เครือสื่อมวลชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ และ 4. จัดเวทีสมัชชา ประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง ระบบประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตคนทำงาน และการสัมมนากลุ่มย่อย:
กำหนดการเวทีสมัชชาแรงงานฯ ในครั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดเวทีสมัชชาแรงงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประกันสังคม กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” และเครือข่ายแรงงานยื่นเจตนารมณ์การปฏิรูปประกันสังคม ต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้นพบกับ เวทีเสวนา: ทิศทางการปฏิรูปประกันสังคมกับการคุ้มครองคุณภาพชีวิตคนทำงานทุกภาคส่วน โดย
คุณปั้น วรรณพินิจ  เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
คุณอำพล สิงหโกวินทร์  อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
คุณสถาพร มณีรัตน์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย
คุณนคร มาฉิม  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปปัตย์,
คุณสุรัตน์ จันทร์วันเพ็ญ  คณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง
คุณประสิทธิ์ จงอัศญากุล  คณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายนายจ้าง
นพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย
รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหฒ่
รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สังศิต  พิริยะรังสรรค์  ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
รวมถึงผู้นำแรงงานอีกหลายท่าน  เช่น คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คุณมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย คุณสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. คุณอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ
ดำเนินรายการโดย  คุณนาตยา แวววีรคุปต์  ผู้สื่อข่าวทีวีไทย  และ คุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา  นักวิชาการด้านแรงงาน
จากนั้นช่วงบ่ายจัดสัมมนากลุ่มย่อย ในประเด็น 1. การขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ: ความเป็นธรรมกับมิติทับซ้อน /สิทธิประโยชน์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ/รัฐร่วมจ่าย 2. แรงงานในระบบ : การมีส่วนร่วมและการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ภายใต้พลวัตรการจ้างงานที่เปลี่ยนไป/ ปฏิรูปประกันสังคมสู่องค์กรอิสระ /โครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม /คณะกรรมการตรวจสอบ /การขยายสิทธิประโยชน์/ขยายการคุ้มครอง 3. แรงงานข้ามชาติ : สิทธิประโยชน์และระบบการจัดการที่เหมาะสม /อัตราการจ่ายเงินสมทบที่เหมาะสม /สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ และ 4. ทิศทางระบบสุขภาพไทย : ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ระบบประกันสังคม /การขยายสิทธิประโยชน์สู่คู่สมรสและบุตร /อัตราการจ่ายเงินสมทบเพิ่ม หลังจากนั้นก็เปิดเวที แลกเปลี่ยน สรุปผล คณะตัวแทนสมัชชาแรงงานฯ กล่าวมอบมติการประชุมสมัชชาแรงงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิธีมอบมติการประชุมสมัชชาแรงงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับมอบมติการประชุมฯ และกล่าวรับมอบ
มติสมัชชาแรงงาน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////