แรงงานหาดใหญ่มองข้ามสีฟื้นกิจกรรมลานประวัติศาสตร์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2554 ณ ลานประวัติศาสตร์หาดใหญ่ (ติดสหภาพแรงงานรถไฟ) จังหวัดสงขลา ได้มีการจัดเวทีรณรงค์พิพิธภัณฑ์แรงงานสัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย โดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยร่วมกับสหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาพัฒนาการเมือง

นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกล่าวถึงวัตถุประสงค์และกิจกรรมครั้งนี้ว่า ทางมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้รับการสนับสนุนโครงการฯดังกล่าวจากสภาพัฒนาการเมือง ในการจัดกิจกรรม ฝึกอบรมแกนนำองค์กรแรงงาน   เพื่อสร้างวิทยากรในการรณรงค์เผยแพร่ความรู้แก่สมาชิกและผู้ใช้แรงงานอื่นๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งได้มีการจัดอบรมในพื้นที่ต่างๆแล้ว ทั้งที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน และได้ลงมาพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ได้เดินทางไปให้การศึกษารณรงค์ร่วมกับทางสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ตไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2554 การลงพื้นที่ในส่วนของหาดใหญ่ และภูเก็ตก็เพื่อจัดการศึกษาด้วย การจัดเวทีรณรงค์ เป็นเวทีกลางแจ้ง โดยให้สหภาพแรงงานในพื้นที่จัดการหาสถานที่ โดยคาดหวังผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน แต่ผลปรากฏว่ามีคนที่สัญจรไปมาจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นตลาดนัด มีผู้เข้าร่วมจำนวนนับร้อยคนที่เข้ามาร่วมรับฟังแลกเปลี่ยน

รูปแบบการจัดกิจกรรมในจังหวัดหาดใหญ่นั้น เวทีมีการจัดอภิปรายเรื่องแรงงานกับการเมือง ฉายวีดิทัศน์เรื่อง แรงงานไทยรู้สิทธิ ร่วมสร้างประชาธิปไตยและแจกเอกสารแผ่นพับให้ความรู้กับผู้ที่เดินผ่านไปมาและเข้ามาร่วมรับฟัง รวมถึงการเข้าร่วมของวงดนตรีเพื่อชีวิตในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่หาดใหญ่ นอกจากวงดนตรีภราดร ยังมีวงดนตรีภูเล วงดนตรี ค.ตน และแสงธรรมดา ซึ่งมีการพูดคุยให้การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานกับภาคประชาชน ตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน สวัสดิการต่างๆที่ได้มาของผู้ใช้แรงงานไมใช่การได้มาจากรัฐ แม้แต่กฎหมายแรงงานทุกฉบับยังผ่านการต่อสู้อย่างเผ็ดร้อนของขบวนการแรงงาน ซึ่งต้องต่อสู้กับรัฐบาล ข้าราชการทั้งรูปแบบเดินขบวน งานวิชาการ เจรจาต่อรอง ฉะนั้นชีวิตของผู้ใช้แรงงานที่ถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงเกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะระบบประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพ ระบบเหล่านี้ได้มาด้วยการต่อสู้เรียกร้องของภาคประชาชน ภาคแรงงานทั้งสิ้น

นายวิรุฬฬ์ สะแกคุ้ม ประธานสหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทยสาขาหาดใหญ่กล่าวว่า การจัดเวทีรณรงค์วันนี้เป็นการจัดเพื่อผลิกฟื้นกิจกรรมในพื้นที่ ถือว่าเกิดประโยชน์กับพี่น้องแรงงานที่มีทุกสาขาอาชีพ คำว่าผู้ใช้แรงานนั้นกว้างครอบคลุมทุกสาขาอาชีพจำนวนราว 36 ล้านคน อันประกอบด้วยแรงงาน นอกระบบ เช่นคนทำยางในสวน แรงงานภาคเกษตร แรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานอาชีพอิสระ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย อีกมากมาย รวมถึงเราที่เป็นแรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งวันนี้ทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ได้เข้าร่วมจัดงานกับทางภาคเอกชน และมีความพยายามรวมกลุ่มแรงงานทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ภาคใต้ ภาคใต้นั้นการรวมตัวในภาคแรงงานค้อนข้างมีปัญหาอาจเป็นเพราะวัฒนธรรม หรือไม่ก็พื้นที่ที่ห่างไกล แต่ยามมีปัญหาก็มีการแวะมาขอคำปรึกษาทางสหภาพแรงงานฯ สิ่งที่ทางสหภาพแรงงานฯใช้ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุชุมชน 102.75 มีการให้การศึกษาเรื่องกฎหมายแรงงานรับให้คำปรึกษาประเด็นแรงงานด้วยความเป็นสหภาพแรงงานก็คงต้องช่วยกันดูแลพี่น้องแรงงานทุกสาขาอาชีพ

การจัดการศึกษาลานเวทีวัฒนธรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่มีการดำเนินการบ้าง ในวันแรงงานแห่งชาติและวันสำคัญต่างแต่ร้างลาไปนานเนื่องจากปีที่ผ่านมาไม่ได้จัดกิจกรรม วันนี้จึงเป็นวันได้ฟื้นการดำเนินกิจกรรม ซึ่งมีผู้สนใจจำนวน100 กว่าคน และเป็นการจัดเวทีที่ไม่ได้แบ่งสี คนสีใด ไม่ว่าแดง หรือเหลือง น้ำเงิน ฯลฯ ก็สามารถที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมได้

ทั้งนี้ยังมีผู้เข้าร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายณรงค์ฤทธิ์ กัณหะ สหภาพแรงงานการบินไทย นายสมศักดิ์ พรรณนาราย สหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์สาขาภาคใต้ นายวรเทพ คงเทพ สหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยสรุปได้ดังนี้

ปัญหาต่างๆของแรงงานต้องแก้ไขด้วยภาคการเมืองไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเภทใด ทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ หรือแรงงานรัฐวิสาหกิจ แต่ปัญหาใหญ่ของแรงงานคือไม่มีระบบตัวแทนในสภาทำให้การแก้ปัญหาต่างๆต้องใช้รูปแบบการเดินขบวนประท้วงยื่นข้อเรียกร้องเป็นหลัก ซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้เวลา และกำลังมวลชนจำนวนมาก เช่น กรณีการต่อสู้ของแรงงานรัฐวิสาหกิจที่คัดค้านการแปรรูปหรือขายรัฐวิสาหกิจหากวันใดแรงงานไม่ขับเคลื่อนต่อต้านรัฐบาลจะคืบคลานมา เพื่อขายรัฐวิสาหกิจ ซึ่่งจะเห็นได้จากผลพวงการขายปตท.(การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) ที่ทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซแพง หากวันนี้ยังเป็นของรัฐ การจะอุดหนุน ราคาน้ำมันจะไม่พุ่งสูงจนเป็นภาระให้ประชาชนมากนัก

การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 20,000 กว่าคนต่อสู่คัดค้านการขายการไฟฟ้าก็เพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าแพง การรถไฟต่อสู้ก็เพื่อให้ประชาชนยังมีสวัสดิการพื้นฐานราคาถูก หรือบางส่วนฟรี ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสหภาพแรงงาน แม้แต่พี่น้องสภาพแรงงานเอกชน ซึ่งการต่อสู้ของแรงงานภาคตะวันออก ที่ต่อสู้กับนายทุนข้ามชาติที่เอารัดเอาเปรียบกันอย่างเข้มข้น

การเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานใช้เทคนิคต่างๆในการล้อมสหภาพแรงงาน ซึ่งถือเป็นระบบประชาธิปไตยในโรงงาน มีการเลือกตั้งจากผู้ใช้แรงงานในโรงงาน ที่เรียกว่าสมาชิกสหภาพแรงงานเลือกตัวแทนบริหารจัดการ มีการต่อรองกับนายจ้างเรื่องสวัสดิการ และเข้าร่วมกับขบวนการแรงงานเรียกร้องสวัสดิการ กฎหมายต่างๆมาคุ้มครองผู้ใชแรงงานทั้งประเทศ สร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาล นี้ก็เป็นระบบประชาธิปไตย การเมืองในโรงงาน รัฐควรให้การสนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลกลับใช้ระบบบริหารแบบนายทุนมาล้มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจด้วย การต่อสู้ของแรงงานควรมีการพัฒนามากขึ้นคงไม่ใช่แค่การเดินขบวนเรียกร้องต่อรอง อาจต้องถึงขั้นต่อรองทางการเมืองในระบบตัวแทน โดยสรุปแรงงานต้องมีตัวแทนของตนเองในสภาเพื่อสร้างหรือเพิ่มอำนาจต่อรองอีกขั้น

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน