แรงงานเทียบนโยบายรัฐบาลปู1 กับอดีตรัฐบาลมาร์ค

โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษย์ ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

เครือข่ายแรงงานเปรียบเทียบนโยบายรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ (ปู) กับรัฐบาล อภิสิทธิ์ (มาร์ค) ด้านสวัสดิการสังคม พบรัฐบาลปูเขียนไว้กว้าง ไม่ลงรายละเอียด จับต้องตรวจสอบยาก ผิดกับรัฐบาล มาร์ค เขียนไว้ละเอียดระบุชัดตรวจสอบได้

จากคำแถลงนโยบายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23สิงหาคม 2554 ในหน้า 28-29 ข้อ 4 เรื่องนโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต ข้อย่อย 4.2 เรื่องนโยบายแรงงาน ซึ่งระบุไว้จำนวน 7 ข้อ เมื่อมาพิจารณาสาระสำคัญพบว่า มีความโน้นเอียงไปที่การมอง “แรงงาน” ในฐานะ “ปัจจัยการผลิต” ที่จะทำให้ประเทศมีความเจริญเติบโตในด้านอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เน้นไปที่การส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ ผ่านการพัฒนา/ยกระดับผีมือแรงงาน ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ รวมถึงการสร้างปัจจัยเพื่อดึงดูดแรงงานมีฝีมือเข้าประเทศ ไปพร้อมๆกับการควบคุมแรงงานระดับล่างจากประเทศเพื่อนบ้าน 

แต่เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่ขาดหายไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือเรื่อง “สวัสดิการสังคม” โดยรัฐบาลชุดนี้ ให้ความสำคัญเพียงเรื่องของ ความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมของกลุ่มในระบบ และนอกระบบให้มากขึ้น เพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นภาพกว้างมาก ไม่มีการลงรายละเอียดถึงการคุ้มครองแรงงานแต่ละกลุ่มที่มีบริบทและความซับซ้อนของปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างสวัสดิการสังคมเพื่อคุ้มครองแรงงาน ผ่านการจำแนกตามประเภทของแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ และแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ นี้ไม่นับการให้ความสำคัญกับแรงงานหญิง แรงงานผู้สูงอายุและแรงงานผู้พิการ (ดูได้จากเอกสารประกอบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 – 2554 นโยบายที่ 3 หน้า 25-29 )
รวมทั้งยิ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับนโยบายด้านแรงงาน การสร้างงาน และสวัสดิการสังคมของพรรคเพื่อไทยโดยตรง ที่กลับระบุชัดเจนในเรื่องนี้ โดย
เฉพาะการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสังคมประเภทต่างๆ ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายด้านแรงงานให้เกิดความเป็นธรรม  
 
แน่นอนในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มิได้หมายความว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะสามารถดำเนินการได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ตามนโยบายที่แถลงไว้ อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า มีความก้าวหน้าในประเด็นนโยบายด้านแรงงานหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
 
–   การประกาศใช้ พรพราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2554
–   การประกาศใช้ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
–   การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 จาก 3 สิทธิประโยชน์ เป็น 5 สิทธิประโยชน์
–   การเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เมื่อมิถุนายน 2554 ที่รวมถึงการคุ้มครองบุตรและผู้ติดตาม
–   การทำ MOU ร่วมระหว่างกระทรวงแรงงานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติด้านการจัดหางานและคุ้มครองแรงงานจากการถูกกดขี่และแสวงหาประโยชน์
    ฯลฯ
แต่แน่นอนภายใต้ความก้าวหน้า มีความถดถอย มีความไม่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น
 
–  การที่รัฐบาลไทยยังไม่รับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98
–  การที่กระทรวงแรงงานยังไม่ประกาศใช้กฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน 
–  การบริหารกองทุนประกันสังคมยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส มีการแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุน
–  สถานประกอบการหลายแห่งยังมีการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง ประธาน และกรรมการสหภาพแรงงานที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในการจ้างงาน
–  การยึดหนังสือเดินทางแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา
   ฯลฯ
 
สถานการณ์เหล่านี้คือชะตากรรมที่ผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่านโยบายจะเขียนไว้สวยหรูเพียงใดก็ยังต้องเผชิญซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำถามสำคัญ เราจะปล่อยให้ชะตากรรมผู้ใช้แรงงานอยู่ภายใต้นโยบายรัฐบาลไทย หรือเราจะร่วมกันทำให้นโยบายรัฐบาลไทย ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตามเป็นนโยบายแรงงานที่ “กินได้” และ “เป็นธรรม” จริง ผ่านการสร้างสังคมที่เป็นธรรมสำหรับผู้ใช้แรงงานผ่านสองมือสองเท้าของเราเอง….
 
                                                                เปรียบเทียบนโยบายแรงงาน
 

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

(1) ส่งเสริมให้ผู้ต้องการมีงานทำในระบบ สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตำแหน่งงานว่างของสถานประกอบการได้โดยสะดวก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สถานประกอบการสามารถรับทราบข้อมูลของผู้ต้องการมีงานทำได้ทุกระดับความต้องการ และส่งเสริมให้แรงงานที่อยู่นอกระบบสามารถเลือกและมีงานทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมกับสถานะ

ไม่มีนโยบายเรื่องนี้

(2) ให้การคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน และดูแลหลักประกันความมั่นคงในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน

(2) ดำเนินการให้แรงงานทั้งในและนอกระบบได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานไทย โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพการจ้างงาน โดยการส่งเสริมให้สถานประกอบการผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการปฏิบัติต่อแรงงานด้านสิทธิและคุ้มครองให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล

(3) ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

(3) สนับสนุนสวัสดิการด้านแรงงาน โดยจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน จัดให้มีสถานดูแลเด็กอ่อนในสถานประกอบการ และเพิ่มศักยภาพกองทุนเงินทดแทนในการดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน รวมทั้งจัดระบบดูแลด้านสวัสดิการแรงงานของกลุ่มแรงงานนอกระบบ และส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในระบบไตรภาคีเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้าง นายจ้างและภาครัฐ

(4) เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้มากขึ้นเพื่อผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง และปรับปรุงแนวทางการขยายความคุ้มครองและส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการประกันตนของแรงงานนอกระบบ

(4) ปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคงให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน

(5) เร่งยกระดับแรงงานไร้ฝีมือให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือให้เป็นแรงงานมีฝีมือ โดยภาครัฐจะทำ งานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้แรงงานมีฝีมือทั้งระบบ

(5) พัฒนาและฝึกอบรมแรงงานทุกระดับให้มีความรู้และทักษะฝีมือที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้วยการระดมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในลักษณะโรงเรียนในโรงงานและการบูรณาการกับสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาฝีมือแรงงาน

(6) เตรียมการรองรับการเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยเน้นระบบบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ จัดระบบอำนวยความสะดวก และมาตรการการกำกับดูแล ติดตามการเข้าออกของแรงงานทุกประเภทเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีฝีมือเข้าประเทศควบคู่กับการป้องกันผลกระทบจากการเข้าประเทศของแรงงานไร้ฝีมือ

ไม่มีนโยบายในเรื่องนี้

(7) กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยคำนึงถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชนและการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ

(7) จัดระบบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต ไม่กระทบต่อการจ้างแรงงานไทย และความมั่นคงของประเทศ โดยการจัดจำแนกประเภทงานที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำ และการจัดระบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าวการขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และการจัดทำทะเบียนแรงงานต่างด้าวและระบบการตรวจสอบที่สะดวกต่อการควบคุม

ไม่มีนโยบายในเรื่องนี้

ส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการสนับสนุนด้านสินเชื่อการไปทำงานในต่างประเทศ การฝึกอบรมทักษะฝีมือและทักษะการใช้ภาษา การสร้างหลักประกัน การคุ้มครองดูแลการจัดส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ และการติดตามดูแลมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบระหว่างการทำงานในต่างประเทศ

ไม่มีนโยบายในเรื่องนี้

ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุและคนพิการ โดยการกำหนดให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมตามความสามารถของผู้สูงอายุและคนพิการ อาทิ การทำงานแบบบางเวลา การทำงานชั่วคราว การทำงานแบบสัญญาระยะสั้น รวมทั้งการขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน

 
ดูคำแถลงนโยบายยิ่งลักษณ์ทั้งฉบับได้ในไฟล์ที่แนบมา (นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (1))
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ (ป่าน) prachachon_thai@hotmail.com และ policy.communicate@gmail.com