แรงงานหนุนเพื่อไทย ปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ

ปลอดประสบ ย้ำปรับค่าจ้าง 300 บาททันทีไม่ใช่ขายฝัน ผู้ประกอบการอย่าเห็นแต่ผลกำไร ต้องทดแทนคุณแผ่นดินบ้าง การปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มกำลังซื้อเป็นประโยชน์ต่อทุน จิรายุ ย้ำข้อเสนอพรรคไม่ใช่ฝันทำได้  มีการจัดทำข้อมูลลูกจ้างแล้ว ค่าใช้จ่ายวันละ 310 บาท ถึงพอกิน

วานนี้ (18 ก.ค. 54) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธานฯ นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงยานยนต์แห่งประเทศไทย และสมาชิก ได้เข้ายื่นหนังสื่อถึงว่าที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อประเด็นนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคสรท. กล่าวว่าผลจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ด้วยนโยบายที่โดนใจประชาชน เช่น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศทันที ซึ่งนโยบายนี้โดนใจผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก ด้วยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 ที่นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนเข้าร่วมลงนาม  ในเวทีที่คสรท.จัดเวทีผู้ใช้แรงงาน พบพรรคการเมือง การร่วมลงนามในครั้งนั้นถือเป็นทำประชาคมร่วมกัน

นายชาลี กล่าวอีกว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการดำเนินการนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล่ำ สร้างความเป็นธรรมต่อสังคม คำนึงถึงความสมดุลในการพัฒนาสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ปฏิรูประบบภาษีทางตรง เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน จัดสวัสดิการสังคม การปฏิรูประบบการศึกษา จัดระบบศึกษาฟรี มีกองทุน การบริการสาธารณะสุขระบบสุขภาพ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การควบคุมราคาสินค้า ประกันราคาพืชผลทางการเกษตร และจัดการปฏิรูปที่ดิน ที่อยู่อาศัย

ส่วนของนโยบายด้านแรงงาน กรณีเร่งด่วน คือ การปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งการปรับค่าจ้างประจำปี การพัฒนาฝีมือแรงงาน การปฏิรูประบบไตรภาคี ในส่วนนโยบายการเข้าถึงสวัสดิการ และการคุ้มครองแรงงาน การปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใสตรวจสอบได้ ขยายการคุ้มครองครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม และขยายสิทธิประโยชน์ถ้วนหน้า รวมถึงการคุ้มครองด้านความปลอดภัยในการทำงาน สนับสนุนสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม ด้วยการรับรองอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98

นายชาลี กล่าว “ขอย้ำว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นนโยบายเร่งด่วน ที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจักตั้งรัฐบาลต้องนำมาจัดทำเป็นนโยบาย พร้อมทั้งมีกาดำเนินการปรับขึ้นทันที ด้วยเป็นสัญญาประชาคมต่อแรงงานทุกคน”

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ทางพรรคได้มอบหมายให้ตนมารับข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งการที่ทางพรรคได้มีการเสนอนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนั้น ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน ทางพรรคได้มีการจัดทำแบบสำรวจเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานมาประกอบการจัดทำนโยบาย ซึ่งพบว่า มีค่าใช้จ่าย 310 บาทต่อคนต่อวัน ประกอบด้วย ค่าอาหารค่าขนม ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ และไม่ได้มีความแตกต่างกันทั่วประเทศ ซึ้งเป็นเพียงมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำหากปรับ 300 บาทเพียงพอเลี้ยงตัวเท่านั้น

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “อยากเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ นายจ้างว่า ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการปรับค่าจ้าง ให้แรงงาน เพื่อให้เกิดการจับจ่าย คนที่ได้ประโยชน์ ก็คือผู้ประกอบการเอง เมื่อร่ำรวยแล้วต้องทดแทนคุณแผ่นดินบ้าง” การที่เสนอนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เพราะเห็นว่า ค่าจ้างปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายของต่างจังหวัดทุกวันนี้ก็เท่ากันหมด ทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การปรับค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ เพราะต้องการแก้ไขปัญหาแรงงานย้ายถิ่น ละทิ้งชนบท โดยการเอาสติปัญญามาขายแรงในเมืองใหญ่หมด จนไม่มีการพัฒนาชนบทให้ทัดเทียมเมือง ในอนาคตเมื่อค่าจ้างเท่ากัน การพัฒนาชนบทให้เจริญทัดเทียมกับกรุงเทพ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต จะเป็นจริง

 นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน