วันนี้ (8 มีนานาคม 2556) เวลา 09.00 น. กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและเครือข่ายของผู้ใช้แรงงานหญิงจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วยสมานพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ เช่นภาคตะวันออก อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รังสิต อยุธยา อ่างทอง สระบุรีราว 1,500 คน ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ตั้งแต่อาคารสหประชาชาติ ไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจำนวน 3 ข้อ ดังนี้
1. เพิ่มจำนวน ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในบริเวณย่านอุตสาหกรรม และปรับคุณภาพบริการให้ตรงกับความต้องการของคนงานหญิง
2. ให้สัตยาบัน อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 เรื่อง การคุ้มครองความเป็นมารดา และนำหลักการดังกล่าวมาดำเนินการโดยเร็ว
3. เพิ่มมิติผู้หญิงในระบบประกันสังคม โดยขยายการประกันสังคมให้ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และให้มีตัวแทนของผู้หญิงในกลไกการมีส่วนร่วม
นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า กลุ่มฯได้ทำหน้าที่รวบรวมปัญหาและความต้องการของแรงงานหญิงเพื่อรณรงค์เชิงนโยบายโดยจะจัดกิจกรรมรณรงค์เป็นพิเศษในช่วงวันสตรีสากลของทุกปี โดยมีจุดยืนที่มั่นคงเสมอมา คือ เพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงานหญิง ตามหลักการสากล และตามความต้องการของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม การออกมารณรงค์ครั้งนี้จึงมีผู้ใช้แรงงานหญิงจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วยสมานพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ เช่นภาคตะวันออก อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รังสิต อยุธยา อ่างทอง สระบุรี เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ทั้งหญิงและชาย เข้ามาร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของขบวนการแรงงาน
สำหรับการรณรงค์ในปี 2556 นี้ ทางกลุ่มฯ และเครือข่าย ให้ความสำคัญกับประเด็น ผู้หญิงทำงาน ความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว โดยใช้คำขวัญว่า “ ผู้หญิงทำงาน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวยั่งยืน” เป็นหัวใจของการรณรงค์เรียกร้องในปีนี้
เหตุผลที่สำคัญคือ พวกเราตระหนักว่า ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญสองด้าน คือ การมีส่วนร่วมเป็น “กำลังแรงงาน” และ “การเจริญพันธุ์หรือการมีบุตร”
บทบาททั้งสองด้าน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ที่จำเป็นต้องมี “กำลังคน” ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มารองรับ จึงจะสามารถก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้ แต่ในปัจจุบัน ผู้หญิงทำงาน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนากำลังคนดังกล่าว ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ จึงเกิดเป็นปัญหาปรากฎให้เห็น ที่สำคัญได้แก่
ปัญหาด้านการเจริญพันธุ์หรือการมีบุตร ปัจจุบัน อัตราเจริญพันธุ์รวมของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งน้อยเกินไป ทำให้สัดส่วนประชากรของประเทศเสียความสมดุล นั่นคือ ในอนาคต จะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น และมีสัดส่วนคนวัยทำงานลดลง ปัญหานี้มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ ผู้หญิงทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานโรงงานจำนวนมากเป็นโสด หรือมีลูกน้อย เนื่องจากรายได้น้อย และขาดแคลนสวัสดิการที่ช่วยคุ้มครองความเป็นมารดาและอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็ก เช่น ศูนย์ให้นมลูก ศูนย์เลี้ยงเด็ก เงินค่าเลี้ยงดูบุตร สิทธิการลาเลี้ยงบุตรของบิดา เป็นต้น
ปัญหาด้านความมั่นคงในชีวิตผู้หญิงทำงาน ปัจจุบันผู้หญิงจำนวน 18 ล้านคน มีส่วนร่วมในการทำงานสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ซึ่งควรได้รับการดูแลให้มีความมั่นคงในชีวิต ประเทศไทยมีกฎหมายประกันสังคมมานานกว่า 20 ปี แต่กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อด้อยบางประการ ที่สำคัญ คือ
– ความครอบคลุมที่ยังไม่ทั่วถึง ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนทำงานทั่วประเทศ 39 ล้านคน ระบบประกันสังคมครอบคลุมคนทำงานเพียง 10 ล้านคน ตัวอย่างคนทำงานที่ยังเข้าไม่ถึงประกันสังคม ได้แก่ ลูกจ้างทำงานบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
– สิทธิประโยชน์ที่ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบัน ผู้หญิงทำงานจำนวนมากต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยปัญหาสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ การตรวจสุขภาพประจำปีสามารถช่วยป้องกันได้ แต่ระบบประกันสังคมยังไม่ให้สิทธิดังกล่าว นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์กรณีลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรก็น้อยเกินไป
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสวัสดิการและการประกันสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้หญิงทำงาน ซึ่งการยื่นข้อเรียกร้องนั้น ยื่นมาหลายรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลชุดนี้ภายใต้นายกหญิงคนแรกของประเทศ แต่ยังไม่มาสนใจในการที่จะมารับข้อเสนอของกลุ่มฯแม้แต่น้อย ผู้หญิงทำหน้าที่แม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูก ผู้หญิงทำงาน ทำหน้าสร้างเศรษฐกิจที่รุมเร้าข้าวของแพง แรงงานหญิงถูกเลิกจ้าง ปัญหาการถูกปิดงาน และได้รับผลกระทบความมั่นคงในการมีรายได้ และการมีงานทำ เช่นคนงานจีเอ็ม คนงานเอ็นเอ็กพี คนงานลินฟ๊อก คนงานอิเล็กโทรลักษ์ ที่ตอนนี้ได้ชุมนุมอยู่เพื่อให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหา เพราะรัฐในแต่ละพื้นที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นายจ้างไม่ยอมเจรจา เรื่องประกันสังคมก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ด้านสวัสดิการของแรงงาน ซึ่งมีการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่ขบวนการแรงงานลงชื่อเสนอและมีการหลอกทุกวันว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนก็ไปนั่งเฝ้าเพื่อรอด้วยหวังว่าร่างกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาวันนี้ยังไม่เข้าพิจารณาหมายความว่ารัฐบาลยังไม่จริงใจต่อผู้ใช้แรงงานหรือไม่ และการที่นายกไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของแรงงานหญิงแต่ไปงานที่เมืองทองธานีแทนเป็นการไม่เห็นความสำคัญของแรงงานหรือไม่ เพราะปีก่อนนายกก็ไม่มารับข้อเรียกร้องจนต้องใช้วิธีโยนเข้าไปที่ทำเนียบแทน
นางสาวนิไลมล ฝ่ายสตรีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)กล่าวว่า การที่ขบวนแรงงาน ออกมาเดินรณรงค์ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องมาจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาสามารถลางานมาดูแลบุตรและมารดาหลังคลอดบุตรได้
หลักการสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ได้กำหนดไว้ว่า แรงงานหญิงทั้งที่แต่งงานแล้วหรือยังไม่แต่งงาน รวมถึงประกอบอาชีพอิสระ ต้องมีจำนวนวันลาสำหรับการคลอดบุตรและดูแลบุตรที่เพิ่งคลอด ไม่น้อยกว่า 14 สัปดาห์ (3 เดือนครึ่ง) โดยต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ที่ได้รับอยู่แล้ว รวมถึงนายจ้างไม่สามารถให้แรงงานหญิงออกจากงาน ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ หรือในระหว่างลาคลอด หรืออยู่ระยะให้นมลูก
ปัจจุบันมีเพียงข้าราชการที่สามารถลาช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูกได้ ซึ่งในส่วนของแรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานภาคเอกชนยังไม่ได้รับสิทธิซึ่งไม่เท่าเทียมกันในด้านสิทธิ เพราะเมื่อมีการคลอดลูกแรงงานหญิงที่เป็นแม่ก็ต้องที่จะให้พ่อของลูกมาช่วยดูแลด้วยเช่นกัน เนื่องจากร่างกายของแม่ไม่แข็งแรง ฉะนั้นรัฐบาลควรจะให้สัตยาบันอนุสัญญาILO183 และกำหนดเป็นกฎหมายให้ผู้ชายสามารถลาเพื่อดูแลลูกได้
นางน้ำอ้อย สีหราช แรงงานหญิงเอ็นเอ็กพี แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด อายุ 40 ปี เล่าว่า ทำงานมา 17 กว่าปี ได้รับค่าจ้างวันละ 400 บาท การปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาทจึงไม่ได้มีผลกระทบในการปรับขึ้น ซึ่งตอนนี้คนที่เข้ามาใหม่ค่าจ้างก็ต่างกันไม่มาก
สภาพปัญหาที่กระทบและทำให้ชีวิตไม่มีความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเลย คือตอนนี้นายจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อตนเองและเพื่อนๆในการให้ทำงาน 4 วัน หยุดงาน 2 วัน ทำงาน 2 กะโดยให้ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงเข้างานตั้งแต่เวลา 07.00-19.00น. และเวลา 19.00-07.00 น. ซึ่งไม่สอดคล้องต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือเลี้ยงลูกเพียงคนเดียว เพราะเลิกรากับสามีแล้ว และมีลูก 2 คน ลูกชายอายุ 22 ปี ลูกสาวอายุ 11 ปี กำลังเรียนหนังสือทั้งคู่ หากต้องทำงานล่วงเวลา ใครจะดูแลลูกที่กำลังต้องดูแล เพราะอยู่ในช่วงวัยที่น่าเป็นห่วง การกำหนดวันหยุดก็ไม่ตรงกับลูกหยุด เพราะปัจจุบันการทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน หยุด 1 วัน แบ่งเป็น 3 กะต่อวัน ซึ่งวันหยุดจะเป็นวันอาทิตย์สอดคล้องกับวันหยุดของลูก แม้ว่านายจ้างจะให้ทำงานล่วงเวลา (OT)ก็ตาม แต่วันหยุดเพียง 1 วันก็ได้อยู่กับลูก
“การที่นายจ้างให้ทำงาน 4วัน หยุด 2 วัน ทำให้ต้องขาดรายได้จำนวนมากทีเดียว เพราะเงินจะหายไปเดือนละ 3,200 บาท เพราะเราทำงานรายวันไม่ใช่รายเดือน เราจึงเสนอกับนายจ้างว่าหากจำเป็นต้องต้องทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน ให้ปรับเป็นรายเดือน เพราะไม่เช่นนั้น เราก็มีชีวิตที่มีคุณภาพไม่ได้ และมิติความเป็นครอบครัว ลูกกับแม่ก็จะห่างกัน เป็นห่วงลูกจะมีปัญหา เพราะรายได้ทุกวันก็ไม่เพียงพออยู่แล้วต้องทำงานOT เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว” น้ำอ้อย กล่าว
นางสุพิน ส่วนเล็ก แรงงานหญิงเอ็นเอ็กพีฯ อายุ 48 ปี ซึ่งทำงานมา 29 ปี มีรายได้วันละ 565 บาท กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดกับกลุ่มแรงงานหญิงนั้นมีความไม่เท่าเทียมกันเรื่องเกษียณอายุด้วย เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานรายวัน เกษียณอายุระหว่าง 45-50 ปี ส่วนรายเดือนจะเกษียณอายุที่ 50-55 ปี ซึ่งรายเดือนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย อันนี้ก็ไม่เป็นธรรมการจะให้ใครเกษียณอายุก็เป็นการตัดสินใจของหัวหน้างาน ซึ่งก็ไม่ทราบว่า ใช้แนวการตัดสินใจอย่างไร
“อีก 2 ปีก็จะเกษียณอายุ เพราะหัวหน้าให้ทำงานต่อ แต่ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเลยมา 2 ปีแล้ว โดยไม่ทราบเหตุผลเช่นกัน เป็นธรรมกับเราหรือไม่ที่การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท แต่ค่าจ้างเราสูงกว่าแล้วไม่มีการปรับขึ้น หากดูช่วงอายุที่ทำงานมากว่า 29 ปีกับค่าจ้าง 565 บาทเป็นธรรมแล้วหรือ” สุพินกล่าว
ต่อมาเวลา 11.00 น.ผู้แทนเครือข่ายแรงงานหญิง จำนวน 10 คน ได้เข้าไปข้างในทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาต้อนรับ
นางสาวศันสนีย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้มาต้อนรับแทนเนื่องจากติดภารกิจต้องไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานสตรีไทยพลังสร้างสรรค์ประเทศไทย ที่จัดโดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมทั้งมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรีต่างๆ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาแรงงานหญิง ซึ่งข้อเรียกร้องในวันนี้รับรองถึงมือนายกแน่นอน อยากบอกว่ามีหลายประเด็นที่กำลังดำเนินการอยู่และสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของแรงงานสตรี เช่น เรื่องการให้แรงงานชายสามารถลางานไปช่วยดูแลลูกเมื่อภรรยาคลอดลูกโดยได้ออกหนังสือโดยกระทรวง แรงงาน ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจต่างๆให้ความร่วมมือด้วย ส่วนเรื่องอนุสัญญา 183 ทางรัฐบาลก็พยายามอยู่อย่างต่อเนื่องแต่มันอาจจะไม่ทันใจขอเวลาอีกหน่อย
หลังจากนั้น นางสาวศันสนีย์ ได้ออกไปรับหนังสือข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและรับปากว่าจะนำข้อเรียกร้องนำเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆอย่างแน่นอน
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน