แรงงานย่านรังสิต และเครือข่ายต่างๆ แถลง 6 ข้อเรียกร้อง วันสตรีสากล ปี 2567

แรงงานเสนอลาคลอด 180 วัน คู่ชีวิตลาเพื่อเลี้ยงลูกได้ รัฐต้องทำหน้าที่เป็น “หลักประกัน” คุ้มครองสิทธิแรงงานของแรงงานทุกเพศ ยกเลิกนโยบาย กฎหมาย ธรรมเนียม ที่เลือกปฏิบัติต่อสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ แก้ปัญหาการคุกคาม-ล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว เพิ่มสิทธิลาเมื่อมีประจำเดือน แจกจ่ายผ้าอนามัยฟรี ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

วันที่ 8 มีนาคม 2567 กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กลุ่มทำทาง สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย สังคมนิยมแรงงาน สหภาพคนทำงาน และภาคเครือข่าย ได้จัดการเดินรณรงค์ ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อแถลงข้อเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเนื่องในวันสตรีสากล ปี 2567 โดยมีเนื้อหาดังนี้

 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และองค์กรภาคีย้อนกลับไปเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน วันสตรีสากลถูกก่อตั้งขึ้นด้วยหยาดเหงื่อ เลือด น้ำตา และการต่อสู้อย่างต่อเนื่องของพี่น้องแรงงานหญิงทั่วโลก ที่รวมตัวกันลุกขึ้นมาประท้วงสภาพการทำงานที่เอาเปรียบ ขูดรีด ไม่มีทั้งสิทธิแรงงาน สิทธิทางการเมือง หรือกระทั่งสิทธิในการตัดสินใจบนเนื้อตัว ร่างกายตัวเอง การต่อสู้ของแรงงานหญิงทั่วโลกตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้แรงงานทั่วโลกมีชีวิตที่ดีขึ้น

 พวกเราทราบดีว่าสิทธิสวัสดิการเหล่านี้ไม่มีวันได้มาจากผู้มีอำนาจประทานให้ แต่มาจากการรวมกลุ่มเรียกร้องของขบวนการแรงงานและขบวนการสิทธิสตรี พวกเราทราบดีว่าในวันนี้ การต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นยังไม่จบสิ้น

ในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2567 นี้ พวกเราเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และองค์กรภาคี จึงมารวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สถานที่ทำงานของผู้ทรงเกียรติที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายสตรี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และแรงงาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องของพวกเราไปถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้

 1. รัฐบาลต้องรับประกันสิทธิลาคลอด 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างตลอดการลา และจัดวันหยุดให้คู่ชีวิตทุกเพศลาเพื่อเลี้ยงลูกได้อย่างน้อย 30 วัน รวมถึงจัดให้มีสวัสดิการแม่และเด็กอย่างเหมาะสมถ้วนหน้า

 2. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องทำหน้าที่เป็น “หลักประกัน” สิทธิแรงงานของแรงงานหญิง และแรงงาน ทุกเพศ ด้วยการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยหากมีเหตุอันใด ที่ทำให้แรงงานถูกละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น นายจ้างปิดกิจการ และไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำรองจ่ายแทน แล้วให้รัฐบาลทำหน้าที่ติดตามนำเงินคืนมาจากนายจ้างเอง

 3. ยกเลิกนโยบาย กฎหมาย ธรรมเนียม ที่เลือกปฏิบัติต่อสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่น การตรวจครรภ์ก่อนเข้าทำงาน, การตีตราผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์เป็นคนบาปหรือ อาชญากร, การตีตราผู้ขายบริการทางเพศ ดังนี้

● ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301

● ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

● แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

● รับรองร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ. อัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ

4. รัฐบาลต้องจัดความสำคัญให้ปัญหาการคุกคาม-ล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว  ความเกลียดชังต่อผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ อื่นๆ เป็นวาระการทำงานสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนทันที

 5. รัฐบาลและนายจ้างต้องเพิ่มสิทธิลาเมื่อมีประจำเดือน อย่างน้อยเดือนละ 2 วัน และเพิ่มวันลารับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ทุกประเภท เช่น การยุติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การตรวจครรภ์ การฝากครรภ์ และการข้ามเพศ

 6. รัฐบาลและนายจ้างต้องอุดหนุนงบประมาณการแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรี ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและบริการอนามัยเจริญพันธุ์อื่นๆ และจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะสำหรับแรงงานสตรี และแรงงานทุกเพศที่ทำงานบนท้องถนน เช่น ผู้ค้าขาย และไรเดอร์ส่งอาหาร รวมถึงคนไร้บ้าน ผู้สัญจรผ่านไปมา และอื่นๆ เพื่อสังคมที่เป็นธรรมต่อผู้หญิงและคนทุกเพศ