แรงงานเสนอมติปฏิรูปประกันสังคมต่อรมว.แรงงาน

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นความคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิและบริการ รวมถึงระบบการรองรับเพื่อให้คนทำงาน ได้รับบริการอย่างเป็นธรรมตามสิทธิพื้นฐานภายใต้ระบบประกันสังคม ที่ไม่เอื้อให้เกิดความคุ้มครองทางสังคมต่อคนทำงาน แม้ระบบประกันสังคมไทยจะดำเนินงานมากว่า 20 ปี และมีพัฒนาการทั้งที่เกี่ยวข้องกับกฏหมาย การบริหารจัดการกองทุน ตลอดจนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในหลายด้าน 
 
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันระบบประกันสังคมยังไม่สอดคล้อง หรือเท่าทันต่อสถานการณ์ด้านแรงงาน กล่าวคือ 
 
1. กฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดยกเว้นกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่น คนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในงานเกษตรฤดูกาล หาบเร่แผงลอย
 
2. สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยยังหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม
 
3. การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน
 
4. การบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อันประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน  เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และคณะกรรมาธิการการแรงงาน จึงได้จัดสมัชชาแรงงานระดับชาติ : ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน พ.ศ. 2554 มีการเตรียมการต่อเนื่องกันมาโดยลำดับ และมีการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2553 ถึง มกราคม 2554 
 
ที่ประชุมมีมติในเรื่อง การบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิดความถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส ดังต่อไปนี้
 
1.ขอให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการดังต่อไปนี้ 
 
1.1 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาวิจัยการบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิดความถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส รวมทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของกลไกการบริหารจัดการระบบประกันสังคมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีตัวแทนคณะกรรมการศึกษาวิจัยที่มาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คนทำงานด้านแรงงาน และตัวแทนจากแรงงาน ที่เกี่ยวข้องกับกลไกต่างๆดังกล่าว โดยเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในสังคมอย่างกว้างขวาง และพัฒนาให้เกิดกลไกการขับเคลื่อน และกระบวนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพร่วมกันของเครือข่ายด้านแรงงาน แล้วนำผลการศึกษาที่ได้พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาระดับสาธารณะต่อไป
 
1.2 ทบทวนกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการด้านระบบประกันสังคม 
 
2. ขอให้รัฐบาล ดำเนินการดังต่อไปนี้
 
2.1 สนับสนุนกระบวนการสมัชชาแรงงานแห่งชาติด้านประกันสังคม ให้เป็นกลไกนโยบายสาธารณะเพื่อการผลักดันและการพัฒนาระบบประกันสังคมให้สอดคล้องกับหลักการความถ้วนหน้า อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม 
 
2.2 ขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมคนงานทุกกลุ่มอาชีพ
 
2.3 เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม 
 
2.4 กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
 
2.5 สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
 
2.6 การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ต้องเป็นไปอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นธรรม มีกลไกการตรวจสอบ และบริหารจัดการโดยมีออาชีพ
 
2.7 ฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบให้ขึ้นกับค่าจ้างของผู้ประกันตนแต่ละราย
 
2.8  ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพที่มิใช่เนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน
 
2.9  ผู้ประกันตนมีสิทธิใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่ง ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม
 
2.10 ผู้ประกันตน มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์
 
2.11 ผู้ประกันตนที่ว่างงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน และให้ขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเป็นเวลา 1 ปี
 
2.12 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 1 เท่า และรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า 
 
2.13 ผู้ประกันตนที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 40 ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
 
2.14 พัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 ให้เท่าเทียมกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์อื่นให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน 
 
2.15 การได้รับหลักประกันสังคม จะต้องไม่ตัดสิทธิของคนทำงานจากระบบสวัสดิการสังคมอื่นๆ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , กองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ
 
2.16 ให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภาวะการจ้างงานในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น กรณีการว่างงาน และชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติ  
 
2.17 เพิ่มบทลงโทษกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ 
 
2.18 ให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 2 ปี
/////////////////////////////////////////////////////