แรงงานเคลื่อนทวงสัญญาค่าจ้าง 300 ทั่วประเทศ

กลุ่มแรงงานร่วมเดินขบวนทวงสัญญาค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ และประกาศเป็นนโยบายเมื่อได้เป็นรัฐบาล

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นัดรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวรณรงค์แสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ มีผู้เข้าร่วม กว่า 1,000 คน

โดยช่วงเช้าได้จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง  รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา เช่น นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ นายนวพล อินทร์สุวรรณ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายบุญมา ป๋งมา สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส) และนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. ดำเนินรายการโดย นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย โดยสรุปได้ดังนี้ 

กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2516  รัฐได้นำนโยบายเรื่องค่าจ้างออกมาหาเสียงแต่บิดเบือน เป็นการผิดสัญญาประชาคมหากทำไม่ได้ก็น่าจะออกมาขอโทษว่า นโยบายนี้ทำไม่ได้ ผู้ใช้แรงงานก็พร้อมจะให้อภัย ไม่ใช่การประกาศปรับขึ้น 300 บาท แค่ 7 จังหวัด ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม การปกครองประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยจะยังไม่ไปถึงไหนตราบใดที่คนงานยังก้มหน้าก้มตาทำมาหากินอยู่อย่างนี้  รัฐจะต้องออกมารับผิดชอบและช่วยนายจ้างด้วย

ส่วนแรงงานนอกระบบถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่ยังไม่คุ้มครองเรื่องค่าแรง ญึ่งควรต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน แรงงานนอกระบบต้องได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาท

ในส่วนพนักงานรัฐวิสาหกิจแม้ว่า จะได้รับค่าแรงเกิน 300 บาทแล้ว ก็ยังสนับสนุนให้แรงงานภาคเอกชนได้รับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ

หลังจากนั้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการปราศรัยของผู้แทนจากองค์กรต่างๆสลับกันขึ้นเวที และผู้แทนได้เข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ติดภารกิจเตรียมตัวไปต่างประเทศ มารับหนังสือและร่วมเจรจาแทน  เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างได้ยื่นหนังสือต่อนายเผดิมชัย  เพื่อขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 และดำเนินนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ดังนี้

1.สนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ดำเนินนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามที่ให้สัญญาประชาคมไว้กับผู้ใช้แรงงานในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง

2.สนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

3. คัดค้านมาตรการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2557และปี 2558

4.เรียกร้องให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานวิกฤติการณ์อุทกภัย

5.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างที่เป็นธรรม

นายเผดิมชัย กล่าวว่า วันที่ 1 เมษายน 2555 จะปรับขึ้นค่าจ้าง  300 บาท  ใน 7 จังหวัดก่อน ส่วนอีก 70 จังหวัดจะปรับขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์  และในวันที่ 1 มกราคม ปี 2556 จะปรับขึ้นให้ 300  บาททั่วประเทศ  โครงสร้างค่าจ้างจะมีการปรับทุกปี ต่อไปไม่ต้องเคลื่อนไหวอีก และรับปากว่าจะช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ยังไม่ได้รับการปรับค่าจ้างอย่างจริงจัง

หมายเหตุ: ข้อมูลอัฟโหลดใหม่หลัง web Voicelabour ถูกhack 

รายงานโดย เกศแก้ว ทะเบียนธง นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่