แรงงานเริ่มรณรงค์ล่าลายมือชื่อผลักดันรัฐปรับค่าจ้าง 300 บาท

เครือข่ายแรงงาน ส่งจดหมายเวียน ถึงผู้นำแรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง สมาชิกคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมถึงผู้ใช้แรงงาน ภาครัฐและเอกชน ให้ร่วมลงชื่อทวงถามนโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย 

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรม ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ มีความเห็นว่า นโยบายดังกล่าวนั้นเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง 300 บาท ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

จากการสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตรายวันของผู้ใช้แรงงานที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีการนำเสนอร่วมกับเครือข่ายแรงงาน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 พบว่า ผู้ใช้แรงงาน 1 คนมีค่าใช้จ่ายรายวันประมาณ 348 บาท และค่าใช้จ่ายรายวันของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวรวม 3 คน ประมาณ 562 บาท ซึ่งตามหลักการอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเป็นค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของแรงงานและสมาชิกในครอบครัวอีกสองคน ฉะนั้นค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงจะต้องสูงกว่านี้

เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมเห็นว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี อยู่ได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาสูง และจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตด้วยการส่งเสริม การปกป้องอุตสาหกรรมส่งออก ที่อาศัยการใช้แรงงานเข้มข้นราคาถูก มองข้ามความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน ที่มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากในสังคมมานานหลายสิบปี กับการใช้นโยบายกดค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องอยู่ในภาวะคุณภาพชีวิตที่ต่ำ มาสู่นโยบายการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ค่าจ้างที่เป็นธรรมเป็นเครื่องมือ อันจะทำให้เราสามารถสร้างอำนาจซื้อสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมกับจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางสังคม

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมารนฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า การณรงค์ครั้งนี้เป็นการรักษาสิทธิของประชาชน ตามที่พรรคเพื่อไทยซึ่งถือเป็นแกนนำของรัฐบาล ได้ประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่เกี่ยวกับพี่น้องผู้ใช้แรง คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน 300 บาท ทันที ทั่วประเทศ และการปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทนั้น  นโยบายดังกล่าวถือ เป็นความคาดหวังของผู้ใช้แรงงานในการที่พรรคเพื่อไทย ในนามรัฐบาลจะต้องนำมาปฏิบัติ แต่มาวันนี้ผู้ใช้แรงงานเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่น ในความไม่ชัดเจนที่จะปฏิบัติจริง หรือความไม่จริงใจของรัฐบาล มีความคลุมเครือตั้งแต่การประกาศนโยบายจากการปรับขึ้นค่าแรง เป็นการเพิ่มรายได้และมีเสียงทัดทานจากนายจ้าง ผู้ประกอบการ กลุ่มทุนต่างๆ โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า โดยอ้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น ซึ่งสร้างความสับสนให้กับสังคมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเขาแค่ขาดทุนกำไรเล็กน้อย เนื่องค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงที่แรงงานจะสามารถอยู่ด้วยการทำงานเพียง 8 ชั่วโมง โดยไม่มีการทำงานล่วงเวลา และสิ่งที่กังวลคือ รัฐบาลต้องมีมาตรการ การที่จะให้พี่น้องแรงงานมาแบกรับภาระไว้คงไม่เป็นธรรม เพราะถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกำกับดูแลเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปดูว่าราคาข้าวของที่ปรับขึ้นนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ วันนี้เครือข่ายฯ ได้ออกจดหมายเวียนส่งให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้นำแรงงาน สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงาน สภาองค์การแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐและรัฐวิสาหกิจ องค์กรประชาชน  ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงกับประชาชน ตามแบบฟอร์มลงชื่อนี้ โดยส่งรายชื่อกลับมายัง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เลขที่ 503/20 ถนนนิคมรถไฟมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรสาร 02-2513170 และอีเมล์ tlsc.labour@gmail.com หรือที่สภาพแรงงาน/สหพันธ์แรงงาน/สมาพันธ์แรงงาน/กลุ่มสหภาพแรงงาน/สภาองค์การลูกจ้าง/กลุ่มองค์กรแรงงาน/กลุ่มองค์กรประชาชน ที่ท่านสังกัด ภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2554 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำเสนอต่อรัฐบาลในการรณรงค์วัน Decent Work วันที่ 7 ตุลาคม 2554 นี้   

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน