แรงงานเดือด !! เผาโลงประท้วงส.ส.ไม่รับร่างประกันสังคมฉบับประชาชน

ตัวแทนแรงงาน ภาคประชาชน นิสิตนักศึกษาพร้อมใจเดินรณรงค์วางหรีด ดอกไม้จันทน์ เผาโลงศพจำลองประท้วงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่โหวตไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ ร่วมแถลงประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง” แถมตั้งข้อสังเกตุส.ส.กลัวถูกตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการบริหารสำนักงานประกันสังคม หรือหวังถลุงเงิน1.1 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ขบวนการแรงงานนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ร่วมภาคประชาชน นักศึกษา กว่า 1,000 คนได้ จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปยัง หน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต  กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันเดินรณรงค์ประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง”กรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ

DSCN4940DSCN4943

นายธิวัชร์ ดำแก้ว เลขาธิการศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย กล่าวว่าได้ออกแถลงการณ์คัดค้านสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมที่ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้เสนอ ด้วยสภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย มีหน้าบัญญัติกฎหมายเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชน  แต่การลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงานและประชาชนนั้นมีเจตารมณ์ที่จะปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของผู้ประกันตน สร้างอำนาจให้กับผู้ใช้แรงงานในการเข้าร่วมเป็นกรรมการกองทุนประกันสังคม เพิ่มความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกองทุนที่มีงบประมาณที่มาจากหยาดเหงื่อ แรงงานของผู้ใช้แรงงานร่วมการสมทบของนายจ้างกว่า 1.1 ล้านล้านบาท รวมทั้งการเพิ่มการคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในการเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากแต่ข้อสำคัญที่อาจเป็นเหตุในการตัดสินใจลงมติไม่รับหลักการของสภาผู้แทนราษฎรก็คือ “ การที่ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงานฉบับนี้มุ่งให้เกิดการสร้างความเป็นอิสระขององค์กรให้ปราศจากอำนาจของฝ่ายการเมอง” 

สถานการณ์ด้านประชากรของประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีอัตราการเกิดที่ลดลงทำให้กำลังแรงงาน เข้าสู่ตลาดปีหนึ่งๆเพียงประมาณ 700,000 คนเท่านั้น ขณะเดียวกันคนสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2553 ก็มีประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งในปี 2558 ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9.8 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 14 % ของจำนวนประชากร(69 ล้านคน) ซึ่งตามมาตรฐานสากลนับว่า เข้าสู่สังคมวัยชราแล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้กองทุนประกันสังคมอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะล้มละลายเพราะมีภาวะที่ต้องจ่ายเงินประกันสังคมแก่แรงงานผู้ที่เกษียณอายุแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนจำนวนแรงงานในวัยทำงานนั้นลดลงซึ่งหมายถึงการได้รับเงินสมทบเข้าสู่กองทุนลดลง ในขนาดที่ปัจจุบันรัฐบาลยังค้างส่งเงินกองทุนประกันสังคมกว่า 10,000 ล้านบาท จากปรากฏการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันสังคมตามที่แรงงานและประชาชนกว่า 14,264 คนเสนอนั้นสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านแรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นมากกว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝั่งรัฐบาลเสนอและผ่านวาระรับหลักการ

จากจุดเริ่มต้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิในเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งลดจำนวนรายชื่อที่ต้องเข้าชื่อเหลือเพียง 10,000 รายชื่อ ยังไม่ปรากฏว่ากฎหมายของประชาชนฉบับใดที่ได้รับการบัญญัติให้บังคับใช้ได้จริง ใกล้เคียงที่สุดก็เพียงร่างพระราชบัญญัติที่เสนอนั้นถูกนำไปประกบเข้ากับร่างพระราชบัญญัติที่ถูกนำเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการห่วงผลประโยชน์มหาศาลของผู้ที่เรียกตนเองว่าผู้แทนราษฎรแล้ว ยังตอกย้ำคำพูดที่ว่า “ชนชั้นใดออกกฎหมายย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น ” เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตยด้วยการสร้างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้น เข้าต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นในรัฐสภา ออกกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์พี่น้องผู้ใช้แรงงาน เกษตรกรและชนชายขอบของสังคมทั้งหลาย ทั้งนี้สุดท้ายในฐานะของประชาชนคนหนึ่ง อยากเรียนถามไปยังสภาผู้แทนราษฎรว่า “ทำไมถึงไม่รับหลักการของพระราชบัญญัติประกันสังคมของพี่น้องแรงงานฉบับนี้”

DSCN4841DSCN4844

นายสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ต่อไปจะมีการออกไปรณรงค์ในพื้นที่ต่างๆ และต้องทำความเข้าใจกับแนวร่วม พันธมิตร ถึงการกระทำที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อ้างว่า เป็นผู้รักประชาธิปไตย เป็นตัวแทนประชาชนจำนวน 250 คนที่โหวตไม่รับร่างกพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับรู้ว่า คนที่เขาเลือกมาบริหารประเทศที่มาทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ไม่สนใจร่างกฎหมายของแรงงาน ของภาคประชาชน แม้วันนี้จะทำอะไรไม่ได้มากแค่มาแสดงความรู้สึกคับแค้นใจต่อระบบสภานิติบัญญัติที่ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอร่างกฎหมายประกันสังคม มองแต่ส่วนของร่างกฎหมายของรัฐบาลเป็นหลักเห็นร่างกฎหมายของประชาชนไม่มีค่าไม่มีราคาสิ่งที่เสียใจคือร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ14,264 ชื่อ มีการเสนอไปรอการพิจารณาเป็นฉบับแรก แต่ไม่ถูกพิจารณาในคุณค่าของลายมือชื่อที่ประชาชนร่วมเสนอสส. 250 คนที่อ้างเป็นผู้รักประชาธิปไตยโหวตตกไป วันนี้เป็นวันรวมกันเพื่อบอกกับสส.กลุ่มนั้นว่าเราไม่พอใจ และเราทุกกลุ่มจะมาอีกอย่างแน่นอน

“ การที่สส.ไม่รับรองร่างกฎหมายประกันสังคม ซึ่งมีแนวคิดต่างจากร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับของรัฐบาล ในหลายประเด็น ประเด็นหลักๆคือความเป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เนื่องจากการบริหารทุกวันนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีนำเงินกองทุนมาใช้ในหลายกรณีที่เคยถูกตรวจสอบแล้วพบว่าทุจริต การอนุมัติเงินงบประมาณมีความไม่โปรงใส และปัจจุบันนี้ก็ตรวจสอบไม่ได้ นโยบายหลายอย่างทำให้ผู้ประกันตนต้องเสียสิทธิ หากร่างกฎหมายประกันสังคมของประชาชนที่มีการร่าง และร่วมลงชื่อเสนอนั้น จะตอบสนองความเป็นอิสระ บริหารด้วยมืออาชีพ มีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเป็นสิ่งนี้ที่รัฐบาลกลัวๆที่จะถูกตรวจสอบจึงร่วมกันโหวตให้ร่างกฎหมายของประชาชนตกไป” นางสาววิไลวรรณกล่าว

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หลังจากที่มีการมาขับเคลื่อนในวันที่ 3 เมษายน 2556 นั้น เป็นการแสดงถึงความไม่พอใจต่อสภานิติบัญญัติที่ปฏิเสธร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ฉบับที่ภาคประชาชนมีการลงลายมือชื่อเสนอมา 14,264 ชื่อ ที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  “การที่สภานิติบัญญัติปฏิเสธร่างกฎหมายของประชาชน ผู้ใช้แรงงานในครั้งนี้ถือว่าเป็นกาทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรงที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายเองได้ โดยต้องมีการล่าลายมือชื่อผู้ที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อ ถามว่าเป็นเรื่องยากหรือไม่เป็นเรื่องยากมากที่ประชาชนผู้ไม่มีเงิน ไม่มีบารมีและอำนาจจะหาผู้สนับสนุนร่างกฎหมาย โดยการที่ต้องอธิบายคนถึง 1หมืนคนให้เข้าชื่อพร้อมสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ใช้เวลากันเป็นปีกว่าจะได้ 1หมื่นชื่อแต่สมาชิกสภาผู้แทนที่อ้างตัวเป็นตัวแทนประชาชนใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงโหวตไม่รับร่างกฎหมายทำให้ร่างกฎหมายของภาคประชาชนต้องตกไป คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในฐานะผู้รับผิดชอบในการล่าลายมือชื่อ และเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับดังกล่าว ต้องขอโทษต้องประชาชนที่ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อเสนอร่างกฎหมายฯมา หลังจากการแสดงพลังวันที่ 3 เมษายนนี้แล้วก็จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และประชาชนที่เป็นแนวร่วมกรณีร่างกฎหมายที่ถูกสภานิติบัญญัติโหวตไม่รับ พร้อมทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังการนำเสนอและร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ฉบับที่..ของรัฐบาล ที่ได้สภานิติบัญญัติรับหลักการผ่านวาระ 1 ไป หากมีการนำเสนอประเด็นที่ไม่เป็นคุณกับพี่น้องผู้ประกันตน ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นเจ้าของเงิน ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะทำหน้าที่ออกมาปกป้องสิทธิร่วมกันอย่างแน่นอน เพราะเงินร่วม1.1ล้านล้านบาทเป็นของผู้ประกันตน ไม่ใช่ของรัฐบาล จ่ายเพียงตั๋วเด็กแต่เข้ามานั่งบริหารหวังอะไรจากเงินก้อนนี้ใช้หรือไม่”

DSCN4921DSCN5200

ทั้งนี้ ยังมีตัวแทนในพื้นที่ สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ รวมทั้ง เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนิสิตนักศึกษา สลับกันขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวที ถึงอนาคตกฎหมายประกันสังคม และพร้อมกันวางหรีด ดอกไม้จันทน์ เผาโลงศพจำลองพร้อมรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่โหวตไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ และแถลงประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง”กรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ

DSCN5215DSCN5202

ณ.หน้ารัฐสภา ดังนี้ จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ ตึกรัฐสภา วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2556 มีได้ลงมติในวาระที่1 ไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,264 คน ดังนั้นจึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้เป็นอันตกไปตามกระบวนการนิติบัญญัติไทย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวขอประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง ด้วยเหตุผล 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

(1)  ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เป็นกฎหมายแรงงานฉบับแรกของประเทศไทยที่ภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มาตรา 17 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อ มีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายของประชาชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ได้ระบุไว้ในมาตรา 163 เรื่องการปรับลดผู้เสนอกฎหมายเหลือเพียง 1 หมื่นรายชื่อ รวมทั้งกำหนดให้ต้องมีผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าชี้แจงหลักการร่างกฎหมายฉบับนั้น รวมทั้งในการพิจารณากฎหมายในขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ (วาระ 2) จะต้องมีตัวแทนของภาคประชาชนที่เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมาธิการทั้งหมด กล่าวได้ว่านี้คือหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง คู่ขนานไปกับประชาธิปไตยทางอ้อมที่ใช้อำนาจผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม กลับใช้อำนาจของตนทำลายอำนาจของประชาชน เท่ากับว่าสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้ถูกทำลายลงด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นภาพสะท้อนว่าถ้ากฎหมายฉบับใดที่ประชาชนร่างขึ้นมา ไม่ถูกใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายฉบับดังกล่าวก็จะไม่ถูกพิจารณาในรัฐสภาฯโดยทันที ถือเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

DSCN4916DSCN4872

(2)  สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นสิทธิที่ถูกให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งนี้สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายถือเป็นพัฒนาการสำคัญของกระบวนการนิติบัญญัติ โดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยจุดอ่อนของระบบ“ประชาธิปไตยตัวแทน” ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการมอบอำนาจให้แก่ “นักเลือกตั้ง” ซึ่งสัมพันธ์โยงใยกับปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การคอร์รัปชั่น และความล้มเหลวในการบริหารประเทศจนนำไปสู่วิกฤตการเมืองซ้ำซาก เป็นการถ่วงดุลและตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจของผู้แทนจากการเลือกตั้ง รวมถึงนำเสนอผลักดันในประเด็นที่ลำพังระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่มีศักยภาพจะสร้างผลลัพธ์เหล่านั้นขึ้นมาได้เอง ดังนั้นกระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชนถือเป็น “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อถ่วงดุลกับ “ประชาธิปไตยตัวแทน” ซึ่งถูกมองว่าถูกครอบงำโดยอำนาจ “รัฐ” และ “ทุน” แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า อำนาจรัฐจึงไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง การนำเสนอกฎหมายภาคประชาชน กลับถูกสกัดกั้นเพราะขั้นตอนตามกระบวนการนิติบัญญัติที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นผู้คัดกรองร่างกฎหมายภาคประชาชนว่าฉบับใดจะสามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ ถ้าร่างกฎหมายฉบับใดที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยหรือไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายนั้นๆ ผ่านขั้นตอนไป ก็จะลงมติไม่รับหลักการเพื่อให้ร่างประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา

(3)  ตามหลักการทางการเมืองในระบอบรัฐสภา ถือได้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุดในกระบวนการนิติบัญญัติ แต่การปฏิเสธไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ ถือเป็นภาพสะท้อนสำคัญที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากยังขาดความรู้ต่อสาระสำคัญของกฎหมาย จึงทำให้ไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล และมีความสามารถจำกัดในการนำเสนอแนวทางเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างกฎหมายที่มีอุปสรรคต่อการเข้าถึงของผู้ประกันตนในปัจจุบัน จึงมีโอกาสสูงที่จะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ตกต่ำลง สนใจผลประโยชน์ประชาชนน้อยกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

(4) ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เป็นร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุวาระการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับร่างฉบับคณะรัฐมนตรี และร่างที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ที่เพิ่งบรรจุวาระเมื่อมกราคมและมีนาคมตามลำดับ แต่พบว่านับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยต้องเป็นฝ่ายติดตามความก้าวหน้าทางกระบวนการนิติบัญญัติด้วยตนเอง พบว่าภาครัฐขาดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการนิติบัญญัติอย่างเปิดเผยและโปร่งใส เพื่อให้ผู้เสนอกฎหมายสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ง่ายและสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดทำร่างกฎหมายของภาครัฐ มีการดึงถ่วงขั้นตอน ไม่เอาใจใส่ และอ้างความล่าช้าอยู่ตลอดระยะเวลาของการติดตาม แสดงถึงการมีเจตนาแอบแฝงในการไม่ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงาน  รวมทั้งข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญที่ขาดการบัญญัติว่าร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน จะต้องได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามระยะเวลาที่กำหนดโดยมิชักช้า มากกว่าจะต้องรอร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อน

(5) สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ คือ มีความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม โดยเลขาธิการนักงานประกันสังคม ต้องมาจากการเลือกตั้งจากคณะกรรมการ ไม่ใช่เป็นข้าราชการเช่นในปัจจุบัน เพื่อจะได้ดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาบริหารได้ รวมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ มีความเป็นอิสระปราศจากกลุ่มผลประโยชน์ นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการเลือกตัวแทนแรงงานเข้ามาเป็นตัวแทนของแรงงานได้อย่างแท้จริง และยังครอบคลุมกลุ่มแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ ลูกจ้างภาครัฐ ดังนั้นการปฏิเสธร่างกฎหมายฉบับนี้จึงแสดงถึงความไม่เข้าใจความทุกข์ยากของผู้ประกันตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงเมื่อมีความพยายามของผู้ใช้แรงงานในการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ประกันตนอย่างถูกทาง ก็มีมติไม่เห็นด้วย ทั้งๆที่ในขณะนี้ผู้ประกันตนถือเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหามากที่สุดในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการปลดแอกผู้ประกันตนจากความยากลำบากในกรณีที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิในปัจจุบัน

ดังนั้นเพื่อเป็นการใช้ประชาธิปไตยทางตรง เมื่อรัฐสภาไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงจำเป็นต้องมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภาแห่งนี้ เพื่อประฌามกระบวนการฉ้อฉลทางรัฐสภา

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน